xs
xsm
sm
md
lg

ประชุมสุดยอดอาเซียน – อินเดีย : แต่ละฝ่ายอยากได้อะไร?

เผยแพร่:   โดย: ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม

ภาพเอเอฟพี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม
คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนอินเดีย เกิดขึ้น และดำเนินไปได้ด้วยดีตลอด 3 วันตั้งแต่ 24 ถึง 26 มกราคม 2561 โดยรัฐบาลอินเดียให้เกียรติอย่างยิ่งกับผู้นำอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ซึ่งจะเห็นได้จากการเชิญผู้นำทั้ง 10 เป็น Republic Day Parade Chief Guest หรือแขกต่างประเทศอย่างเป็นทางการของรัฐบาลในพิธีสวนสนามงานวันสาธารณรัฐ และยังมอบอิสริยาภรณ์ปัทมศรี (อิสริยาภรณ์สูงสุดระดับ 4 ฝ่ายพลเรือน) ให้กับผู้นำอาเซียนทั้ง 10 ประเทศอีกด้วย

ความสัมพันธ์อาเซียน-อินเดีย เริ่มต้นอย่างเป็นทางการในปี 1993 เมื่ออดีตนายกรัฐมนตรี Narasimha Rao ประกาศ “นโยบายมองตะวันออก (Look East Policy)” และกำหนดให้อาเซียนเป็นยุทธศาสตร์หลักด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และในปีนี้ก็เป็นวาระครบรอบ 25 ปี ของความสัมพันธ์ดังกล่าว โดยความสัมพันธ์อาเซียน-อินเดียได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยทั้ง 2 ฝ่ายประกาศสถานะ “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Strategic Partners)” ในปี 2012 และในปี 2014 เมื่อนายกรัฐมนตรี Narendra Modi ขึ้นดำรงตำแหน่ง นโยบายมองตะวันออก ก็ถูกนำมาปฏิบัติให้อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นในนาม “นโยบายปฏิสัมพันธ์ตะวันออก (Act East Policy)” และนี่เองที่นำไปสู่การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนและคู่เจรจาหลักของอาเซียนครั้งแรกนอกภูมิภาค และอินเดียก็ได้รับเกียรตินั้น คำถามสำคัญคือ ห้วงเวลาที่จัดงานประชุมครั้งนี้มีความสำคัญอย่างไร และประเด็นหลักเรื่องใดที่ทั้ง 2 ฝ่าย คือ อาเซียน และอินเดียต้องการนำเสนอในการประชุมครั้งนี้

การประชุมครั้งนี้ถือว่าเกิดขึ้นในห้วงเวลาที่มีความสำคัญมาก เพราะเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่มหาอำนาจทั้งหลายกำลังต้องการสร้างความผูกพัน (Engagement) กับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็น จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และแน่นอนอินเดียก็ต้องการเป็นหนึ่งในมหาอำนาจนั้น ภาพที่เห็นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2010 คือการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญต่อภูมิรัฐศาสตร์-เศรษฐกิจในภูมิภาค (Geo-Politics and Geo-Economics) นั่นทำให้อินเดียต้องรีบปักหมุด และผลักดันจนในการประชุมสุดยอดครั้งนี้เกิดผลผลิตที่สำคัญคือ “ปฏิญญาเดลี (Delhi Declaration)” ซึ่งกำหนดเป้าหมายว่า อาเซียนและอินเดียจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในประเด็นที่ทั้ง 2 ฝ่ายให้ความสำคัญ เพื่อสร้างสถาปัตยกรรมการรวมกลุ่มระหว่าง 2 ฝ่ายที่เปิดความสัมพันธ์ที่มี 1) ความเสรี (Open) มากยิ่งขึ้น 2) มีความโปร่งใส (Transparent) มากยิ่งขึ้น 3) ครอบคลุมในทุกภาคส่วน (Inclusive) ยิ่งขึ้น 4) สร้างธรรมาภิบาล (Rules Based) ยิ่งขึ้น ซึ่งความตกลงในครั้งนี้นักวิชาการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาจาก Institute of South East Asian Studies (ISEAS) ประเทศสิงคโปร์ Professor Tan Tai Yong วิเคราะห์ว่าอินเดียกำลังต้องการสร้างความผูกพัน (Engagement) กับอาเซียนในรูปแบบที่ “อบอุ่น และสร้างสรรค์ (Warm and Positive)”

ประเด็นต่อมาคือ แล้วจริง ๆ ทั้ง 2 ฝ่ายต้องการอะไร แน่นอนตลอดการประชุมครั้งนี้ประธานในที่ประชุมทั้ง 2 ท่าน (Co-chaired) คือ ประธานอาเซียนปีนี้ นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ Lee Hsien Loong และนายกรัฐมนตรีอินเดีย Narendra Modi จะเป็นผู้ทำหน้าที่ในการนำเสนอวาระสำคัญ ๆ ที่จะนำมาหารือกัน ดังนั้นการกล่าวเปิดการประชุมของทั้ง 2 ท่าน จึงทำให้เราเห็นภาพที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่า ทั้ง 2 ฝ่ายต้องการอะไรจากการประชุมครั้งนี้
ภาพเอเอฟพี
นายกรัฐมนตรีลีเริ่มต้นสุนทรพจน์ของท่านโดยการให้ความเชื่อมั่นว่า อินเดียจะเป็นพันธมิตรที่สนับสนุน (Contribute) ในหลายๆ สิ่งให้กับกิจการของภูมิภาค โดยเฉพาะในเรื่องของการเปิดเสรี (Open) การถ่วงดุล (Balanced) และการสร้างพัฒนาในทุกภาคส่วน (Inclusive) ... เขาเชื่อว่าวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ร่วมของอาเซียนและอินเดียจะเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมการค้า การลงทุน และความเชื่อมโยงระหว่าง 2 ภูมิภาค เห็นมั้ยครับ นายกรัฐมนตรีลี เริ่มต้นโดยการเน้นเรื่องการเปิดเสรี เพราะแน่นอนในเวทีการเจรจาหลายๆ กรอบโดยเฉพาะกรอบอาเซียน +6 หลายๆ ครั้งการเจรจาล่าช้าเพราะฝ่ายอินเดียเองก็ยังระแวดระวังจนเกินไปในการเปิดเสรีในภาคธุรกิจบางภาคจนหลายฝ่ายพิจารณาว่านี่คือต้นเหตุของความล่าช้าในการเจรจา จากนั้นนายกรัฐมนตรีลีก็กล่าวถึงอินเดียในฐานะที่จะเป็นมหาอำนาจที่จะสร้างดุลยภาพในภูมิภาค ซึ่งแน่นอนหมายถึงพญาเสือโคร่งอินเดียที่จะมาคานอำนาจกับพญามังกรจีน ส่วนในเรื่องของ Inclusive แน่นอนครับ ว่าอินเดียคือประเทศที่มีประชากรขนาด 1,330 ล้านคนที่มีคนยากจน มีปัญหาต่าง ๆ ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นจำนวนมาก แต่อินเดียก็ยังเดินหน้าสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันได้อย่างต่อเนื่อง

จากนั้นนายกรัฐมนตรีลีก็กล่าวถึง 2 เรื่องที่เขาอยากเห็นให้เกิดขึ้นให้ได้ระหว่างอาเซียนกับอินเดีย เรื่องแรกคือ เขาอยากเห็นข้อสรุปของการเจรจาการค้าในกรอบ Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP หรือ ASEAN+6 อันประกอบไปด้วยอาเซียน จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) สามารถหาข้อสรุปการเจรจาได้ภายในปีนี้ และอีกข้อตกลงที่สิงคโปร์ต้องการให้เกิด และคาดว่าจะยิ่งช่วยเสริมสถานะของสิงคโปร์และอาเซียนในฐานะศูนย์กลางระบบโลจิสติกส์ นั่นคือ ข้อตกลง ASEAN-India Air Transport Agreement

คราวนี้มาพิจารณาฝ่ายอินเดียบ้าง เช่นเดียวกันครับ นายกรัฐมนตรีโมดีเริ่มต้นสุนทรพจน์โดยความคิดชุดเดียวกัน นั่นคือ “มิตรภาพของอินเดียและอาเซียนเกิดขึ้นและดำรงอยู่โดยความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นรามายณะ พระพุทธศาสนา และการเผยแผ่ศาสนาอิสลามสายสินติวิธีจากอินเดียสู่อาเซียน” ก่อนที่จะเน้นยำในสิ่งที่อินเดียต้องการ นั่นคือ อินเดียก็อยากจะร่วมแบ่งปัน (shared) วิสัยทัศน์ของอาเซียนในการเป็นภูมิภาคที่มีสันติภาพและเจริญรุ่งเรือง (Peace and Prosperity) ผ่านการสร้างประชาคมที่มีกฎระเบียบ (Rules Based) โดยเฉพาะในประเด็นมหาสมุทรและทะเล (คือต่อยหมัดตรงครับ ไม่ใช่ที่อาเซียน แต่เป็นการปล่อยหมัดไปที่จีนครับ) โดยการเคารพกฎหมายระหว่างประเทศโดยเฉพาะเรื่อง United Nations Convention on the Law of the Sea (UNCLOS) ถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด นายกรัฐมนตรีโมดี ใช้คำว่า “Respect for International Laws, notably UNCLOS, is Critical for this”

ต้องท้าวความกลับไปปี 2017 เมื่อรัฐบาลจีนเรียกประชุม One Belt, One Road และอินเดียตอบปฏิเสธไม่เข้าร่วมประชุมครับ เพราะอินเดียพิจารณาว่าการที่จีนเที่ยวไปลากเส้นเชื่อมโยงแผนที่ให้ประเทศต่าง ๆ ถือเป็นการละเมิดอธิปไตยครับ และยิ่งมาลากเส้นในเอเชียใต้และมหาสมุทรอินเดียซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของอินเดีย ยิ่งเป็นประเด็นที่อินเดียไม่พอใจ ดังนั้นอินเดียจึงอยากจะกระชับอิทธิพลในพื้นที่นี้มากยิ่งขึ้นผ่านการประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดียครับ และเขาเสนอว่า อาเซียนต้องเป็นเสาหลักในการเชื่อมโยงมหาสมุทร (Maritime Domain) โดยต้องเน้น 4 เรื่องสำคัญ นั่นคือ การมีมนุษยธรรม (Humanitarian) การบรรเทาภัยพิบัติ (Disaster Relief) การสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคง (Securities Cooperation) และ การเดินเรืออย่างเสรี (Freedom of Navigation)

เห็นมั้ยครับว่า ทั้ง 2 ฝ่ายเขากำลังเจรจาต่อรองเรื่องอะไร และนั่นเองทำให้ยิ่งเป็นการยืนยันว่า อาเซียน กำลังน่าจับตามองอย่างยิ่งท่ามกลางการขยายอิทธิพลของยักษ์ใหญ่มหาอำนาจในพื้นที่ อินโด-แปซิฟิค


กำลังโหลดความคิดเห็น