xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

หยุด ...โรงไฟฟ้าถ่านหิน ชัยชนะแห่งอารยะขัดขืน ที่อาจเป็นแค่การ “ซื้อเวลา”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเล กระบี่ - เทพา ยุติโรงไฟฟ้าถ่านหิน ชุมนุมด้านหน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติ (UN) วันที่ 12 - 20ก.พ. 2561
 ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - แรงกดดันมหาศาลจากประชาชนคนไทยจำนวนมากที่ “ไม่สนับโรงฟ้าถ่านหิน” ถือเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ “ภาครัฐ” ยอมหยุดรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) อันนำมาซึ่งการ “เจราลงนามข้อตกลง” กับ “เครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเล กระบี่ - เทพา” ให้มีการทำรายงานสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) ตั้งต้นกระบวนการศึกษาอีกครั้ง แล้วค่อยทำ EHIA ใหม่ในอนาคต

นั่นย่อมหมายถึงการเดินหน้าสร้าง “โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและกระบี่” ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) มีอันต้องยุติลงเป็นการชั่วคราว

อย่างไรก็ดี การถอยของรัฐบาลโดย “กระทรวงพลังาน” ก็มิได้ทำให้แปลความได้ว่า การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้ง 2 โรงจะถึงกาลอวสาน เพราะอาจเป็นเพียงแค่ “การซื้อเวลา” ก่อนที่จะฟื้นคืนชีพอีกครั้งก็เป็นได้

ทั้งนี้ กล่าวสำหรับการชุมนุมคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและกระบี่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากกระบวนการจัดทำรายงานEHIA ไม่ได้มาตรฐาน มีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เอื้อประโยชน์ในการซื้อขายที่ดินของคนบางกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงการเลือกพื้นที่ไม่เหมาะสมซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นแหล่งผลิตอาหารทะเลที่มีประมงพื้นบ้านทำมาหากินอยู่นับหมื่นชีวิต

การเคลื่อนไหวของบรรดาพี่น้องประชาชนคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินดำเนินไปแบบ “อารยะขัดขืน” โดยการอดอาหารประท้วงอย่าง “สงบ สันติ อหิงสา” บริเวณหน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติ (UN) ตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2561 ตากแดดตากลม สูดดมควันพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ที่สัญจรไปมา จนทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมอยู่ในสภาพอิดโรย มีอาการเจ็บป่วย กระทั่งถูกหามตัวส่งโรงพยาบาลไปหลายต่อหลายคน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า “รัฐบาล คสช. ใจดำ” เพิกเฉยไม่สนใจความเดือดร้อนของประชาชน

เพราะเวลาที่ล่วงไปวันแล้ววันเล่า รัฐบาลก็มิได้มีท่าทีจะเข้ามาเจรจาพูดคุยกับทางเครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเล กระบี่-เทพา จะได้ยินก็เพียงเสียงของ เสธ.ไก่อู พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรัฐบาล “ตอบโต้” และ “โน้มน้าว” ให้ชาวบ้านยุติการชุมนุม ในท่วงทำนองว่า รัฐบาลไม่ได้บังคับว่าจะต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ต้องการให้ทุกคนโดยเฉพาะผู้ชุมนุมเปิดใจรับฟังเสียงของคนอื่น ฟังเหตุผล แนวคิดทางวิทยาศาสตร์ พร้อมทั้งระบุอีกด้วยว่า หากตั้งเป้าคัดค้านโดยไม่สนใจเหตุผล และข้อมูลทางวิชาการแล้ว ประเทศจะเดินหน้าได้อย่างไร

ถ้าจะว่าไปแล้ว ท่าทีของรัฐบาลมิได้ผิดไปจากสิ่งที่สังคมรับรู้ประการใด เพราะก่อนหน้านี้หากยังจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงปลายปี 2560 กันได้ ก็คงเห็นถึงเป้าประสงค์ในการเดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่และเทพาอย่างชัดเจน ไม่เช่นนั้นคงไม่เกิดกรณีสลายการชุมนุมกลุ่มคัดค้านฯ ที่ได้จัดกิจกรรมเดินเท้าออกจากพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เพื่อยื่นหนังสือต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2560 ซึ่งชาวบ้านจัดกิจกรรมด้วยท่าที “สงบ”สันติ” และ “ปราศจากอาวุธ” แต่ต้องเผชิญกับการสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นเหตุให้ชาวบ้านบาดเจ็บและถูกดำเนินคดีถึง 16 คน

ทว่า นั่นก็ต้องนับเป็นเหตุการณ์สำคัญที่สื่อสารให้สังคมได้รับรู้ จนเกิดกระแส “เทใจให้เทพา” อันส่งผลให้ผู้คนในสังคมได้ทำความเข้าใจเห็นใจชาวบ้านเทพา และมาร่วมเป็นกำลังสำคัญต่อกรกับอำนาจรัฐในเวลาต่อมา
  ผู้ชุมนุมอารยะขัดขืนโดยอดข้าวประท้วง ท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าว และมลพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ หลายรายเป็นลมล้มป่วยถูกหามส่งโรงพยาบาล
  แพทย์พยาบาลผลัดเปลี่ยนมาตรวจสุขภาพกลุ่มผู้ชุมนุมทุกวัน
จากนั้น กระบวนการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความชอบธรรมเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง ในวันที่ 29 ม.ค. 2561 เมื่อชาวบ้านเทพาเดินทางมายึดหัวหาดหน้าทำเนียบรัฐบาล ก่อนที่ชาวบ้านกระบี่จะเคลื่อนพลมาร่วมสมทบ ในวันที่ 7 ก.พ. 2561 เพื่อปลุกกระแสสร้างการรับรู้ให้คนทั้งประเทศได้เห็นถึง “หายนะโรงไฟฟ้าถ่านหิน” ประกาศให้นานาชาติได้รู้ว่าพื้นที่เทพาและกระบี่สมบูรณ์เกินกว่าจะเอาไปแลกกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน

ชาวบ้านเทพา-กระบี่ได้ยื่นหนังสือต่อ บิ๊กตู่ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ขอให้ยุติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและกระบี่ โดยมีสาระสำคัญระบุถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากมีการดำเนินการโครงการดังกล่าว เช่น ในพื้นที่ อ.เทพา จ.สงขลา ที่จะต้องเสียสละชุมชนบ้านบางหลิง ที่มีประชากรเกือบ 200 ครัวเรือน และจะต้องเคลื่อนย้าย อพยพประชาชน มัสยิด วัด โรงเรียนปอเนาะ สุสาน (กุโบร์) ให้ออกไปจากพื้นที่ทั้งหมด

รวมทั้ง การชะลอโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ไป อีก 3 ปี ไม่ถือว่าเป็นทางออกของปัญหา เนื่องจากว่า ภาครัฐยังไม่หยุดกระบวนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) รวมถึงกระบวนการอื่นๆ ที่กำลังเตรียมการอยู่ เช่น การขอใช้ที่ดินในที่สาธารณะและการเวนคืนที่ดินในพื้นที่เกือบ 3,000 ไร่ ซึ่งจะเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และการยังปล่อยให้กระบวนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของโรงไฟฟ้ากระบี่ยังดำเนินต่อไป โดยไม่มีการรับฟังเสียงทักท้วงจากประชาชน

กองทัพประชาชนมีความมุ่งมั่นและแน่วแน่ที่จะต่อสู้กันจนกว่าจะได้รับชัยชนะ ด้วยยุทธศาสตร์และยุทธวิธี “ไม่ชนะไม่กลับบ้าน” จะนานแค่ไหนก็ขอสู้อย่างอหิงสา เพราะหากโครงการโรงฟ้าถ่านหินเดินหน้าก่อสร้าง นั่นหมายความว่า พวกเขาจะไม่มีบ้านอยู่ ไม่มีทะเลผืนดินทำกิน แม้ไม่โดนไล่ที่ก็ต้องสยบยอมกับความเสื่อมโทรม อพยพหนีตายออกไปหากินที่อื่น แม้ภาครัฐพยายามลดกระแส ประกาศชะลอโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เลื่อนไปอีก 3 ปี แต่ไม่อาจสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นได้
  สมยศ โต๊ะหลัง ตัวแทนเครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเลฯ ยื่นคำร้องชุมนุมสาธารณะบริเวณทางเดินเท้าหน้าสำนักงานสหประชาชาติ (UN)
กลุ่มผู้ชุมนุมโดย “นายสมยศ โต๊ะหลัง” หนึ่งในตัวแทนเครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเลฯ ได้ยื่นคำร้องชุมนุมสาธารณะบริเวณทางเดินเท้าหน้าสำนักงานสหประชาชาติ (UN) เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพา โดยมีจำนวนประมาณ 150 คน ดำเนินการแจ้งตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ อย่างถูกต้อง จากนั้นในวันที่ 12 ก.พ. 2561 กลุ่มผู้ชุมนุมได้ย้ายมาปักอยู่บริเวณหน้า UN และเริ่มอารยะขัดขืนอดอาหารประท้วงจำนวน 68 คน

ท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าว....
มลพิษไอเสียรถยนต์...

แม้จิตใจจะแข็งแกร่งและพร้อมต่อสู้ แต่ด้วยสภาพร่างกายที่อ่อนล้า ทำให้ชาวบ้านคนแล้วคนเล่าถูกหามส่งโรงพยาบาล และภาพที่ปรากฎสู่สายตาของสาธารณชนส่งผลทำให้การเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นจุดสนใจของสังคมมากยิ่งขึ้น ผู้คนทั่วสารทิศมาเยี่ยมเยียนให้กำลังใจชาวบ้าน ปลุกกระแสสังคมให้ร่วมกดดัน รัฐบาล คสช. ที่เพิกเผยต่อพลังงานสะอาด

ขณะที่เครือข่ายนักอนุรักษ์และนักวิชาการก็พร้อมใจกันตบเท้าเข้าร่วมให้กำลังใจ มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นผ่านวงเสวนาซึ่งในที่สุดก็ประกาศจุดยืนและสรุปตรงกันว่า “รัฐบาลต้องยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหิน”

ขณะเดียวกัน สังคมได้รับรู้ถึง “สิทธิเสรีภาพ” การชุมนุมอย่างสงบของประชาชนในการเรียกร้องความชอบธรรม “ต่อสู้กับอำนาจรัฐ” ซึ่งสร้างบรรทัดฐานเป็นประจักษ์ว่า “ตราบใดที่ประชาชนชุมนุมโดยสงบเจ้าหน้าที่รัฐไม่มีสิทธิออกคำสั่งขับไล่” หลังจาก “ศาลแพ่ง” มีคำสั่ง “ยกเลิกคำร้องของตำรวจ” เรื่องการย้ายที่ชุมชนบริเวณหน้า UN โดยอ้างว่ากลุ่มผู้ชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 16 (1) คือ กีดขวางและก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่ใช้ทางเท้าและประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนในบริเวณดังกล่าว นอกจากนี้ ยังอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนอันพึงคาดหมาย อาทิ เมื่อผู้ชุมนุมลงไปเดินบนถนน อาจถูกรถเฉี่ยวชนได้ โดยมีคำสั่งให้ผู้ชุมนุมทั้งหมดย้ายสถานที่ชุมนุมไปที่ริมคลองผดุงกรุงเกษม

ในที่สุด การต่อสู้ก็เดินทางมาถึงจุดสำคัญ เมื่อชาวบ้านประกาศยกระดับ “บุกประชิดรั้วทำเนียบฯ” ในวันที่ 20 ก.พ. 2561 ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นการตัดสินใจที่สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อรัฐบาลไม่น้อย เพราะยิ่งทาง UN กำลังจะมีการประชุมเรื่องพลังงานยั่งยืน โดยรัฐบาลและกระทรวงพลังงานร่วมเป็นเจ้าภาพ จึงมีนัยยะว่าไม่อาจใช้ความรุนแรงกับกลุ่มผู้ชุมนุมได้

ครั้นจะปล่อยให้กองทัพชาวบ้านบุกเข้าประชิดทำเนียบรัฐบาล ก็จะทำให้สถานการณ์ของรัฐบาลทหารที่กำลังย่ำแย่และเผชิญวิกฤตศรัทธาทรุดต่ำลงไปอีก ลำพังแค่เรื่อง “นาฬิกาของเสี่ยป้อม” ประเด็นเดียวก็แทบจะแบกรับไม่ไหวอยู่แล้ว

ที่สำคัญคือดูเหมือนว่า การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนกำลังจะ “จุดติด” และดีไม่ดีอาจมีการผสมโรงจาก “กลุ่มการเมืองอื่นๆ” จนทำให้สถานการณ์บานปลายออกไปได้ทุกเมื่อ

เมื่อสถานณ์บังคับเช่นนี้ “รัฐบาล คสช.” จึงตัดสินใจ “ตัดไฟตั้งแต่ต้นลม” ยอมเจรจาลงนามข้อตกลงกับกองทัพประชาชนคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก่อนที่พากันเคลื่อนทัพมายังทำเนียบรัฐบาล
  ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นตัวแทนรัฐในการเจรจาลงนามข้อตกลงกับชาวบ้านเทพา-กระบี่ เครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเลฯ ยุติโรงไฟฟ้าถ่านหิน
  บันทึกข้อตกลงฉบับประวัติศาสตร์
โดยมี ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ในฐานะที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยตัวแทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นตัวแทนรัฐบาลเข้าร่วมเจรจาและลงนามบันทึกข้อตกลงกับทางแกนนำเครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเล กระบี่-เทพา ยุติโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยในบันทึกข้อตกลง ระบุไว้ 4 ข้อ คือ

1. ถอนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ (ฉบับใหม่) ออกจากสำนักงานนโยบายและแผนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ภายใน 3 วัน นับตั้งแต่วันที่ลงนาม

2. กระทรวงพลังงานจะดำเนินการให้มีการจัดทำรายงาน การประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) เพื่อศึกษาว่า จ.กระบี่ และอ.เทพา จ.สงขลา โดยให้มีนักวิชาการที่เป็นกลางที่สองฝ่ายยอมรับร่วมกัน ซึ่งหากศึกษาพบว่าไม่เหมาะสมต้องต้องยุติการดำเนินการโครงการทั้ง 2 พื้นที่ โดยให้เวลาการจัดทำรายงาน SEA เสร็จสิ้นภายใน 9 เดือน และให้ผลการศึกษา SEA มีผลผูกพันต่อการดำเนินโครงการทั้ง 2 พื้นที่ ภายใน 7 วันหลังการลงนาม

3. หากผลการศึกษา SEA ชี้ว่าพื้นที่มีความเหมาะสมในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จะต้องจัดทำรายงาน EHIA โดยคนกลางที่ยอมรับร่วมกัน

4. ให้คดีความระหว่าง กฟผ. และเครือข่ายฯ เลิกแล้วต่อกัน

ทั้งนี้ ภายหลังจากการลงนามข้อตกลงเสร็จสิ้น แกนนำเครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเล กระบี่ - เทพา ยุติโรงไฟฟ้าถ่านหิน ได้ประกาศสลายการชุมนุมพร้อมทั้งย้ำว่าหากรัฐบาล หรือ กฟผ. ทำผิดสัญญาข้อตกลงก็จะกลับมาชุมนุมทวงสัญญาอีกครั้ง

โดยก่อนหน้านี้ ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ ได้แถลงถึงการแก้ไขแผนการผลิตพลังงานแห่งชาติ หรือ PDP ใหม่ มีความคิดเห็นว่า ควรจะต้องลดหรือเลิกการใช้ถ่านหินในพื้นที่ภาคใต้ทั้งหมด เพื่อให้มีความสอดรับต่อแนวทางของสังคมโลก เพราะแผนการผลิตพลังงานแห่งชาติฉบับที่ยังใช้อยู่นี้มีความล้าหลัง และไม่ทันสมัยกับโลกในอนาคต

และเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า การใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหินไม่ใช่สิ่งที่สังคมโลกต้องการ ดังที่รัฐบาลกว่า 100 ประเทศ ได้ประกาศเรื่องนี้ร่วมกันในการประชุม คอป 21 หรือ การประชุมอนุกรรมการว่าด้วยการลดสภาวะโลกร้อนของสหประชาชาติ ที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี 2558 ที่ บิ๊กตู่ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมลงนามฯ
ภาพวันประวัติศาสตร์ชัยชนะของเครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเลฯ หลังรัฐบาลยอมเจรจาลงนามข้อตกลง ยกเลิก EHIA โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพา เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2561
แน่นอนว่า ชัยชนะครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะพี่น้องชาวไทยทั้งประเทศ แสดงพลังต่อสู้กับอำนาจรัฐเผด็จทหาร แม้ไม่เดินทางมาร่วมชุมนุมในพื้นที่ แต่เสียงวิพากษ์ที่ดังขึ้นเรื่อยๆ สร้างแรงกดดันส่งผลต่อการตัดสินใจของรัฐบาล คสช.

ถึงแม้สถานการณ์บังคับ แต่อย่างน้อยรัฐบาลก็ยอมถอยหนึ่งก้าวด้วยการ “ฟังเสียงประชาชน” ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่ดี

อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามกันต่อไปว่า สุดท้ายแล้วรัฐบาลจะยุติการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทยแล้วหันมาสนับสนุนพลังงานสะอาดหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่ “การซื้อเวลา” เพื่อคลี่คลายสถานการณ์เท่านั้น




กำลังโหลดความคิดเห็น