xs
xsm
sm
md
lg

อินเดียใหม่

เผยแพร่:   โดย: ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม

ภาพนายเอมมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศสกับภรรยาเดินเข้าไปชมทัชมาฮาล เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2561 ระหว่างการเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการเป็นเวลา 3 วัน (ภาพเอเอฟพี)
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม
คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี Narendra Modi แห่งประเทศอินเดีย ได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์และเปิดตัวนโยบายใหม่ของอินเดียในนาม “อินเดียใหม่” หรือ New India โดย Modi ได้กล่าวถึงการปฏิรูปประเทศอินเดียในทุกมิติ เพื่อเตรียมความพร้อมอินเดียในการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 75 ปีแห่งการประกาศเอกราชในปี 2022 โดยนโยบายใหม่ของอินเดียเริ่มต้นจากการเน้นเรื่องการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน (Inclusive) ที่การพัฒนาครั้งนี้ต้องให้ประชาชนทุกคนของอินเดียต้องได้รับประโยชน์จากการพัฒนาบนรากฐานของประชาธิปไตย (สันติภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ) ซึ่งในแผนของรัฐบาลอินเดีย การพัฒนาจะต้องเกิดขึ้นจากกำลังหลัก 3 ส่วน ได้แก่ นวัตกรรม การทำงานอย่างอุตสาหะ และความคิดสร้างสรรค์

“อินเดียใหม่ของ Modi ต้องเป็นอินเดียที่ปลอดจากการคอรัปชั่น ปลอดจากภัยก่อการร้าย ปราศจากเงินที่มาจากการทุจริต (Black Money) และจะต้องเป็นอินเดียที่เอี่ยมสะอาดในทุกมิติ”

แนวคิดดังกล่าว ไม่ได้เกิดขึ้นจากภาครัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว หากแต่นโยบาย อินเดียใหม่ เป็นนโยบายที่เกิดขึ้นจากการที่ภาครัฐทำการระดมสมองร่วมกับภาคเอกชนที่เป็นคนรุ่นใหม่ของอินเดียจำนวนมาก และสามารถกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายที่ได้อย่างครบวงจรในปลายปี 2017 ที่ผ่านมา

ตัวอย่างของการคิดแบบรอบคอบครบทั้งกระบวนการซึ่งถือเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญภายใต้นโยบายนี้ คือ “1B x 1B x 1B” หรือที่ชาวอินเดียนิยมเรียกโดยชื่อเล่นว่า “1B Trinity” ซึ่ง 1B หมายถึง 1 Billion หรือ 1 พันล้าน

โดย 1 พันล้านแรก หมายถึง การตั้งเป้าหมายให้คนอินเดียสามารถเข้าถึงระบบสถาบันการเงินอย่างเป็นทางการผ่านการเข้าถึงบัญชีเงินฝากจำนวน 1 พันล้านบัญชี สำหรับประชาชนอินเดียจำนวนมากกว่า 1,330 ล้านคน รัฐบาลอินเดียต้องการให้ทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้ เพราะปัจจุบันชาวอินเดียจำนวนมากนอกจากจะไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้แล้ว ที่สามารถมารถเข้าถึงได้ก็มักจะเป็นอยู่ในรูปของเงินกู้นอกระบบ ซึ่งแน่นอนต้องเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยที่สูง และในกรณีประสบปัญหาทางธุรกิจ ผู้กู้ก็อาจจะต้องเผชิญหน้ากับองค์กรอาชาญกรรมที่เป็นผู้ปล่อยกู้อีกด้วย ดังนั้นเงินฝาก 1 พันล้านบัญชีจึงเป็นเป้าหมายที่จะทำให้เกิดสภาวะ Financial Inclusive ขึ้นในประเทศอินเดีย

แต่การที่จะเข้าถึงเงินทุนและบัญชีเงินฝากได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ รัฐบาลอินเดียก็ต้องทำ นโยบาย 1B ตัวที่ 2 ซึ่งหมายถึง 1 Billion Digital Biometric Identity หรือการสร้างฐานข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลดิจิทัลให้ครบอย่างน้อย 1 พันล้านประชากร ซึ่งแน่นอนว่าระบบฐานข้อมูลนี้จะจัดเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลที่สำคัญ ๆ ไม่ว่าจะเป็น ลายนิ้วมือ หมู่เลือด รูปพรรณสัณฐาน ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันปัญหาการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลปลอมในการเปิดบัญชีธนาคารหรือการทำธุรกรรมอื่น ๆ กับระบบสถาบันการเงิน คำถามที่สำคัญก็คือ แล้วฐานข้อมูลดิจิทัลเหล่านี้ประชาชนจะใช้ประโยชน์และเข้าถึงระบบสถาบันการเงินได้อย่างไร ซึ่งแน่นอนครับว่าคำตอบอยู่ที่ 1B ตัวที่ 3

และ 1B ตัวที่ 3 ก็หมายถึงการสนับสนุนให้ประชาชนจำนวน 1 พันล้านคนสามารถเข้าถึงโทรศัพท์มือถือแบบ Smart Phone (ปัจจุบันประชาชนอินเดียกว่า 500 ล้านคนมีโทรศัพท์มือถือ และคาดว่าประมาณครึ่งหนึ่งเป็นระบบ Smartphone) ซึ่งนั่นจะทำให้ประชาชนสามารถใช้ลายนิ้วมือของตนเอง สแกนผ่านโทรศัพท์ เพื่อเข้าถึงฐานข้อมูลและบริการต่าง ๆ บนโลก Online ผ่าน Applications ต่าง ๆ ซึ่งก็รวมถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การเข้าถึงบริการของระบบสถาบันการเงินที่มีค่าธรรมเนียมที่ลดลง มีต้นทุนการทำธุรกรรมต่าง ๆ ที่ลดลง และสะดวกมากยิ่งขึ้น

นอกจากการจัดเตรียมสิ่งแวดล้อมทางการทำธุรกิจหรือ Ecosystem ที่เหมาะสมดังที่กล่าวมาแล้วตอนต้น รัฐบาลอินเดียยังเน้นสร้างความโปร่งใสให้กับประเทศด้วยการเดินหน้าต่อสู้กับปัญหาความสกปรกในทุกมิติด้วยความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ และเอาจริงเอาจังที่สุด

แน่นอนเมื่อพูดถึงการปราบเงินสกปรก ปฏิบัติการอันลือลั่นที่สุดในโลกของรัฐบาลอินเดียคือการ ประกาศยุติการใช้ธนบัตร (Demonetization) 500 รูปี (ประมาณ 250 บาท) และ 1,000 รูปี (ประมาณ 500 บาท) ไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2016 ที่ผ่านมา แน่นอนว่ามีช่วงเวลาให้ประชาชนนำเอาธนบัตรรุ่นเก่ามาแลกเป็นธนบัตรรุ่นใหม่ราคา 2,000 รูปี และ 100 รูปีได้ แต่ก็ต้องมีการสำแดงที่ไปที่มาของธนบัตรเก่าเหล่านั้น และจำกัดให้ทำได้ในปริมาณเท่าที่สามารถสำแดงที่มาที่ไปของเงินได้เท่านั้น แน่นอนว่ามีผลทางลบต่อประชาชนจำนวนมาก อาจจะมีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้นบ้าง แต่อย่างน้อยเงินสดจำนวนมหาศาลจากธุรกิจผิดกฎหมายและการคอรัปชั่นก็ถูกกำจัดออกไป ขณะนี้เรื่องประสิทธิภาพของการปราบโกงด้วยวิธีนี้อาจยังเป็นที่ถกเถียงในหมู่นักวิชาการ แต่ถามว่ารัฐบาลอินเดียเด็ดเดี่ยวกล้าหาญที่จะเข้าไปจัดการทำความสะอาดเรื่องสกปรกเหล่านี้หรือไม่ ผมขอบอกว่า กล้าหาญมากครับ
(ภาพเอเอฟพี)
มาดูเรื่องสกปรกทางกายภาพกันบ้าง แน่นอนครับ ถนนที่อินเดีย แม่น้ำที่อินเดีย อาจจะเต็มไปด้วยขยะ แต่ปัจจุบันรัฐบาลอินเดียกำลังเดินหน้าโครงการ “อินเดียเอี่ยมสะอาด (Swaccha Bharat)” ที่เน้นไปในการสร้างจิตสำนึกให้คนอินเดียได้ตระหนักในเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อมและการรักษาสุขอนามัย ดังนั้นปัญหาที่ผมกล่าวมาตอนต้นว่า ประชาชนขาดความรู้ ขาดจิตสำนึก กำลังจะได้รับการแก้ไข แน่นอนครับกระบวนการสร้างจิตสำนึกใช้ระยะเวลายาวนาน แต่อย่างน้อยการเริ่มต้นอย่างจริงจังก็ทำให้กระบวนการที่ยาวนานนี้มีจุดเริ่มต้นแล้ว อย่าลืมนะครับว่าปี พ.ศ.2526 ประเทศไทยคือประเทศที่สกปรกที่สุดติด 1 ใน 5 ของโลก และเราใช้เวลา 20 ปี (2527-2547) ในการรณรงค์สร้างจิตสำนึกรักษาความสะอาดผ่านโครงการ “ตาวิเศษ” จนทำให้คนไทยปัจจุบันมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องการรักษาความสะอาดของพื้นที่สาธารณะ

แต่ อินเดียเอี่ยมสะอาด ก็ยังไม่พอ อินเดียก้าวหน้าไปกว่านั้นครับ ปี 2010 อินเดียบังคับใช้กฎหมาย National Green Tribunal Act, 2010 (NGT) และมีการจัดตั้งหน่วยงานและศาลสิ่งแวดล้อมขึ้นครับ มีการออกกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด รวมทั้งมีการเสนอนโยบายเด็ด ๆ เพื่อการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นของประเทศ หนึ่งในสิ่งที่คนไทยสัมผัสได้จากนโยบายเหล่านี้ อาทิ ในอินเดียร้านค้าส่วนใหญ่ เวลาเราซื้อของจะไม่มีถุงพลาสติกให้นะครับ ร้านสะดวกซื้อไม่มีถุง ร้านเสื้อผ้าแม้แต่ในตลาดก็ให้ถุงผ้าดิบบาง ๆ แทน ร้านหนังสือจะให้ถุงกระดาษ ฯลฯ แน่นอนสำหรับร้านที่ไม่มีถุงแจก ลูกค้าสามารถซื้อถุงได้ นั่นก็ทำให้คนซื้อต้องคิดแล้วครับว่าจะเปลี่ยนเป็นถือถุงผ้าไปเองดีมั้ย ลองนึกภาพนะครับว่าประเทศที่มีประชากรมากกว่า 1,000 ล้าน ถ้าทุกร้านแจกถุงพลาสติก ขยะพลาสติกจะมากแค่ไหน นี่คือความก้าวหน้าอย่างหนึ่งของอินเดียครับ (อาจจะก้าวหน้ากว่าไทยด้วยซ้ำ)

เมื่อประชาชนสามารถเข้าถึง (Accessible) ในสิ่งแวดล้อม (Eco-System) ที่เหมาะสม และโปร่งใส ที่ต้องทำต่อเนื่องเพื่อสร้างโมเมนตัมการขยายตัวทางเศรษกิจก็คือการส่งเสริมการลงทุน อินเดียสร้างโครงการ “Make in India” ขึ้นมาไม่ใช่เพื่อบอกว่าสินค้าต้องผลิตในประเทศอินเดีย (Made in India) แต่เป็นการประกาศให้นักลงทุนทั่วโลกได้รู้ว่าคุณต้องมาผลิตในอินเดียซิ (Make in India) หน่วยงานพิเศษคือ Invest India จึงถูกตั้งขึ้นมาเพื่อเป็น One Stop Service ที่สามารถตอบคำถามและให้สิทธิประโยชน์ทางการกลงทุนได้ในจุดเดียว โดยภาคการผลิตเป้าหมายที่รัฐบาลอินเดียจะให้สิทธิพิเศษทางการลงทุนมากเป็นพิเศษได้แก่ Automobile, Automobile Components, Aviation, Biotechnology, Chemicals, Construction, Defence Manufacturing, Electrical Machinery, Electronic Systems, Food Processing, IT and BPM, Leather, Media and Entertainment, Mining, Oil and Gas, Pharmaceuticals, Ports and Shipping, Railways, Renewable Energy, Roads and Highways, Space, Textiles and Garments, Thermal Power, Tourism and Hospitality, และ Wellness โดยในเกือบทุกภาคการผลิต รัฐบาลอินเดียอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติสามารถถือครองหุ้นได้ถึง 100% และที่มากกว่านั้นคือ นอกจากรัฐบาลกลางจะทำการส่งเสริมการค้าการลงทุนแล้ว รัฐบาลท้องถิ่นในแต่ละรัฐยังได้รับการส่งเสริมให้ออกมาแข่งขันกันถึงเงินลงทุนเข้าไปในรัฐของตนเองอีกด้วย ลองนึกภาพดูนะครับ ถ้าชลบุรีกับระยองแข่งกันให้สิทธิพิเศษเพื่อดึงเงินลงทุนเข้าจังหวัดตนเอง นักลงทุนจะได้ข้อเสนอดีแค่ไหน และเมื่อบวกเพิ่มเข้าไปจากการสนับสนุนของรัฐบาลกลางอีก นั่นเท่ากับข่าวดีที่สุดสำหรับผู้ที่พร้อมที่จะไปทำการค้าการลงทุนในแดนภารตะในเวลานี้

จะเห็นได้ว่ามาตรการต่าง ๆ ของอินเดียเป็นมาตรการที่ผ่านการไตร่ตรองมาอย่างครบวงจร สามารถปฏิบัติให้เกิดขึ้นได้จริง และเชื่อว่าด้วยมาตรการในลักษณะนี้ในมิติอื่น ๆ ถ้าประกอบด้วยความตั้งใจจริงของทุกภาคส่วนของอินเดีย ก็เชื่อเหลือเกินว่าอินเดียจะสามารถสร้าง อินเดียใหม่ ได้อย่างแท้จริงในปี 2022 ตามที่กำหนดเป้าหมายไว้ ก่อนที่อินเดียจะกลายเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีมูลค่าใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลกในปี 2025 ตามที่หลาย ๆ ฝ่ายคาดการณ์เอาไว้


กำลังโหลดความคิดเห็น