xs
xsm
sm
md
lg

นิวยอร์กงัดมาตรการการเงิน สู้ก่อนจะจมน้ำ

เผยแพร่:   โดย: อ.สุดาทิพย์ จารุจินดา อินทร

<b>นายบิล เดอ บลาซิโอ นายกเทศมนตรีมหานครนิวยอร์ก</b>
หลังจากนายทรัมป์ประกาศเมื่อมิถุนายนปีที่แล้ว ว่าประเทศสหรัฐฯ ขอถอนตัวจากข้อตกลงโลกร้อนปารีสที่ทำไว้ปลายสมัยโอบามา ก็ทำให้เกิดการตื่นตัวอย่างมากในบรรดาเกาะแก่งต่างๆ ที่กริ่งเกรงว่า ผลพวงที่สหรัฐฯ ถอนตัวนี้ จะทำให้โลกกระเถิบใกล้กับภาวะ “กู่ไม่กลับ” ในการที่อุณหภูมิของโลกจะสูงขึ้น และละลายน้ำแข็งจากขั้วโลก จนทำให้น้ำในมหาสมุทรจะเพิ่มสูงขึ้น ระดับน้ำทะเลตามเกาะแก่งจะสูงจนท่วม ไม่ว่าจะเป็นเกาะญี่ปุ่น, เกาะในอินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, อังกฤษ รวมถึงเกาะแมนฮัตตันด้วย

ประกอบกับภาวะโลกร้อนก็จะเกิดภาวะไม่สมดุลทางภูมิอากาศโลก ส่งผลต่อการแปรปรวนทั้งกระแสน้ำอุ่น, น้ำเย็นของทั้งโลก และภาวะฝนตก, หิมะตกจะไม่สม่ำเสมอเกิดอาการสุดขีดสุดเหวี่ยงของภูมิอากาศ อย่างที่ประเทศไทยมีฝนตกหนักๆ 3 วันซ้อนไม่ลืมหูลืมตา ในเดือนมกราคม ยังกะเราอยู่ในภูมิอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียม หรือแบบแคลิฟอร์เนียตอนเหนือยังไงยังงั้น ไม่นับหิมะที่ตกที่เวียดนาม, พม่าตอนเหนือ (ตกหนักมาก ปีนี้ที่แถบคะฉิ่นจนดูภาพแล้วนึกว่าเป็นหมู่บ้านของสวิส) และอาจตกในไทยเมื่อใดก็ได้

สภาวะที่รุนแรงในปีนี้ก็คงหนีไม่พ้นอากาศร้อนสุดๆ ของออสเตรเลียถึง 47.3 องศาเซลเซียส ยิ่งกว่าทอดไข่กลางถนนคอนกรีตได้เลย เป็นการทำลายสถิติของประเทศ Down Under ตั้งแต่เคยทำการวัดอุณหภูมิมาทีเดียว

อีกแห่งก็คือ แอฟริกาใต้ที่เกิดอาการวิกฤตฝนไม่ตกเลยมาถึง 3 ปี ตอนนี้ต้องจำกัดการใช้น้ำในชีวิตประจำวัน คือ ให้อาบน้ำฝักบัวได้ไม่เกิน 2 นาที! รวมทั้งนักกีฬาคริกเกตทีมอินเดียที่มาเยือนก็ถูกขอร้องแกมบังคับให้ช่วยประหยัดน้ำ โดยตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์นี้จะให้ใช้น้ำต่อคนต่อวันไม่ให้เกิน 50 ลิตร (ลดลงมาจาก 87 ลิตรใน 3 เดือนที่ผ่านมา) ที่ท่านนายกเทศมนตรีหญิงเมือง Cape Town ได้ออกมาประกาศเมื่อ 2-3 วันนี้เอง เธอบอกว่า น้ำในทะเลสาบแหล่งน้ำจะเหลือสูญในวันที่ 19 เมษายน ซึ่งถ้าไม่ลดการใช้น้ำ พอ 19 เมษายนจะไม่มีน้ำก๊อกไหลออกมาแล้ว!! ความจริงเธอได้เตือนก่อนล่วงหน้าไว้ 3 เดือน เป็นมาตรการขอร้อง ตอนนั้นคาดว่า น้ำในทะเลสาบจะเหลือจนถึง 6 เดือนประมาณกรกฎาคม แต่มาตรการขอร้องกลับได้รับความร่วมมือน้อยมาก ก็จะต้องบังคับต่อบ้านต่อคนต้องไม่เกิน 50 ลิตรต่อวันนั่นแหละ

สำหรับระดับน้ำทะเลตามเกาะต่างๆ หรือแม้แต่ที่สมุทรปราการ ก็จะข้ามเข้ามาในผืนแผ่นดินลึกเข้าไปทุกที รวมทั้งที่บางขุนเทียนด้วย ร่องรอยเห็นได้ชัดมากจนน่ากลัว

เมื่อครบรอบ 2 ปีที่ข้อตกลงสู้โลกร้อนปารีสมาบรรจบ ได้มีการประชุมประเมินสถานการณ์ที่ปารีสเมื่อเร็วๆ นี้

หนนี้ประธานาธิบดีมาครงเป็นเจ้าภาพจัด Summit และปรากฏว่าประเทศสหรัฐฯ ไม่ได้ส่งตัวแทนระดับสูงมาเข้าร่วม แต่มีผู้นำจากหลายประเทศมา เช่น จากอังกฤษโดยนายกฯ มาเอง สหรัฐฯ กลับส่งตัวแทนเป็นแค่ทูตสหรัฐฯ ประจำปารีส!

ตรงข้ามที่มาจากสหรัฐฯ กลับกลายเป็นผู้นำระดับมลรัฐและเอ็นจีโอ นำโดย นายเจอร์รี่ บราวน์ ท่านผู้ว่าแคลิฟอร์เนียคนปัจจุบัน และนายอาร์โนลด์ ชวาร์เซเนกเกอร์ อดีตผู้ว่าแคลิฟอร์เนีย พร้อมทั้งอดีตนายกเทศมนตรีนิวยอร์กคือ นายไมเคิล บลูมเบิร์ก ที่มาบริจาคช่วยโครงการลดโลกร้อนถึง 15 ล้านเหรียญ (ประมาณ 500 ล้านบาท) เพื่อชดเชยเงินส่วนที่ประเทศอเมริกาควรลงขัน (แต่ทรัมป์ไม่ยอมทำตามสัญญาที่โอบามาได้ทำเอาไว้) และมีภาคเอกชนเช่น ไมโครซอฟท์, แอปเปิล ที่ส่งตัวแทนมาร่วมลงขันแทนรัฐบาลอเมริกัน และยังมีนายอีลอน มัสก์ พร้อมลงขันด้วย

ความเคลื่อนไหวของภาคเอกชนและเอ็นจีโอของสหรัฐฯ นั้นยิ่งใหญ่มาก ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการถอนตัวของรัฐบาลทรัมป์จากข้อตกลงสู้โลกร้อนนี้ บรรดานายกเทศมนตรีหลายเมืองใหญ่ได้รวมตัวกันประกาศเจตนารมณ์และมาตรการที่จะทำตามข้อตกลงที่ปารีส โดยไม่แยแสต่อการประกาศของรัฐบาลกลางของนายทรัมป์ ที่ให้ลดมาตรฐานของเสียที่ปล่อยออกมาจากอุตสาหกรรมต่างๆ หลายมาตรฐานมาก และสัดส่วนการพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิล เมื่อเทียบกับพลังงานหมุนเวียนจากแสงอาทิตย์และลม

เมื่อทรัมป์ประกาศถอนตัวในเดือนมิถุนายน มีปฏิกิริยาทันทีจากเอ็นจีโอที่ทรัมป์เชิญมาเป็นกรรมการในสภาธุรกิจที่ปรึกษาของทำเนียบขาว โดยพวกเขาประท้วงการประกาศของทรัมป์ด้วยการ “ลาออก” จากสภาที่ปรึกษาทั้ง 3 คณะที่ทรัมป์ตั้งขึ้นมา

ล่าสุดต้นปีนี้เอง นายกเทศมนตรีมหานครนิวยอร์ก นายบิล เดอ บลาซิโอ ประกาศจะนำบางส่วนของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการเมืองนิวยอร์กถอนการลงทุนในหุ้นและพันธบัตรของบรรดาบริษัทน้ำมันยักษ์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และตลาดพันธบัตรที่นิวยอร์ก และจะหันไปลงทุนในบริษัทพลังงานชนิดหมุนเวียนแทนที่

กองทุนบำเหน็จบำนาญของข้าราชการนิวยอร์ก นับเป็นกองทุนยักษ์ของโลก ซึ่งนับเป็นการนำร่องอันจะเป็นตัวอย่างให้กองทุนบำเหน็จบำนาญของเมืองใหญ่อื่นๆ เช่น รัฐแคลิฟอร์เนีย, ลอนดอน, ปารีส ตลอดจนกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (Sovereign Wealth Fund) จำนวนมหาศาลที่จะถูกกดดันจากประชาชนให้เอาใจออกห่างจากการลงทุนในบริษัทพลังงานแบบเก่า ไม่ว่าจะเป็นเหมืองถ่านหินหรือบริษัทน้ำมันยักษ์ๆ

นายกเทศมนตรีนิวยอร์ก ยังได้เดินหน้าฟ้องร้องบริษัทน้ำมันยักษ์ในฐานะทำลายสิ่งแวดล้อม ทั้งๆ ที่รู้เต็มอกทำให้เกิดผลต่อภาวะโลกร้อน แต่ก็ไม่นำพา

ศึกครั้งนี้ใหญ่หลวงนักต่อชีวิตทุกๆ คนในปัจจุบัน และลูกหลานในอนาคต อย่างที่ศ.สตีเฟน ฮอว์กิง ได้เตือนไว้ว่า ทรัมป์กำลังทำลายโลกของเรา พอๆ กับที่เราช่วยกันทำลายโลกของเราเอง โดยสนับสนุนพลังงานที่ทำให้โลกร้อน ทั้งถ่านหินและน้ำมัน


กำลังโหลดความคิดเห็น