ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
ถึงวันนี้ “บุพเพสันนิวาส” กลายเป็นละครอิงประวัติศาสตร์ที่ไม่เพียงแต่โด่งดังเรตติ้งแรงไปทั่วประเทศเท่านั้น แต่ยังดังข้ามไปถึงประเทศอื่นๆได้อย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง กระแสละครดังกล่าวยังทำให้ผ้าไทย วัฒนธรรมไทย รวมถึงประวัติศาสตร์ของชาติไทยได้ถูกนำมาทบทวนและสนใจอีกครั้งหนึ่ง
การกลับมาสนใจของคนในในเรื่องประวัติศาสตร์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชรอบนี้ ทำให้หลายคนได้รำลึกถึงความรุ่งเรืองที่สุดยุคหนึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งได้เป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนการค้าขายและด้านวัฒนธรรม ศาสนาที่สำคัญระหว่างประเทศ และยังมีชาวต่างชาติมาเป็นข้าราชบริพารเป็นจำนวนมาก
แม้ละครเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” จะจบลงอย่างมีความสุขสวยงามของพระเอกและนางเอกสมใจผู้ชมและผู้อ่านโดยไม่กล่าวถึงสาเหตุของการสิ้นอายุขัยของ ขุนศรีวิสารวาจา (หมื่นสุนทรเทวา)หรือ เกศสุรางค์ ในร่างของ การะเกด แต่เนื่องในโอกาสที่คนไทยหันกลับมาสนใจในประวัติศาสตร์ไทย จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะได้รับทราบถึงโรคภัยและพัฒนาการการแพทย์ของไทยซึ่งได้มีการบูรณาการหลากศาสตร์ในยุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราชอย่างน่าสนใจอีกด้วย
เมอสิเออร์ ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ (Simon de La Loubère) เอกอัครราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งประเทศฝรั่งเศสเข้ามาในกรุงสยามประมาณ 3 เดือนเศษ ระหว่าง พ.ศ.2230-2231ลาลูแบร์ ได้เขียนจดหมายเหตุพระราชพงศาวดารสยามครั้งกรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเกี่ยวกับโรคต่างๆ ในกรุงสยามความว่า :
“เรื่องโรคาพาธของชาวสยามในกรุงศรีอยุธยามีตั้งแต่โรคป่วง โรคบิด ไข้ กำเดา ไข้หวัด ไข้จับสั่น โรคพิษบาดทะยัก โรคจับลม โรคอัมพาต โรคคุดทะราด เข้าข้อฝีต่างๆ เป็นปรวดพิษ แผลเปื่อยพัง โรคโลหิตไหลทางเหงือกไม่ค่อยพบ โรคขี้เรื้อนกุดถังไม่ค่อยเห็น แต่คนเสียจริตมีชุมการถูกกระทำยำเยียเชิงกฤติคุณ ความประพฤติลามก พาให้เกิดกามโรคในกรุงสยามก็ดกไม่หยอก อนึ่งในกรุงสยามก็มีโรคติดต่อกัน แต่หาใช่ห่ากาฬโรคอย่างทวีปยุโรปไม่ ตัวโรคห่าของกรุงสยามก็คือ ไข้ทรพิษ อหิวาตกโรค...”
รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199-2231) นั้นมีการติดต่อค้าขายกับคนในชาติตะวันตกมากกว่ารัชกาลใดๆ ในแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา และได้มีการรวบรวมตำราไว้หลายขนาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นยาที่บรรดาหมอหลวงใช้ถวายการรักษาและได้ผลดีมาแล้ว ซึ่งต่อมามีการจัดพิมพ์และให้ชื่อว่า “ตำราพระโอสถพระนารายณ์” มีการบันทึกตำรับยาไว้ 81 ตำรับ ซึ่งเป็นยาที่ปรุงถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในช่วงปีที่ 3 ถึง ปีที่ 5 (พ.ศ. 2202-2204) และมีหลายตำรับมีการเข้ากัญชาเป็นหนึ่งในตัวยาร่วมการรักษาโรคด้วย
ความน่าสนใจในยุคนั้นมีอยู่ว่า หมอในราชสำนักที่ปรุงยาถวายพระมหากษัตริย์มีทั้งสิ้น 9 คน เป็นหมอสยาม 5 คน ที่เหลือเป็นหมอจีน 1 คน หมอแขก 1 คน และหมอฝรั่ง 2 คน โดยในจำนวนนี้เป็นหมอหลวงที่รับราชการ 7 คนและหมอที่มิได้รับราชการ 2 คน แสดงให้เห็นว่ามีการบูรณาการยอมรับแพทย์หลายแขนงจากหลายชนชาติได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นแล้วนำมาผสมผสานกับภูมิปัญญาดั้งเดิมของสยาม หล่อหลอมกลายเป็นการแพทย์แผนไทยที่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง
ดังจะเห็นได้จากการใช้เครื่องยาเทศในยาเกือบทุกตำรับที่บันทึกไว้ในตำราพระโอสถพระนารายณ์ เช่น โกษฐ์ต่างๆ เทียนต่างๆ โหราต่างๆ ยาดำ ชะมดเชียง น้ำดอกไม้เทศ ยิงสม มาตะกี่ มดยอบ สีเสียดเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นภูมิปัญญาอันชาญฉลาดของบรรพบุรุษสยาม ที่รู้จักเลือกขอดีๆ ที่มาจากต่างๆชาติ มาผนวกและประยุกต์ใช้เข้ากับของพื้นบ้านดีๆที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ในท้องถิ่น
ทั้งนี้ ในหนังสือคำอธิบายตำราพระโอสถพระนารายณ์ ฉบับเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษามหาราชา 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542 ได้ระบุพระโรคและโรคซึ่งกล่าวไว้ในตำราพระโอสถพระนารายณ์ หลายโรคน่าจะเป็นโรคซึ่งปรากฏในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง ตลอดจนคนทั่วไปด้วยนั้น อาจสรุปได้ดังนี้
1. โรคและอาการของระบบทางเดินอาหาร เช่น อาการลงท้อง เป็นพรรดึก เบื่ออาหาร เจ็บในท้อง ริดสีดวงทวาร อาเจียน ท้องขึ้น ท้องพอง พยาธิในลำไส้ ลมจุกเสียด
2. โรคและอาการเกี่ยวกับเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ และประสาท เช่น อาการเส้นตึง เส้นกล่อน เส้นอัมพฤกษ์ อัมพาต ตะคริวจับ เมื่อยขบ
3. โรคและอาการระบบการหายใจและโรคตา เช่น เป็นหวัด คัดจมูก ปวดศีรษะ ปวดจมูก ริดสีดวงจมูก เลือดกำเดา ปวดตา ไอ มองคล่อ
4. โรคติดเชื้อ เช่น เป็นฝีแบบต่างๆ เป็นแผลเปื่อย มีหนอง เป็นฝีในหู เป็นกามโรค เช่น ไส้ด้วน ไส้ลาม จุกกระผาม ม้ามย้อย (ไข้จับสั่น)
5. โรคและอาการไม่สบายอื่นๆ เช่น ไข้ต่างๆ ถูกสัตว์พิษกัดต่อย ผมร่วง ปัสสาวะไม่ออก
อย่างไรก็ตาม การแพทย์ตะวันตกได้เริ่มเข้ามาเผยแพร่อย่างจริงจังในสมัยนั้น โดยคณะมิชชันนารีฝรั่งเศสได้ใช้การแพทย์แผนตะวันตกเป็นเครื่องมือในการเผยแผ่ศาสนา โดยจัดตั้งสถานพยาบาลขนาดเล็กใกล้กับโบสถ์คาทอลิก และเมื่อปี พ.ศ. 2212 ได้มีการเสนอการรักษาและแจกยาฝรั่งฟรี
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2221 ได้ขยายโรงพยาบาลจนมีตึก 2 หลังแยกคนไข้ชายหญิง สามารถรับคนไข้ได้ 20-30 คน รับคนไข้นอกได้ 200-300 คน ซึ่งแม้ว่าการแพทย์แผนตะวันตกจะเข้ามาเผยแพร่ในหมู่ประชาชนทั่วไป แต่ก็ยังอยู่ในวงจำกัด เพราะประชาชนยังไม่ยอมรับการรักษาแบบฝรั่ง เมื่อเทียบกับการรักษาแบบภูมิปัญญาของชาวสยาม
เมอสิเออร์ ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ (Simon de La Loubère) ยังได้เขียนจดหมายเหตุพระราชพงศาวดารสยามครั้งกรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชโจมตีการแพทย์ของชาวสยามในยุคนั้นเอาไว้ด้วยความว่า:
“การแพทย์ของชาวสยามนั้นยังไม่สมควรจะนับเนื่องว่าเป็นวิทยาศาสตร์ได้ แพทย์หลวงส่วนมากของสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามเป็นชาวจีน มีชาวสยามและชาวพะโคบ้างเหมือนกัน และในระยะ 2-3 ปีที่ล่วงมานี้ (พ.ศ. 2227-2230) พระองค์ท่านได้ทรงรับเมอร์สิเออร์ โปมารด์ ครูสอนศาสนาคริสตังฝ่ายคฤหัสถ์ ผู้ซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศสเข้าไว้เป็นแพทย์หลวงประจำพระองค์ และทรงมีความไว้วางพระราชหฤทัยยิ่งกว่าแพทย์หลวงคนอื่นๆ แพทย์หลวงเหล่านั้นจะต้องรายงานพระอาการของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้เมอร์สิเออร์ โปมารด์ทราบทุกวัน และเมื่อจะเสวยพระโอสถก็ทรงรับจากมือของเมอสิเออร์ โปมารด์ผู้ปรุงถวาย”
ส่วนประเด็นที่ว่าเมอสิเออร์ ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ จะบันทึกเอาไว้เป็นไปตามความเป็นจริงหรือจะเป็นการรับข้อมูลแล้วบันทึกเกินจริงจากแพทย์ชาวฝรั่งเศส หรือเป็นข้อมูลที่ได้มาจากพฤติการณ์และมารยาททางการทูตของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเพื่อยกย่องให้เกียรติและเจริญสัมพันธไมตรีกับชาติฝรั่งเศสหรือไม่ ก็ไม่มีใครทราบได้?
นอกจากนี้เมอสิเออร์ ซีมง เด ลาลูแบร์ ยังได้กล่าวโจมตีจุดอ่อนอื่นๆของการแพทย์สยามในยุคนั้นว่า ชาวสยามมีความเขลาไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับศัลยกรรมเลย ไม่รู้เรื่องกายวิภาคศาสตร์ ไม่เคยผ่าศพดู ไม่ประสาวิชาเคมี ฯลฯ
นอกจากนั้นเมอสิเออร์ ซีมง เด ลาลูแบร์ ยังได้บันทึกในการรักษาของกรุงสยามเชิงเปรียบเทียบเอาไว้อย่างน่าสนใจความตอนหนึ่งว่า
“ในกรุงสยามนั้นถ้าใครป่วยไข้ลง ก็จะเร่มทำให้ยืดเส้นยืดสายโดยให้ผู้มีความชำนาญในทางนี้ขึ้นไปบนร่างกายของคนไข้ แล้วใช้เท้าเหยียบๆ กล่าวกันว่าหญิงมีครรภ์ก็มักจะใช้ให้เด็กเหยียบเพื่อให้คลอดบุตรง่าย ด้วยว่าในเมืองร้อนนั้น หญิงมักจะคลอดบุตรง่ายโดยธรรมชาติสร้างสรรค์ให้เหมาะกับลมฟ้าอากาศ แต่ก็ปรากฏว่าเจ็บปวดรวดร้าวอยู่มากเหมือนกัน ลางทีอาจเป็นเพราะมีอาการเตรียมขับถ่ายก่อนคลอดน้อยนักนั่นเอง
ครั้งโบราณ ชาวอินเดียไม่มียาบำบัดโรคโลหิตคั่ง นอกจากให้คนไข้อดของแสลงอย่างกวดขันสถานเดียว และก็เป็นวิธีเยียวยาอันสำคัญของชาวจีนในทางการแพทย์อีกด้วย ปัจจุบันนี้ชาวสยามใช้วิธีแทงเอาเลือดออก ถ้ามีนายศัลยแพทย์ชาวยุโรปเป็นผู้ให้การบำบัด ลางทีแทนที่จะใช้วิธีแทงเอาเลือดออก ก็ใช้วิธีกอกหรือใช้ปลิงดูดเอา
เขามียาระบายอย่างที่เราใช้อยู่เหมือนกัน และก็มีระบายอย่างอื่นโดยเฉพาะอีก แต่เขาไม่รู้จักใช้ต้นเอลเอลบอร์ ซึ่งพวกชาวกรีกโบราณนิยมใช้กันอยู่ อนึ่งใรการระบายถ่ายล้างท้องนั้น ก็มิได้กำหนดเวลาไว้ว่าประการใด เขาไม่รู้จักอะไรคือการจู่โจมของโรค มาตรว่าจะรู้จักคุณค่าของการทำให้เหงื่อตกในอาการไข้ก็ตาม แต่เขานิยมใช้วิธีเข้ากระโจมอบให้เหงื่อตกมากอยู่
ยาแก้ไข้ของชาวสยามนั้นปรุงขึ้นจากแร่และสมุนไพรเป็นพื้น หมอชาวยุโรปได้แน่นำให้เขารู้จักใช้แก็งกินน่า (ยาควีนิน) ขึ้น ว่ากันว่าโดยทั่วไปแล้วยาของหมอสยามล้วนแต่ร้อนไปเสียทั้งนั้น ไม่รู้จักใช้ตัวยาที่บังเกิดความเย็นขึ้นในร่างกายเลย แต่เขาใช้วิธีอาบน้ำ (เพื่อให้ตัวเย็น) เมื่อเวลาจับไข้ และไม่ว่าจะเป็นโรคอะไรก็ใช้วิธีนี้ทั้งสิ้น ดูเหมือนว่าการทำให้ความร้อนของร่างกายทรงอยู่ หรือเพิ่มขึ้นนั้นเป็นประโยชน์แก่การรักษาไข้ทั้งนั้น
คนไข้ของพวกเขานั้นบริโภคแต่ข้าวต้มอย่างเดียว และต้มให้เละมากๆ ชาวปอรตุเกศที่อยู่ในอินเดียเรียกว่า กางเช ส่วน้ำต้มเนื้อนั้น ในประเทศสยามถือว่าเป็นของแสลงขนาดทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ทีเดียว เพราะทำให้ท้องอืด และเมื่อคนไข้พอจะบริโภคอาหารหนักได้บ้างแล้ว ก็ให้กินเนื้อหมูซึ่งไม่ค่อยแสลง ดีกว่าสัตว์อย่างอื่นหมด”
อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีการบันทึกโจมตีความไม่น่าเชื่อถือของการแพทย์แผนไทย แต่เมอร์สิเออร์ ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ ก็ยังต้องบันทึกยอมรับว่ามี “ผู้ป่วยจำนวนมาก” หายป่วยในโรคยากๆ ด้วยหมอสยามในยุคนั้นด้วย (แม้จะอ้าง ”สมมุติฐาน” ว่าอาจเป็นเพราะชาวสยามยุคนั้นไม่ค่อยดื่มเครื่องดองของเมามากนัก) ความตอนหนึ่งว่า:
“หมอสยามไม่พยายามที่จะศึกษาสรรพคุณของตัวยาแต่ละชนิดนอกจากจะถือเอาตามตำรับที่ปู่ย่าตายายสั่งสอนกันต่อๆกันมาเท่านั้น และเขาจะไม่ปรับปรุงแก้ไขตำรับนั้นแต่ประการใดเลย หมอสยามมิพักพะวงถึงลักษณะอาการเฉพาะโรคแต่ละโรค แม้กระนั้นก็ยังบำบัดให้หายไปได้มิใช่น้อย ทั้งนี้ก็เพราะชาวสยามไม่ค่อยดื่มเครื่องของดองของเมามากนัก จึงเป็นเครื่องให้พ้นภัยจากโรคที่รักษาให้หายได้ยากเป็นอันมาก
แต่เมื่อเผอิญถูกโรคร้ายรุมเหนือกำลังจะวางยาแล้ว หมอสยามก็ไม่เว้นที่จะโทษว่าเพราะคนไข้ถูกคุณไสยจึงไม่มีทางจะรักษาด้วยโอสถขนาดใดๆได้ไปนั่นเทียว”
ครั้นเมื่อเมอสิเออร์ ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ ซึ่งมีฐานะเป็นเอกอัครราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งประเทศฝรั่งเศสเจ็บป่วยแต่เพียงเล็กน้อย ก็ยังบันทึกเอาไว้ด้วยตัวเองว่า สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหมอหลวงทั้งกรมมารักษาให้ โดยมีทั้งหมอจีน หมอสยาม หมอมอญ ที่ผลัดกันมาแมะตรวจจับชีพจรแต่กลับไม่มีการบันทึกว่าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชจะได้โปรดเกล้าฯพระราชทานแพทย์ชาวฝรั่งเศสมารักษาเมอสิเออร์ ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ แต่ประการใด
ท่านผู้อ่านลองพิจารณาสังเกตและตรึกตรองดูว่าพฤติการณ์จากบันทึกดังกล่าวแตกต่างจากข้อมูลในบันทึกของเมอสิเออร์ ซีมง เด ลาลูแบร์ ว่าทรงมีความไว้วางพระราชหฤทัย เมอสิเออร์ โปมารด์ ยิ่งกว่าแพทย์หลวงคนอื่นๆ จริงหรือไม่?
แม้ว่าการบันทึกของเมอสิเออร์ซีมง เด ลาลูแบร์ จะได้รับการยกย่องว่ามีความละเอียดและทรงคุณค่าในหลายแง่มุม แต่ด้วยระยะเวลาเพียง 3-4 เดือน ย่อมเป็นเรื่องยากที่จะมีความเข้าใจกระจ่างแจ้งในภูมิปัญญาของแพทย์แผนไทยในยุคนั้น ซึ่งหมอสยามยุคนั้นย่อมไม่มีทางเปิดเผยให้กับผู้อื่นซึ่งไม่ได้ไหว้ครูมอบตัวเป็นศิษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นชาวต่างชาติที่อาจมีการแสดงออกในลักษณะมีอคติกับแพทย์ภูมิปัญญาในยุคนั้น จริงหรือไม่?
เพราะถ้าแพทย์สยามไม่มีดีเอาเสียเลย เมอซิเออร์ ซีมง เด ลาลูแบร์ ซึ่งบันทึกเกี่ยวกับเรื่องราวในสยามในระยะเพียง 3 - 4 เดือน ยังได้เห็นการบำบัดที่ทำให้ผู้ป่วยหายป่วยดีขึ้นจำนวนมากได้อย่างไร?
เมื่อดูหลักฐานการบันทึกอีกชิ้นหนึ่งก่อนหน้านั้นเมื่อปี พ.ศ. 2228 ( 2 ปี ก่อนที่เมอซิเออร์ ซีมง เด ลาลูแบร์ จะเดินทางมาถึงสยาม) เมอสิเออร์ นิโคลาส์ แชร์แวส ชาวฝรั่งเศสในคณะทูตของเชอวาลิเอร์ เด โชมองต์ ราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ได้เดินทางมาถึงสยาม และได้พำนักอยู่ในสยามเป็นเวลา 4 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2228 - 2232 ได้บันทึกเอาไว้เมื่อปี พ.ศ. 2229 ความว่า
“แพทย์ในประเทศสยามนั้น ก็เหมือนกับหมอบ้านนอกในประเทศเรา คือเป็นทั้งเภสัชกรและศัลยแพทย์ด้วย เขาปรุงน้ำมันทาและโอสถขึ้นเองตามประสงค์ โอสถเหล่านี้สรรพคุณครอบจักรวาล คือรักษาโรคได้ร้อยแปด มีการให้อดของแสลงเป็นประธาน แล้วให้ต้มน้ำอาบติดต่อกันเป็นเวลาหลายวันเพื่อบำบัดอาการไข้
สำหรับโรคไขข้ออักเสบ เขานวดบริเวณที่มีอาการปวด แล้วเอาก้อนกรวดเผาไฟห่อผ้าประคบ การกอก (การดูดเอาเลือดออก) ก็ใช้สำหรับอาการโรคปวดหัวมัวตา โดยการใช้การกอกด้วยเขาควาย เป็นที่น่าเสียดายว่าหมอเหล่านี้ไม่รู้จักอาการอย่างอื่นอีกเลย และโอสถของเขาก็ปรุงขึ้นโดยมิได้รับการศึกษาหรือผ่านทฤษฎีการปฏิบัติมาอย่างช่ำชองแล้วเลย เขามีความรู้ทางชีวเคมีดีพอใช้ และการปรุงยาจะวิเศษมากขึ้น ถ้าได้รู้สรรพคุณของต้นไม้ที่ใช้ทำยาดีกว่านี้ และสรรพคุณของสมุนไพรที่พบอยู่ในที่ทั่วไป”
ความจริงแล้วชาวต่างชาติคงไม่ได้รู้ว่าแพทย์สยามนั้นมี “ตำราพระโอสถพระนารายณ์” ว่าด้วยการวิเคราะห์ความผิดปกติของธาตุทั้งสี่ ได้แก่ ธาตุไฟ (เตโชธาตุ), ธาตุน้ำ (อาโปธาตุ), ธาตุลม (วาโยธาตุ) และธาตุดิน (ปถวีธาตุ) โดยกล่าวถึงคัมภีร์มหาโชตรัต และคัมภีร์โรคนิทาน ซึ่งเป็นคัมภีร์สำคัญที่ยังคงใช้อยู่จนถึงปัจจุบันและเป็นวิธีการคิดคนละระบบกับวงการแพทย์แผนปัจจุบันที่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่ก็มีทฤษฎีเกี่ยวกับรสและสรรพคุณของสมุนไพรแต่ละชนิดอย่างชัดเจน และมีการจดบันทึกถึงตำรับยาที่ได้ผลจากครูบาอาจารย์ถึงลูกศิษย์จากรุ่นสู่รุ่น และไม่มีทางที่จะถ่ายทอดให้กับชาวฝรั่งเศสที่ไม่เคยไหว้ครูฝากตัวเป็นศิษย์ได้เลย
ด้วยเหตุผลนี้ชาวฝรั่งเศสจึงมักบันทึกว่าแพทย์สยามในยุคนั้นทำกันอย่าง มั่วๆ ไม่เป็นวิทยาศาสตร์บ้าง มีแต่ยาฤทธิ์ร้อนบ้าง ไม่มีทฤษฎีและความรู้บ้าง มีองค์ความรู้อย่างคับแคบบ้าง แต่ผลลัพธ์กลับมีผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นจำนวนมาก และได้รับความนิยมจากประชาชนอีกด้วย แม้จุดอ่อนของแพทย์แผนไทยยุคนั้นมีอยู่ก็จริง แต่ในอีกด้านหนึ่งชาวต่างชาติเหล่านั้นก็ไม่สามารถเข้าถึงแก่นของภูมิปัญญาแพทย์สยามได้ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตามครั้นเมื่อสิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชใน พ.ศ. 2231 เกิดการผันผวน ทางการเมือง สมเด็จพระเพทราชาซึ่งขึ้นครองราชสมบัติแทน ชาวฝรั่งเศสถูกขับไล่ออกจากกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากทรงไม่ไว้วางพระราชหฤทัยพวกฝรั่งเศส ทำให้การแพทย์แผนตะวันตกเสื่อมสูญไปด้วย
ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้นพบบันทึกว่า มีระบบการจัดหายาที่ชัดเจน สำหรับราษฎรโดยมีแหล่งจำหน่ายยาและสมุนไพรหลายแห่งทั้งในและนอกกำแพงเมือง ในส่วนราชการและราชสำนักมีโรงพระโอสถอยู่ในพระราชวัง มีการเตรียมยาสำหรับกองทัพ บนตัวเกาะกรุงศรีอยุธยามีร้านขายเครื่องสมุนไพรให้แก่ชาวบ้านทั่วไป โดยระบุว่าที่ถนนป่ายามีร้านขายเครื่องเทศ เครื่องไทยครบสรรพคุณยาทุกสิ่ง ชื่อ “ตลาดป่ายา”
เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียกรุงครั้งที่ 2 ตำรับตำราต่างๆ น่าจะถูกเผาทำลายไปเป็นจำนวนมาก บางส่วนถูกนำไปฝังดินพร้อมกับสมบัติมีค่าอื่นๆ มีผู้คนล้มตายและส่วนหนึ่งถูกกวาดต้อนไปพม่า ที่เหลือแตกกระสานซ่านเซ็นหลบหนีสงคราม ทำให้การสืบทอดความรู้ทางการแพทย์หยุดชะงักไป และความรู้ส่วนหนึ่งได้สูญหายไปในช่วงเวลานี้ด้วย
และนับว่าเป็นความโชคดีของคนในยุคนี้ เพราะนอกจากเราจะสามารถรื้อฟื้นภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยกลับมาในยุคยาฝรั่งเฟื่องฟูได้แล้ว แพทย์แผนไทยในยุคหลังได้ก้าวหน้าไปอย่างมีนัยยะสำคัญยิ่ง
โดยเฉพาะจุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2525 เมื่อศาสตราจารย์นายแพทย์ อวย เกตุสิงห์ ประธานมูลนิธิฟื้นฟูส่งเสริมการแพทย์ไทยเดิม ได้วิเคราะห์จุดอ่อนของการแพทย์ไทยเดิมว่า “ขาดรากฐานทางวิทยาศาสตร์” และวินิจฉัยโรคอาศัยแต่อาการที่ผู้ป่วยแจ้งให้ทราบเป็นหลัก จึงได้ก่อตั้ง “อายุรเวทวิทยาลัย (ชีวกโกมารภัจจ์)” เพื่อผลิตแพทย์แผนโบราณแบบใหม่ เป็นการแบ่งเบาภาระของแพทย์แผนปัจจุบัน โดยสอนความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ควบคู่ไปกับวิชาแพทย์แผนโบราณ ในหลักสูตรซึ่งใช้เวลาศึกษา 3 ปี ในเวลาต่อมาเรียกว่า “แพทย์แผนไทยประยุกต์”
“แพทย์แผนไทยประยุกต์” ที่ผลิตขึ้นตามหลักสูตรนี้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการแพทย์แผนไทยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในระบบบริการสาธารณสุขของรัฐ และยังมีการเรียนการสอนตามหลักสูตรนี้ขยายไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆอีกหลายแห่ง และยังเป็นกำลังสำคัญทำให้เกิดงานวิจัยการแพทย์แผนไทยรุ่นใหม่ที่เป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งนอกจากจะช่วยตอกย้ำคุณสมบัติทางเคมีของสมุนไพรแต่ละชนิดตลอดจนวิธีการรักษาได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น อันเป็นเป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงองค์ความรู้และภูมิปัญญาที่แหลมคมของบรรพบุรุษไทยในอดีตแล้ว ยังสามารถต่อยอดพัฒนางานวิจัยการแพทย์แผนไทยให้มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้นกว่าในอดีตได้อีกด้วย
ซึ่งในยุคเรานี้น่าจะมีโอกาสได้เห็นการพัฒนาการแพทย์แผนไทยอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย
ส่วนเนื้อหาตามละคร “บุพเพสันนิวาส” เกศสุรางค์ที่กลับชาติไปอยู่ในร่างของการะเกดในยุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น ตามละครก็ถือว่าได้สร้างประโยชน์ในวงการด้านสุขภาพด้วย เพราะอย่างน้อยก็ได้ใช้วิชาการผายปอด และปั้มหัวใจของการแพทย์แห่งอนาคต มาช่วยชีวิต หมื่นสุนทรเทวา (ขุนศรีวิสารวาจา) ให้ฟื้นขึ้นมา จนสามารถทำภารกิจสำคัญของประเทศสำเร็จ แถมยังได้ประดิษฐ์สร้างเครื่องกรองน้ำเพื่อทำให้การสุขอนามัยดีขึ้นด้วย จริงไหม?
ดังจะเห็นตัวอย่างได้ว่า การที่ “เกศสุรางค์” มีความรู้ในการ “ปั้มหัวใจ” และ “ผายปอด” เป็นหลักประกันว่าหากนำมาใช้ได้อย่างถูกต้อง “แม้เพียงครั้งเดียว” ก็จะเป็นความรู้ที่มีค่ายิ่งต่อคนที่เรารัก จึงขอใช้โอกาสนี้ประชาสัมพันธ์การสอนวิชา “การแพทย์ฉุกเฉินในบ้าน” ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายวิชาของ หลักสูตรวิถีชีวาเวชศาตร์ (Lifestyle Medicine) ของสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย ของมหาวิทยาลัยรังสิต ที่จะสอนหลายวิชาเพื่อให้คนธรรมดาให้เป็นหมอสำหรับดูแลตนเองและคนในครอบครัว ด้วยหลักคิดในการ “พึ่งพาตนเอง” ที่ว่า “ลดการใช้ยา ด้วยบูรณาการแห่งปัญญา รักษาที่เหตุแห่งโรค”
หลักสูตรวิถีชีวาเวชศาตร์ (Lifestyle Medicine) ได้เปิดรับสมัครรุ่นที่ 2 แล้ว ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2551 เรียนทุกวันเสาร์และอาทิตย์ตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน - 14 กรกฎาคม 2561 ไม่จำกัดวุฒิและวัย รัยจำนวนจำกัดไม่เกิน 100 คน โดยผู้ที่จบหลักสูตรจะได้รับประกาศนียบัตรจากสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต วิชาที่สอนก็ล้วนมาจากอาจารย์และแพทย์ผู้มีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จในการรักษาคนไข้หลายสาขา เช่น โภชนาการบำบัดจากภูมิปัญญาจนถึงงานวิจัย, กดจุดแก้อาการในบ้าน, ฝังเข็มบางอาการในบ้าน, สมุนไพรพื้นฐานในบ้าน, การบูรณาการล้างพิษ, การบริหารระบบภูมิคุ้มกัน, การแพทย์ฉุกเฉินในบ้าน, การแพทย์ทางเลือก, การออกกำลังกายเพื่อชะลอวัย ฯลฯ สนใจสมัครเรียนด่วนก่อนเต็ม ได้ที่สถาบันรังสิตวิชชาลัย มหาวิทยาลัยรังสิต หมายเลขโทรศัพท์ 02-791-5681, 02-791-5683,02-791-5684
ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย
มหาวิทยาลัยรังสิต