xs
xsm
sm
md
lg

บริษัทวิจัยเจ้าเล่ห์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อ.สุดาทิพย์ จารุจินดา อินทร

<b>นายAlexander Nix ซีอีโอบริษัทวิจัยเจ้าเล่ห์ของอังกฤษ</b>
เป็นการเปิดโปงครั้งใหญ่ของสื่ออังกฤษ เพื่อเปิดหน้าให้เห็นวิธีการทำงานที่สกปรกไร้จริยธรรม ของบริษัทวิจัยวิเคราะห์ข้อมูล ที่กำลังมีชื่อเสีย(ง) ในวงการวิจัยวิเคราะห์ทางการเมือง

บริษัทนี้ เพิ่งมีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นมา จากการร่ำลือกันในวงการเมืองว่า สามารถทำการวิจัยเขตเลือกตั้งได้ผลดีมากจนลูกค้าที่จ้างวิจัยด้วยราคาแพง สามารถชนะเลือกตั้งได้

หนึ่งในลูกค้าผู้ชนะ ; ก็คือ โดนัลด์ ทรัมป์ ปธน.คนที่ 45 ของสหรัฐฯ ที่แทบทุกๆ โพลจากนสพ.ชื่อดังในสหรัฐฯ ฟันธงว่า เขาจะแพ้การเลือกตั้งอย่างราบคาบต่อฮิลลารี คลินตัน

บริษัทวิจัยนี้คือ Cambridge Analytica ซึ่งฟังชื่อขลังมาก เพราะมีชื่อ Cambridge อยู่ด้วย ตามด้วยภาษาละตินว่า Analytica หมายถึงผู้วิเคราะห์แบบชำแหละ ทั้งๆ ที่ความจริงบริษัทนี้ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับมหาวิทยาลัยมีชื่อก้องโลก Cambridge แต่อย่างใดทั้งสิ้น ก็เพียงเอาชื่อตำบลมาใส่เพื่อทำให้คนทั่วไปอาจเข้าใจผิดว่า บริษัทนี้เป็นบริษัทวิจัยของมหาวิทยาลัย Cambridge

ความน่าพิศวงของผลงานบริษัทวิจัยนี้ ทำให้ทีมงานหาเสียงของทรัมป์ นำโดย Steve Bannon พร้อมลูกชาย, ลูกสาว, ลูกเขยของทรัมป์ ได้ตกลงว่าจ้างบริษัทนี้ เพื่อวิเคราะห์เขตเลือกตั้งและให้คำปรึกษาในการตอบโต้คู่แข่งในด้านข้อมูล เพื่อให้คนอเมริกันตามรัฐต่างๆ หันมาเปลี่ยนทัศนคติและเทคะแนนให้ทรัมป์

การติดต่อกับบริษัทนี้ได้มีขึ้นก่อนหน้าที่ทรัมป์จะประกาศลงสมัครในกลางปี 2015 ด้วยซ้ำ ด้วยความมั่นใจมากของ Steve Bannon ว่า บริษัทนี้จะช่วยทรัมป์ให้ชนะได้

หลังจากทรัมป์ชนะ ชื่อเสียงบริษัทนี้ก็ยิ่งกระฉ่อนเรียกว่า เป็นการเย้ยบริษัทวิจัยทำโพลของสหรัฐฯ ที่ถูกหักปากกาเซียนกันหมด เพราะคาดการณ์ผลการเลือกตั้งผิดหมด

บริษัทนี้ก็อวดอ้างว่า Model ของการวิจัยของอังกฤษแตกต่างและลึกซึ้งขุดได้ลุ่มลึกกว่าของสหรัฐฯ

แต่ความจริงคืออะไรเล่า?

คำถามนี้ ทำให้ทีมงานข่าวสืบสวนของสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 ของอังกฤษได้วางแผนไปสืบความลับในความสำเร็จของบริษัทวิจัยทางการเมืองแห่งนี้

ทีมงานข่าวได้ปลอมตัวเข้าไปติดต่อกับบริษัทวิจัยนี้ และได้มีโอกาสพูดจาเพื่อแกล้งสนใจว่าจะจ้างบริษัทวิจัยนี้เพื่อหาข้อมูลเขตเลือกตั้งในประเทศศรีลังกา ที่ผู้ว่าจ้างกำลังตั้งใจจะสมัครเลือกตั้ง

ทีมข่าวได้แอบซ่อนกล้องถ่ายทำอย่างมิดชิด พร้อมอัดเสียงของ CEO ของบริษัทวิจัย รวมทั้งของหัวหน้านักวิจัยที่มีเส้นสายเชื่อมโยงกับหน่วยงานในรัสเซียด้วย

CEO ของ Cambridge Analytica ชื่อ Alexander Nix ได้พยายามแสดงให้เห็นถึงวิธีการทำงาน รวมทั้งต้องมีปฏิบัติการจัดฉาก เพื่อทำให้นักการเมืองคู่แข่งตกหลุม และอาจพลาดถึงขนาดยอมรับเงินสินบน (ถ้ากรณีคู่แข่งเป็นนักการเมืองอยู่แล้ว และมีอิทธิพลทางการเมืองด้วย) เพื่อตอบรับว่าจะช่วยในการอนุมัติโครงการ...ขณะเดียวกัน ทางทีม Cambridge Analytica ซึ่งปลอมตัวเป็นนักธุรกิจไปเสนอเงินสินบนกับนักการเมืองคู่แข่ง ก็จะแอบถ่าย VDO เอาไว้ แล้วนำ VDO ที่ไปขุดหลุมล่อซื้อนี้ไปเผยแพร่ทาง YouTube ทำให้คู่แข่งเสียชื่อเสียง และจะแพ้เลือกตั้ง

ความสกปรกผิดจริยธรรมนี้ อาจรวมถึงการจ้างผู้หญิงโสเภณีสวยๆ ไปขุดหลุมล่อผู้สมัครที่เป็นคู่แข่ง แล้วก็จะถ่าย VDO ไว้เช่นกัน เพื่อเอามาเผยแพร่ทำลายความน่าเชื่อถือของคู่แข่ง

ในด้านการวิจัยทัศนคติของผู้ลงคะแนนในเขตเลือกตั้ง บริษัทวิจัยนี้ ก็ใช้สื่อ online ใหม่เช่น Facebook เป็นฐานของข้อมูล โดยเริ่มจากไปซื้อโฆษณาใน Facebook เป็นจำนวนมาก

ต่อมาได้ติดต่อขอทำวิจัยโดยอ้างว่า เพื่อการศึกษาถึงข้อมูลบางอย่างของผู้ใช้บริการ Facebook ซึ่งได้ตกลงกับ Facebook ว่า จะเป็นการสุ่มตัวอย่าง และจะต้องขอการอนุมัติทุกครั้งจากเจ้าของผู้ใช้บริการ Facebook

นี่เอง...ขณะนี้เป็นเรื่องราวใหญ่โตว่า Facebook ถูกล้วงตับหรือไม่ คืออาจถูก Cambridge Analytica หลอก โดยไม่รู้ตัว หรือว่าไม่ใส่ใจที่จะปกป้องและติดตามการบุกเข้ามาล้วงตับของบริษัทวิจัยเจ้าเล่ห์นี้

ปรากฏว่า Cambridge Analytica สามารถได้ข้อมูลส่วนตัว (ซึ่งอาจนำไปใช้ในด้านการตลาด-เช่น คนใช้ Facebook ชอบดูสินค้าแบบไหน Lifestyle เป็นอย่างไร?) โดยเฉพาะด้านทัศนคติทางการเมืองว่า เป็นอนุรักษนิยมขนาดไหน เสรีขนาดไหน ชอบหรือเกลียดทรัมป์และฮิลลารีขนาดไหน เป็นต้น

ข้อมูลเหล่านี้ จะอยู่ในร่องรอยของผู้ใช้ Facebook ทุกรายที่สามารถเข้าถึงได้ ถ้า Facebook อนุญาต และมีถึง 50 ล้านคนในสหรัฐฯ ที่เสียข้อมูลของตนให้กับบริษัทวิจัยนี้

ในการตัดสินแพ้ชนะของการเลือกตั้ง ปธน.สหรัฐฯ นั้น ไม่ใช่เอาคะแนนเสียงจาก ปชช.โดยตรง (Popular Votes) เป็นตัวตัดสิน...แต่เป็นการเอาคะแนนจากตัวแทน (Electors) ซึ่งเป็นการแพ้หรือชนะในแต่ละรัฐมาร่วมกันเป็นตัวตัดสิน มันไม่ใช่เลือกตั้งโดยตรงจาก ปชช.

Cambridge Analytica จึงเน้นแต่รัฐที่เป็น Battleground States คือคะแนน Electors จะพลิกไปพลิกมา
บริษัทนี้เริ่มส่งข้อมูลผ่าน Facebook เพื่อให้ฐานเสียงของฮิลลารี ใน Battleground States รู้สึกเบื่อหน่ายต่อการจะออกไปลงคะแนน เบื่อหน่ายต่อประชาธิปไตย หรือให้ Fake News ผ่าน Facebook ไปยังพวก Swing Votes เพื่อไม่ให้ลงคะแนนให้ฮิลลารี แต่กลับค่อยๆ เปลี่ยนทัศนคติมาชอบทรัมป์

แม้ฮิลลารีจะชนะ Popular Votes แต่เธอแพ้ใน Electoral College (หรือตัวแทนจากแต่ละรัฐ) ซึ่งทรัมป์ชนะอย่างเฉียดฉิวในรัฐ Battleground States ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเพนซิลวาเนีย, โอไฮโอ, มิชิแกน, วิสคอนซิน, เวสต์เวอร์จิเนีย เป็นต้น

CEO ของบริษัทวิจัยเจ้าเล่ห์นี้ ได้โอ้อวด (ใน Clip ที่ผู้สื่อข่าวปลอมไปเก็บข้อมูล) ว่า เขาจะทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกค้าของเขาชนะ และได้เป็นส่วนสำคัญช่วยมาแล้วกับการเลือกตั้งในโลกนี้ถึง 200 ครั้ง ผ่านประเทศต่างๆ เช่น ไนจีเรีย, เคนยา, เช็กรีพับบลิค, อินเดีย, อาร์เจนตินา... ยังไม่แน่ใจว่า...มีนายจ้างเป็นนักการเมืองไทยบางคนรึเปล่า?

หุ้นของ Facebook ร่วงลงหนัก เมื่อมีการเคลื่อนไหวจะให้ผู้บริหาร Facebook มาให้การต่อในคณะกรรมาธิการสภาสหรัฐฯ รวมทั้งหน่วยงานด้านสื่อสารของอังกฤษ

ส่วนบริษัทวิจัยเจ้าเล่ห์ ได้สั่งพักงาน CEO ทันที พร้อมออกแถลงการณ์ว่า VDO ที่นำออกทางช่อง 4 เป็นเทปที่มีการตัดต่อ (แบบเดียวกับที่มีการแก้ตัวในประเทศไทยเช่นกัน)

สื่อ Social Media เป็นทั้งทางออกหรือคำตอบในปัญหาต่างๆ ของสังคม แต่ขณะเดียวกันก็มีด้านมืด อาจกลับเป็นตัวปัญหาเสียเอง เช่น สามารถเปลี่ยนผลการเลือกตั้งได้!


กำลังโหลดความคิดเห็น