xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สำแดง “นาฬิกา กล้อง โน้ตบุ๊ก” ก่อนบิน ระเบียบ “กรมศุลฯ” อันเลอะเทอะ ขัด รธน.?- ทำคะแนน “คสช.” วูบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - นับจากปี 2560 ที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ลงนามในคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 14/2560 เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก เป็นความหวังดี เพื่อความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนจากอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หรือ กฎหมายห้ามนั่ง “แค็บ”ท้ายรถกระบะ” ที่ผู้คนก่นด่ากันทั้งบ้านทั้งเมือง จนต้องผ่อนผันการบังคับใช้ไปภายในเวลาอันรวดเร็วแล้ว

ก็ดูเหมือนว่า ประกาศของ “กรมศุลกากร” ที่ทำคลอดออกมาสดๆ ร้อนๆ ในปี 2561 น่าจะเป็นการใช้กฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่ตกอยู่ในสภาพไม่แตกต่างกัน เนื่องเพราะเป็นมาตรการที่ขัดแย้งกับความเป็นจริงในชีวิตประจำวันของประชาชน ทำให้เกิดปัญหา และเกิดกระแสต่อต้านจากคนส่วนใหญ่

ประกาศของกรมศุลกากรที่มีปัญหาก็คือเรื่อง “การปฏิบัติพิธีการศุลกากรของติดตัวผู้โดยสารที่นำติดตัวเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรพร้อมกับตนทางอากาศยาน”

เรื่องใหญ่ใจความสำหรับประกาศของกรมศุลกากรที่ผู้คน “ก่นด่า” กันทั้งบ้านทั้งเมืองก็คือ ข้อบังคับให้ผู้โดยสารที่นำของมีค่าติดตัวเดินทางออกประเทศ เช่น นาฬิกา กล้องถ่ายวิดีโอ กล้องถ่ายรูป และคอมพิวเตอร์สำหรับพกพาหรือโน้ตบุ๊ก ต้องนำมาแจ้งต่อพนักงานศุลกากร (Declare) หรือดีแคลร์ ณ ห้องที่ทำการศุลกากรบริเวณห้องผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ โดยอุปกรณ์เหล่านั้นต้องมีเครื่องหมาย เลขหมายที่สามารถตรวจสอบได้กประเทศ พร้อมภาพถ่าย 2 ชุด

บรรดานักเดินทางไม่เข้าใจถึงเหตุผลซึ่งอยู่ภายใต้ประกาศฉบับดังกล่าวว่าทำไปเพื่ออะไร เพราะถ้าจะว่าไปแล้ว สิ่งของเหล่านั้นก็ถือเป็นอุปกรณ์พื้นฐานของผู้คนในยุคปัจจุบัน ขณะที่เมื่อย้อนกลับไปพิจารณาขั้นตอนกว่าที่จะผ่านสารพัดด่านเข้าไปขึ้นเครื่องบิน ก็ต้องเผื่อเวลาในการเดินทางมากพออยู่แล้ว ทั้งตรวจร่างกาย ตรวจหนังสือเดินทาง กินเวลาเกือบชั่วโมง กว่าจะไปรอที่ประตูขึ้นเครื่องได้

ดังนั้น ถ้าหากจะเพิ่มขั้นตอนด้วยการต้องแจ้งของมีค่า อาทิ นาฬิกา กล้องถ่ายวิดีโอ กล้องถ่ายรูป โน้ตบุ๊ก ฯลฯ แก่พนักงานศุลกากร จะกลายเป็นการเพิ่มขั้นตอน เพิ่มภาระ และเสียเวลาแก่ผู้โดยสารเข้าไปอีก พร้อมย้อนถามกลับไปที่กรมศุลกากรเองด้วยว่า มีเจ้าหน้าที่เพียงพอและพร้อมที่จะตรวจตรามากน้อยขนาดไหน

และสิ่งที่ทำให้สังคมถึงจุดเดือดก็คือ ถ้าหากกรมศุลกากรต้องการที่จะแก้ปัญหา “การหิ้วของ” จากต่างประเทศกลับเข้ามาขายในประเทศไทยให้ได้ผลจริงๆ ก็ควรไปเคร่งครัดกับบรรดา “มือหิ้ว” ที่กรมศุลกากรน่าจะรู้อยู่แก่ใจว่า เป็นใคร แถมหิ้วมาแต่ละครั้งก็เป็นจำนวนไม่น้อย และมิได้ผ่านการตรวจในช่องทางปกติเหมือนกับชาวประชาเสียด้วยซ้ำไป

ประกาศฉบับนี้ หลายคนจึงมองว่าเป็น “ระเบียบอันเลอะเทอะ” เพราะแทนที่จะออกกฏระเบียบเพื่อจัดการกับพวกรายใหญ่ๆที่หนีภาษี พวกโจรในคราบเจ้าหน้าที่รัฐ พวกกินหัวคิว พวกใช้เส้นใช้สายไม่จ่ายภาษีตัวจริง ฯลฯ แต่มาออกกฏเข้มจัดการกับคนหิ้วกล้อง โน้ตบุ๊ก ไปต่างประเทศ

ดังที่ นางรสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว. โพสต์ในเฟซบุ๊กแสดงความเห็นเอาไว้ว่า การเข้มงวดตรวจภาษีเพื่อไม่ให้มีการรั่วไหลเป็นสิ่งดี แต่อย่าใช้แต่กับชาวบ้านรายเล็กรายน้อยเท่านั้น เพราะเป็นการเลือกปฏิบัติและเป็นการใช้พละกำลังจับแต่ปลาซิวปลาสร้อย ส่วนปลาใหญ่แบบปลากะโห้กลับปล่อยให้เล็ดรอดลอยนวลหนีไปได้อย่างไร!?!

“กรณีที่ ดิฉันร้องเรียนให้ตรวจสอบการเสียภาษีนาฬิกาหรู 25 เรือนของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จนป่านนี้ยังไม่ออกมาแถลงความคืบหน้าต่อสาธารณชน นอกจากไม่ตรวจสอบภาษีนำเข้านาฬิกาหรูแล้ว อธิบดีกรมศุลกากรยังปล่อยให้กรณีบริษัทน้ำมันต่างชาติยักษ์ใหญ่ หลบเลี่ยงการเสียภาษีน้ำมัน โดยมีการทำเอกสารสำแดงการส่งออกอันเป็นเท็จ ซึ่งตามกฎหมายของกรมศุลกากร อธิบดีมีหน้าที่ต้องสั่งปรับผู้หลบเลี่ยงภาษี โดยสำแดงส่งออกเป็นเท็จ เป็นจำนวน4เท่าของมูลค่าสินค้าที่รวมภาษีอากรแล้ว กรณีนี้น่าจะต้องปรับเป็นเงินหลายหมื่นล้านบาท ถ้ามีการดำเนินการอย่างตรงไปตรงมาใช่หรือไม่ ขอฝากความถึงอธิบดีกรมศุลกากรว่า ถ้ายังประวิงเวลา 2 กรณีใหญ่นี้ต่อไป ดิฉันจะร้องเรียนท่านต่อป.ป.ช ตามมาตรา154 ในเวลาอันสมควรต่อไป”

ที่สำคัญ ประกาศที่ระบุออกมามีความกำกวม ไม่ชัดเจน เพราะในข้อ 4 ระบุว่า “สำหรับผู้โดยสารที่จะเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร ที่จะนำของมีค่าออกไป ซึ่งเป็นของเก่าที่ใช้แล้ว และมีจำนวนหรือปริมาณพอสมควร ...” ขณะที่ในวรรคท้ายๆ ระบุว่า “ทั้งนี้ ของมีค่าหรือของส่วนตัวผู้โดยสารที่นำติดตัวไปขณะเดินทางออกนอกราชอาณาจักร และใช้เป็นปกติวิสัยในระหว่างการเดินทาง หรือเป็นเครื่องประดับการแต่งกายตามปกติ ไม่ต้องแจ้งต่อพนักงานศุลกากร”

คำว่า ของมีค่าหรือของส่วนตัวที่ “ใช้เป็นปกติวิสัย” ในระหว่างการเดินทางนั้น กลับมีความหมายที่กว้างมาก ไม่ระบุเจาะจงว่าเป็นสิ่งของชนิดใด ต้องแจ้งหรือไม่ต้องแจ้ง

ในแบบฟอร์ม “แบบแจ้งของมีค่าที่ผู้โดยสารนำติดตัวออกไปนอกราชอาณาจักร” ระบุว่า ของติดตัวที่สามารถนำมาแจ้งต่อพนักงานศุลกากร ต้องเป็นของเก่าที่ใช้แล้ว และมีจำนวนรวมแล้วไม่เกิน 4 ชิ้น รวมทั้งมีเครื่องหมาย เลขหมาย (Serial Number) ที่สามารถตรวจสอบได้

คำถามก็คือ ข้อความประกาศที่มีลักษณะกำกวมเช่นนี้ จะเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรอาจเลือกปฏิบัติต่อผู้โดยสาร กรณีการสุ่มตรวจกระเป๋า ของมีค่าของผู้โดยสารเมื่อกลับประเทศหรือไม่?

อีกกรณีหนึ่ง คือ สินค้าปลอดภาษี (Duty Free) ที่ซื้อจากดาวน์ทาวน์ หรือ อาคารผู้โดยสารขาออกสนามบิน จะต้องนำออกไปเมืองนอกเท่านั้น หากนำกลับเข้ามาให้ผ่านการตรวจที่ “ช่องแดง” และชำระอากร

ผลกระทบที่เกิดกับนักช้อป ก็คือ กรณีที่บินไปเมืองนอก โดยฝากของมารับขากลับ แล้ววันเดินทางกลับเอาใบเสร็จไปรับที่จุด Pick Up Counter ผู้โดยสารขาเข้า จะต้องเสียค่าอากรเพิ่มอีกต่อหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม แม้ประกาศที่ออกมาจะทำให้เกิดความสับสน แต่ นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร ก็ออกมาเคลียร์เรื่องนี้ ยืนยันว่า ไม่มีอะไรซับซ้อน ประชาชนยังปฏิบัติได้เหมือนอย่างที่เคยปฏิบัติมา เพราะประกาศที่ออกมา เป็นของเดิมที่เคยมีใช้อยู่แล้ว แต่ที่ออกมาใหม่เพราะก่อนหน้านี้ได้ออก พ.ร.บ. ศุลกากรฉบับใหม่ ทดแทนของเดิมที่ใช้ในปี 2469 ทำให้ประกาศเดิมสิ้นสภาพ ก็เลยออกประกาศฉบับนี้ขึ้น

ข้อกำหนดที่ว่า การนำของมีค่าออกไปต่างประเทศ เช่น นาฬิกา กล้องถ่ายวิดีโอ กล้องถ่ายรูป คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก ก็เพื่ออำนวยความสะดวกในกรณีผู้โดยสาร ที่ต้องนำของที่มีมูลค่ามากๆ ติดตัวออกไป โดยให้ทำหลักฐานแจ้งไว้ก่อน เดินทางออก เพื่อเวลากลับมาจะได้ไม่ต้องตรวจซ้ำ หรือหากถูกสุ่มตรวจจะได้มีหลักฐานยืนยันไว้ว่าเป็นของใช้ตัวเอง เป็นกฎหมายเดิมที่เคยมีอยู่

“ยืนยันว่า ประชาชนทุกรายจะยื่นสำแดงสินค้าหรือไม่ยื่นก็ได้ เพราะไม่ได้มีความผิด แต่เป็นเพียงการแสดงหลักฐานการเป็นเจ้าของสินค้าเท่านั้น” อธิบดีกรมศุลกากรระบุ

ส่วนสินค้าปลอดภาษี ที่ซื้อจากร้านค้าปลอดอากรขาออกในเมือง จะต้องนำออกไปใช้นอกราชอาณาจักรเท่านั้น หากนำกลับเข้ามาก็ต้องเสียภาษี ก็เป็นเรื่องปกติที่เคยทำมากันอยู่แล้ว

แม้จะชี้แจงอย่างไร แต่สังคมก็ยังไม่กระจ่างแจ้ง หนักไปกว่านั้นก็คือ หลายคนได้ตั้งคำถามไปถึงประกาศของกรมศุลกากรว่า อาจจะขัดต่อ มาตรา 7 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 หรือไม่ เพราะกำหนดเอาไว้ชัดเจนว่า ให้รัฐพึงจัดให้มีกฏหมายเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้า เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน

คำนูณ สิทธิสมาน อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และอดีต ส.ว.สรรหา ในฐานะโฆษกคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า กรณีที่กรมศุลกากรออกประกาศที่ 60/2561 โดยเฉพาะข้อ 4 น่าจะไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรานี้ เพราะสร้างภาระแก่ประชาชนโดยไม่จำเป็น คนไทยจะเดินทางไปต่างประเทศทุกวันนี้ก็ไม่ต้องกรอกใบ ตม.6 (บัตรขาเข้า-ขาออก) เป็นผลงานที่โดดเด่นของรัฐบาลนี้ แต่หากจะต้องมาแจ้งสิ่งของติดตัวประเภทนาฬิกา โน้ตบุ๊ค กล้องถ่ายรูป ฯลฯ พร้อมภาพถ่าย 2 ชุด ออกจะย้อนแย้งกันอย่างเหลือเชื่อ ไม่เป็นตรรกะซึ่งกันและกันเลย

“เร่งปรับแก้เสียเถอะ อย่าทำเพียงแค่บอกว่าเป็นกฎหมายที่มีอยู่แล้ว เพียงเอามาประกาศใหม่ และจะแจ้งหรือไม่แจ้งก็ได้ ไม่ผิด ประเด็นหลักมันอยู่ที่ตราบใดที่ประกาศยังอยู่ก็ยังคงเป็นเครื่องมือที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะหยิบขึ้นมาใช้เมื่อไรก็ได้กับประชาชนคนใดก็ได้ นี่คือสารัตถะของการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายที่แท้จริง ทำรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ให้เป็นมากกว่าตัวอักษร” นายคำนูณ ระบุพร้อมบอกด้วยว่า คณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วนจะนำเรื่องนี้เข้าสู่วาระเพื่อพิจารณา วันที่ 19 มี.ค.นี้ เวลา 13.30 น. โดยเรียนเชิญอธิบดีกรมศุลกากรมาชี้แจง

งานนี้....จึงต้องติดตามกันต่อไปว่า มีอะไรในกอไผ่หรือไม่ อย่างไร





กำลังโหลดความคิดเห็น