xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ถึงคิว “แบงก์ไทย” ดิ้นสู้ฟัดรับกำไรลด รื้อใหญ่ ลดคน ปิดสาขา เผชิญศึก “ดิจิทัล”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของธนาคารไทยพาณิชย์  ประกาศวิสัยทัศน์ SCB Vision 2020 เมื่อวันที่ 22 ม.ค.2561 ที่ผ่านมา
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กระแส Digital Disruption มาเร็วและแรงเกินคาด ไม่เพียงกวาดล้างธุรกิจสื่อล้มหายตายจาก แม้แต่ “ธุรกิจธนาคาร” ที่เคยได้ชื่อว่าเบ่งบานฟันกำไรอู้ฟู่ก็ถึงคราวต้องปรับเปลี่ยนชนิดตีลังกากลับหัวโดยเฉพาะแบงก์ใหญ่อย่างรายล่าสุด “ไทยพาณิชย์” ซึ่งประกาศทยอยปิด 753 สาขา และลดพนักงานลงหมื่นกว่าคนภายใน 3 ปี เซ่นกำไรหดหาย เช่นเดียวกันกับ “กสิกรไทย” ที่กำไรวูบจนจำต้องหาทางดิ้นหนีตาย พนักงานแบงก์ที่เคยเป็นอาชีพในฝันวันนี้ก็มีโอกาสเสี่ยงตกกระป๋องได้เช่นกันถ้าพัฒนาไม่ทันเทคโนโลยี และนี่คงเป็นวิกฤตลูกใหญ่ที่กำลังไล่ล่า

“.... ก็คงปิดบังไม่ได้ว่าเราอยู่ในภาวะหัวเลี้ยวหัวต่อและท้าทายที่สุด เราคิดว่าเราเป็นยักษ์ใหญ่ของวงการธนาคาร แต่เมื่อเปรียบเทียบกับองค์กรใหม่ๆ ที่เป็นยักษ์ใหญ่ ไทยพาณิชย์ถือว่าเชื่องช้า ต้นทุนในการให้บริการสูง เคลื่อนไหวช้า และพลังของการริเริ่มสร้างสรรค์น้อย.... ” นายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวยอมรับในการประกาศวิสัยทัศน์ SCB Vision 2020 เมื่อวันที่ 22 ม.ค.2561 ที่ผ่านมา

ความเทอะทะ อุ้ยอ้าย เป็นภัยต่อการดำเนินธุรกิจในโลกยุคดิจิทัลเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น ซีอีโอแบงก์ไทยพาณิชย์ จึงตั้งเป้าหมายเปลี่ยนแปลงองค์กรขนานใหญ่ โดยลำดับแรกที่มีความชัดเจนที่สุดคือ นับจากนี้ไปจนถึงปี 2563 จะปรับลดพนักงานไทยพาณิชย์ จากที่มีอยู่ในเวลานี้กว่า 2.7 หมื่นคน ให้เหลือเพียง 1.5 หมื่นคน

ถึงแม้ซีอีโอไทยพาณิชย์ จะย้ำหนักหนาว่าจะไม่ปลดออกจะรอให้เกษียณอายุส่วนหนึ่ง และส่วนหนึ่งคือลาออกไปเอง ซึ่งมีเป็นปกติปีละประมาณกว่า 3,000 คนอยู่แล้วก็ตาม แต่ใครจะรู้ว่าสาเหตุที่แท้จริงของการลาออก ใช่ถูกตั้งเงื่อนไขในการทำงานจนอยู่ไม่ได้จนจำใจออกหรือไม่ เพราะต้องไม่ลืมว่าการลดจำนวนพนักงานมาพร้อมกับการตั้งเป้าปรับลดสาขาลงให้เหลือ 400 แห่ง จาก 1,153 สาขา ซึ่งหมายถึงการปิดสาขาไปกว่าครึ่ง คือ 753 สาขาเลยทีเดียว ส่วนจะเปิด Business Center ก็เพียงบางจุด

เป้าหมายก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า ต้องการลดต้นทุนโดยรวมลงให้ได้ 30% ใน 3 ปีนี้ นี่คือที่มาของการลดคนและปิดสาขา ซึ่งถือว่าเป็นยาแรงชนิดที่พนักงานคนไหนรับผลข้างเคียงไม่ได้คงออกอาการปางตายให้เห็นแน่ๆ

ถึงแม้จะเป็นความจริงที่ยากจะหลีกเลี่ยงอย่างที่ซีอีโอไทยพาณิชย์ ชี้ให้เห็นสถานการณ์การแข่งขันที่เข้มข้น และการไหลบ่าเข้ามาของธุรกิจ Patform ระดับโลกที่กำลังจะกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของธุรกิจธนาคารในการนำเสนอบริการทางการเงินและการลงทุน ขณะเดียวกัน พฤติกรรมของลูกค้าก็เปิดรับเทคโนโลยีเข้ามาในชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อยๆ และส่งผลกระทบต่อการให้บริการทางการเงินของแบงก์พาณิชย์ต้องเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก

การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจน คือ โครงสร้างรายได้ของธนาคารเริ่มเปลี่ยนไป จากอดีตที่ธนาคารอาจจะมีรายได้จากค่าธรรมเนียมประมาณ 30% และอีก 70% เป็นรายได้จากดอกเบี้ย แต่จากนี้ไปรายได้จากค่าธรรมเนียมจะค่อยๆ ลดลง จากที่เคยได้จากการให้บริการโดยใช้พนักงาน เมื่อมีเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ทำให้ต้นทุนบริการลูกค้าลดลงอย่างมาก

นั่นเป็นที่มาของวิสัยทัศน์ SCB Vision 2020 ที่ไทยพาณิชย์ ตั้งเป้าหมายเปลี่ยนแปลงองค์กรครั้งใหญ่โดยวางแผนลงทุนเทคโนโลยีและพัฒนาองค์กรด้วยงบสูงถึง 4 หมื่นล้านบาท ระหว่างปี 2559-2563 โดยเมื่อปี 2560 ควักลงทุนไปแล้วหมื่นบ้าน ส่วนปี 2561 ไทยพาณิชย์ ประกาศนำกลยุทธ์ “Going Upside Down” (กลับหัวตีลังกา) มาผลักดันองค์กรให้เคลื่อนไปข้างหน้าใน 5 เรื่องหลัก คือ

1. ยกระดับเทคโนโลยีของธนาคารเพื่อรองรับยุคดิจิทัล โดยเพิ่มขีดความสามารถของเทคโนโลยีแพลตฟอร์ม พัฒนาบริการบน New Mobile Banking หรือ SCB Easy โดยมุ่งเน้นให้เป็น Lifestyle Application โดยนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้กับการดำเนินธุรกิจ ผลักดันให้เกิดสังคมไร้เงินสด พัฒนาระบบการชำระเงินผ่าน QR Code กลางของธนาคารแห่งประเทศไทย

2. ปรับปรุงกระบวนการทำงานในทุกขั้นตอน โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสนับสนุน และ 3. เปิดศูนย์บริการแห่งอนาคตโดยเปิดตัว 4 ต้นแบบ “ศูนย์บริการลูกค้ารูปแบบเฉพาะ” ได้แก่ SCB Express, SCB Investment Center, SCB Business Center และ SCB Service Center

นอกจากนี้ ยังตั้งดิจิทัลเวนเจอร์ บริษัทลูกด้านเทคโนโลยี และเอสซีบี อบาคัส บริษัท Data Tech ที่ใช้นวัตกรรมอย่างปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) รวมทั้งการแสวงหาพันธมิตรใหม่ๆ

สำหรับเป้าหมายการดำเนินธุรกิจปี 2561 ภายใต้กลยุทธ์กลับหัวตีลังกา มีแนวทางในการดำเนินงานที่สำคัญ 5 เรื่อง คือ 1. Lean the Bank เพิ่มประสิทธิภาพธนาคาร 2. High Margin Lending ปล่อยสินเชื่อธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูง 3. Digital Acquisition การดำเนินธุรกิจในโลกดิจิทัล 4. Data Capabilities เพิ่มขีดความสามารถในการใช้ข้อมูล และ 5. New Business Model ธุรกิจรูปแบบใหม่

สำหรับรายได้หลักของธนาคาร จะยังคงมาจากธุรกิจ 3 ส่วนหลัก ได้แก่ สินเชื่อธุรกิจ, สินเชื่อเพื่อการบริโภค, และการบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) ซึ่งกลุ่มหลังนี้ ธนาคารมีเป้าหมายจะขยายฐานให้กว้างมากขึ้นในอีกสามปีข้างหน้าเพื่อเป็น Digital Platform ขนาดใหญ่ที่ถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและข้อมูลเป็นหลัก

การทุ่มลงทุนด้านเทคโนโลยีครั้งใหญ่ของไทยพาณิชย์ เป็นจุดเปลี่ยนที่ต้องไปต่อให้ได้ของธนาคารยักษ์ใหญ่แห่งแรกแห่งสยามประเทศที่วันนี้มีอายุนับร้อยกว่าปี ซึ่งกำลังเผชิญกับสภาวะขาลง โดยดูจากผลประกอบการตามที่เอเชียพลัสกรุ๊ป รายงานว่า SCB กำไรไม่ดีนัก โดยไตรมาสที่ 4 (Q4) ทำได้ 9.2 พันล้านบาท ลดลง 9.2% จากไตรมาสที่ผ่านมา (qoq) และลดลง 27.7% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา (yoy) ขณะที่ทั้งปี 2560 ทำกำไรได้ราว 4.3 หมื่นล้านบาท ลดลง 9.4% จากปี 2559 ที่มีกำไร 4.76 หมื่นล้านบาท โดยธุรกิจประกันชีวิตของ SCB ขาดทุนใน Q4 และรายได้ค่าธรรมเนียมโตต่ำกว่าคาด

ตัวเลขกำไรที่ลดลงจากปีก่อน 4,460 ล้านบาท ธนาคารชี้แจงว่าเป็นเพราะตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นให้สอดคล้องกับเกณฑ์ทางบัญชีใหม่ที่จะบังคับใช้ในปี 2562 ส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มสูงขึ้นถึง 11.6% ขณะที่ตัวเลขของสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นเป็น 2.83% ของสินเชื่อทั้งหมด หรือคิดเป็น 65,560 ล้านบาท หนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญเป็น 25,067 ล้านบาท และธนาคารตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น 16.83% เป็น 85,699 ล้านบาท

เหลียวมองยักษ์สีเขียวค่ายคู่แข่งอย่างแบงก์กสิกร ซึ่งมีการทยอยปิดสาขาลงเช่นกันได้แถลงทิศทางธุรกิจ ปี 2561 ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา โดยประกาศยุทธศาสตร์ใหม่ Customers’ Life Platform of Choice แพลตฟอร์มหนึ่งเดียวที่ลูกค้าเลือกเพื่อตอบโจทย์ทุกด้านของชีวิต ชูจุดเด่นเรื่อง Digital Banking และใช้ K PLUS เป็นอาวุธสำคัญในการเผชิญหน้ากับความท้าทายครั้งใหญ่จากพฤติกรรมการทำธุรกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไปมาก ดูจากสัดส่วนลูกค้าที่ใช้ Mobile Banking เพิ่มเป็น 35% ในปัจจุบัน

กสิกรไทย กำหนดกลยุทธ์การให้บริการเพื่อยกระดับเป็นแพลตฟอร์มสำหรับลูกค้าตรงความต้องการของแต่ละคนผ่านแอปพลิเคชันสำคัญ ได้แก่ K PLUS ธนาคารบนมือถือ ตั้งเป้าเพิ่มผู้ใช้งานเป็น 10.8 ล้านราย K PLUS SHOP ร้านค้าออนไลน์บน Mobile Banking ที่เชื่อมโยงธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งตั้งใจจะสร้างเป็น Market Place แห่งใหม่ และ K PLUS SME ธนาคารบนมือถือเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือเอสเอ็มอี โดยตั้งเป้าเพิ่มเป็น 500,000 ราย โดยการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ภายใต้ ‘กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป’ หรือ KBTG ใช้งบปีละประมาณ 4 - 5 พันล้านบาท

การปรับตัวอย่างขนานใหญ่ของกสิกรไทย นอกจากจะเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของลูกค้าและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแล้ว ยังมีแรงกดดันส่วนหนึ่งมาจากการตั้งสำรองหนี้ที่สงสัยจะสูญที่มากขึ้น

เอเชียพลัสกรุ๊ป รายงานว่า KBANK กำไรไม่ดีเช่นกัน โดย Q4 ทำได้ 5.7 พันล้านบาท ลดลง 39.8% qoq และลดลง 44.3% yoy โดยทั้งปี 2560 มีกำไร 3.4 หมื่นล้านบาท ลดลง 14.5% เทียบจากปี 2559 ที่มีกำไร 4.02 หมื่นล้านบาท

ตัวเลขกำไรที่ลดลงจากปีก่อน 5,836 ล้านบาท แบงก์ให้เหตุผลว่าเป็นเพราะตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญมากขึ้น และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 2,518 ล้านบาท หรือ 3.94% ขณะที่อัตราสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารกสิกรไทย อยู่ที่ 69,674 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.3% ของสินเชื่อทั้งหมด ซึ่งเพิ่มจากปีก่อนถึง 4,587 ล้านบาท ขณะที่หนี้สูญอยู่ที่ 41,810 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,057 ล้านบาท หรือ 23.87% ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเป็น 103,435 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18,223 ล้านบาท หรือ 21.39%

ส่วนแบงก์รัฐขนาดใหญ่อย่าง “กรุงไทย” ปีนี้ประกาศชะลอแผนปิดสาขาเอาไว้ก่อนเพื่อทบทวนผลกระทบต่อการบริการลูกค้าหลังจากปีที่ผ่านมาทยอยปิดสาขาไปแล้ว 80 แห่ง “.... เราประกาศชัดไม่ได้มีนโยบายเอาคนออก แต่เราจะไม่เพิ่มอัตราคน จากปัจจุบันที่มีอยู่ 24,000 คน และเราตั้งเป้าว่า ภายใน 5 ปี จะต้องลดต้นทุนธนาคารให้ได้ 30% โดยจะเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ดังนั้นปีนี้จึงเป็นปีที่เราจะลงทุนเพิ่ม ซึ่งเป้าลงทุนคือกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งมากที่สุดตั้งแต่ที่เราลงทุนมา... ” นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่กรุงไทย กล่าวยืนยัน และยังมุ่งเดินหน้าตามภารกิจนำกรุงไทยเข้าสู่ดิจิทัลแบงก์กิ้ง

เห็นได้ชัดเจนว่าในระยะหลังไม่ว่าแบงก์เล็ก กลาง หรือแบงก์ใหญ่ต่างทยอยปิดสาขามาเป็นระยะๆ เพราะการทำธุรกรรมการเงินผ่านระบบออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ดังตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อสิ้นเดือน พ.ย. 2560 ที่มีรายงานว่า จำนวนสาขาของธนาคารพาณิชย์ ในช่วง 11 เดือนของปี 2560 (สิ้น พ.ย.) มีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจำนวนรวม 216 สาขา โดยมีจำนวนเหลืออยู่ที่ 6,800 สาขา จากสิ้นปี 2559 ที่มีจำนวนสาขาทั้งสิ้น 7,016 สาขา

สำหรับแบงก์ที่มีสาขาลดลงมากที่สุดใน 3 อันดับแรก คือ ธนาคารกรุงไทย มีสาขาลดลง 91 สาขา เหลือจำนวน 1,122 สาขา ตามด้วยธนาคารกสิกรไทย ลดลง 82 สาขา และธนาคารธนชาต มีสาขาลดลง 63 สาขา แต่ก็มีบางแบงก์ปรับเพิ่มสาขา เช่น ธนาคารไทยเครดิตฯ ปรับเพิ่ม 44 สาขา มาอยู่ที่ 132 สาขา จากสิ้นปี 2559 ที่มี 88 สาขา ธนาคารกรุงเทพ เพิ่มสาขา 8 แห่ง ทำให้จำนวนสาขาเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1,165 สาขา

นายสนอง คุ้มนุช รองกรรมการผู้จัดการ สายเครือข่ายลูกค้ารายย่อยและธุรกิจขนาดเล็ก ธนาคารธนชาต ให้ภาพว่า ช่องทางการทำธุรกรรมการเงินได้เปลี่ยนไปจากเดิมเกือบ 90% มาจากสาขา แต่วันนี้มีลูกค้ามาใช้บริการสาขาจะเหลือต่ำกว่า 50% เพราะหันไปทำธุรกรรมผ่านแอปพลิเคชั่นแทน “.... ในปีนี้ก็คาดว่าจะเห็นจำนวนการทำทรานแซ็กชั่น (รายการ) ที่สาขาลดลงต่อเนื่อง แต่จะไม่ต่ำไปกว่า 30% ของจำนวนทั้งหมด เพราะยังมีคนต่างจังหวัดอีกกว่า 40 ล้านคน ที่ยังเข้าไม่ถึงโมบายแบงกิ้ง น่าจะต้องใช้เวลาราว 2-3 ปี ที่จะเห็นทุกคนเปลี่ยนมาทำธุรกรรมผ่านมือถือได้เกือบทั้งหมด”

สำหรับคนต่างจังหวัดอีกกว่าครึ่งค่อนประเทศที่ยังเข้าไม่ถึงโมบายแบงก์กิ้งนั้น แบงก์ชาติกำลังเตรียมเปิดทางให้แบงก์พาณิชย์ เปิดรับตัวแทนให้บริการทางการเงินแทนธนาคารได้ เช่น โชว์ห่วย ร้านสะดวกซื้อ กองทุนหมู่บ้าน ซึ่งเรื่องนี้ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกว่า แบงก์ชาติ กำลังรับฟังความเห็นรอบด้านเพื่อออกประกาศหรือหลักเกณฑ์ให้แบงก์พาณิชย์สามารถมีตัวแทนให้บริการทางการเงิน (แบงกิ้งเอเจนส์) เพื่อเข้ามาให้บริการแทนธนาคารพาณิชย์ในพื้นที่ที่ไม่มีสาขาหรือพื้นที่ห่างไกล ซึ่งตัวแทนในที่นี้หมายถึง โชห่วย ร้านสะดวกซื้อ หรือกองทุนฯที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ คาดว่าจะสามารถออกประกาศให้มีตัวแทนได้ราวไตรมาสแรกปีนี้

“ธปท.ได้คุยกับธนาคารพาณิชย์ว่าอาจต้องดูแลพนักงานที่อาจกระทบจากการปิดสาขา และมีมาตรการดูแลที่เหมาะสม จะเห็นว่าที่ผ่านมา มีสถาบันการเงินได้ดำเนินการฝึกอบรมพนักงานให้รับหน้าที่ใหม่ๆ ได้ ที่จะเป็นโอกาสของสถาบันการเงิน และทักษะที่จะใช้เทคโนโลยีได้” นายวิรไท แสดงความกังวลต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น

นับเป็นยุคที่เสือนอนกินมีสภาพเป็นเสือลำบากต้องดิ้นหนีตาย ซึ่งหลังจากหลังงบกลุ่มแบงก์ Q4 และงวดปี 60 ประกาศออกมา ฝ่ายวิจัยเอเชียพลัส (ASP) ประกาศปรับลดน้ำหนักการลงทุนหุ้นกลุ่มแบงก์ เป็น “เท่ากับตลาด” จากเดิม “มากกว่าตลาด” หลังจากที่กำไร Q4 ออกมาต่ำกว่าคาด 14% โดย 10 แบงก์ที่ฝ่ายวิจัยฯศึกษา ทำกำไรรวมกันได้ 4.16 หมื่นล้านบาท ลดลง 12.1% และ 18.4% qoq และ yoy ตามลำดับ หลักๆมาจากสำรองฯเพิ่ม เผื่อรองรับหลักเกณฑ์ IFRS 9

ฝ่ายวิจัยฯ ปรับลดประมาณการกำไรกลุ่มแบงก์ปี 61-62 ลง 4.6% และ 3.3% จากเดิม เพื่อสะท้อนการเพิ่มสมมติฐานค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ และ credit cost ที่รองรับ IFRS 9 และค่าใช้จ่ายดำเนินงาน จากการลงทุนในระบบ IT หลังปรับลดประมาณการ คาดกำไรสุทธิของกลุ่ม ยังเติบโตได้ 13.5% และ 12.0% yoy โดยฝ่ายวิจัยฯ ยังมีมุมมองที่เป็นบวกต่อธุรกิจหลักของกลุ่มแบงก์ จากปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโตของสินเชื่อ ขณะที่คุณภาพสินทรัพย์แข็งแกร่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม เทรนด์การปิดสาขาของแบงก์พาณิชย์ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะแต่ในไทยเท่านั้น แต่เกิดขึ้นทั่วโลก เพจ Brand Inside ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจาก,Reuters, Financial Times, Japan Times สรุปภาพรวมเอาไว้ว่า แนวโน้มทั่วโลกเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ธนาคารมีต้นทุนสูงจากการดำเนินการ รายได้จากค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยลดลง เมื่อมีเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ จำนวนสาขาและพนักงานจึงลดลง และ มีหลายอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มลักษณะเดียวกัน

ธนาคารใน สหรัฐอเมริกา นั้นในรอบ 5 ปี ที่ผ่านมา ปิดสาขาไปแล้ว 20% จากความต้องการลดต้นทุนการดำเนินงาน พร้อมกับการกระตุ้นให้ผู้บริโภคเปลี่ยนไปใช้บริการผ่าน Mobile Banking ในธุรกรรมการเงินทั่วไปและลดการใช้บริการผ่านสาขาปกติ ซึ่งนับตั้งแต่วิกฤตการเงินสหรัฐประมาณปี 2008 จำนวนสาขาของธนาคารลดลงประมาณ 8% จากประมาณ 97,000 สาขา เหลือ 90,000 สาขา และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ อังกฤษ ปิดไปแล้วมากกว่า 1,000 สาขา ในช่วง 2 ปี หลังจากผู้บริโภคหันไปใช้บริการผ่าน Online และ Mobile Banking โดย HSBC เป็นธนาคารที่ปิดสาขาไปมากที่สุด เกือบ 30% หรือ 321 สาขา ขณะที่ Royal Bank of Scotland ปิดไป 191 สาขา และ Lloyds Banking Group ปิดไป 180 สาขา จำนวนสาขาที่ยังอยู่ หรือจะเปิดใหม่ ต้องผ่านการสำรวจมาแล้วว่าเป็นพื้นที่ที่มีความต้องการใช้งานจริงๆ และอาจใช้วิธีการเปิดร่วมกับพันธมิตร เช่น ที่ทำการไปรษณีย์, ร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น

ส่วนธนาคารใหญ่ที่สุดของ ญี่ปุ่น The Bank of Tokyo-Mitsubishi UFJ อยู่ระหว่างการตัดสินใจปิดสาขา 20% และลดเงินเดือนพนักงาน หลังจากต้องเจอกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำซึ่งส่งผลต่อกำไรของธนาคาร การลดสาขาเท่ากับลดพนักงานและให้บริการผ่านเทคโนโลยีแทน โดยเปรียบเทียบในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ลูกค้าเข้ามาใช้บริการที่ธนาคารลดลง 40% และ Mizuho Financial Group Inc. เป็นธนาคารใหญ่อีกกลุ่มที่ดำเนินแผนในลักษณะเดียวกัน

คลื่นดิจิทัลแบงก์กิ้งมาเร็วและแรงมาก หมดยุคพนักงานแบงก์ที่เคยเป็นอาชีพในฝัน คนที่ยังอยู่ก็ต้องยกระดับความสามารถขึ้นเป็นที่ปรึกษาทางการเงินเพิ่มความมั่งคั่งให้ลูกค้าและแบงก์ หมดยุคเสือนอนกิน วันนี้ต้องดิ้นหนีตายไม่ต่างจากอีกหลายธุรกิจที่ล้มหายตายจากไป




กำลังโหลดความคิดเห็น