xs
xsm
sm
md
lg

อัมเบดการ์ : ผู้แสวงหาเสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพในอินเดีย (ตอนที่ 1)

เผยแพร่:   โดย: ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล

ดร.ภิมราว รามยี อัมเบดการ์  (เครดิตภาพ : สถานทูตอินเดียประจำประเทศไทย)
สุรัตน์ โหราชัยกุล
คณะรัฐศาสตร์ และศูนย์อินเดียศึกษา จุฬาฯ


ในคอลัมน์พินิจอินเดียครั้งนี้ ผู้เขียนขอเลือกเขียนเกี่ยวกับ ดร. ภิมราว รามยี อัมเบดการ์ เพราะเชื่อว่าสังคมไทยยังเข้าใจอัมเบดการ์ได้ไม่ครอบคลุม มีหลายกรณีด้วยที่ผู้เขียนพบว่า ชาวไทยจำนวนไม่น้อยยังเข้าใจไม่ถูกต้อง เช่น ความเชื่อที่ว่ารัฐธรรมนูญอินเดียทั้งหมดเป็นผลผลิตของอัมเบดการ์แต่เพียงผู้เดียว ซึ่งแท้จริงแล้ว สารัตถะทั้งหมดที่ประกอบเป็นรัฐธรรมนูญอินเดียหาได้มาจากเขาเพียงผู้เดียวไม่ แม้อัมเบดการ์จะดำรงตำแหน่งประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญอินเดีย ซึ่งมีบทบาทสำคัญมากในการวางกรอบรัฐธรรมนูญ ร่วมเสนอประเด็นสำคัญที่มาจากความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของตนเพื่อบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญอินเดีย และร่างรัฐธรรมนูญอินเดีย แต่เขาก็เป็นเพียงหนึ่งในสมาชิกของสภาดังกล่าวจากทั้งหมด 296 คน สมาชิกส่วนใหญ่มาจากพรรคคองเกรส ที่สำคัญในจำนวนดังกล่าวนอกจากอัมเบดการ์แล้ว ยังมีทลิตหรือที่คนไทยนิยมเรียกว่าจัณฑาลอีก 29 คนประกอบเป็นสมาชิกสภาฯ ด้วย ดังนั้น ที่มักจะกล่าวกันว่า รัฐธรรมนูญอินเดียเป็นผลผลิตของจัณฑาลเพียงคนเดียวนั้น จึงหาใช่ข้อเท็จจริงไม่ อัมเบดการ์เองก็เคยกล่าวในประเด็นนี้ต่อวุฒิสภาในวันที่ 2 กันยายน 1953 ด้วยความขุ่นเคืองว่า “... มีหลายส่วน[ในรัฐธรรมนูญ]ที่ไม่เป็นไปดังใจผม”

ที่พบเห็นมากอีกคือ วรรณกรรมภาษาไทยที่เกี่ยวกับอัมเบดการ์จำนวนไม่น้อย เน้นอธิบายอัมเบดการ์ในมิติใดมิติหนึ่งเท่านั้น โดยเฉพาะมิติที่สัมพันธ์กับการนับถือศาสนาพุทธของเขา ซึ่งน่าจะสะท้อนว่า คนไทยส่วนใหญ่ที่นับถือศาสนาพุทธรู้สึกพึงพอใจกับบทบาทของอัมเบดการ์ในฐานะบุคคลที่นำศาสนาพุทธกลับคืนสู่แหล่งกำเนิดอีกครั้ง และอาจจะสะท้อนด้วยว่า ชาวไทยที่ประสงค์จะส่งเสริมศาสนาพุทธสามารถใช้อัมเบดการ์เป็นตัวอย่างรูปธรรมในการสำแดงความสำคัญของศาสนาพุทธที่ยังเกี่ยวข้องกับชีวิตคนในปัจจุบัน วิถีคิดในลักษณะนี้ย่อมไม่ผิด ถึงแม้อัมเบดการ์จะมิใช่ชาวฮินดูคนแรกที่เปลี่ยนไปนับถือศาสนาพุทธในประวัติศาสตร์อินเดียสมัยใหม่ แต่เขาคือบุคคลสำคัญที่สุดในเรื่องนี้ เพราะเขาคือผู้ให้กำเนิดขบวนการพุทธใหม่ในอินเดีย ทำให้ชาวทลิตจำนวนมากเลือกปลดแอกความเป็นคนนอกวรรณะในศาสนาฮินดูโดยหันไปนับถือศาสนาพุทธ ดังที่อัมเบดการ์เคยประกาศในปี 1935 ว่า “แม้ว่าจะเกิดเป็นฮินดู แต่ไม่ขอตายในสภาพฮินดู” ก่อนที่เขาจะเปลี่ยนไปนับถือศาสนาพุทธอย่างเป็นทางการในวันที่ 14 ตุลาคม 1956 และภรรยาคนที่สองผู้เกิดในวรรณะพราหมณ์กับสาวกของเขาเกือบหกแสนคนก็ปฏิบัติตามเขา การสำรวจประชากรอินเดียปี 2001 บอกเราด้วยว่า มีชาวอินเดียที่นับถือศาสนาพุทธทั้งหมด 7.95 ล้านคน ในจำนวนนี้มีอดีตทลิตมากถึง 5.83 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม การมองอัมเบดการ์ในมิติที่เขานับถือศาสนาพุทธอันสัมพันธ์กับการปลดแอกทลิตโดยลำพัง อาจทำให้เราเข้าใจเขาได้อย่างไม่ครอบคลุม แท้จริงแล้ว อัมเบดการ์มิได้เป็นเพียงผู้นำของชาวทลิต หรือของผู้คนวรรณะล่างที่ถูกกดขี่เท่านั้น หากแต่เขาเป็นผู้นำแห่งชาติที่มีลักษณะต่างจากผู้นำอินเดียคนอื่นๆ ในยุคสมัยของเขา เช่น มหาตมาคานธีที่นำขบวนการชาตินิยมเรียกร้องเอกราชอินเดียจากบริติชราช ชาตินิยมของอัมเบดการ์สำแดงผ่านงานเขียนและการทำงานของเขา นอกจากเรื่องวรรณะและศาสนาพุทธแล้ว เขาได้เขียนเกี่ยวกับประเด็นปัญหามุสลิม ชนกลุ่มน้อย ปากีสถาน และสตรีด้วย ในด้านการทำงาน นอกจากอัมเบดการ์จะมีบทบาทสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญและสถาปนาประชาธิปไตยอินเดียแล้ว เขายังมีส่วนสำคัญในการสร้างแผนพัฒนาประเทศ สร้างนโยบายด้านชลประทานและพลังงาน และสร้างสถาบันการศึกษาด้วย ทั้งหมดที่กล่าวมายังไม่รวมถึงการที่เขาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกฎหมายคนแรกหลังอินเดียได้รับเอกราช ซึ่งกิจกรรมที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขาคือการวางแนวทางกฎหมายรัฐบัญญัติว่าด้วยฮินดูเพื่อเป็นกฎบัตรแห่งสิทธิสตรีในอินเดีย

เมื่อกล่าวถึงอัมเบดการ์ในฐานะผู้นำแห่งชาติ จำต้องเข้าใจด้วยว่า วิถีคิดของเขาทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมน่าเลื่อมใสมาก เขามิได้มองการแก้ปัญหาที่อินเดียเผชิญอย่างแยกส่วน แม้เขาจะมีศรัทธาในประชาธิปไตยอันมีรัฐธรรมนูญรองรับ แต่เขาเชื่อมั่นอย่างหนักแน่นด้วยว่า รัฐธรรมนูญไม่ว่าจะมีเนื้อหาดีแค่ไหนก็ตาม หาใช่ยาวิเศษในการแก้ปัญหาทั้งหมดไม่ ผู้คนโดยเฉพาะผู้มีอำนาจหน้าที่จักต้องมีศีลธรรมจรรยาในการใช้รัฐธรรมนูญเพื่อให้รัฐธรรมนูญบังเกิดผลได้ดี ดังที่เขากล่าวไว้อย่างถูกต้องว่า “… ไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะดีสักเพียงใดก็ตาม ผลก็ต้องออกมาแย่อยู่ดี เพราะผู้ใช้รัฐธรรมนูญบังเอิญเป็นคนไม่ดี ไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะแย่สักเพียงใดก็ตาม ผลก็ยังออกมาดีได้ ถ้าผู้ใช้รัฐธรรมนูญบังเอิญเป็นคนดี”

ณ จุดนี้ คงทำให้เห็นภาพบ้างแล้วว่า ความคิดของอัมเบดการ์คล้ายกับของมหาตมาคานธีอยู่บ้าง ซึ่งต่างจากความเชื่อที่ว่าอัมเบดการ์กับคานธีนั้นไม่เห็นลงรอยในทุกเรื่องทุกประเด็นอย่างสิ้นเชิง ทั้งสองมองไปไกลกว่าเอกราชทางการเมืองจากอังกฤษ แต่อัมเบดการ์ก็แตกต่างจากมหาตมาคานธีตรงที่ว่า เขามุ่งมั่นที่จะทำลายระบอบโบราณของอินเดียที่สร้างความชอบธรรมต่อการคงอยู่ของระบบวรรณะ ในขณะที่มหาตมาคานธีผู้ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการกีดกันทางวรรณะมองเห็นระบอบโบราณอินเดียเป็นประโยชน์ไม่น้อยในการเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ ความพยายามของอัมเบดการ์มุ่งเน้นไปยังการสร้างชาติ การสร้างความเสมอภาคทางสังคม และการบูรณาการทางวัฒนธรรม ดังที่เขากล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า “การต่อสู้ของเรานั้น ใช่เพื่อความมั่งคั่ง ฤๅใช่เพื่ออำนาจ การต่อสู้ของเรานั้น เพื่ออิสรภาพ เพื่อประกาศสิทธิแห่งความเป็นมนุษย์” มิน่าแปลกใจด้วยว่าทำไมอัมเบดการ์จึงยึด ‘เสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพ’ เป็นหลักแห่งชีวิต

ชาวอินเดียจำนวนมากนิยมเรียกอัมเบดการ์ด้วยความเคารพรักว่า ‘บาบาซาเฮบ’ หรือพ่อ คำว่า ‘บาบา’ เป็นคำที่ในหลายภูมิภาคของอินเดียนิยมใช้เรียกบุรุษที่น่าเคารพนับถือ ซึ่งอาจจะหมายถึงเทพ นักบวช หรือสมาชิกครอบครัว เช่น พ่อ ลุง หรือปู่ก็ได้ ในกรณีที่ใช้กับอัมเบดการ์มักจะหมายถึงพ่อ เช่นเดียวกับผู้คนที่เรียกมหาตมาคานธีว่า ‘บาปู’ ในขณะที่คำว่า ‘ซาเฮบ’ จะหมายถึงท่านหรือคุณ รวมกันแล้วจะแปลเป็นภาษาไทยได้ว่าคุณพ่อ ในปัจจุบันผู้คนที่เคารพรักอัมเบดการ์อาจจะให้ความหมายต่อ ‘บาบาซาเฮบ’ แตกต่างกันไป มีผู้คนจำนวนหนึ่งด้วยที่ใช้คำว่า ‘บาบาซาเฮบ’ ในความหมายที่ว่าอัมเบดการ์คือบุคคลผู้มีความรอบรู้ดีและฉลาดปราดเปรื่อง

อัมเบดการ์เกิดวันที่ 14 เมษายน ปี 1891 ในเมืองเล็กๆ ที่มีทหารรักษาการณ์ในตอนกลางประเทศอินเดีย เขาเป็นบุตรคนสุดท้อง (คนที่ 14) ของรามยีกับภิมาไบ สังก์ปาล อัมเบดการ์เป็นเด็กที่ถูกตามใจและเป็นที่รักของครอบครัวมาก ที่บ้านมักจะเรียกเขาด้วยชื่อเล่นอย่างรักใคร่ว่าภิมาหรือภิวา ครอบครัวของอัมเบดการ์เป็นคนนอกวรรณะที่เรียกว่าทลิต ภาษาอังกฤษนิยมใช้คำว่า ‘Untouchable’ เรียกสลับสับเปลี่ยนกับทลิตด้วย คำว่า ‘Untouchable’ หมายถึงผู้ห้ามแตะเนื้อต้องตัว ตามความเชื่อที่ว่าหากผู้มีวรรณะโดยเฉพาะพราหมณ์แตะเนื้อต้องตัวแล้ว จะทำให้ตนแปดเปื้อนได้

ทลิตในอินเดียแบ่งออกเป็นหลายกลุ่มด้วยกัน ครอบครัวของอัมเบดการ์เป็นมหาร ซึ่งเป็นทลิตกลุ่มใหญ่ที่สุดกลุ่มหนึ่งในอินเดีย การที่มหารอยู่กันอย่างแพร่หลายในฝั่งตะวันตกของอินเดีย หรือรัฐมหาราษฏร์ในปัจจุบัน ทำให้เกิดสำนวนว่า ‘ที่ใดมีหมู่บ้าน ที่นั่นมีที่พักพวกมหาร’ กล่าวได้ว่า มหารเป็นกลุ่มที่ก้าวหน้าและมีพลวัตที่สุดในหมู่ทลิตด้วยกัน ทั้งในเชิงสติปัญญาทั่วไป ความยืดหยุ่นทางกายภาพ และความปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้ มหารจำนวนหนึ่งเป็น “คนรับใช้ในหมู่บ้าน ผู้ทำหน้าที่ที่ตนได้รับสืบทอดจากบรรพบุรุษ ในการรับใช้หัวหน้า นักการเมืองระดับสูง และกลุ่มผู้มีอิทธิพลในหมู่บ้าน” พวกเขาได้รับจัดสรรที่ดินผืนเล็กๆ แลกกับการรับใช้ดังกล่าว และพวกเขายังเป็นแรงงานภาคเกษตรกรรมอีกด้วย ในหลายพื้นที่ของรัฐโดยเฉพาะในฝั่งตะวันออกของรัฐมหาราษฏร์ บางครั้งพวกเขาก็มีทรัพย์สินมากกว่านั้น และบางคนก็กลายเป็นชาวนาที่ร่ำรวยหรือแม้กระทั่งเจ้าที่ดินด้วย และยังพบได้อีกว่า มหารจำนวนหนึ่งประกอบอาชีพเป็นแรงงานในอุตสาหกรรมสมัยอาณานิคมอังกฤษ ในขณะเดียวกันก็มีมหารเช่นทลิตกลุ่มอื่นที่ประกอบอาชีพซึ่งคนวรรณะสูงไม่ต้องการทำด้วย นั่นคือ เก็บกวาดซากสัตว์และเศษอาหาร

มหารส่วนใหญ่มีประเพณีด้านวัฒนธรรม-ศาสนาที่เชื่อมพวกเขากับขนบที่กว้างกว่าของชุมชนชนบท และสำแดงความนิยมความเท่าเทียมของมนุษย์ และปณิธานในการกอบกู้อิสรภาพของพวกเขา บางคนเป็นพวกวารกรี ซึ่งเป็นสาวกลัทธิวิโฐพา อันเป็นขบวนการภักติหลักของรัฐมหาราษฏร์ บางคนเป็นพวกมหานุภาพ ซึ่งเป็นสมาชิกขบวนการนิยมความเท่าเทียมที่ยิ่งเก่าแก่ขึ้นไปอีก จากชุมชนนี้เกิดขอทานพเนจรขึ้นหลายๆ แบบ ซึ่งมักจะแสดงความเห็นเกี่ยวกับขนบพราหมณ์ หรือมิใช่พราหมณ์ หรือมุสลิมที่พบในชนบทแบบที่ตนเองสังเคราะห์ขึ้นเอง ครอบครัวของอัมเบดการ์เป็นศิษย์สำนักปรัชญากบีร์ กบีร์ผู้เกิดเป็นมุสลิมและน่าจะมีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 15 นั้น จัดว่าเป็นหนึ่งในนักปรัชญาที่อยู่ในขบวนการฮินดูอันกว้างขวางที่รู้จักกันในนามภักติ ซึ่งมักจะใช้บทกวีและเพลงซึ่งมิได้แต่งเป็นภาษาสันสกฤต แต่เป็นภาษาพื้นบ้าน เพื่อเปลี่ยนแปลงความยึดติดแบบล้าสมัยในสังคม การเกิดขบวนการภักติในอินเดียเหนือคู่ขนานไปกับการแผ่ขยายของขบวนการซูฟีในอิสลาม ทั้งสองขบวนการนี้ต่างก็ยอมรับความคิดเรื่องความสัมพันธ์ส่วนบุคคลกับพระเจ้า นักบวชหรือมุลเลาะห์นั้นไม่จำเป็น พิธีกรรมอันเคร่งครัดก็ไม่จำเป็น ถ้อยคำประกาศศรัทธาอย่างจริงใจ ไม่ว่าจะพูดออกมาอย่างหยาบกระด้างเพียงใด แต่ก็ยังมีพลังที่จะไปถึงหูของพระเจ้า โดยรวมแล้ว กบีร์ได้สั่งสอนต่อต้านวรรณะ และยึดมั่นอุดมคติแห่งความเท่าเทียมของมนุษย์ในสายตาของพระเจ้า ดังบทกวีบทหนึ่งของเขาที่น่าจะสะท้อนตัวตนได้ไม่น้อย

สูตามหาเราในหนใดเล่า     ก็ตัวเราอยู่กับสู ใช่อยู่ไหน
จาริกรอนแรมนานศาลเจ้าใดถึงแม้ปลีกวิเวกไป ไม่พบพลัน
ไม่เห็นเราทั้งในวัดในสุเหร่า     ไม่มีเราที่หินใหญ่ ไกรลาสสวรรค์
มนุษย์เอ๋ย เรากับสูอยู่ด้วยกัน     ในสูนั้นมีเราอยู่เนานาน
มิใช่ในมนต์ธรรมกรรมบถ     มิใช่ในศีลพรตอดอาหาร
มิใช่ในโยคีผู้มีฌาน     มิใช่ในปวงทานหว่านบำเพ็ญ
หาในห้วงอากาศ ไม่อาจพบ      ค้นจนจบโลกธาตุ ไม่อาจเห็น
แม้ในครรภ์ธรรมชาติ ไม่อาจเป็น     เสาะในสิ่งลึกเร้น ไม่ผ่านตา
เพียรค้นดูแล้วสูจะได้พบ     ได้ประสบในยามนั้นที่มั่นหา
เงี่ยหูฟังกบีร์ท่านจะพรรณนา     ในศรัทธาของสู เราอยู่เอยฯ


รามยีพ่อของอัมเบดการ์มิได้เป็นเพียงสาวกกบีร์บำเพ็ญการสวดมนต์และพิธีกรรมของนิกายกบีร์ปันถีเท่านั้น แต่ยังเป็นมังสวิรัติ และงดเว้นสุราเมรัยอีกด้วย ลุงของรามยีคนหนึ่งก็เป็นสันยาสีนิกายโคสาวี และเขานี่เองที่เป็นผู้ทำนายในการพบปะพ่อแม่ของอัมเบดการ์โดยมิได้นัดหมายในปี 1879 ว่าครอบครัวของรามยีจะผลิตบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ ผู้จะปลดแอกประชาชนของพวกเขาจากการกดขี่และฝากรอยประทับไว้ในประวัติศาสตร์ การที่มหารเลือกศรัทธาในนักบุญสายภักติ หรือที่รามยีเลือกเดินตามรอยเท้าท่านกบีร์ผู้ซึ่งประณามความตายตัวของระบบวรรณะ ก็น่าจะบอกได้ว่าการต่อสู้กับระบบวรรณะมีมานมนานแล้ว จะว่าไปแล้วการต่อสู้กับความเลวร้ายอันเป็นผลมาจากระบบวรรณะนั้น เริ่มตั้งแต่มหาวีระ พระพุทธเจ้า ขบวนการภักติ ลัทธิซูฟี จนมาถึงโชติราว ฟูเล ผู้ซึ่งน่าจะเกิดในปี 1827 และถึงแก่กรรมในปี 1890 ประมาณหนึ่งปีก่อนอัมเบดการ์จะถือกำเนิด ฟูเลซึ่งเป็นคนในวรรณะศูทรนอกจากจะต่อต้านระบบวรรณะแล้ว ยังพยายามจัดหาการศึกษาให้คนวรรณะล่างและนอกวรรณะได้มีโอกาสลืมตาอ้าปากด้วย ดังที่เขาได้แสดงความคิดของตนไว้ว่า “ปราศจากการศึกษา ความรู้ก็เสื่อมสูญ ปราศจากความรู้ การพัฒนาก็เสื่อมสูญ ปราศจากการพัฒนา ความมั่งคั่งก็เสื่อมสูญ ปราศจากความมั่งคั่ง ศูทรก็ฉิบหาย”

อังกฤษมองเห็นว่า มหารที่พากเพียรและซื่อสัตย์เหมาะอย่างยิ่งที่จะเป็นทหารในกองทัพอังกฤษประจำอินเดีย ด้วยเหตุนี้บรรพบุรุษของอัมเบดการ์จึงเป็นผู้คนกลุ่มหนึ่งที่ได้รับเลือกให้เป็นทหาร รามยีพ่อของอัมเบดการ์เป็นทหาร ฝั่งแม่ภิมาไบก็มาจากครอบครัวทหารเช่นเดียวกัน และเพราะอังกฤษมีสวัสดิการด้านการศึกษาให้บุตรและบุตรีทหาร จึงทำให้พ่อแม่ของอัมเบดการ์มีการศึกษา นี่เป็นปัจจัยสำคัญข้อหนึ่งที่ทำให้อัมเบดการ์มุ่งมั่นที่จะมีการศึกษาสืบไป กล่าวได้ด้วยว่า การที่อังกฤษประสงค์จะมีกองกำลังทหารที่เข้มแข็งเพื่อยึดครองขูดรีดอินเดียอย่างต่อเนื่อง ทำให้อังกฤษเปิดทางให้คนด้อยโอกาสเข้มแข็งขึ้น อรุณธตี รอย นักเขียนชื่อดังของอินเดียได้กล่าวถึงลักษณะย้อนแย้งนี้ของจักรวรรดิอังกฤษว่า “พวกอังกฤษถลุงเอาทรัพย์ของ[อนุ]ทวีปหนึ่งเสียเกลี้ยง … แต่พวกเขาก็กลับเปิดทางให้ฟูเล อัมเบดการ์ และคนอื่นๆ เข้ามาในวงสนทนา และเปลี่ยนแปลงมันด้วย”

อัมเบดการ์เกิดในยุคสมัยที่การกีดกันทางวรรณะเลวร้ายกว่าทุกวันนี้มาก รามยีใช้นามสกุลอัมบาวาเดการ์ แทนสังก์ปาล คำว่า ‘อัมบาวาเด’ มาจากชื่อหมู่บ้านบรรพบุรุษของตน ส่วน ‘การ์’ หมายถึงสถานที่ รวมกันแล้วจะแปลว่าที่อัมบาวาเด เหตุที่รามยีเลือกใช้นามสกุลนี้แทนสังก์ปาล ก็เพราะนามสกุลสังก์ปาลบ่งบอกความเป็นคนนอกวรรณะอย่างชัดแจ้ง รามยีเกรงว่าหากใช้สังก์ปาลต่อไปอาจจะทำให้ตนและครอบครัวประสบความทุกข์ยากไม่น้อย โดยเฉพาะเมื่อต้องออกจากค่ายทหารที่ซึ่งแทบจะไม่มีการกีดกันทางวรรณะ ไปเผชิญกับโลกแห่งความเป็นจริงที่ซึ่งวรรณะมักจะเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดชีวิต

และแล้ววันนั้นก็มาถึง หลังจากรามยีปลดเกษียณจากอาชีพทหาร เขาย้ายครอบครัวไปอาศัยอยู่ในดาโปลีในอำเภอรัตนคีรี และจากนั้นย้ายไปสตาราในปี 1894 เมื่อรามยีได้ตำแหน่งเป็นคนเฝ้าร้านในกรมสาธารณูปโภค ที่นั่นอัมเบดการ์ศึกษาในโรงเรียนค่ายทหารและหลังจากนั้นจึงเข้าเรียนชั้นมัธยมปลายปีแรกในโรงเรียนมัธยมปลายของรัฐบาลที่สอนด้วยภาษาอังกฤษในปี 1900 ชื่อของอัมเบดการ์ในทะเบียนโรงเรียนแห่งนี้คือ ภิวา รามยี อัมเบดการ์ เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะครูที่มีวรรณะพราหมณ์ชื่ออัมเบดการ์ แม้ครูคนนี้จะละเลยหน้าที่การสอนโดยใช้เวลาสอนบริหารจัดการร้านของตน แต่เขาจะห่วงใยเด็กนักเรียนมากเป็นพิเศษ ภิวาเป็นหนึ่งในนักเรียนที่เขาโปรดปรานมาก ครูคนนี้เป็นคนจัดหาอาหารกลางวันให้เขาทุกวันที่มีการเรียนการสอน ทำให้เขาไม่ต้องเดินไกลกลับไปกินอาหารที่บ้าน เพื่อเป็นเกียรติแก่ครูคนนี้ทลิตภิวาจึงเลือกใช้นามสกุลอัมเบดการ์ ครั้นเมื่อพบครูคนนี้อีกครั้งในปี 1927 ซึ่งเขาเริ่มมีชื่อเสียงบ้างแล้ว เขายกย่องสรรเสริญครูคนนี้มาก ด้วยประการฉะนี้ นามสกุลของผู้นำที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์อินเดียสมัยใหม่หรือบุคคลสำคัญที่สุดที่ประสบความสำเร็จในการต่อสู้กับระบบวรรณะอย่างสำคัญ จึงมาจากชื่อของครูวรรณะพราหมณ์ผู้ละเลยหน้าที่การสอน แต่มีจิตใจดีงามผู้นี้นั่นเอง

ผู้รับผิดชอบดูแลการศึกษาอัมเบดการ์คือภิมาไบมารดาของเขา แต่หลังจากเธอถึงแก่กรรมพ่อก็เป็นผู้ดูแลการศึกษาของอัมเบดการ์แทนมาโดยตลอด รามยีผู้มีความรู้ความสามารถในภาษาอังกฤษ มราฐี และอักษรโมฑี มักจะปลุกลูกในเวลาตีสองเพื่ออ่านหนังสือเตรียมสอบ เขาคาดหวังว่าลูกจะมิเพียงสอบผ่านเท่านั้น แต่จะต้องสอบได้คะแนนดีมากด้วย ทลิตคนหนึ่งบอกผู้เขียนว่า ที่รามยีเข้มงวดกวดขันเพื่อให้ลูกเรียนหนังสือเก่งๆ น่าจะเป็นเหตุผลเดียวกันกับทลิตจำนวนหนึ่ง “การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดสำหรับทลิต เพราะการศึกษานอกจากจะทำให้เรามีโอกาสหลุดพ้นจากวงจรอันเลวร้ายได้แล้ว ยังเป็นเครื่องมืออันทรงพลังที่จะใช้ปกป้องตัวเราและชาวทลิตคนอื่นด้วย” นอกจากเนื้อหาที่เกี่ยวกับหลักสูตรแล้ว รามยีมักจะสอนให้ลูกเตรียมตัวเผชิญการดูถูกเหยียดหยาม เช่น การต้องห้ามดื่มน้ำจากบ่อน้ำบางบ่อ การต้องห้ามมิให้รับประทานอาหารร่วมกับเพื่อนนักเรียนที่มีวรรณะ การห้ามศึกษาภาษาสันสกฤต และอื่นๆ พร้อมกันนี้รามยีก็ปลูกฝังความหาญกล้าที่จะท้าทายการตีตราทางวรรณะอันเลวร้ายให้ลูกด้วย

แม้พ่อจะเตรียมตัวให้ลูกบ้างแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ง่ายที่ลูกจะทำใจได้เมื่อต้องถูกเลือกปฏิบัติอย่างโจ่งแจ้ง ในโรงเรียนที่สตารา อัมเบดการ์วัยเยาว์ต้องประสบการกีดกันอันน่าเศร้าสลด เขากับเพื่อนอีกไม่กี่คนถูกแยกไม่ให้นั่งร่วมกับเพื่อนนักเรียนที่มีวรรณะ เขาและเพื่อนนอกวรรณะไม่ได้รับอนุญาตให้คบค้าสมาคมหรือเล่นกับเพื่อนที่มีวรรณะ ครูสอนสันสกฤตไม่อนุญาตให้ทลิตเรียนสันสกฤต เพราะความเชื่อที่ว่าทลิตต่ำต้อยและแปดเปื้อนเกินกว่าจะศึกษาสันสกฤตภาษาอันศักดิ์สิทธิ์และสูงส่ง ดังนั้นแล้ว อัมเบดการ์จำต้องเลือกเรียนภาษาเปอร์เซีย ทั้งๆ ที่ตนประสงค์จะเรียนสันสกฤต นอกจากนี้ ครูก็ไม่ต้องการมีปฏิสัมพันธ์ใดๆ กับเขาและเด็กนักเรียนทลิตคนอื่น ภายนอกโรงเรียนการกีดกันทางวรรณะก็ใช่ว่าจะน้อยกว่าภายใน จะหาร้านตัดผมที่ยอมตัดผมทลิตแม้แต่ร้านเดียวก็ไม่ได้ ประสบการณ์อันทุกข์ทรมานนอกจากจะมิได้ทำให้อัมเบดการ์เป็นเหยื่อของระบบวรรณะอันเลวร้ายเท่านั้น ยิ่งอัมเบดการ์เติบโต เขายิ่งมีภาพพจน์เป็นเด็กที่ควบคุมยาก และชอบโต้เถียงกับผู้คน สันนิษฐานได้ว่า อัมเบดการ์ผู้ซึ่งไม่พอใจกับการถูกเลือกปฏิบัติเพราะการตีตราทางวรรณะเลือกใช้กลไกท้าทายอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ

ในปี 1904 เมื่อรามยีต้องเลิกทำงานเพราะสิ้นสุดสัญญาจ้าง เขาจำต้องพาครอบครัวย้ายไปบอมเบย์ (ปัจจุบันคือมุมไบ) ในเวลานั้นรามยีเริ่มประสบปัญหาทางการเงินแล้ว เงินบำนาญที่มีอยู่ก็ใช่ว่าจะพอ ไหนจะต้องจ่ายค่าเช่าห้อง รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในบ้าน และซื้อหนังสือให้อัมเบดการ์เล่าเรียนอีก พี่ชายของอัมเบดการ์ชื่อพลราม จึงเลิกเรียนหนังสือไปทำงานในโรงงานเพื่อช่วยค้ำจุนบ้าน ทันทีที่ย้ายไปบอมเบย์ อัมเบดการ์ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนมัธยมมราฐาในปาเรล ก่อนจะย้ายไปเรียนที่โรงเรียนมัธยมเอลฟินสโตน โดยจ่ายค่าเล่าเรียนลดหย่อน เมื่ออัมเบดการ์อายุ 14 ปี พ่อรามยีให้เขาแต่งงานกับรามาไบวัยเก้าขวบ ในปี 1912 รามาไบให้กำเนิดบุตรชายชื่อยศวันต์ หลังจากนั้นระหว่างปี 1913 ถึง 1924 ทั้งคู่มีลูกอีก 4 คน แต่ทั้งสี่เสียชีวิตหมด มีเพียงยศวันต์ลูกชายคนแรกเท่านั้นที่อยู่รอด

ณ โรงเรียนมัธยมปลายเอลฟินสโตน อัมเบดการ์ได้สำแดงความสามารถในการเล่าเรียนเป็นครั้งแรก อาจจะเป็นไปได้ว่า อัมเบดการ์เริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาด้วยตนเองเป็นครั้งแรกที่บอมเบย์ ทั้งนี้แม้บอมเบย์จะเป็นเมืองที่มีการกีดกันน้อยกว่าดาโปลี หรือสตารา แต่อัมเบดการ์ก็ไม่มีเพื่อนนักเรียน ครูส่วนใหญ่ที่โรงเรียนก็ไม่ได้สนใจเขา เขาชอบใช้เวลาอ่านหนังสือในสวนสาธารณะใกล้โรงเรียนตามลำพัง บุคคลหนึ่งที่เคยไปใช้สวนสาธารณะแห่งนี้และสังเกตเห็นความทะเยอทะยานของอัมเบดการ์คือ กฤษณะ อรชุนราว เกลุสการ์ นักคิดนักปฏิรูปที่ดำรงตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนมัธยมปลายวิลสัน เกลุสการ์เป็นผู้แนะนำตนต่ออัมเบดการ์และหลังจากนั้นก็กลายเป็นบุคคลสำคัญในการสนับสนุนอัมเบดการ์

ในปี 1907 อัมเบดการ์สอบผ่านชั้นมัธยมปลาย ถือเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งสำหรับยุคสมัยนั้นซึ่งผู้คนชาวอินเดียยังเรียนหนังสือในระดับสูงไม่มากนัก และหากเปรียบเทียบกับทลิตโดยทั่วไปแล้ว ก็นับว่าเป็นความสำเร็จที่โดดเด่นที่สุด ณ บัดนี้แลดูคล้ายว่า ทลิตที่มีนามว่าอัมเบดการ์มองเห็นแล้วว่าตนจะศึกษาให้มากที่สุด ยิ่งเป็นคนนอกวรรณะ ตนยิ่งเห็นความจำเป็นที่จะรู้จริงและมีปริญญาบัตรรับประกัน เพื่อมิให้ใครมีโอกาสใช้ความรู้กดขี่ตนหรือผู้ถูกกดขี่ทางวรรณะคนอื่นๆ อีก

อัมเบดการ์โชคดีมาก ทันทีที่ตนจบการศึกษาในปี 1907 เกลุสการ์จัดหาทุนให้เขาเรียนต่อในระดับปริญญาตรีจากรัฐบโรดา หนึ่งในรัฐเจ้านครที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย นอกจากนั้นยังว่ากันว่า เกลุสการ์ได้นำหนังสือพุทธประวัติที่เขาเป็นผู้เขียนมามอบให้อัมเบดการ์อีกด้วย อัมเบดการ์ศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่วิทยาลัยเอลฟินสโตน (สังกัดมหาวิทยาลัยบอมเบย์) โดยได้รับทุนการศึกษาเดือนละ 25 รูปีจากผู้ปกครองบโรดา มหาราชาสายาจีราว คายกวาท กษัตริย์ผู้มีหัวปฏิรูป ณ ที่นี้เช่นกัน เขาไม่ค่อยจะสุงสิงกับเพื่อนนักศึกษามากนัก

ในปี 1913 อัมเบดการ์จบปริญญาตรีสาขาภาษาอังกฤษและภาษาเปอร์เซีย และในปีเดียวกันนั้นอัมเบดการ์เข้าทำงานในบโรดาเพื่อสำแดงความกตัญญูรู้คุณต่อท่านมหาราชา รามยีไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของอัมเบดการ์ เพราะเขาประสงค์จะให้ลูกชายของตนอยู่ในบอมเบย์ที่ซึ่งมีวัฒนธรรมความเป็นสากลบ้าง แต่อัมเบดการ์ยืนกรานที่จะทำตามสิ่งที่ตนปรารถนา ครั้นเมื่อเขาเดินทางถึงบโรดา อัมเบดการ์คงเข้าใจแล้วว่าทำไมพ่อรามยีจึงไม่อยากให้ลูกไปจากบอมเบย์ การกีดกันทางวรรณะในคุชราตอันเป็นส่วนหนึ่งของบโรดานั้นย่ำแย่มาก ไม่มีสถานที่พักใดประสงค์จะรับทลิต ยกเว้นที่พักของสำนักงานอารยสมาช อัมเบดการ์ไม่อาจหางานดีๆ ทำได้ แต่ละกรมเคลื่อนย้ายเขาไปทำงานใหม่เรื่อยๆ ไม่ให้เขามีงานถาวร เขารู้แล้วว่าในคุชราตท่ามกลางการครอบงำของคนวรรณะพราหมณ์ไม่มีทางที่เขาจะทำอะไรได้มากกว่าที่เป็นอยู่ เขารอโอกาสที่จะลาออกและกลับบอมเบย์ ทว่าโอกาสนั้นไม่มาสักทีจนกว่าเขาจะทราบข่าวว่าพ่อรามยีถึงแก่กรรมแล้ว เขารีบกลับบอมเบย์ ณ บัดนี้พ่อที่พยายามปลุกปั้นให้ลูกมีความรู้ความสามารถเพื่อว่าลูกจะหลุดพ้นออกจากวัฏจักรเลวร้ายแห่งวรรณะได้จากไปแล้ว ต่อจากนี้ไปไม่มีใครอีกแล้วที่จะคอยให้คำปรึกษา

ในเดือนมิถุนายน ปี 1913 อัมเบดการ์ได้ทำข้อตกลงรับทุนไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยมีเงื่อนไขว่าทันทีที่เรียนจบ เขาจะกลับมาทำงานใช้ทุนให้รัฐ ในตอนต่อไปผู้เขียนจะพรรณนาประสบการณ์ของอัมเบดการ์ในตะวันตก ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าสำคัญต่อการทำความเข้าใจอัมเบดการ์อย่างครอบคลุม

หมายเหตุ : ข้อมูลหลายส่วนในบทความนี้อ้างอิงจาก (1) Dhananjay Keer, Dr. Babasaheb Ambedkar: Life and Mission (Mumbai: Popular Prakashan, 1954, 2016); (2) K. Raghavendra Rao, Babasaheb Ambedkar (New Delhi: Sahitya Akademi, 1993, 2015); (3) Gail Omvedt, Ambedkar: Towards an Enlightened India (Haryana, India: Penguin Random House, 2004, 2008).


กำลังโหลดความคิดเห็น