xs
xsm
sm
md
lg

รัฐธรรมนูญที่ผุกร่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

  มีชัย ฤชุพันธุ์ (ซ้าย) พรเพชร วิชิตชัย (ชวา)
พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

บ้านเรือนที่มีเสาบ้านคานเรือนผุกร่อน ย่อมมีความเสี่ยงต่อการพังทะลายฉันใด เสาหลักของบ้านเมืองที่ผุกร่อน ก็ย่อมทำให้บ้านเมืองนั้นมีความเสี่ยงต่อความหายนะฉันนั้น รัฐธรรมนูญทำหน้าที่ประดุจเสาหลักของบ้านเมือง หากเป็นสนิมและผุกร่อนง่าย บ้านเมืองก็ไม่มั่นคง และดูเหมือนว่ารัฐธรรมนูญที่ประเทศไทยกำลังใช้ขณะนี้กำลังเต็มไปด้วยสนิมและผุกร่อนอย่างรวดเร็วเกินความคาดหมาย

เนื้อหาของรัฐธรรมนูญเกือบทั้งหมดถูกกำหนดจากเจตนารมณ์และความคิดของคณะผู้ร่างและคณะผู้ครอบครองอำนาจรัฐ ขณะที่เจตนารมณ์และความคิดของประชาชนกลุ่มอื่นๆในสังคมแทบจะไม่ได้รับการบรรจุลงไปในรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด ส่วนการลงประชามติภายหลังร่างรัฐธรรมนูญเสร็จนั้นเป็นเพียงพีธีกรรมเชิงการละคร ที่หาได้สะท้อนเจตจำนงที่แท้จริงของประชาชน เพราะคนส่วนใหญ่ไปลงประชามติในสิ่งที่ตนเองไม่รู้และไม่เข้าใจนั่นเอง

เจตจำนงของคณะผู้ร่างที่ปรากฎชัดเจนคือ การใช้รัฐธรรมนูญเพื่อเป็นเครื่องมือในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นอันเป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศ จึงวางหลักเกณฑ์ที่พวกเขาคิดว่าจะเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการปราบปรามการทุจริต โดยมุ่งยกระดับความแข็งแกร่งขององค์การอิสระที่จะเข้ามาตรวจสอบอำนาจรัฐ สิ่งที่ตามมาคือการกำหนดคุณสมบัติอันสูงส่งของผู้ที่จะเข้ามาเป็นกรรมการในองค์กรอิสระ และกำหนดคุณลักษณะต้องห้ามเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเอื้อประโยชน์กันระหว่างผู้ที่เข้ามาเป็นกรรมการองค์การอิสระและฝ่ายการเมือง

ขณะเดียวกันก็ออกแบบการได้มาของ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อย่างพิสดาร โดยกำหนดกลุ่มประเภทของคนในสังคมให้หลากหลาย เพื่อเป็นหลักประกันว่าบุคคลจากทุกกลุ่มสามารถเข้ามาเป็น ส.ว.ได้ ขณะเดียวกันก็กำหนดมิให้มีผู้สมัครในแต่ละกลุ่มเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิด “บล็อกโหวต” ภายในกลุ่ม และป้องกันไม่ให้นักการเมืองหรือผู้มีอำนาจรัฐเข้าไปเตรียมการจัดตั้งเพื่อเอาคนของตนเองเข้ามาเป็น ส.ว. แต่การออกแบบในลักษณะนี้จะได้ใช้อย่างเต็มรูปแบบหรือไม่ก็ยังไม่แน่นอน เพราะว่าในช่วงห้าปีแรก มีบทเฉพาะกาลกำหนดให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้เลือกบุคคลที่จะเข้ามาเป็น ส.ว.ทั้งหมดในขั้นตอนสุดท้าย

ประกาศใช้ไม่ทันไรความผุกร่อนของรัฐธรรมนูญเริ่มปรากฎให้เห็นเมื่อมีการพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ขององค์กรอิสระโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เรื่องแรกที่เห็นชัดเจนคือ ความไร้มาตรฐานหรือการเลือกปฏิบัติต่อการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการองค์กรอิสระที่มีอยู่เดิม คณะกรรมการองค์กรอิสระใดที่ผู้มีอำนาจรัฐประเมินว่าเป็นพวกพ้องตนเองและควบคุมได้ ก็ให้อยู่ต่อทั้งชุด แต่หากคณะกรรมการองค์กรอิสระใดถูกประเมินว่าไม่สามารถควบคุมได้ ก็ให้สิ้นสภาพไปทั้งชุด ดังการดำรงอยู่และการสิ้นสุดลงของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงนั่นเอง

ยิ่งกว่านั้นยังมีการเขียนลงไปใน พ.ร.ป. ป.ป.ช. ให้ยกเว้นคุณสมบัติต้องห้ามบางอย่าง ( เช่น เรื่องเคยเป็นข้าราชการเมือง ในระยะ 10 ปีก่อนดำรงตำแหน่ง) ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญให้แก่กรรมการบางคนใน ป.ป.ช. ผู้เคยเป็นข้าราชการการเมืองและมีความใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจรัฐมาก่อน การเขียนกฎหมายแบบนี้ ทำให้ พ.ร.ป. ป.ป.ช. ซึ่งเป็นกฎหมายลูกมีสถานะเหนือ รัฐธรรมนูญที่กฎหมายแม่ จนถูกบรรดานักกฎหมายและประชาชนวิจารณ์ว่าเป็นการ “มาตุฆาต” ทางกฎหมาย และการมาตุฆาตทางกฎหมายก็นี้ถูกรับรองอย่างชอบธรรมโดยศาลรัฐธรรมนูญในเวลาต่อมาเสียด้วย

ปรากฎการณ์แบบนี้ทำให้ผมเกิดความสงสัยขึ้นในใจอย่างหนึ่ง หรือว่ารัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงที่นายมีชัย ฤชุพันธ์ภูมิใจนักหนา กำลังถูกตัดต่อพันธุกรรมให้กลายเป็นรัฐธรรมนูญที่ส่งเสริมการโกงไปเสียแล้ว ข้อพิสูจน์ในเรื่องนี้จะปรากฎตัวขึ้นมาในไม่ช้า เมื่อผลการตรวจสอบเรื่องนาฬิกาหรูยืมเพื่อนของผู้มีอำนาจรัฐบางคนถูกประกาศออกมา

เรื่องที่สะท้อนความผุกร่อนของรัฐธรรมอีกประการหนึ่งคือ การที่ สนช. ลงมติไม่รับรองรายชื่อของผู้สมัครตำแหน่งคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ผ่านกระบวนการสรรหามาแล้ว เพราะข้อบัญญัติเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ามาเป็น กกต.และองค์กรอิสระอื่นๆ นั้น เป็นคุณสมบัติที่สูงมาก แต่มีความพิลึกพิลั่นอยู่ไม่น้อย เพราะด้านหนึ่งเป็นการจำกัดจำนวนคนที่พอจะมีคุณสมบัติให้เหลือน้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเคยดำรงตำแหน่งระดับอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี เรียกได้ว่าถ้าใครรับราชการก็ต้องเป็นอธิบดีมาตั้งแต่อายุ 55 ปี และต้องดำรงตำแหน่งในฐานะหัวหน้าส่วนราชการรวมกัน 5 ปี หากปีใดปีหนึ่งถูกย้ายไปดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงหรือ ผู้ตรวจราชการ ก็ขาดคุณสมบัติทันที เพราะเป็นหัวหน้าส่วนราชการไม่ครบห้าปีนั่นเอง

ในส่วนของผู้เป็นนักวิชาการก็ต้องเป็นศาสตราจารย์ไม่น้อยกว่าห้าปีเหมือนกัน และยังต้องมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์ บุคคลที่มีคุณสมบัติแบบนี้และมีความเชี่ยวชาญเรื่องเลือกตั้งด้วยมีน้อยมากในประเทศไทย นักวิชาการในสาขารัฐศาสตร์และกฎหมายที่พอเชี่ยวชาญเรื่องเลือกตั้งมีผู้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์เพียงไม่กี่คนเท่านั้น เพราะกว่าจะได้เป็นศาสตราจารย์ส่วนใหญ่อายุก็ใกล้ 60 ปีแล้วเกือบทั้งนั้น ส่วนสาขาที่มีศาสตราจารย์เยอะหน่อยก็คือสาขาทางด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์ ซึ่งอายุประมาณ 40 กว่าปีก็ได้เป็นกันแล้ว แต่นักวิชาการสาขาเหล่านั้นอาจไม่ได้สนใจหรือเชี่ยวชาญในเรื่องการเมืองและการเลือกตั้ง เท่ากับนักวิชาการสาขารัฐศาสตร์และกฎหมาย

แต่ที่พิลึกพิลั่นยิ่งกว่าคือคุณสมบัติเรื่องการให้ผู้ประกอบวิชาชีพใดๆ ที่ทำงานไม่น้อยกว่า 20 ปี มีคุณสมบัติเป็นผู้สมัคร กกต.ได้ ดังนั้นผู้ประกอบอาชีพแพทย์ วิศวกรรม ทนายความ ครู พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ ฯลฯ ที่ประกอบวิชาชีพติดต่อกันไม่น้อยกว่า 20 ปี ก็สามารถสมัครเป็น กกต.ได้ทุกคน แต่บุคคลนั้นจะเหมาะสมกับการเป็น กกต.หรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ภายใต้คุณสมบัติที่พิลึกพิลั่นเช่นนี้ จึงทำให้ผู้สมัคร กกต.ครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่ผ่านการคัดกรองและสรรหาจากคณะกรรมการสรรหามาแล้วถูกปฏิเสธจากสนช. ทุกคน และในอนาคตก็ยังไม่ทราบว่าจะเป็นอย่างไร แต่หากยังเป็นแบบแผนเดิมดังที่ผ่านมา ก็คงกระทบถึงการเลือกตั้งเป็นแน่ รัฐธรรมนูญที่ คณะกรรมการร่างรัฐธรรม (กรธ.)คิดว่าจะสามารถปราบนักการเมืองทุจริตเลือกตั้งได้ ก็คงเป็นเพียงแค่ความฝันเสียกระมัง

ยังไม่พอ ความผุกร่อนของรัฐธรรมนูญดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง เมื่อ กรธ.ยกร่าง พ.ร.ป. เลือกตั้ง ส.ว. แต่ สนช. ไปรื้อชนิดหน้ามือเป็นหลังเท้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประเภทของผู้สมัครเป็นส.ว. ซึ่ง กรธ. กำหนดให้มีประเภทเดียวคือบุคคลทั่วไป แต่ สนช. แก้เป็นให้มีสองประเภท คือบุคคลทั่วไป กับ คนที่สมัครผ่านองค์กร หรือ ประเด็นจำนวนกลุ่มของ ส.ว. ซึ่งกรธ.กำหนดไว้ 20 กลุ่ม โดยให้เหตุผลว่าเพื่อให้ทุกกลุ่มได้มีโอกาสเลือกเป็น ส.ว.โดยไม่ตกหล่น แต่สนช. แก้จนเหลือเพียง 10 กลุ่ม โดยอ้างว่า 20 กลุ่มมากเกินไป และยังมีประเด็นการออกแบบการเลือกตั้ง สว. ซึ่ง กรธ. ออกแบบให้เลือกไขว้ระหว่างกลุ่ม นัยว่าเพื่อป้องกันบล๊อคโหวต แต่สนช. แก้เป็นให้เลือกภายในกลุ่มเดียวกัน ด้วยเหตุผลว่าผู้ที่อยู่ข้ามกลุ่มไม่รู้จักกัน แล้วจะเลือกให้มีประสิทธิผลได้อย่างไร ในที่สุด สนช. ก็ชนะ กรธ. ทุกประเด็น

ที่น่าแปลกคือ หากสนช.เห็นว่า ข้อเสนอของตนเองดีแล้ว ทำไมไม่ระบุลงไปในบทหลักเสียเลย แต่กลับเพียงระบุลงในบทเฉพาะกาลเท่านั้น การทำแบบนี้เป็นการส่อแววว่า สนช.อาจมีเจตนาทางการเมืองบางอย่างแอบแฝง มากกว่าความเชื่ออย่างบริสุทธ์ใจว่า เหตุผลที่ตนเองอ้างมานั้นถูกต้องและเป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองอย่างแท้จริง

ประธานร่างรัฐธรรมนูญอย่างนายมีชัย ฤชุพันธ์ คงรู้สึกเสียหน้าไม่น้อยที่ข้อเสนอของตนเองถูกรื้อเสียแทบไม่เห็นเค้าเดิม จึงออกมาระบุว่าสิ่งที่ สนช. รื้อนั้น อาจขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะประเด็นการเลือกกันเองภายในกลุ่ม แต่จะไปโทษใครได้เพราะว่า กรธ. ไปกำหนดเองในรัฐธรรมนูญมาตรา 107 วรรคสอง ซึ่งแม้จะเขียนว่า “เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการให้การเลือกตั้งดังกล่าวเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม จะกำหนดมิให้ผู้สมัครในแต่ละกลุ่มเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกัน” แต่ดันมีประโยคท้ายเพิ่มว่า “หรือจะกำหนดให้มีการคัดกรองผู้สมัครรับเลือกตั้งด้วยวิธีการอื่นใดที่ผู้สมัครรับเลือกมีส่วนร่วมในการคัดกรองได้” เมื่อมีข้อความแบบนี้เสียแล้วก็เป็นการเปิดช่องทางให้ สนช. ได้โอกาสและอ้างเป็นฐานในการรื้อสิ่งที่ กรธ. เขียนขึ้นมาเสียเลย และนั่นแสดงว่า รัฐธรรมนูญที่ กรธ. เขียนขึ้นมามีช่องโหว่ และเป็นสนิมมาตั้งแต่เนื้อในแล้ว

รัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย คล้ายเสาเหล็กที่ใช้สร้างบ้าน ซึ่งโฆษณาว่าเป็นเหล็กกล้าชั้นดี แต่เอาเข้าจริงกลับกลายเป็นเหล็กคุณภาพต่ำเสียนี่ เมื่อเจอกับสิ่งแวดล้อมที่มีความเค็มและชุ่มชื้นอำนาจภายนอก สนิมก็เกิดขึ้นมาอย่างง่ายดาย และผุเสียก่อนจะสร้างบ้านเสร็จด้วยซ้ำ ความฝันของการมีบ้านที่มั่นคงเพื่อป้องกันพวกโกง พวกฉ้อฉลก็กลายเป็นฝันสลาย เพราะเพียงแต่โจรเข้ามาและเอามือผลักเบาๆ บ้านทั้งหลังก็พังทะลายลงอย่างง่ายดาย




กำลังโหลดความคิดเห็น