ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หลังจากโหมโรงสร้างกระแสมาได้สักพักหนึ่ง ในที่สุด “พรรคไพร่หมื่นล้าน” ของ “เอก-ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ก็ได้ฤกษ์เบิกโรงจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองเสียที โดยเปิดตัวและแจ้งจดทะเบียนกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในชื่อ “พรรคอนาคตใหม่(Future forward party)” เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา
แน่นอน การก่อกำเนิดของพรรคอนาคตใหม่ ได้รับความน่าสนใจมาตั้งแต่เริ่มแรก ด้วยเหตุผลหลายประการด้วยกัน
แต่ที่ถือเป็นจุดสำคัญที่สุดก็คือตัวของนายธนาธรเอง เนื่องเพราะเขาคือ “คนรุ่นใหม่” และพรรคของเขาก็นิยามตัวเองว่าเป็น “พรรคของคนรุ่นใหม่” ซึ่งคำว่าคนรุ่นใหม่ก็ย่อมได้รับความสนใจจากคนรุ่นใหม่ในบ้านนี้เมืองนี้ไม่น้อย
แรงหรือไม่แรง หลังจากนายธนาธรปิดตัวว่าสนใจจะลงสู่สนามการเมือง และตั้งพรรคเพื่อเป็นทางเลือกให้สังคมไทย ปรากฏว่าชื่อของเขาติดอันดับ 1 ในการเสิร์ชในกูเกิลเมื่อวันเสาร์ที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา ขณะที่เมื่อตรวจสอบรายชื่อผู้ร่วมก่อตั้งพรรค 26 คนแล้ว หลายคนถึงกับตั้งสมญานามให้ใหม่ว่า “พรรคเด็กแนว” เลยทีเดียว
แถมอดีตรองเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) คนนี้ ยังไม่ใช่คนรุ่นใหม่ธรรมดาๆ หากแต่เป็นคนรุ่นใหม่ที่มี “กระสุนดินดำ” จำนวนมหาศาลพอที่จะสืบทอดอุดมการณ์ทางการเมืองของเขาให้ลุล่วงไปได้
ในทางธุรกิจ....นายธนาธรคือบุคคลสำคัญแห่งอาณาจักร “ไทยซัมมิท” ซึ่งมีทรัพย์สินนับหมื่นล้านบาท โดยปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการกลุ่มบริษัทไทยซัมมิท ซึ่งมี “นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ” ที่เขาเรียกว่า “หม่าม้า” ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ
ทั้งนี้ ไทยซัมมิทมีฐานการผลิตครอบคลุมพื้นที่อุตสาหกรรมหลักที่สำคัญของประเทศไทย ได้แก่ แหลมฉบัง, ระยอง, นครนายก และสมุทรปราการ รวมไปถึงฐานการผลิตในต่างประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย, อินโดนีเซีย, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, อเมริกา และเวียดนาม พร้อมทั้งขยายการลงทุนไปในธุรกิจประเภทอื่นอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบัน กลุ่มบริษัทไทยซัมมิท มีบริษัทในเครือรวมกว่า 40 บริษัท ครอบคลุมการผลิตเพื่ออุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องจักรกลการเกษตร เครื่องใช้ไฟฟ้า โดยการเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนเพื่อประกอบในภาคอุตสาหกรรมเหล่านี้ เช่น ชิ้นส่วนการขึ้นรูป, ชิ้นส่วนการประกอบ, ชิ้นส่วนพลาสติกประเภทฉีดและเป่า, อะลูมิเนียมฉีดขึ้นรูป, ระบบไฟสำหรับยานยนต์, แม่พิมพ์โลหะและพลาสติก, อุปกรณ์จับยึดชิ้นงาน รวมถึงเครื่องจักรในสายการผลิต
จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า กลุ่มไทยซัมมิทมีธุรกิจในเครือข่ายทั้งอดีตและปัจจุบันราว 102 บริษัทเฉพาะนายธนาธรเป็นกรรมการ ประมาณ 60 บริษัท ในจำนวนนี้เปิดดำเนินการประมาณ 27 บริษัท ได้แก่ บริษัท คีย์ พ้อยท์ เอ็นเนอจี จำกัด ,บริษัท กรีน ไลน์ เอ็นเนอจี จำกัด ,บริษัท จึงพัฒนา โฮลดิ้ง จำกัด ,บริษัท ทีที โซล่าร์ จำกัด ,บริษัท ที เอส พาวเวอร์ เอ็นเนอจี จำกัด , บริษัท ที เอส ออโต้ เซลส์ จำกัด , บริษัท ไอคอน เอ็นเนอจี จำกัด ,บริษัท ไทยซัมมิท คอมโพเน้นท์ จำกัด , บริษัท ไทยซัมมิท เชป คอร์ป จำกัด ,บริษัท ไทยซัมมิท พีเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท ไทยซัมมิท พีเคเค จำกัด ,บริษัท ไทยซัมมิท พีเคเค บางปะกง จำกัด ,บริษัท ไทยซัมมิท พีเคเค เอนจิเนียริง จำกัด,
บริษัท ไทยซัมมิท เมจิ ฟอร์จจิ้ง จำกัด , บริษัท ไทยซัมมิท ระยอง โอโตพาร์ท อินดัสตรี จำกัด, บริษัท ไทยซัมมิท วาย-เทค โอโตพาร์ท จำกัด ,บริษัท ไทยซัมมิท เอนจิเนียริง จำกัด , บริษัท ไทยซัมมิท โอโต เพรส จำกัด,บริษัท ไทยซัมมิท ฮาร์เนส จำกัด (มหาชน) ,บริษัท พรีเมี่ยมสตีล โพรเซสซิ่ง จำกัด ,บริษัท โอกิฮาร่า (ประเทศไทย) จำกัด ,บริษัท แอคทีฟ แมเนจเม้นท์ เอเชีย จำกัด ,บริษัท ซัมมิท โชว่า แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ,บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ,บริษัท วัน โอ ซี คอร์โปเรชั่น จำกัด , บริษัท สาธรฮอนด้าคาร์ส์ จำกัด และ บริษัท เอสเอ ออโตโมบิล จำกัด เป็นต้น
ขณะที่ตัวเขาเองก็มีส่วนสำคัญในดีลระดับหมื่นล้านบาทเมื่อครั้งที่เข้าซื้อกิจการ Ogihara Group ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และแม่พิมพ์รายใหญ่ของญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตในสหรัฐอเมริกา และเป็นพันธมิตรกับ Tesla, Inc. โดยกลุ่มไทยซัมมิทเป็นผู้ผลิตระบบสายไฟฟ้าและตัวถังให้กับรถยนต์ Tesla
ในปี 2556 สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานกลุ่มไทยซัมมิท ผู้เป็นมารดาของนายธนาธรได้รับการจัดอันดับโดยนิตยสารฟอร์บส์ให้เป็นมหาเศรษฐีอันดับที่ 25 ของไทย ด้วยทรัพย์สินมูลค่า 2.34 หมื่นล้านบาท ขณะที่ในปี 2559 มีตัวเลขรายได้พุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 7.2 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว
ที่น่าสนใจไปกว่านั้น “นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ” แม่ของนายธนาธรยังเป็นผู้ถือหุ้นลำดับที่สองใน “บริษัท มติชน จำกัด(มหาชน) รองจาก “ขรรค์ชัย บุนปาน” แห่ง “เครือมติชน” สื่อยักษ์ใหญ่ที่ทรงอิทธิพลค่ายหนึ่งของประเทศไทย ด้วยตัวเลขหุ้นที่สูงถึง 20.07 เปอร์เซ็นต์
และก่อนหน้านี้นางสมพรก็เคยเข้าไปซื้อหุ้น บมจ.เนชั่นมัลติมีเดีย ด้วยเงินกว่า 500 ล้านบาท ต่อจาก “อากู๋-ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม” แห่งแกรมมี่ แต่สุดท้ายตัดสินใจขายทิ้งทั้งหมดด้วยผลขาดทุน 250 ล้านบาท และเคยเป็นเจ้าของนิตยสารชื่อดังอย่าง WHO ซึ่งทำในนามบริษัทที่ชื่อว่า “วี-ลัค มีเดีย” ก่อนที่จะปิดตัวลงไป
ขณะที่ตัวนายธนาธรนั้น ก่อนหน้านี้เขาเคยเป็นกรรมการของ บริษัท มติชน จำกัด(มหาชน) ก่อนที่จะตัดสินใจยื่นใบลาออกจากตำแหน่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา หรือก่อนหน้าที่เขาจะมุ่งหน้าไปจดแจ้งตั้งพรรคอนาคตใหม่เพียงวันเดียว
ในจดหมายลาออก นายธนาธรเขียนให้เหตุผลเอาไว้ว่า
“มติชนเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตในชีวิตผมตั้งแต่สมัยเรียน ในยุคที่สื่ออิเล็กทรอนิกส์ยังไม่กว้างขวางดังเช่นปัจจุบัน ผมอ่านประเด็นข้อถกเถียงที่สำคัญของสังคมผ่านมติชนหน้า 6, คิดตามการวิเคราะห์การเมืองผ่านหน้า 3, เรียนรู้เศรษฐกิจกับบทความของสุนันท์ ศรีจันทรา, เปิดผ่านหน้าพระเครื่องอย่างเร็วๆ เพื่อติดตามวิจารณ์ภาพยนตร์ด้วยภาษาไทยปนภาษาอังกฤษของพรพิมล ลิ่มเจริญ, ตื่นเต้นไปกับเรื่องราวของสมาชิกคณะราษฎรในศิลปวัฒนธรรม และภูมิใจเล็กๆ เมื่อบทความที่ผมเขียนได้ลงพิมพ์ในมติชน
“ถึงวันหนึ่ง โดยที่ผมไม่รู้ตัว โชคชะตาก็พาให้เส้นทางของเราเดินทางมาพบกันภายใต้สองพลังที่ถาโถมอยู่ในสังคม พลังหนึ่งคือพลังแห่งความขัดแย้งทางการเมืองที่ทำลายประชาธิปไตยไทยลงอย่างย่อยยับ อีกพลังหนึ่งคือพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่ทำลายการทำธุรกิจแบบดั้งเดิมให้ย่อยยับไม่แพ้กัน มติชนที่ผมร่วมงานด้วยจึงเป็นมติชนที่อยู่ในช่วงปรับตัวและแสวงหาตัวตนใหม่
“ผมได้เสนอแนะอย่างจริงใจตามที่สติปัญญาพึงมีถึงทิศทางในการตอบสนองพลังนั้น ต่อพลังแรก ท่ามกลางข่าวลวงและวาจาที่สร้างความเกลียดชัง และหนักแน่นในจุดยืนเรื่องเสรีภาพ ในทุกช่องทางการสื่อสาร ต่อพลังหลัง ผมเสนอให้มีการลงทุนเชิงยุทธศาสตร์ในเครื่องมือสมัยใหม่และนำมันมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพพร้อมๆ กับการให้อำนาจ/อิสระบุคลากรในการตัดสินใจมากขึ้นและพัฒนาความรู้และทักษะของบุคลากรอย่างต่อเนื่อง
“ถึงวันนี้ ผมได้เลือกเส้นทางใหม่ในชีวิตซึ่งเป็นการตัดสินใจที่จะเปลี่ยนชีวิตผมตลอดไป เพื่อไม่ให้เป็นภาระซึ่งกันและกันและเพื่อความสง่างามของมติชน ผมขอลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป หลังจากนี้ผมจะยังคงอ่านมติชนทุกเช้าดังที่ได้ทำมาตลอด 20 ปี และผมคงมีแต่ความหวังดีที่ให้กับมติชนในการฝ่ามรสุมทั้งสองลูก ขอให้มติชนเป็นเสาหลักของความจริง , สิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย และเป็นแรงบันดาลใจให้กับสื่ออื่นว่า สื่อที่ยืนยันถึงคุณภาพยังมีที่ทางในโลกใบใหม่
“หากต่อไปมติชนจะสนับสนุนผม ก็ขอให้การสนับสนุนนั้นเป็นไปด้วยจุดยืนและการกระทำของผม ไม่ใช่เป็นเพราะเราเคยมีความสัมพันธ์กัน ผมหวังว่าเส้นทางของเราจะกลับมาผ่านพบกันอีกในวันที่สังคมไทยได้มาซึ่งประชาธิปไตย ส่วนอนาคตข้างหน้าของเราจะเป็นอย่างไรนั้น โปรดอย่ารอคอย แต่จงติดตามด้วยความระทึกในดวงหทัยพลัน”
เป็นข้อเขียนที่เรียกได้ว่ สะท้อนตัวตนและเส้นทางทางการเมืองของ “ธนาธร” ได้อย่างชัดเจน
ขณะเดียวกัน เครือญาติของนายธนาธรในฝั่ง “จุฬางกูร” ยังมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือBECซึ่งเป็นผู้บริหารทีวีดิจิทัล 3 ช่อง ทั้งช่อง 3HD, ช่อง 3SD และช่อง 3Familyโดยเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมานี้นี่เอง มีการแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วยว่า “ทวีฉัตร จุฬางกูร” ได้เข้ามาซื้อหุ้นอีก0.42% รวมกับของเดิมที่มีอยู่ เท่ากับมีหุ้นใน BEC ทั้งหมด 5.02%
นั่นเท่ากับว่า นอกจากเครือมติชนแล้ว นายธนาธรยังมีขุมกำลังสื่ออย่าง “ช่อง 3” อยู่ในมืออีกด้วย ไม่นับรวมถึงสื่อที่ออกโรงเชียร์อย่างถึงพริกถึงขิงอย่าง “บีบีซี-ประชาไท-THE STANDARD-WAY MAGAZINE-THE MATTER-วอยซ์ทีวี” เป็นต้น
ถามว่า ทวีฉัตร จุฬางกูร เป็นใคร?
ก็ต้องตอบว่า ทวีฉัตรเป็นทายาทหมื่นล้านแห่ง“ซัมมิทกรุ๊ป” และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ “สายการบินนกแอร์” โดยเป็นบุตรชายของ “สรรเสริญ จุฬางกูร” พี่ใหญ่ของทั้ง “จึงรุ่งเรืองกิจ” และ “จุฬางกูร”
ถามอีกว่า “จึงรุ่งเรืองกิจ” และ “จุฬางกูร” สัมพันธ์กันอย่างไร
ก็ต้องตอบว่า คือพี่น้องกัน เนื่องเพราะ สรรเสริญ จุฬางกูรนั้นมีพี่น้องคลานตามกันมา 4 คนด้วยกัน คนหนึ่งที่คอการเมืองรู้จักกันดีก็คือ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” อีกคนหนึ่งก็คือ “พัฒนา จึงรุ่งเรืองกิจ” ผู้เป็นพ่อของธนาธร เพียงแต่สรรเสริญเลือกที่จะใช้นามสกุล “จุฬางกูร” ขณะที่พี่น้องคนอื่นๆ ใช้ “จึงรุ่งเรืองกิจ” ก็เท่านั้น
เพราะฉะนั้น ทวีฉัตร จุฬางกูรคือลูกผู้พี่ของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
“กลุ่มของน้องชายจะเพิ่มคำว่าไทยเข้าไปในชื่อเช่น ไทยซัมมิทโอโตพาร์ท ส่วนของผมจะขึ้นต้นชื่อด้วยซัมมิท ของเขาจะเน้นด้านเบาะและชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ ส่วนผมเน้นเบาะและชิ้นส่วนรถยนต์ ต่างคนต่างแยกการบริหารชัดเจน มีบ้างที่แต่ละฝ่ายจะถือหุ้นซึ่งกันและกัน” สรรเสริญแก้ความสับสนที่มีคนไม่เข้าใจภาพลักษ์ของทั้งสองกลุ่มกับ “ผู้จัดการรายเดือน” เอาไว้เมื่อปี 2535
เห็นอาณาจักรธุรกิจของ “จึงรุ่งเรืองกิจ” และ “จุฬางกูร” แล้ว บอกได้คำเดียวว่าไม่ธรรมดาในการที่จะผลักดันให้เขาเดินทางไปสู่ความฝัน
นอกจากอาณาจักรการค้าแล้ว ต้องบอกว่า “แนวความคิด” ของเขาก็ไม่ธรรมดาอีกด้วย ดังที่เขาได้ประกาศเอาไว้ว่า “หยุดการสืบทอดอำนาจ คสช. ทหารต้องอยู่ใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง” และ “ไม่ยอมรับทุกส่วนประกอบที่เป็นอประชาธิปไตย” ซึ่งชัดเจนว่า เขายืนอยู่ตรงข้ามกับรัฐบาล คสช.ร้อยเปอร์เซ็นต์ และดูเหมือนว่า คสช.ก็หวั่นวิตกกับการจัดตั้งพรรคการเมืองของนายธนาธรอยู่มิใช่น้อย เพราะคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจกับพรรคอนาคตใหม่มากพอควร เนื่องจากผิดหวังกับนักการเมืองรุ่นเก่า นักการเมืองหน้าเดิม รวมถึงระบบรัฐราชการ ระบบเผด็จการทหารที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งพิสูจน์แล้วว่ามิได้แตกต่างกันสักเท่าใด
ทำเป็นเล่นไป แม้พรรคอนาคตใหม่จะไม่มี ส.ส.ในระบบเขตสักคนเดียว แต่ก็อาจกวาด “ส.ส.ระบบปาร์ตี้ลิสต์” ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำเลยก็ว่าได้ เพราะทำท่าว่าจะมีโอกาสที่จะเป็นเช่นนั้นค่อนข้างสูง
บางคนถึงกับประกาศว่า....”เอาวะ ลองเลือกสักครั้ง เผื่อจะเกิดอะไรใหม่ในบ้านนี้เมืองนี้บ้าง” ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้ว อารมณ์ก็มีได้ต่างจากเมื่อครั้งที่ “นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์” กระโดดลงมาเล่นการเมืองเลย
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจะโทษใครก็มิได้ นอกจาก รัฐบาล คสช.เองที่ตลอดเวลาที่ผ่านมามิได้สร้างผลงานชนิดที่พอจะเป็น “ความหวัง” ของคนในประเทศ
แต่ที่สำคัญและหลายคนขีดเส้นใต้สองเส้นกาใต้ชื่อของนายธนาธรก็คือ เขาเป็น “คนรุ่นใหม่” ที่เคยประกาศแนวความคิดทางการเมืองที่ “สุดโต่ง” คนหนึ่งในบ้านนี้เมืองนี้ และต้องถือว่าเป็น “จุดอ่อน” ที่ไม่อาจมองข้ามได้ นั่นก็คือเขาเคยให้ทุนสนับสนุนนิตยสารอย่าง “ฟ้าเดียวกัน” จนได้รับฉายาว่าเป็น “ท่อน้ำเลี้ยงสื่อล้มสถาบัน” รวมถึงตีตราประทับไปแล้วว่าเขาคือ “คนเสื้อแดง”
เพราะฉะนั้นหลายคนจึงไม่แปลกใจที่จะผนึกกำลังเป็นแนวร่วมกับ “นายปิยบุตร แสงกนกกุล” อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาชิกกลุ่มนิติราษฎร์ ในการจัดตั้งพรรคการเมือง
“ผมเชื่อในอุดมการณ์การปฏิวัติฝรั่งเศส คือ เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ สิ่งแรกสุดที่ต้องปลูกฝังให้ได้เลยก็คือว่า คนทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้ของชาวนาหรือกรรมกร พื้นฐานที่สุดของการต่อสู้คือว่า คุณเชื่อหรือเปล่าว่าคุณเกิดมาบนโลกคุณมีสิทธิเท่าเทียมกันกับคนอื่น ผมคิดว่าสิ่งนี้เป็นพื้นฐานซึ่งเราสามารถค่อยๆ สร้างได้ ถ้าเราสร้างพื้นฐานและสร้างความเชื่ออย่างนี้ได้ ผมคิดว่าสังคมที่เราต้องการมันก็เกิดขึ้นได้”
นายธนาธรพูดแบบนี้กับนิตยสารสารคดีในวัย28ปี ผ่านมาวันนี้11ปีแล้ว ซึ่งไม่รู้ว่าเขายังมีความคิดแบบนั้นอีกหรือไม่ และคำพูดนี้ก็ถูกหยิบยกมาโจมตีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะคำถามที่ผู้คนต้องการคำตอบว่า “แล้วอุดมการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศสคืออะไร”
แต่ที่ชัดเจนคือ นายธนาธรย้ำหลายต่อหลายครั้งในทุกการสัมภาษณ์ว่า การรัฐประหารไม่ใช่ทางออกของสังคมไทย
แน่นอน ก่อนที่จะเดินเครื่องไปจดตั้งพรรคการเมืองและทำงานการเมืองเต็มตัว นายธนาธรย่อมมีความกดดันอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะกับ “ครอบครัว” เนื่องเพราะอาจมีความสุ่มเสี่ยงในการธุรกิจของทั้งตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจและจุฬางกูรได้
หากยังจำกันได้ ก่อนหน้านี้ “สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ” แม่ของเขาเคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า “ตราบใดที่ฉันยังอยู่ ธนาธรไปไม่ได้ ฉันคงไม่เห็นด้วย เราเป็นคนค้าคนขาย ทำธุรกิจ แล้วอาณาจักรก็ใหญ่มาก ความรับผิดชอบก็สูงมาก”
แต่กระนั้นก็ดี ดูเหมือนปัญหาดังกล่าวได้หมดสิ้นไปแล้ว ดังที่เขาได้โพสต์เอาไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัว Thanathorn Juangroongruangkit เอาไว้เมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมาว่า...
“<ถึงเวลาก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง, and now i have the strongest backing and the most wonderful blessing in the world; my family>
“ในสัปดาห์ที่ผ่านมา น้ำหนักระดับภูเขาถูกยกออกจากอกผม ผมได้ปรึกษาเรื่องอนาคตกับครอบครัวและทุกคนก็ให้การสนับสนุนและกำลังใจอย่างดี ผมโชคดีที่พี่น้องและครอบครัวไม่มีใครมีแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยมแบบสุดโต่ง ทุกคนรักและเข้าใจในหลักการประชาธิปไตย เมื่อเราถกเถียงเรื่องอนาคตของครอบครัว ทุกคนเข้าใจผม ไม่มีใครสาปส่ง มีแต่กำลังใจในรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามแต่ที่แต่ละคนพึงมีให้
“แม่คือปัญหาใหญ่ ก่อนถกเถียงกันผมกลัวว่าจะทำให้แกเสียใจ ผมไม่อยากให้แกเสียใจ ผมไม่อยากให้แกร้องไห้ ผมทำแกร้องไห้มามากเกินไปแล้วในชีวิตนี้ แกเริ่มคำถามแรกว่าสำหรับผม ไทยซัมมิทหรือประเทศไทย อย่างไหนสำคัญกว่ากัน ผมตอบสั้นๆ ด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า 'ประเทศไทย'
“แกมีสีหน้าผิดหวัง ถึงแม้ไม่เห็นด้วย ไม่ได้อวยพรอะไรพิเศษ แต่แกไม่ห้ามปราม, ให้กำลังใจ หรือเอ่ยคำสนับสนุนใดๆ สำหรับผมนั่นคือการอนุมัติและเห็นชอบแบบแม่ ไม่มีอะไรที่ผมจะร้องขอได้มากไปกว่านี้อีกจากครอบครัว ผมโชคดีเหลือเกินที่ได้เติบโตและเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวนี้
“คำถามสุดท้ายก่อนจะเลิกวง แกถามผมว่า ถ้าวันใดเธอมีอำนาจ คงจะมีคนมาเสนอทั้งผู้หญิงและเงินทอง เธอจะรับไหม? ตอบไว้ตรงนี้ หม่าม้าครับ ผมจะไม่ทำให้หม่าม้าผิดหวัง
“อดคิดถึงพ่อไม่ได้ ถ้าแกยังมีชีวิตอยู่ ผมหวังว่าแกคงจะภูมิใจกับการตัดสินใจของผม
“ก้าวแรกผมสำเร็จแล้ว แม่สอนผมเสมอให้เป็นคนซื่อสัตย์ ผมจะเดินก้าวต่อไปด้วยความซื่อสัตย์ต่ออุดมการณ์และต่อประชาชน”
ทั้งนี้ ถ้าติดตามการให้สัมภาษณ์ของนายธนาธร ก็จะพบว่า เขามีความเข้าใจในทางการเมือง เข้าใจในเรื่องสงครามเสื้อสีไม่น้อย จนฝ่ายที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ หรือ ติ่งลุงตู่หลายคนมองว่า เขามิได้เป็นแนวร่วมกับทักษิณ ชินวัตร ขณะที่ฝ่ายคนเสื้อแดงเองก็ดูจะปลื้มปริ่มอยู่มิใช่น้อยเช่นกัน
แต่ในความเป็นจริง ไม่มีใครเชื่อว่า เขาจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้คนในระบอบทักษิณ เพราะเขาคือหลานชายของ “นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” จักรกลคนสำคัญแห่งพรรคไทยรักไทยในยุคที่ทักษิณ ชินวัตรเรืองอำนาจ มิหนำซ้ำตัวนายธนาธรเองยังเคยเป็นกรรมการ บมจ.เอ็มลิงค์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น (กลุ่มนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์) ซึ่งก็แน่นอนว่า เขาย่อมมิอาจปฏิเสธความสัมพันธ์ที่มีกับเครือข่ายนักการเมืองในค่ายพรรคดังกล่าว
ที่สำคัญคือ ถ้าจะว่าไปแล้ว เส้นทางของนายธนาธรก็ดูเหมือนจะไม่ต่างจาก นช.หนีคดีทักษิณ ชินวัตรเท่าใดนัก คือเป็นคนรุ่นใหม่ เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ แล้วถึงกระโดดมาเล่นการเมือง ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคนพยายามเชื่อมโยงให้เห็นเช่นนั้นจริงๆ และนายธนาธรก็รับรู้ถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นเช่นกัน โดยกล่าวสั้นๆ ว่า “คงต้องให้เวลาพิสูจน์ มีคนสบประมาทจริงๆ ว่าจะไปต่างอะไรกับคุณทักษิณ ผมคิดว่ามันไม่มีอะไรที่จะพิสูจน์ได้หรอกว่าเราจะเป็นอย่างไรในอนาคต นอกจากเปิดโอกาสให้เราลงมือทำ”
แน่นอน ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่พรรคของนายธนาธรจะต้องตอบคำถามสังคมก็คือ พรรคของเขาและผองเพื่อนร่วมอุดมการณ์จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงประเทศไทยอย่างไร จะเดินในแนวทางสุดขั้วเพื่อพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินดังที่เคยนำเสนอความคิดมาก่อนหน้านี้หรือไม่ โดยเฉพาะเกี่ยวกับมาตรา 112 ที่ยังคง “แทงกั๊ก” และไม่มีความชัดเจนอยู่ในขณะนี้ว่าจะแก้หรือไม่แก้
หลังการเลือกตั้ง ประเทศไทยก็จะได้รู้กันว่าจะ “อนาคตใหม่” หรือ อนา “คด” ใหม่ กันแน่.