xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ล่าสัตว์ป่าทุ่งใหญ่ เกมชีวิตอภิสิทธิ์ชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“อนิจจา สัตว์ป่าผู้น่าสงสาร ถูกล้างผลาญเข่นฆ่าให้อาสัญ
ผิดด้วยหรือ ต้องถูกฆ่าให้จาบัลย์ โอ้ มนุษย์นั้นจะโหดร้าย เพียงไหนกัน”

ผู้จัดการสุดสุปดาห์ - เนื้อเพลงตอนหนึ่งจากบทเพลง “สิ้นเสียงปืน” โดย สืบ นาคะเสถียร ประพันธ์ขึ้นเมื่อปี 2518 แม้เวลาผ่านไปหลายปี บทเพลงนี้ยังคงทำหน้าที่สะท้อนความจริงอันโหดร้ายได้เป็นอย่างดี ชีวิตสัตว์ป่าจำนวนมากสังเวย “อำนาจ” และ “ค่านิยม” ของคนบางจำพวก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเหตุการณ์ล่าสุดที่เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก จ.กาญจนบุรี บุกจับกุม “นายเปรมชัย กรรณสูต” เจ้าสัวเจ้าของอาณาจักรอิตาเลียนไทยฯ และพวก 4 คน ลักลอบตั้งแคมป์ล่าสัตว์ ตรวจพบซากสัตว์และอาวุธปืนจำนวนมาก ซึ่งหนึ่งในนั้นคือสัตว์ป่าคุ้มครอง “เสือดำ” สภาพถูกชำแหละถลกหนังนำหางไปต้มซุป

ข่าวครึกโครมดังกล่าวสร้างความสะเทือนใจในความรู้สึกของสังคมอย่างกว้างขวาง ขณะเดียวกันก็เป็นอีกบทเรียนสำคัญส่งผลให้สังคมเกิดความ “ตื่นตัว-ตระหนัก” ต่อสถานการณ์ป่าไม้และสัตว์ป่าของไทย

2516 : 2561...ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย
รตยา จันทรเทียร ตัวแทนนักอนุรักษ์อาวุโส หนึ่งในวิทยากรงานเสวนาวิชาการ เรื่อง “จาก 16 ถึง 61 คลี่ม่านเกมล่าสัตว์ “ทุ่งใหญ่” เกมชีวิตอภิสิทธิ์ชน?” จัดโดย ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ร่วมถอดบทเรียนคดีล่าสัตว์ป่าในเมืองไทยเทียบเคียงภาพเหตุการณ์ในอดีต นั่นคือตำนานล่าสัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ปี 2516 เมื่อครั้งกลุ่มของ “พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร” บุตรชายของ “จอมพลถนอม กิตติขจร” อดีตนายกรัฐมนตรีซึ่งได้อำนาจจากการรัฐประหาร นำคณะเข้าป่าสร้างตำนานล่าสัตว์ในทุ่งใหญ่นเรศวร “ฟางเส้นสุดท้าย” ก่อนปะทุกลายเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

สำหรับเหตุการณ์สำคัญของการล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศร คือเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์เบลล์ หมายเลข ทบ.6102 เกิดอุบัติเหตุตกระหว่างทางที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม มีผู้เสียชีวิต 6 คน และพบซากสัตว์ป่าโดยเฉพาะซากกระทิงจำนวนหลายตัว

ต่อมา จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ออกแถลงว่า เฮลิคอปเตอร์ลำที่ตกได้เดินทางไปปฏิบัติภารกิจลับเกี่ยวกับความมั่นคง ทว่า ข้อเท็จจริงจาก “บันทึกลับจากทุ่งใหญ่” เปิดเผยว่า เหตุการณ์ในครั้งนั้นมีต้นสายปลายเหตุมาจากการที่นายทหารและนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่เดินทางไปตั้งค่ายพักแรมเพื่อฉลองวันเกิด และได้ใช้อาวุธสงครามล่าสัตว์ป่าภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี ระหว่างวันที่ 26-29 เม.ย. 2516 เป็นช่วงเดียวกับ กลุ่มนักศึกษาเข้าไปศึกษาธรรมชาติจึงมีการยืนยันถึงการเข้ามาล่าสัตว์ได้อย่างชัดเจน
  รตยา จันทรเทียร ตัวแทนนักอนุรักษ์อาวุโส
“เหตุการณ์สำคัญในห้วงเวลา 45 ปี จากเหตุการณ์ล่าสัตว์ในปี 2516 นำไปสู่เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 14 ตุลาฯ ซึ่งจุดที่นายเปรมชัยเข้าไปล่าเสือดำนั้นอยู่ไม่ห่างจากจุดที่เคยล่ากันในอดีต ระยะห่างกันแค่เพียง 30 กิโลเมตร โดยล่ากันที่ทุ่งหญ้าเซซาโว่ สัตว์ป่าเหล่านี้หายากและกำลังจะสูญพันธุ์”

“ขณะที่เสือดำที่ถูกยิงล่าสุดนั้นคุ้นเคยกับคน จัดเป็นหนึ่งในสัตว์ป่า 10 ชนิด ที่อยู่ระหว่างเฝ้าติดตามการฟื้นกลับ โดยเสือดำและเสือดาวอยู่ในตระกูลเดียวกันในแถบเอเชียมีประมาณ 1,500 ตัว พฤติการณ์ล่าสัตว์ของกลุ่มนายเปรมชัย สะท้อนให้เห็นถึงสภาพปัญหาที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ ซึ่งต้องมีมาตรการป้องกันอย่างรอบคอบ”

อ.รตยา ยังได้ให้ข้อมูลด้วยว่า ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งวันนี้ประชากรสัตว์ป่าเพิ่มมากขึ้น ทั้งวัวแดง เก้งกวาง ช้าง หมูป่า สามารถพบเห็นข้างทาง เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ความสมบูรณ์ของสัตว์ป่าในพื้นที่มรดกโลก ซึ่งถ้าช่วยกันดูแลจะเพิ่มจำนวนขึ้นได้ ทั้งนี้ ในประเด็นเรื่อง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ และพ.ร.บ .สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พร้อมทั้งเน้นย้ำด้วยว่าอย่าอนุญาตให้ภาคเอกชนเช่าพื้นที่เพื่อทำประโยชน์ เช่น สร้างบ้านพัก เต็นท์ปรับอากาศ เพราะจะเป็นการเปิดช่องให้เกิดการลักลอบล่าสัตว์

“ประเด็นการเปิดพื้นที่เช่าพื้นที่ป่าให้กับเอกชน ที่มีมาตั้งแต่ปี 2500 จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง หากรัฐบาลจะเห็นใจและรักษ์สิ่งแวดล้อมก็ควรจะบังคับและอย่าให้มีใครเข้ามาขออนุญาตเช่าพื้นที่ป่าอีกเป็นอันขาด ไม่เช่นนั้นป่าจะหมด สัตว์ป่าก็ไม่เหลือ เพราะเป็นทรัพยากรของชาติ หากเปิดให้เช่าก็เป็นจุดอ่อนต่อสิ่งแวดล้อมทันที ปัญหานี้มีมาตลอด 45 ปี และก็ยังไม่เคยจากไปไหน”

เสือดำแห่งทุ่งใหญ่
ความสมบูรณ์ของผืนป่า
กรณีของนายเปรมชัยเข้าป่าทุ่งใหญ่เพียงวันเดียวแล้วยิงเสือดำได้นั้น ถือเป็นข้อบ่งบอกชัดเจนว่าผืนป่าตะวันตกแห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์อย่างมาก ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุว่า จุดเกิดเหตุเป็นทุ่งใหญ่ตะวันตกตอนกลาง ซึ่งพบการกระจายสัตว์ป่าขึ้นข้างบนถึงเขตรักษาพันธุ์ฯ อุ้มผาง อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ไปถึงจังหวัดลำปางและประเทศพม่า หากลงมาด้านล่างสัตว์ป่ามาถึงเขตรักษาพันธุ์ฯ สลักพระ จ.กาญจนบุรี

“ทุ่งใหญ่เป็นพื้นที่อนุรักษ์ชั้นเยี่ยมและมีการจัดการเข้มข้น แต่มีคนกล้าขออนุญาตไปกระทำผิด จากปี 2516 ผ่านมา 45 ปี กับการล่าสัตว์ เปรมชัยใช้หัวใจประเภทไหน ไม่อาย ไม่เกรงใจคนอนุญาต หรือย่ามใจลูกน้องของท่านสามารถเคลียร์ได้ ในพื้นที่ตัวอย่างการอนุรักษ์ระดับทุ่งใหญ่เป็นปรากฎการณ์ที่หาได้ยากยิ่งที่มีบุคคลทำแบบนี้”

“...ทุกวันนี้ป่าไม้ สัตว์ป่ามันมีความเข้มแข็งด้วยตัวของมันเอง ส่วนหนึ่งก็เพราะคนทำงานอนุรักษ์ เจ้าหน้าที่ที่แข็งขันและทำงานอย่างเต็มที่ ป่ามันจึงสมบูรณ์ คนที่เข้าไปยิงสัตว์เล่นบนพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่มีคนจำนวนมากหวงแหน คนแบบนี้ก็คือคนไม่ปกติ เป็นคนไม่รู้เรื่องอะไรทั้งนั้น” ศศินให้ความเห็น

อย่างไรก็ตาม มีกระแสข่าวลือว่าเสือดำที่ถูกสังหารโดยกลุ่มของนายเปรมชัยนั้น เป็นเสือดำตัวสุดท้ายของประเทศไทย ตามข้อมูลทางวิชาการนั้นไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

ดร.เอ็ดวิน วิค เลขาธิการมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า ขยายภาพจำนวนเสือดำจากสถิติและการประมาณการว่า ในปัจจุบันเสือดาวที่เป็นพันธุ์เดียวกับเสือดำนั้นมีอยู่ในประเทศไทยและมาเลเซียราว 900 ตัว จำนวนนี้พบว่ามีอยู่ 11 เปอร์เซ็นต์เป็นเสือดำ ในประเทศไทยมีความเป็นไปได้สูงว่ามีเสือดำอยู่ประมาณ 200 ตัว แต่ที่น่ากังวลคือเสือโคร่ง เพราะยังเหลืออยู่ในธรรมชาติน้อยกว่าเสือดำและเสือดาว

เสือดาวและเสือดำต่างเป็นสัตว์ที่ถูกหมายหัวจากนักล่า ด้วยราคาค่าตัวที่นำไปขายกันในตลาดมืด ทำการค้าเป็นขบวนการ เมื่อจับได้ก็จะส่งไปที่ชายแดนก่อนส่งต่อไปยังประเทศจีนเพื่อทำยาโด๊ป โดยเสือดำหรือเสือดาวหนึ่งตัวอยู่ที่ราคา 100,000-200,000 บาท เป็นสัตว์ที่หายากและขยายพันธุ์ได้ยาก

เอ็ดวิน กล่าวว่ากฎหมายการกระทำความผิดเกี่ยวกับการล่าสัตว์ ครอบครอง หรือลักลอบซื้อขายนั้น กฎหมายใหม่ที่อยู่ระหว่างพิจารณาถือว่าดีอย่างมาก โดยเฉพาะการเพิ่มโทษให้จำคุกอย่างน้อย 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา และปรับสูงสุดที่หลักล้านบาท จากเดิมจำคุกไม่เกิน 4 ปี ปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท
ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
เอ็ดวิน วีค เลขาธิการมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า
สมโภชน์ มณีรัตน์ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาระบบบริหาร โฆษกประจำกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวถึงสถานการณ์ป่าเมืองไทย ตั้งแต่ปี 2504 ความสมบูรณ์ของป่าไม้และสัตว์ป่าเริ่มลดลงมาเรื่อยๆ เพราะเจ้าหน้าที่ไม่เพียงไม่ทั่วถึง คนในพื้นที่ยุคนั้นมีปัญหา ปัจจุบันมีภาคีเครือข่ายการร่วมมือกันทำงานระหว่างรัฐและชุมชน ส่งผลให้เคิร์ฟประชากรสัตว์เพิ่มขึ้นตามลำดับ ณ วันนี้ผืนป่าตะวันตกไม่น้อยหน้าใครในโลกนี้ ทั้งกระบวนการจัดการและเรื่องพื้นที่ถึงแม้จะมีแค่มรดกโลกห้วยขาแข้ง 4,000,000 ไร่ ซึ่ง และผืนป่าตะวันตกเป็นโมเดลที่จะขยายไปยังผืนป่าทุกผืนในประเทศไทย

กรณีการลักลอบล่าสัตว์ของกลุ่มนายเปรมชัย เป็นบทเรียนสำคัญที่ทางกรมอุทยานฯ ต้องนำมาถอดบทเรียน โดยเฉพาะการขออนุญาตเข้าพื้นที่ป่า ซึ่งจะนำมาวิเคราะห์อย่างละเอียดว่าพื้นที่ใดควรเข้าไปได้ หรือควรจำกัดพื้นที่ให้เข้า

“สิ่งที่เป็นจุดอ่อนจากคดีนี้จะถูกเก็บไปเป็นบทเรียนทั้งหมด” สมโภชน์ ยืนยัน

ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ในความรับผิดชอบของ กรมอุทยานฯ โดยตรง ซึ่งนายสมโภชน์ กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดคดีนายเปรมชัย ตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ. 2561 ประเด็นกลับพุ่งเป้ามาที่เจ้าหน้าที่ คำถามที่ตามมาคือ ใครอนุญาต? เจ้าหน้าที่บกพร่องหรือไม่? คนจับกลับกลายเป็นประเด็นมากกว่าผู้ต้องหา เหล่านี้มีกลไกการทำงานเพียงแต่ปัญหาคือการบังคับใช้กฎหมาย

“สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องน่าตกใจผู้กระทำผิดเป็นบุคคลระดับประเทศ ซึ่งไม่ว่าใครกระทำผิดเราทำคดีกันตามปกติ ผู้กระทำผิดเป็นบุคคลระดับประเทศมันทำให้ทุกอย่างพลิก และใครจะคิดว่าหัวหน้าวิเชียร (วิเชียร ชิณวงษ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันออก) จะมีความผิดในเรื่องการงดเว้นค่าธรรมเนียม ซึ่งในหลายประเด็นนั้นเป็นบทเรียนที่เราต้องยอมรับในความบกพร่องแต่ต้องดูที่เจตนาหลายอย่างประกอบกัน”

แน่นอนว่า เสือดำตัวนี้ไม่ใช่ตัวสุดท้าย แต่จะดีมากๆ ถ้าเสือดำตัวนี้เป็นตัวสุดท้ายที่ถูกล่า

ล่าสัตว์ถูก กม. ในต่างประเทศ
การล่าสัตว์จัดเป็นเกมกีฬาในต่างประเทศ แต่ไม่ใช่ในประเทศไทย ดร.เอ็ดวิน วิค เลขาธิการมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า อธิบายถึงพฤติกรรมการล่าสัตว์โดยกล่าวอ้างว่าเป็นเกมกีฬาซึ่งเป็นเรื่องที่ตนเองไม่ยอมรับ ซึ่งโดยปกติการล่าล่าสัตว์จะแบ่งเป็น 3 ลักษณะใหญ่ๆ ล่าเพื่อความสนุกสนานเป็นเกมกีฬา ล่าสัตว์เพื่อบริโภค ส่วนมากจะเป็นชาวบ้านที่อาศัยตามป่าตามเขา และล่าสัตว์เพื่อการค้า

ดร.เอ็ดวินยังยกตัวอย่างการล่าสัตว์ในแอฟริกาเพื่อความสุขทางกีฬา รูปแบบของเขาจะมีการเพาะพันธุ์สัตว์ป่าในฟาร์มและเอามาปล่อยในพื้นที่ป่าในแหล่งธรรมชาติที่เป็นส่วนบุคคล เป็นเกมกีฬาเป็นธุรกิจมีพื้นที่เป็นพันๆ ไร่ มีคนขออนุญาตมีการจ่ายเงินเพื่อล่าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เป็นต้นว่า จ่ายเงิน 10 ล้านบาทเพื่อยิงช้าง แต่หากไปล่าตามป่าธรรมชาติของแอฟริกาใต้ย่อมมีความผิดตามกฎหมาย เช่นเดียว กับกรณีล่าเสือดำในประเทศไทย

ทั้งนี้ ประเทศที่อนุญาตให้ล่าสัตว์มีไม่น้อยกว่า 15 ประเทศในแอฟริกา ทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปยุโรป อย่าง 3 ปีก่อน ฮุน เซน ผู้นำกัมพูชา เปิดพื้นที่กัมพูชาเป็นพื้นที่ล่า ปล่อยสัตว์ป่าให้ล่าเป็นกีฬาเป็นการท่องเที่ยว เป็นธุรกิจที่ถูกกฎหมาย ถึงผิดบาปเพียงไรแต่ถูกกฎหมาย ต่างจากกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศไทยกับกรณีนายเปรมชัยที่ผิดฎหมาย

นอกจากนี้ ยังมีลักษณะการล่าสัตว์เพื่อการจัดการ เช่น สัตว์บางชนิดมีมากเกินไปในพื้นที่นั้นๆ รัฐอาจมีการออกใบอนุญาตเพื่อไปล่า เป็นต้น

สมโภชน์ มณีรัตน์ โฆษกประจำกรมอุทยานฯ กล่าวเสริมว่า การจัดการพื้นที่แหล่งสัตว์ป่าเดิมใช้คำว่าเกมตามตำราโบราณ ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะเป็นการทำตามวิชาการ จ่ายเงินเรียบร้อย ล่าได้กี่ตัว เพศไหน ห้วงเวลาใด ทำภายใต้ระเบียบข้อบังคับกฎหมายห้วงเวลาที่ถูกต้อง แต่ประเทศไทยประชากรสัตว์ไม่ได้มีมากมายขนาดนั้น

กล่าววสำหรับสถานการณ์ล่าสัตว์ป่าในประเทศไทยนั้น เมื่อดูจากข้อมูลเชิงคดีจากปี 2516 - ปี 2561 พบว่า จำนวนคดีลดลง จำนวนของซากวัตถุทางคดีต่างๆ ลดลงทั้งหมด ภาพรวมเชิงประจักษ์ลงลด แต่ว่าในเรื่องของประเด็นปัญหายังไม่หมดไป เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบซึ่งยากที่จะคาดเดาว่าจะโผล่มาเมื่อไหร่อย่างไร
กระนั้นก็ดี คดีลดลงนั้นไม่ได้หมายความว่า กรมอุทยานฯ ไม่ใส่ใจต่อสิ่งเหล่านี้ เพราะต้องให้ความสำคัญเข้มงวดต่อไป เนื่องจากถ้าหยุดทำภัยคุมคามก็จะเพิ่มกลับมา จึงต้องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อความสมดุลของระบบนิเวศต่อไป

“วิเชียรโมเดล”
ลาดตระเวนเชิงคุณภาพ
อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญต่อจากนี้ ก็คือเรื่องการจัดการเชิงคุณภาพของบุคลากรเพื่อร่วมพัฒนาผืนป่า ทำอย่างไรถึงจะ “สร้างคนดี” ขึ้นมาพิทักษ์ผืนป่าสร้างคนอย่าง “วิเชียร ชิณวงษ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันออก” ผู้นำจับนายเปรมชัยและพวก 4 คน

ศศิน กล่าวว่ารัฐต้องสร้าง “วิเชียรโมเดล” ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม คนหนุ่มรุ่นใหม่ ใจกล้า ไม่กลัวใคร ขยัน และคดีนี้ไม่ใช่คดีแรกของหัวหน้าวิเชียร ต้องยอมรับว่าเราขาดแคลนคนแบบนี้ อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์ 200 แห่งในประเทศ มีหัวหน้าใจกล้าอย่างวิเชียรสักกี่คนและจะมีอีกหรือไม่ เหล่านี้สะท้อนกลับมาที่เรื่องระบบการศึกษา การปลูกฝังให้นิสิตวนศาสตร์มีความมุ่งมั่นในการดูแลรักษาป่าและสัตว์ป่า การจัดการทรัพยากรป่าและสัตว์ป่า

“ถึงแม้จะสูญเสียเสือดำไป แต่งานอนุรักษ์ก็ได้รับชัยชนะด้วยเช่นกัน เพราะตลอดระยะเวลาต่อสู้กว่า 45 ปี ทุกวันนี้คนทั้งประเทศไม่มีใครปฏิเสธงานอนุรักษ์ป่าไม้สัตว์ป่า เพราะกระแสสังคมไม่ยอมรับพฤติกรรมแบบเปรมชัยอีกต่อไป” ศศิน กล่าว

สำหรับประเด็นที่มีการเสนอให้แก้ไขพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 โดยให้เพิ่มโทษผู้ล่าสัตว์สงวน ศศิน มองว่าไม่จำเป็นต้องมาพูดถึงการเพิ่มโทษ เพราะทุกวันนี้กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมดีอยู่แล้ว และทำหน้าที่อย่างดีตลอดกระบวนการ แต่คนรวยที่เข้าไปล่าสัตว์เมื่อถูกจับเขาไม่ได้มาสนใจว่าโทษจะสูงแค่ไหน เขาสนแค่ว่าเคลียร์ได้หรือเปล่า พร้อมเสนอให้กรมอุทยานฯ กำหนดพื้นที่ป่าแต่ละประเภทให้ชัดเจน เพิ่มหน่วยพิทักษ์ป่าให้มากเพียงพอ

สำหรับแนวทางสำคัญในการพิทักษ์ป่าไม้และสัตว์ป่า นั่นก็คือ การลาดตระเวณเชิงคุณภาพ (smart patrol ) หรือ ระบบการเดินลาดตระเวนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์อย่างเป็นระบบ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการป้องกันปราบปราม รวมทั้ง การจัดการพื้นที่โดยการประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) เพื่อวางแผนลาดตระเวณ การเก็บข้อมูล วิเคราะห์ประมวลผล
สมโภชน์ มณีรัตน์ โฆษกประจำกรมอุทยานฯ
  ธนยศ ศรีวิไลรัตน์ ตัวแทนเครือข่ายนักศึกษาชมรมอนุรักษ์ฯ
สมโภช กล่าวว่า การลาดตระเวณเชิงคุณภาพเป็นระบบถูกนำมาใช้ที่ห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวรประมาณ 10 กว่าปีแล้ว ด้วยระบบที่ดีส่งผลให้ผืนป่าตะวันตกทรัพยากรธรามชาติดีขึ้น กรมอุทยานฯ พยายามถ่ายทอดระบบไปทั่วประเทศ เริ่มตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว และค่อยๆ พัฒนา ซึ่งจากบทเรียนคดีฆ่าเสือดำกำลังเราทุกคนว่าบอกว่า “ช้าไม่ได้แล้วนะ”

แน่นอน จากกรณีจากลักลอบตั้งแคมป์ล่าสัตว์ของกลุ่มเจ้าสัวอิตาเลียนไทยฯ สะท้อนให้เห็นว่าการเข้าป่าล่าสัตว์ไม่ใช่แค่เรื่องผิดกฎหมายแต่เป็นเรื่องที่สังคมรังเกียจ และพฤติกรรมลักษณะนี้อาจไม่ถูกแก้ด้วยตัวกฎหมาย ไม่ได้ถูกแก้ด้วยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งเป็นเพียงเครื่องมือป้องกันปราบปราม แต่ต้องอาศัยการขับเคลื่อนจากสังคม

และที่น่าจับตาคือ การเคลื่อนไหนทางสังคมโดยเฉพาะการแสดงพลังของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ธนยศ ศรีวิไลรัตน์ ตัวแทนนักศึกษาชมรมอนุรักษ์แห่งประเทศไทย ที่เฝ้าติดตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยความห่วงใย เป็นกำลังใจสำคัญให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งทางกลุ่มนักศึกษาจะมีการผลักดันผ่านทางโซเชียลมีเดีย ทำหนังสือยื่นถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจังต่อไป รวมทั้ง การเคลื่อนไหวนัดรณรงค์เชิงสัญลักษณ์กิจกรรม “สวมหน้ากากเสือดำ” เพื่อให้ประชาชนตระหนักและหวงแหนธรรมชาติ

ท้ายที่สุด การเพิ่มโทษอาจทำให้คนเกรงกลัวขึ้น แต่ต้องไม่รอลงอาญา และโทษปรับเพิ่มเป็นหลักล้านบาท เนื่องจากเป็นความสูญเสียทางระบบนิเวศ แต่สิ่งสำคัญที่ต้องยอมรับคือ การบังคับใช้กฎหมายในไทยยังมีความยากลำบาก

ไม่นานมานี้ ศาลฎีกาตัดสินจำคุก พ.ต.ท.ธีรยุทธ เกตุมั่งมี อดีตตำรวจ พร้อมพวก 8 คน ลักลอบล่าสัตว์ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ตัดสินจำคุก 10 เดือน นำอาวุธปืนเข้าไปล่าสัตว์ป่า และค้างแรมในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี สามารถยึดของกลางเป็นกบทูด และซากกระจง พร้อมภาพถ่ายที่กลุ่มพรานบันทึกไว้ได้ เมื่อช่วงเดือน พ.ย. 2555

อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าคดีของนายเปรมชัย มีการขยายผลสู่ประเด็นอื่นๆ อย่างเรื่องบุกรุกพื้นที่ป่า จุดจบของคดีนายเปรมชัย นักธุรกิจระดับแสนล้าน เจ้าของอาณาจักรอิตาเลียนไทยฯ จะเป็นเช่นไร เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม เพราะ ณ วันนี้กระบวนการยุติธรรมตั้งต้นแล้ว





กำลังโหลดความคิดเห็น