xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาในสาขาวิชาที่ไม่มีงานทำ ไม่ตรงความต้องการของตลาดแรงงาน เป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อให้การศึกษามีคุณภาพ!!!

เผยแพร่:   โดย: อาจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

(แฟ้มภาพ)
อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


คำสั่งการของนายกรัฐมนตรี ที่เผยแพร่โดยเลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรณีการสนับสนุนงบประมาณให้อุดมศึกษา ให้ควบคุมสาขาที่ไม่มีงานทำ/ไม่ตรงความต้องการ การลดเงินอุดหนุนหรือไม่ให้เช่น จีน ทำเหตุผล จบมาไม่มีงานทำ แต่ต้องใช้หนี้ กยศ. ปัญหาต่อเนื่อง

ก่อนจะวิพากษ์เรื่องอื่น ขอวิพากษ์การเขียนหนังสือราชการหัวกระดาษตราครุฑเสียหน่อยว่าใช้ไม่ได้เลย ใช้ภาษาไทยได้เลวร้ายมาก สำหรับประโยคนี้ ครูภาษาไทยที่ไหนมาเห็นคงเกาหัวส่ายหน้า

แต่เนื้อหานั้น ผมเห็นด้วยกับนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นอย่างยิ่ง และสนับสนุนในสิ่งที่นายกรัฐมนตรีสั่งการลงมาด้วยเหตุผลดังนี้

1.ประเทศไทยมีปัญหาคุณภาพการศึกษาโดยเฉพาะอุดมศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เราผลิตบัณฑิตออกมาไม่ตกงานก็จริง แต่ทำงานต่ำกว่าวุฒิการศึกษามาก เช่น จบปริญญาตรี ไปทำงานได้แค่พนักงาน call center หรือพนักงานขายในร้านสะดวกซื้อ ในทางวิชาการเรียกปัญหานี้ว่า underemployment ทำให้ไม่คุ้มค่ากับการลงทุนทางการศึกษา เสียเวลา เสียเงิน เสียแรง และไม่ได้พัฒนาคนให้เป็นผู้มีการศึกษา (Educated man)

2.Education for all หรือการศึกษาเพื่อชนทั้งปวงนั้นจำเป็น แต่คนไทยทุกคนไม่จำเป็นต้องเรียนมหาวิทยาลัย ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเยอรมัน เด็กอาจจะไม่ได้เรียนอุดมศึกษามากมายเท่ากับเราด้วยซ้ำ แต่อาชีวศึกษาเขาเข้มแข็งมาก และหากเรานำเงินไปทุ่มให้อุดมศึกษาไร้คุณภาพทั้งหมดเราจะเอาเงินที่ไหนมาส่งเสริมอาชีวศึกษา

3.อาชีวศึกษาชั้นดีของไทยก็หลงทางมาเป็นอุดมศึกษาชั้นเลว สมัยก่อนอาชีวศึกษาชั้นดีมีความเฉพาะทาง เก่ง และได้รับการยอมรับสูงมาก บัญชี ต้องพาณิชย์พระนคร ก่อสร้างต้อง ช่างก่อสร้างอุเทนถวาย เครื่องกลต้องปทุมวัน ภาพพิมพ์ต้องทุ่งมหาเมฆ ภาษาต้องบพิตรพิมุข คหกรรมศาสตร์ต้องโชติเวช เสื้อผ้าต้องพระนครใต้ ช่างเขียนต้องเพาะช่าง ไป ๆ มา ๆ ทำไมความเก่งกาจและอัตลักษณ์อันยอดเยี่ยมหายไปไหนหมด ทำไมผลิตอุดมศึกษาห่วย ๆ ออกมาเต็มไปหมด ทำไปเพื่ออะไร เพื่อให้อาจารย์มหาวิทยาลัยอยู่รอด หรือเพื่อให้อาจารย์มีรายได้? ทำไมไม่เอาเงินไปพัฒนาอาชีวศึกษาให้ดีขึ้น และเป็นที่ต้องการของประเทศมากกว่าด้วย กำลังขาดแคลน และถ้าจบอาชีวะมาฝีมือดี ได้เงินเดือนมากกว่าจบปริญญาตรีห่วยๆ ที่ไม่ตรงกันกับความต้องการของตลาดด้วยซ้ำไป ตัวอย่างมีให้เห็นมากมายครับ

4.กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาของไทยนั้น ปล่อยกู้ให้ทุกคนแทบทั้งหมด โดยไม่มีการทำ credit scoring หรือคำนวณความน่าจะเป็นที่จะเป็นหนี้เสียหรือคะแนนเครดิต อย่างที่ในต่างประเทศเขาทำกัน ทำให้เกิดปัญหาไม่สามารถชำระหนี้ได้ หรือเบี้ยวไปเฉย ๆ จนต้องออกกฎหมายให้ไปหักเงินเดือนจากนายจ้างได้ วิธีการนี้เป็นวิธีที่ กยศ. แบบไทยเราทำกันแบบวัวหายล้อมคอก ในสหรัฐอเมริกานั้นเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาส่วนใหญ่ธนาคารพาณิชย์เป็นผู้ปล่อยกู้ และการทำเครดิตสกอร์นั้นก็ทำกันอย่างจริง ๆ จัง ๆ ว่าสอบเข้ามหาวิทยาลัยอะไรได้ คณะวิชาอะไร ด้วยคะแนนเท่าไหร่ และคณะวิชานั้น ๆ มหาวิทยาลัยนั้น ๆ เมื่อจบออกมาจะมีอัตราการมีงานทำเป็นเท่าไหร่ และจะได้ค่าเฉลี่ยเงินเดือนสักแค่ไหน ซึ่งเมื่อจบออกมาก็จะมีความสามารถในการชำระหนี้ มีปัญหาหนี้เสีย (Default loan) น้อย ในอีกด้านนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายก็ได้เรียนวิชาการเงินส่วนบุคคล ซึ่งได้สอนเรื่องการวางแผนการเงินเพื่อการศึกษา ให้นักเรียนวางแผนว่าจะกู้ยืมเงินนั้น ตัวเองควรสอบได้คะแนนเท่าไหร่ เพื่อไปเรียนคณะอะไร มหาวิทยาลัยไหน แล้วจบมาจะมีงานทำได้หรือไม่ และจะได้เงินเดือนเฉลี่ยหลังจบเท่าไหร่ แล้วต้องผ่อนกันกี่ปี จะทำงานใช้หนี้ได้อย่างไร จะออมเงินกันอย่างไร ทำให้มีความแตกฉานทางการเงินดีกว่านักเรียนไทย

5.กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษานั้น ส่วนใหญ่ปล่อยกู้ให้นักศึกษาในสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ในมหาวิทยาลัยเอกชนต่างๆ เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษานี้คือมหาวิทยาลัยเอกชน แต่คำถามคือแล้วประเทศชาติต้องการบัณฑิตทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์มากขนาดนี้หรือไม่ และคุ้มค่าเพียงใดที่จะลงทุนไปมากเช่นนั้น เมื่อจบมาแล้วหางานทำไม่ได้หรือทำงานต่ำกว่าวุฒิการศึกษาและจ่ายคืนเงินกู้ไม่ได้ก็ตกเป็นภาระทางการคลังของชาติ

6.ประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยมากเกินไป ประเทศเล็ก ๆ แต่มีสถาบันอุดมศึกษามากกว่า 300 แห่ง ทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐ มหาวิทยาลัยเปิด มหาวิทยาลัยเอกชน มหาวิทยาลัยราชภัฎ วิทยาลัยชุมชน สถาบันราชมงคล วิทยาลัยพลศึกษา วิทยาลัยเกษตร วิทยาลัยนาฎศิลป์ แตกยิบย่อยมากมาย ในขณะที่ประชากรถดถอย เด็กไทยเคยเกิดปีละเกินล้านคนติดต่อกันมาสามสิบปี ขณะนี้เกิดปีละแค่ไม่เกินเจ็ดแสนคนต่อปี มหาวิทยาลัยมีที่ว่างระดับปริญญาตรีปีละแสนสี่ มีนักเรียนสมัครเข้ามหาวิทยาลัยปีละเจ็ดแปดหมื่นคน มหาวิทยาลัยแข่งกันเปิดภาคพิเศษ ภาคสมทบ ภาคนอกเวลา ไปเปิดกันนอกที่ตั้งมากมาย คุณภาพอยู่ที่ไหน? มั่นใจได้แค่ไหน มหาวิทยาลัยเอกชนถึงกับจัดโปรโมชั่นแจกไอแพด ลดค่าหน่วยกิตให้หากพาเพื่อนมาสมัคร ทำกันสารพัดจัดเต็มราวกับขายสินค้า/บริการที่ชื่อว่าปริญญาบัตร บางแห่งไม่รอดต้องขายที่ทำคอนโดมิเนียม หรือบีบอาจารย์มหาวิทยาลัยให้ออกจากงาน ทางออกมีทางเดียวคือยุบเลิก ควบรวม พัฒนาคุณภาพให้ได้ ไม่ใช่ขายปริญญา เรียนกันง่าย ๆ จบง่าย ๆ ไม่ได้มีความรู้เพียงพอที่จะทำงานให้สมกับวุฒิการศึกษาที่จบมาได้ ส่วนอาจารย์มหาวิทยาลัยที่กลัวจะตกงาน ถ้ามีความรู้ความสามารถมากเพียงพอจริง งานข้างนอกมีเยอะแยะมากมาย ประเทศชาติกำลังขาดแคลนแรงงาน หากหางานนอกมหาวิทยาลัยไม่ได้ แสดงว่าท่านไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะสอนนักศึกษาให้จบไปทำงานได้จริงหรือไม่?

7.การเรียนวิชาอื่น ๆ ที่สำคัญสำหรับประเทศชาติ เช่น ภาษาบาลี สันสกฤต หรือวิชา ปรัชญา ประวัติศาสตร์ พวกวิชาทางศิลปศาสตร์ หรือ liberal education พวกนี้จำเป็นสำหรับมนุษย์และจำเป็นสำหรับประเทศ แต่วิชาเหล่านี้มหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ ที่ได้คุณภาพสูงก็สามารถหารายได้จากอย่างอื่นมาอุดหนุนได้ หากมีคุณภาพอย่างแท้จริง ไม่ได้น่าเป็นห่วงแต่อย่างใด ที่ไปไม่รอดจริง ๆ คือสาขาวิชาพวกนี้ที่ไม่ได้เก่งจริง ถ้ามีความสามารถจริง ๆ ต้องมีทางที่จะอยู่รอดได้ ไม่ได้อยู่รอดอย่างฟู่ฟ่า แต่อยู่รอดอย่างมีสง่าและมีศักดิ์ศรี นักศึกษาที่เก่งจริงหากต้องการเรียนสาขาวิชาเหล่านี้ มหาวิทยาลัยก็สามารถให้ทุนการศึกษาได้ เรียนเพื่อสร้างคนไปเป็นปราชญ์ ไปชี้นำสังคม ไม่ได้ต้องการจำนวนมากมายแต่อย่างใด หากมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพดี มีศักยภาพ น่าจะอยู่ในฐานะที่จะดูแลได้พอสมควร

8.ผลการศึกษาโดยการประเมินทางคณิตศาสตร์ประกันภัย (Actuarial valuation) โดยผมและนักศึกษาในที่ปรึกษานายวสุรัตน์ กลิ่นหอมรื่น ซึ่งกำลังทำวิทยานิพนธ์อยู่ พบว่าในปีการศึกษา 2556 มีผู้กู้ที่มาชำระเพียง 2,034,924 คน หรือร้อยละ 72.97 และมีหนี้ที่ค้างชำระอยู่ถึง 25,073 ล้านบาท หรือร้อยละ 34.72 และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในทุก ๆ ปี หากยังปล่อยให้มีการกู้ยืมแบบนี้อีกต่อไป ในปี 2563 เงินกองทุนของ กยศ. จะเริ่มติดลบ และรัฐบาลต้องหาเงินมาให้กู้เพิ่มเติมอีกไปเรื่อย ๆ จนเป็นภาระทางการคลังของรัฐบาล และก่อให้เกิดปัญหาหนี้สาธารณะ ซึ่งประเทศไทยเองมีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนน่าจะชนเพดานหนี้สาธารณะต่อผลผลิตมวลรวมประชาชาติหรือจีดีพี คำถามคือ เราจะมีหนี้สาธารณะท่วมท้น โดยที่ผลิตคนได้ไม่ตรงกับความต้องการในการพัฒนาประเทศและไม่คุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่?

9.การลงทุนในอุดมศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ แต่การลงทุนในอุดมศึกษาอย่างฉลาด คุ้มค่า ทำให้พัฒนาคนให้มีการศึกษาสามารถมาเป็นกำลังสำคัญสำหรับการพัฒนาประเทศได้น่าจะสำคัญอย่างที่สุด มากกว่าจะให้ทุนการศึกษาสำหรับคนที่เหมาะที่จะเรียนด้านอื่นมากกว่าอุดมศึกษาเพียงเพื่อสนองค่านิยมบ้าปริญญาในสังคมไทย หรือเพื่อให้มหาวิทยาลัย/อาจารย์มหาวิทยาลัยได้อยู่รอดมากกว่าที่จะพัฒนาประเทศตามความจำเป็น การศึกษาคือการลงทุน เมื่อรัฐบาลจะลงทุนแล้วประเทศชาติต้องได้ผลประโยชน์สูงสุด ไม่ก่อให้เกิดปัญหาหนี้สาธารณะ ไม่จำเป็นต้องประชานิยมหรือสังคมสงเคราะห์เพื่อให้เกิด education for all โดยไม่จำเป็น รัฐบาลต้องใช้การเงินเพื่อการศึกษาเป็นเครื่องมือผลักดันให้เกิดคุณภาพการศึกษา เนื้อไหนเน่าเปื่อย เนื้อไหนร้ายก็ต้องตัดทิ้งต้องผ่าตัด รักษาให้ทันท่วงทีก่อนที่ประเทศไทยจะเสียหายไปมากกว่านี้ เพราะคนไทยได้รับการศึกษา แต่คนไทยยังไม่มีการศึกษาเพียงพอที่จะพัฒนาประเทศ ไม่จำเป็นต้องหาเสียงจากเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาแต่อย่างใด อีกอย่างที่อยากจะเน้นคือคุณภาพการศึกษาระดับ อนุบาลศึกษา ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา มีความสำคัญมากกว่าอุดมศึกษาด้วยซ้ำไป!!! และน่าจะต้องทำให้ดีมีคุณภาพมากกว่านี้


กำลังโหลดความคิดเห็น