xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“เจฟิน คอยน์” ล่อเม่า ก.ล.ต.ยังมึนงง เตือนภัยฟองสบู่เงินดิจิทัลทั่วโลกแตก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - นับเป็นข่าวคราวความเคลื่อนไหวที่เร้าใจบรรดาแมงเม่าเป็นอย่างยิ่ง หลังจาก บริษัท เจมาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น JMART ออกมาประกาศโต้งๆ แบบไม่เกรงใจคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ผู้คุมกฎของตลาดหุ้น ว่าบริษัทในเครือเตรียมแผนระดมทุนด้วยดิจิทัล โทเคน ชื่อ JFin Coin - เจฟิน คอยน์” ต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก (Initial Coin Offering : ICO) หรือ ไอซีโอ

การประกาศของ JMART ตอกย้ำเป้าหมายความเป็นผู้นำด้านฟินเทคและ Blockchain เพื่อรองรับอนาคตทางการเงินของโลกที่กำลังก้าวไปสู่สกุลเงินดิจิทัล ขณะที่ผู้คุมกฎของบ้านเราอย่าง ก.ล.ต. และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังจับต้นชนปลายไม่ถูกว่าจะเอาอย่างไรกับเรื่องนี้ดี และอีกด้านหนึ่งดรีมทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลก็ตั้งธงพัฒนาพาประเทศไทยก้าวสู่โลกยุคดิจิทัลในทุกรูปแบบ

การระดมทุนครั้งนี้ JMART มอบหมายให้ บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ JVC ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ JMART ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 80 ดำเนินการ โดยการระดมทุนครั้งแรกด้วยดิจิทัล โทเคน ในชื่อ “JFin” มีจำนวน 100 ล้านเหรียญ ราคาเสนอขายอยู่ที่เหรียญละ 0.20 ดอลลาร์สหรัฐฯ เตรียมเปิดขายรอบ Presale 14-28 ก.พ. 2561 และเสนอขายครั้งแรก (ICO) ในวันที่ 1-31 มี.ค. 2561

นายธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด (JVC) ระบุถึงแผนระดมทุนผ่านดิจิทัล โทเคน ของบริษัทว่า มีจำนวน JFin Coin ทั้งหมด 300ล้านเหรียญ แต่จะนำมาทำ ICO ก่อนจำนวน 100 ล้านเหรียญ คาดว่าจะได้รับเงินระดมทุนประมาณ 660 ล้านบาท โดยวัตถุประสงค์ของการระดมทุน เพื่อนำไปพัฒนาระบบ Digital Lending Platform หรือระบบสินเชื่อแบบดิจิทัลให้กับบริษัท เจ ฟินเทค ทั้งนี้ ภายใต้ระบบสินเชื่อดังกล่าว บริษัทได้นำเอาเทคโนโลยี Blockchain เข้ามาใช้ และไม่ต้องอาศัยคนกลางในการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งจะเป็นภาพประวัติศาสตร์ครั้งแรกของประเทศที่นำเอาการระดมทุนผ่าน ICO และ Blockchain เชื่อมโยงกับภาคธุรกิจจริง ๆ

ปัจจุบัน บริษัทได้จัดทำ White Paper หรือเอกสารแสดงข้อมูลสำหรับการระดมทุนใกล้เสร็จสิ้นแล้ว โดยจะนำเผยแพร่ต่อผู้ที่สนใจผ่านเว็บไซต์ของ www.jfincoin.io ในวันที่ 14 ก.พ. 2561 เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับเสนอขาย “JFin” Coin ต่อผู้ที่สนใจลงทุนทั่วโลก

คำเชิญชวนและคำประกาศของ JMART ทำให้ราคาหุ้น JMART ในตลาดฯ พุ่งสูงขึ้น 20% จากวันที่ 10 ม.ค. 2561 ที่มีราคาเพียง 17.80 บาท มายืนอยู่ที่ 21.70 บาท ในวันที่ 15 ม.ค.2561 ด้วยแรงซื้อที่หนาแน่นจากนโยบายดังกล่าวก่อนจะเริ่มมีแรงเทขายออกมาและชะลอความร้อนแรงลง

สุนันท์ ศรีจันทรา คอลัมนิสต์ชุมชนคนหุ้นของเว็ปไซต์ mgronline ตั้งข้อสังเกตว่า JMART เป็นบริษัทจดทะเบียนรายแรกที่ประกาศระดมทุนด้วย ดิจิทัล โทเทน แต่ข้อมูลที่เปิดเผยสู่สาธารณชนในเบื้องต้น ไม่มีรายละเอียดเพียงพอที่จะทำให้เกิดความเข้าใจถึงการระดมทุนรูปแบบใหม่ ไม่มีข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจลงทุน และผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนอย่างไร แม้แต่ ก.ล.ต. ยังไม่สามารถให้รายละเอียดได้ ก.ล.ต.เพียงแต่ตำหนิ JMART ทางอ้อมว่า การที่บริษัทจดทะเบียนเผยแพร่ข่าว ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนเพียงพอ ต้องใช้ความระมัดระวัง เพราะอาจมีผลต่อราคาและการซื้อขายหุ้นของบริษัท

ส่วนเว็บไซต์ สยามบล็อกเชน ซึ่งติดตามข่าวความเคลื่อนไหวในโลกสกุลเงินดิจิทัล ระบุว่า ทาง JFin Coin เสาะหาผู้ที่มีประสบการณ์ที่คร่ำหวอดในวงการ Blockchain และหนึ่งในผู้ที่ได้รับการเชิญมาเป็นที่ปรึกษาใน Project ในครั้งนี้ก็คือ นายปรมินทร์ อินโสม ผู้ก่อตั้งเหรียญ Zcoin ซึ่งในขณะนี้มีราคาอยู่ที่ 81.43 ดอลลาร์ (อ้างอิงจาก CoinmarketCap) นอกจาก Zcoin แล้ว นายปรมินทร์ ยังเป็นผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มซื้อขายเหรียญ Cryptocurrency ชื่อดังในประเทศไทยนามว่า TDAX และเว็บ Exchange แลกเปลี่ยน Bitcoin นามว่า Satang อีกด้วย

ถึงแม้โลกเงินดิจิทัลกำลังปั่นป่วนวุ่นวายถึงกับมีการประเมินว่าเข้าใกล้สภาพฟองสบู่ใกล้แตกแล้ว แต่ JMART ได้เปิดโลกใหม่ในการระดมทุนด้วยสกุลเงินดิจิทัลเป็นการท้าทายระบบการควบคุมและกำกับดูแลตลาดเงินตลาดทุนของไทย และเวลานี้บริษัทจดทะเบียนอื่นคงกำลังจับตาดูหาก JMART ทำสำเร็จคงมีอีกหลายบริษัทเอาอย่างตามมาอย่างไม่ต้องสงสัย และนั่นทำให้หน่วยงานด้านการเงินออกโรงเตือนบรรดาแมงเม่า และรีบเข้ามาควบคุมกำกับดูแล

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การลงทุนในเงินสกุลดิจิทัล ถือเป็นการลงทุนที่ต้องระมัดระวัง ซึ่งเป็นเรื่องใหม่มาก ไม่ใช่ลักษณะเดียวกับเงินตราไทยที่มีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินตรารองรับ และมีมูลค่าเปรียบเทียบ ซึ่งเงินสกุลดิจิทัลนั้น ถือเป็นการลงทุนที่ธนาคารทำได้แค่เตือนลูกค้าให้ระมัดระวังในการลงทุนเท่านั้น

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า เงินดิจิทัลยังมีความเสี่ยง เพราะเป็นช่องในการฟอกเงินจากหลายกลุ่มได้ เนื่องจากไม่รู้ว่าใครถือบัญชี จึงต้องการให้ ก.ล.ต. และ ธปท.ศึกษาว่า หากเปิดให้ซื้อขายอย่างเป็นระบบใครได้ประ โยชน์ หากมีประโยชน์ทุกฝ่ายก็ควรเปิดกว้างให้สามารถซื้อ-ขายได้ แต่หากมีความเสี่ยง ไม่มีประโยชน์ ต้องมีมาตรการควบคุมเพื่อลดผลกระทบจากนักลงทุนรายย่อย

ทางด้าน ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยืนยันมาโดยตลอดว่า สกุลเงินที่ใช้กันในโลกออนไลน์ หรือ Cryptocurrency อาทิ บิทคอยน์ วันคอยน์ ฯลฯไม่ใช่เงินที่ทางการไทยรับรองตามกฎหมาย และในปัจจุบันยังไม่มีธนาคารกลางของประเทศใดยอมรับว่าเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย (legal tender) อีกทั้งCryptocurrency ยังเป็นสินทรัพย์สำหรับการลงทุนมากกว่าการชำระหนี้หรือใช้ในการซื้อขาย

นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการ ที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรืออังค์ถัด และอดีตผู้อำนวยการใหญ่ องค์การการค้าโลก หรือดับบลิวทีโอ ถึงกับเตือนว่าวิกฤตกำลังจะมาเยือนในไม่ช้านี้ โดยกล่าวในงานสัมมนาแนวโน้มตลาดเกิดใหม่ในปี 2561 จัดโดยธนาคารกสิกรไทย ในหัวข้อ “ความท้าทายบนเวทีการค้าและเศรษฐกิจโลกในทศวรรษหน้า” ว่า วิกฤตเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นอีกในช่วง 10 ปีข้างหน้า สาเหตุเกิดจากค่าเงินดิจิทัล ต่างจาก10 ปีก่อนหน้า ที่วิกฤติการเงินมาจากการปล่อยกู้และการรับจำนองแก่ลูกหนี้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ (ซับไพรม์) ของสหรัฐฯ

เสียงเตือนก็ส่วนเสียงเตือน นักเก็งกำไรก็ส่วนนักเก็งกำไร ดังจะเห็นได้จากการเฟื่องฟูของตลาดเงินดิจิทัลในระยะปีสองปีที่ผ่านมา กระทั่งรัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกทนนิ่งเฉยไม่ได้เตรียมมาตรการออกมากวาดล้างกันใหญ่ ซึ่งทำให้นับแต่ปลายปีที่ผ่านมาจนบัดนี้ ตลาดเงินดิจิทัลปั่นป่วนอย่างหนัก รายงานล่าสุด เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2561 สกุลเงินหลักๆ ที่ไม่ใช่แต่บิตคอยน์กอดคอกันร่วงเลือดสาด หลังจากที่มีข่าวว่าประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีน ลงดาบปราบปรามและกำกับดูแลสกุลเงินดิจิทัลมากขึ้น

ภาวะมูลค่าเงินตกต่ำฉับพลันนี้ เห็นชัดเจนบนสกุลเงิน crypto ท็อป 10 ที่ครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด 10 อันดับแรก โดยเบื้องต้น คาดว่าเป็นผลจากปริมาณการซื้อขายในประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ที่ปรับตัวลดลง แม้ว่าเงินดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดอย่าง Bitcoin จะลดลง 25% เหลือ 10,338 เหรียญสหรัฐฯ ก่อนจะดีดตัวขึ้นมาเป็น 11,000 เหรียญสหรัฐฯ ในตลาดนิวยอร์ก แต่ตัวเลขนี้ยังคงอยู่ในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ต้นธ.ค.ที่ผ่านมาซึ่งช่วงนั้นบิตคอยน์ สกุลเงินมูลค่าสูงที่สุดทะลุเพดาน 20,000 ดอลลาร์ ส่วนเงินดิจิทัลสกุลรองของโลกอย่างริปเปิล (Ripple) มูลค่าลดลงมากถึง 40% และเอธีเรียม (Ethereum) ลดลง 31% เหลือ 871 เหรียญสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา

ฟาวาด ราซาคซาดา (Fawad Razaqzada) นักวิเคราะห์การตลาดของฟอเร็กซ์ (Forex.com) เปรียบเทียบว่า สถานการณ์ขณะนี้เหมือนการอาบเลือด หรือ “cryptocurrency bloodbath” แต่เวลานี้ก็ถือว่ายังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่า เงิน crypto กำลังถึงกาลอวสาน โดยเหตุผลหลักของวิกฤตินี้ คือ แนวโน้มเรื่องรัฐบาลเกาหลีใต้อาจดำเนินการตรวจสอบด้านกฎระเบียบเพิ่มขึ้น ทำให้ความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจลดลง

นีล วิลสัน (Neil Wilson) นักวิเคราะห์อาวุโสบริษัทอีทีเอ็กซ์ แคปิตอล (ETX Capital) ตั้งข้อสังเกตว่า Bitcoin จะต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องการกำกับดูแลไม่ช้าก็เร็ว แถมทุกฝ่ายยังเห็นสัญญาณของเรื่องนี้มากขึ้นต่อเนื่อง หลังจากที่เกาหลีใต้วางแผนออกกฎห้ามค้าขายสกุลเงิน crypto และการเคลื่อนไหวของจีนที่อาจมีมาตรการควบคุมธุรกิจขุดเหมืองเงินดิจิทัล ทั้งหมดล้วนเป็นความคืบหน้าล่าสุดที่ชี้ให้เห็นถึงแรงกดดันด้านกฎระเบียบที่มากขึ้น

เอเอฟพี รายงานว่า รัฐบาลจีนกำลังเตรียมการกวาดล้างเงินดิจิตอลครั้งใหม่ และมีแผนที่จะยุติการซื้อขายที่ยังคงเหลืออยู่ในประเทศ โดยรัฐบาลจีนจะค่อยๆ ปิดตลาดการซื้อขายจากเคาน์เตอร์ เครือข่ายนักลงทุนด้วยกันที่มีการซื้อขายขนาดใหญ่ และบรรดาบริษัทจดทะเบียนในประเทศที่ให้บริการซื้อขายข้ามชาติกับชาวจีน ซึ่งแผนการใหม่นี้ออกมาหลังจากการกวาดล้างการซื้อขายเงินดิจิตอลของจีนเมื่อปีที่แล้วซึ่งปักกิ่งปิดตลาดซื้อขายบิตคอยน์หลายแห่งและแบนการระดมทุนผ่านเงินดิจิตอลทุกประเภท

เหตุผลที่ทำให้รัฐบาลหลายประเทศต้องออกหน้าว่าต้องปราบปรามเงิน crypto เพราะความวุ่นวายทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากเงิน cryptocurrency ถูกมองว่าเป็นสกุลเงินที่เหมาะสมมากสำหรับบริษัท, อาชญากร และบุคคลทั่วไปในการหลีกเลี่ยงภาษี และธุรกิจเงิน crypto เป็นเพียงธุรกิจที่เน้นเก็งกำไร ไม่ก่อให้เกิดผลดีทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

เลือดสาดแดงฉานกันทั้งกระดานขนาดนี้ บรรดาแมงเม่าตัวเล็กตัวน้อย ถอยออกจากกองไฟให้ทันก็แล้วกัน




กำลังโหลดความคิดเห็น