โดย...ทีมข่าววิทยาศาสตร์
การจากไปของ “สตีเฟน ฮอว์กิง” นับเป็นข่าวเศร้าสำหรับคนในวงการฟิสิกส์ ที่ได้สูญเสียอัจฉริยะแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งนอกจากสติปัญญาอันล้ำเลิศแล้ว ความพยายามต่อสู้โรคร้ายที่ทำให้เขาเคลื่อนไหวร่างกายส่วนต่างๆ ไม่ได้ จนต้องใช้ชีวิตส่วนใหญ่บนรถเข็น เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความอุตสาหะของนักจักรวาลวิทยาผู้นี้ และจุดประกายผู้คนอีกนับล้านบนโลกนี้
อัจฉริยะแห่งศตวรรษ 21 จากลาชั่วนิรันดร์
เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2018 สตีเฟน ฮอว์กิง (Stephen Hawking) นักฟิสิกส์ทฤษฎีชาวอังกฤษเสียชีวิต รวมอายุได้ 76 ปี ซึ่งวันเสียชีวิตของเขายังตรงกับวันคล้ายวันเกิดของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) นักฟิสิกส์อัจฉริยะผู้ล่วงลับแห่งศตวรรษที่ 20
ฮอว์กิงเกิดเมื่อ 8 ม.ค.1942 ซึ่งเป็นเวลา 300 ปีให้หลังการเสียชีวิตของ กาลิเลโอ กาลิเลอิ (Galileo Galilei) นักวิทยาศาสตร์ผู้โด่งดังอีกคนของโลก แต่เวลาเกิดและเวลาตายไม่ใช่สิ่งที่ทำให้นักฟิสิกส์อังกฤษแห่งยุคนี้ยิ่งใหญ่ หากแต่เป็นผลงานด้านจักรวาลวิทยาที่เป็นมรดกตกทอดสู่คนรุ่นถัดไป
อัจฉริยะผู้ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่บนรถเข็น ขยับส่วนใดๆ ของร่างกายไม่ได้ แม้กระทั่งขยับปากพูด ได้อุทิศเวลาชีวิตเกือบทั้งหมดไปกับความพยายามปลดล็อกความลับของเอกภพ ซึ่งเขาเชื่อว่าวิทยาศาสตร์คือพรหมลิขิตของเขา แต่โชคชะตาก็กลับโหดร้ายกับเขาแทน
ร่างกายไม่ไหวติง แต่สติปัญญาล้ำเลิศ
เมื่อปี 1963 ฮอว์กิงได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น โรคเซลล์ประสาทสั่งการเสื่อม (motor neurone disease) และมีโอกาสมีชีวิตอยู่ต่อได้เพียง 2 ปี แต่เขาก็มีชีวิตอยู่มาได้ แม้ต้องนั่งติดรถเข็นเนื่องจาก โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอแอลเอส (amyotrophic lateral sclerosis: ALS) ซึ่งเป็นอาการหนึ่งของโรคที่โจมตีเซลล์ประสาทสั่งการที่ควบคุมการเคลื่อนไหว
แม้จะรอดตายและได้ใช้เวลาที่เปรียบเสมือนโบนัสของชีวิต แต่โรคเอแอลเอสได้ทำให้ฮอว์กิง กลายเป็นคนทุพพลภาพ ไม่สามารถเคลื่อนไหว ไม่สามารถพูดสื่อสารได้ ต้องอาศัยการสื่อสารผ่านเสียงสังเคราะห์จากรถเข็นอัจฉริยะที่ขับเคลื่อนข้อมูลความคิดจากสมองของเขาสู่โลกภายนอก
“ผมมักจะได้รับคำถามว่า รู้สึกอย่างไรที่เป็นโรคแอลเอเอส คำตอบคือ (รู้สึก) ไม่เท่าไร ผมพยายามอย่างยิ่งที่จะใช้ชีวิตให้เป็นปกติมากเท่าที่จะทำได้ และไม่คิดวกวนถึงอาการของโรค หรือรู้สึกเสียใจต่อสิ่งที่ขวางการทำสิ่งต่างๆ ของผม ซึ่งก็มีไม่มากนัก” ฮอว์กิงเคยเขียนบอกเล่าไว้
เป้าหมายใหญ่ปลดล็อกจักรวาล
ทว่า รายงานพิเศษของเอเอฟพี ระบุว่า ฮอว์กิงนั้นห่างไกลจากความปกติอยู่มากโข ภายในกรอบร่างกายที่อ่อนแรงลงเรื่อยๆ กลับซ่อนสติปัญญาที่แหลมคมเอาไว้ รวมถึงความหลงใหลในธรรมชาติของเอกภพว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วจะสิ้นสุดในรูปแบบไหน
“เป้าหมายของผมนั้นเรียบง่าย นั่นคือ ความเข้าใจเอกภพอย่างสิ้นเชิง ว่าเหตุใดเอกภพจึงเป็นอย่างที่เป็น และทำไมเอกภพจึงมีอยู่” ครั้งหนึ่งฮอว์กิงเคยกล่าวไว้
งานส่วนใหญ่ของฮอว์กิงจะพุ่งความสนใจไปที่การรวมสัมพัทธภาพต่างๆ ทั้งธรรมชาติของอวกาศและเวลา ทฤษฎีควอนตัม และพฤติกรรมของอนุภาคเล็กที่สุดในเอกภพ เพื่ออธิบายการกำเนิดของเอกภพ และการวางระเบียบของเอกภพ
เมื่อปี 1974 ฮอว์กิงในวัย 32 ปี เขาได้เป็นหนึ่งในสมาชิกอายุน้อยที่สุดของราชบัณฑิตอังกฤษ (Royal Society) อีก 5 ปีต่อมาเขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์ลูคัสเซียนด้านคณิตศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ซึ่งเป็นสถาบันที่เขาย้ายเข้าไปหลังออกจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด โดยย้ายเข้าไปด้วยเป้าหมายเพื่อศึกษาดาราศาสตร์ทฤษฎีและจักรวาลวิทยา
คนสุดท้ายที่ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ลูคัสเซียนก่อนฮอว์กิงคือ เซอร์ไอแซค นิวตัน (Isaac Newton) นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 17
สนับสนุนมนุษยชาติเดินทางสู่อวกาศเพื่ออนาคต
ฮอว์กิงยังเคยทดสอบทฤษฎีความโน้มถ่วงของนิวตันเมื่อปี 2007 ขณะอายุได้ 65 ปี โดยได้ขึ้นไปทดสอบบนเที่ยวบินไร้น้ำหนักที่สหรัฐฯ ซึ่งเที่ยวบินดังกล่าวเป็นการจำลองเที่ยวบินอวกาศในวงโคจรต่ำด้วยการกระโดดสั้นๆ กลางอากาศ
ประสบการณ์ไร้น้ำหนักชั่วครู่ครั้งนั้นไม่ใช่เพียงของขวัญวันเกิดที่ได้รับ แต่ฮอว์กิงมองว่าประสบการณ์ดังกล่าวจะแสดงให้เห็นว่า มีไม่มีสิ่งใดมาขวางกั้นความสำเร็จของผู้พิการทางร่างกายได้ และเพื่อกระตุ้นความสนใจในอวกาศ ซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นเป้าหมายของมนุษยชาติ
“ผมคิดว่าเผ่าพันธุ์มนุษย์จะไม่เหลืออนาคต หากไม่ออกไปอวกาศ ผมเชื่อว่าสิ่งมีชีวิตบนโลกจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการถูกกวาดล้างไปหมดด้วยภัยพิบัติ อย่างโลกร้อนขึ้นอย่างฉับพลัน สงครามนิวเคลียร์ ไวรัสดัดแปลงพันธุกรรม หรือภยันตรายอื่นๆ” ฮอว์กิงได้ให้ความเห็นไว้เมื่อครั้งมีชีวิตอยู่
เตือนระวัง “ปัญญาประดิษฐ์”
เมื่อเร็วๆ นี้ฮอว์กิงยังออกมาแสดงความเห็นว่า ปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) หรือเอไอ (AI) อาจจะช่วยกำจัดโรคร้ายและความยากจน แต่ก็ได้เตือนถึงภัยที่น่ากลัวอย่างยิ่ง เขาบอกว่าในระยะสั้นความสำเร็จในการสร้างเอไอจะเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ขออารยธรรมมนุษย์ ระหว่างที่เราได้ประโยชน์เอไอก็นำพาอันตรายมาได้เช่นกัน
“ยกตัวอย่างอาวุธร้ายแรงที่ขับเคลื่อนเองได้ หรือวิธีการใหม่ๆ ให้คนจำนวนน้อยกดขี่คนหมู่มาก” ปาฐกถาเตือนภัยเอไอจากฮอว์กิง ระหว่างเปิดศูนย์วิจัยเอไอแห่งใหม่ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์เมื่อปี 2016
อัจฉริยะผู้เข้าถึงมวลชน
ความอัจฉริยะของฮอว์กิงนำเขาไปสู่ชื่อเสียงก้องโลก และเป็นที่รู้จักในฐานะนักสื่อสารผู้ฉลาดปราดเปรื่อง ซึ่งเผยแพร่วิทยาศาสตร์ไปสู่ผู้ฟังในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือที่จะกลายเป็นตำนานอย่าง “A Brief History of Time” ของเขาที่เผยแพร่เมื่อปี 1988 ก็เป็นหนังสือที่เล่าเรื่องทฤษฎีพื้นฐานของเอกภพ และกลายเป็นหนังสือขายดีทั่วโลก ยิ่งทำให้เขาได้รับเสียงแซ่ซ้องมากขึ้นไปอีก
มาถึงปี 2001 ฮอว์กิงได้เขียนหนังสือภาคต่อในชื่อ “The Universe in a Nutshell” และอีก 6 ปีต่อมาเขาและลูกสาวคือลูซี (Lucy) ได้ตีพิมพ์หนังสือถ่ายทอดเรื่องจักรวาลวิทยาสำหรับเด็กชื่อ “George's Secret Key to the Universe” ซึ่งเป็นหนังสือที่อธิบายถึงการทำงานของระบบสุริยะ ดาวเคราะห์น้อย รวมถึงเรื่องหลุมดำที่เขาเชี่ยวชาญ และวัตถุในอวกาศอื่นๆ
ฮอว์กิงยังเอาตัวเข้าไปอยู่ในวัฒนธรรมป็อป (popular culture) มากขึ้น ด้วยการปรากฏตัวในภาพยนตร์ “Star Trek: The Next Generation” และ “The Simpsons” ขณะที่เสียงของเขาก็อยู่ในเพลงของพิงก์ฟลอยด์ (Pink Floyd) วงดนตรีร็อคจากเกาะอังกฤษ
ในชีวิตส่วนตัวฮอว์กิงแต่งงานกับ เจน ไวล์ด (Jane Wilde) เมื่อปี 1965 และมีลูกด้วยกัน 3 คน และได้หย่ากันหลังจากนั้น 25 ปี โดยเขาได้แต่งงานใหม่กับอดีตพยาบาลส่วนตัว เอเลน เมสัน (Elaine Mason) แต่ก็ต้องร้างลาด้วยข้อกล่าวหาการทำร้ายร่างกาย แต่เขาก็ปฏิเสธเรื่องดังกล่าว
เรื่องราวความรักระหว่างฮอว์กิงและภรรยาคนแรกได้รับการถ่ายทอดผ่านภาพยนตร์เรื่อง “The Theory of Everything” ที่ฉายเมื่อปี 2014 โดยนักแสดงนำคือ เอดดี เรดเมยน์ (Eddie Redmayne) นักแสดงชาวอังกฤษผู้รับบทบาทเป็นฮอว์กิงก็ได้รับรางวัลออสการ์จากบทบาทดังกล่าว ซึ่งความสมจริงนั้นทำให้ชั่วขณะนักฟิสิกส์ผู้ล่วงลับรู้สึกเหมือนกำลังดูตัวเองอยู่
เรื่องราวของฮอว์กิงยังได้รับการถ่ายทอดผ่านสารคดี “Hawking” ที่สะท้อนถึงชีวิตของเขา ซึ่งเคยเผยว่า ในแต่ละวันนั้นก็อาจจะเป็นวันสุดท้ายของชีวิตเขาได้ ดังนั้นเขาจึงปรารถนาที่จะทำให้แต่ละนาทีนั้นมีคุณค่ามากที่สุด
อาลัยอัจฉริยะ
การจากไปของฮอว์กิงสร้างความเศร้าใจแก่คนในแวดวงวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในแวดวงสาขาที่เกี่ยวข้อง อย่าง นีล ดีเกรส ไทสัน (Niel deGrasse Tyson) นักฟิสิกส์และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ชื่อดังจากสหรัฐฯ ได้โพสตส์แสดงความเสียใจผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊กว่า ฮอว์กิงได้ทิ้งสุญญากาศแห่งปัญญาซึ่งไม่ว่างเปล่าให้เรา เหมือนพลังงานสุญญากาศที่แทรกซึมไปตามผืนผ้ากาลอวกาศที่ยากจะตรวจวัด
ขณะที่ สถานีตรวจวัดอนุภาคซีเอ็มเอส (Compact Muon Solenoid - CMS) ของเซิร์น (CERN) ก็โพสต์ไว้อาลัยฮอว์กิงผ่านเฟซบุ๊ก โดยแสดงความขอบคุณที่เขาได้ทำให้เอกภพขยับใกล้เรามากขึ้น รวมทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ทั้งนักวิทยาศาสตร์หลายๆ รุ่น รวมทั้งคนทั่วไปที่ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ด้วย
เกียน กีดิซ (Gian Giudice) ผู้อำนวยการฝ่ายฟิสิกส์ทฤษฎีที่เซิร์น กล่าวว่า ผลศึกษาของฮอว์กิงเป็นแหล่งสร้างแรงบันดาลใจสำหรับงานวิจัยเชิงทฤษฎีที่ศึกษากันที่เซิร์น และยังได้เปลี่ยนรูปแบบความเข้าใจของเราเกี่ยวกับฟิสิกส์ของหลุมดำและกำเนิดเอกภพ งานของเขาเรื่องการแผ่รังสีความร้อนของหลุมดำ รวมแนวคิดจากกลศาสตร์ควอนตัมและทฤษฎีสัมพัทธภาพเข้าด้วยกัน ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วทั้ง 2 ทฤษฎีรวมกันได้ยาก
ส่วนลูกๆ ของเขา คือ ลูซี, โรเบิร์ต (Robert) และ ทิม (Tim) กล่าวว่า พวกเขาต่างเสียใจอย่างสุดซึ้งที่บิดาผู้เป็นที่รักจากไปในวันนี้ พ่อของพวกเขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่และเป็นคนพิเศษเจ้าของผลงานและมรดกที่จะคงอยู่ต่อไปอีกนานหลายปี
“ความกล้าหาญและความหนัก รวมถึงความฉลาดหลักแหลมและอารมณ์ขันของพ่อได้จุดประกายให้แก่คนทั่วโลก พ่อเคยพูดไว้ครั้งหนึ่งว่า จะไม่เป็นเอกภพหากไม่ได้อยู่เป็นครอบครัวกับคนที่เรารัก” ลูกของฮอว์กิง กล่าวไว้อาลัย