xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

จับตากระทรวงเสมา ผุดกองทุนเสมอภาคทางการศึกษา ดึงงบ สสส.-เงินหวย สมทบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -วันที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีวาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่สำคัญอีก 1 ฉบับ นั่นคือ ร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. .... ซึ่งคณะรัฐมนตรี(ครม.)เป็นผู้เสนอ

ในที่ประชุม สนช.วันดังกล่าว ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เป็นประธานการประชุม นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้ชี้แจงเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ต่อที่ประชุม

นายแพทย์ธีระเกียรติอ้างถึงเหตุผลที่ให้มีกฎหมายว่าด้วยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาว่า โดยที่มาตรา 54 วรรคหก ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้จัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา เสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู โดยให้รัฐจัดสรรงบประมาณให้แก่กองทุนหรือใช้มาตรการหรือกลไกทางภาษี รวมทั้งการให้ผู้บริจาคทรัพย์สินเข้ากองทุนได้รับประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี โดยให้กองทุนมีการบริหารจัดการที่เป็นอิสระ จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.บ.ฉบับนี้

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. ....มีสาระสำคัญ ได้แก่ ร่างมาตรา 6 กำหนดให้มีการจัดตั้ง “กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา” มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา และวัตถุประสงค์อื่นๆ อาทิ ส่งเสริมสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กปฐมวัย ให้ความช่วยเหลือแก่เด็กยากจนด้อยโอกาสให้ได้รับการศึกษาจนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพครู ส่งเสริมสนับสนุนให้ความช่วยเหลือสถานศึกษาเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตามความถนัดของแต่ละคน จัดให้มีการศึกษาวิจัยแนวทางการพัฒนาครู เป็นต้น

ส่วนเงินและทรัพย์สินของกองทุน กำหนดไว้ในร่างมาตรา 7 ระบุว่า กองทุนประกอบด้วยเงินและทรัพย์สินดังต่อไปนี้

1.เงินและทรัพย์สินที่ได้รับโอนตามมาตรา 48 และ 49 ซึ่งก็คือ กิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ หนี้ ภาระผูกพัน เจ้าหน้าที่ และเงินงบประมาณของกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)ส่วนที่เกี่ยวกับสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน ที่มีอยู่ในวันก่อนที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ และให้ สสส.โอนเงินงบประมาณประจำปี 2561 ที่ตั้งไว้ตามแผนงานและโครงการของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชนที่คณะกรรมการกองทุน สสส.ให้ความเห็นชอบแล้วทั้งหมดให้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

2.เงินที่รัฐบาลจัดสรรให้เป็นทุนประเดิมจำนวน “หนึ่งพันล้าน”บาท

3.เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้เป็นรายปีตามแผนการใช้เงินที่คณะกรรมการรและคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว

4.เงินรายได้ที่ได้รับจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

5.รายได้จากการดำเนินงานและการลงทุนของกองทุน

6.เงินและทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้

7.ดอกผลของเงินและทรัพย์สินของกองทุน

นอกจากนี้ ร่างมาตรา 8 ยังได้กำหนดมาตรการจูงใจให้แก่ผู้บริจาคเงินเข้ากองทุน โดยให้นำเงินที่บริจาคไปหักเป็นค่าลดหย่อนหรือรายจ่าย เช่นเดียวกับการบริจาคเพื่อการศึกษาตามประมวลรัษฎากร

ส่วนมาตรา 9 กำหนดให้กองทุนเป็นหน่วยงานของรัฐและเป็นนิติบุคคลที่ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน หรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณหรือกฎหมายอื่น เงินและทรัพย์สินของกองทุนไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

ในด้านการบริหารกองทุน ร่างมาตรา 19 กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ประกอบด้วย ผู้ทรุงคุณวุฒิที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ รวม 7 คน กรรมการโดยตำแหน่ง ซึ่งเป็นผู้แทนกระทรวงต่างๆ จำนวน 8 คน ทั้งนี้ให้กรรมการมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี และห้ามรับตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระ

ร่างมาตรา 31 ให้คณะกรรมการบริหารกองทุน แต่งตั้งผู้จัดการกองทุน โดยเป็นบุคคลอายุ 35-60 ปี ไม่เป็นข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

ในด้านการกำกับดูแลการดำเนินงานของกองทุน ร่างมาตรา 47 กำหนดให้นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่และอำนาจกำกับและดูแลการดำเนินกิจการของกองทุนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ในกรณีที่กองทุนต้องเสนอเรื่องต่อ ครม.ให้กองทุนนำเรื่องเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อเสนอ ครม.ต่อไป

ในที่ประชุม สนช.เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สมาชิก สนช.บางส่วนได้อภิปรายเห็นด้วยกับหลักการของร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่มุ่งลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา เสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญ

แต่ได้มีข้อเสนอแนะในหลายประเด็น อาทิ การกำกับดูแลการดำเนินงานของกองทุนต้องมีความโปร่งใสและรอบด้าน

ควรกำหนดให้กองทุนชี้แจงการดำเนินงานทุก 6 เดือน เพิ่มผู้แทนที่อยู่ในส่วนภูมิภาคเข้าไปในคณะกรรมการบริหารกองทุน ผู้จัดการกองทุนไม่ควรดำรงตำแหน่งต่อเนื่องเกิน 2 วาระ สถานศึกษาต้องสามารถเข้าถึงกองทุนได้อย่างเป็นระบบ

ควรระบุหลักเกณฑ์ในการวัดเด็กที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสอย่างชัดเจน

ขณะที่ สนช.ที่ลุกขึ้นอภิปรายส่วนใหญ่ยังติดใจประเด็นที่กองทุนสามารถดำเนินการหรือสนับสนุนให้มีการจัดการตั้งสถาบันต้นแบบในการผลิตและพัฒนาครู (ตามร่างมาตรา 6 วงเล็บ 6) โดยมองว่าอาจเป็นการให้อำนาจกองทุนจัดตั้งหน่วยงานใหม่ และหากจบจากสถาบันนี้แล้วไม่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพจริง จะต้องมีสิ่งยืนยันให้แน่ชัดว่า บุคลากรที่จบจากสถาบันมีประสิทธิภาพจริง พร้อมเชื่อว่าหากความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาลดลงได้ ความเหลื่อมล้ำในประเทศจะลดลงได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการอภิปรายจบ สนช.มีมติ รับหลักการร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาฯ ไว้พิจารณา ด้วยคะแนนเห็นด้วย 184 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 4 เสียง จากจำนวนผู้เข้าประชุม 188 คน กำหนดระยะเวลาแปรญัตติ 7 วัน ระยะเวลาการดำเนินงาน 42 วัน




กำลังโหลดความคิดเห็น