xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

วิวัฒนาการของตรรกะและแบบแผนของพรรคการเมืองไทย (จบ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

ตั้งแต่พ.ศ. ๒๕๔๐ ตรรกะการตลาดได้เข้ามามีอิทธิพลต่อพรรคการเมืองไทยอย่างเข้มข้น และพรรคการเมืองที่ใช้ตรรกะนี้ในการดำเนินงานกลายเป็นพรรคหลักที่เข้ามาครองอำนาจนำทางการเมืองร่วมทศวรรษ ลักษณะของพรรคการเมืองแบบนี้มีความคล้ายคลึงกับบริษัท แต่เป็นบริษัทแบบครอบครัว การเรียกหัวหน้าพรรคใช้คำว่า “นายใหญ่” ส่วนภรรยาหัวหน้าพรรคซึ่งมีอิทธิพลสูงในพรรคถูกเรียกว่า “นายหญิง” ขณะที่สมาชิกพรรคมีฐานะคล้ายกับพนักงานของบริษัท ความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวหัวหน้าพรรคกับสมาชิกพรรคเสมือนความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง

ตรรกะขององค์การทางธุรกิจได้ถูกนำมาใช้อย่างขว้างขวางในการดำเนินงานของพรรค ตั้งแต่กรอบคิดในการมองสนามการเมือง ซึ่งถูกมองในฐานะสนามการแข่งขันทางธุรกิจอำนาจ พรรคการเมืองโลดแล่นในสนามของธุรกิจอำนาจ ซึ่งมีการแข่งขันกันสูงระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ อันเป็นเงื่อนไขที่ทำให้เกิดสภาพความไม่แน่นอนขึ้นมา ดังนั้น เพื่อลดความไม่แน่นอนและความไร้เสถียรภาพของสิ่งแวดล้อม รูปแบบ “การควบรวม” ที่องค์การทางธุรกิจนิยมทำกันเพื่อลดการแข่งขันระหว่างบริษัท จึงถูกนำมาใช้ในกับพรรคการเมือง พรรคการเมืองที่เคยตั้งขึ้นมาในช่วงทศวรรษที่แล้วหลายพรรค เช่น พรรคความหวังใหม่ พรรคเสรีธรรม พรรคชาติพัฒนา เป็นต้น ถูกควบรวมไปกับ “พรรคไทยรักไทย” อันเป็นพรรคหลักที่ถูกครอบงำด้วยอิทธิพลของตรรกะการตลาด

“พรรคตลาด” เชื่อว่านโยบายคือ “ผลิตภัณฑ์” หรือ สินค้า ที่ถูกผลิตขึ้นมาภายใต้หลักคิดการ “โดนใจผู้ซื้อ” ขณะที่ประชาชนผู้เลือกตั้งถูกมองในฐานะ “ผู้บริโภคสินค้า” หรือ “ลูกค้า” ส่วนประชาธิปไตยถูกลดรูปตัดทอนให้เป็นเพียง “ประชาธิปไตยที่กินได้” ลักษณะนโยบายของ “พรรคตลาด” เน้นความเป็นรูปธรรมและมีประโยชน์การใช้สอยที่สัมผัสได้ เพื่อใช้ดึงดูดผู้เลือกตั้งอันเป็นลูกค้าของพรรค ตัวอย่างของนโยบายแบบนี้ เช่น สามสิบบาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ภายใต้ตรรกะดังที่กล่าวมาแหล่งที่สร้างอัตลักษณ์ของพรรคคือ “การเมืองเชิงธุรกิจ”

การรณรงค์หาเสียงของ “พรรคตลาด” จะใช้หลักคิดเดียวกันกับการโฆษณาของบริษัทธุรกิจ ทั้งในแง่ของการสำรวจเชิงการตลาด หรือ ที่เรียกว่าการทำโพล การกำหนดรูปแบบและแนวทางการโฆษณาที่จะส่งตรงไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง การเลือกสัญลักษณ์ ภาษาและถ้อยคำสำหรับการสื่อสารที่เรียบง่ายเพื่อสะดวกในการจดจำ และทรงพลังในการดึงดูดใจของผู้คน อีกทั้งยังมีการใช้ช่องทางการสื่อสารที่หลากหลายรูปแบบเพื่อให้ครอบคลุมและเข้าถึงผู้บริโภคอันเป็นกลุ่มเป้าหมาย

แหล่งความชอบธรรมของพรรคคือ ลำดับตำแหน่งในสนามตลาดการเมือง ส่วนแบ่งการตลาดในแง่คะแนนนิยมจากผู้เลือกตั้ง และจำนวนสมาชิกที่ได้รับเลือกเป็น ส.ส. ส่วนสิ่งที่ทำลายความชอบธรรมของพรรคคือ การใช้อำนาจในทางมิชอบของกลุ่มผู้บริหารพรรคในการเอื้อประโยชน์แก่ตนเอง เครือญาติ และพวกพ้อง และการละเมิดหลักนิติธรรม

พันธกิจพื้นฐานของพรรคการตลาดคือ การสร้างความสามารถในการแข่งขันของพรรคในสนามตลาดการเมือง การแสวงหาผลประโยชน์และโอกาสทางธุรกิจจากการครอบครองและใช้อำนาจรัฐ ความสนใจของผู้บริหารพรรคจึงมุ่งเน้นการสร้างและสะสมทรัพยากรในสามลักษณะ ลักษณะแรกคือการสะสมความมั่งคั่งให้แก่ตนเองและเครือญาติเพื่อให้วงศ์ตระกูลของตนเองสามารถครอบงำและควบคุมพรรคได้อย่างต่อเนื่อง และลักษณะที่สองคือ การสะสมทรัพยากรเพื่อเป็นทุนในการบริหารพรรค เช่น การให้เงินประจำเดือนแก่ สมาชิกพรรคที่เป็น ส.ส. เพื่อใช้จ่ายในการรักษาฐานเสียง การกระทำเช่นนี้คล้ายคลึงกับการที่บริษัทให้เงินเดือนแก่ลูกจ้างนั่นเอง ผลสืบเนื่องจากการให้เงินประจำเดือนคือ การสร้างเงื่อนไขการพึ่งพาให้เกิดขึ้นระหว่างส.ส.ธรรมดากับผู้บริหารพรรค ซึ่งตีความได้ประการหนึ่งว่า เงินประจำเดือนของพรรคการตลาดคือ โซ่ตรวนที่มองไม่เห็น ซึ่งผูกล่ามส.ส.เอาไว้ มิให้ตีตัวออกจากพรรค

สำหรับลักษณะที่สามของการสะสมทรัพยากรของพรรคการตลาดเป็นไปเพื่อการสร้างความมั่นคงในการสืบทอดอำนาจของพรรค ด้วยตรรกะที่ว่า พรรคจะรักษาตำแหน่งและอำนาจไว้ได้ สมาชิกพรรคจะต้องได้รับการเลือกตั้งมาด้วยจำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญ การเอาชนะการเลือกตั้งได้จะต้องใช้เงินทุนจำนวนมหาศาล และบุคลากรจำนวนมากในการรณรงค์หาเสียง ดังนั้นการแสวงหาและสะสมทรัพยากรระหว่างการครอบครองอำนาจรัฐจึงเป็นพันธกิจที่สำคัญอย่างยิ่งของพรรคการตลาด

ยุทธศาสตร์พื้นฐานที่พรรคการตลาดใช้ในการแสวงหาและสะสมทรัพยากรมีหลักๆสามประการ อย่างแรกคือ ยุทธศาสตร์ดูดซับและรับเงินทอน อันได้แก่การคิดและทำโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก เพื่อสร้างโอกาสและช่องทางแก่แกนนำพรรคและหรือสมาชิกพรรคในการเข้าไปดูดซับทรัพยากรและงบประมาณของรัฐเข้ามาเป็นของตนเอง และจัดสรรจำนวนหนึ่งเข้าไปสู่พรรค ยุทธศาสตร์ที่สองคือ ยุทธศาสตร์นายหน้าและค่าส่วนต่าง อันได้แก่ การจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์หรือเทคโนโลยี โดยตั้งราคาที่สูงกว่าราคาตลาดทั่วไป เพื่อจะได้มีโอกาสในการรับค่านายหน้าและส่วนต่างของราคา และยุทธศาสตร์ที่สามคือ ยุทธศาสตร์อำนาจเอื้อทุน อันเป็นการกำหนดนโยบายเพื่อเอื้อประโยชน์แก่บริษัทธุรกิจบางบริษัท เช่น การกำหนดภาษีนำเข้า ส่งออก หรือ การอนุญาตและไม่อนุญาตนำเข้าหรือส่งออกสินค้าบางอย่าง การกำหนดค่าสัมปทาน เป็นต้น และในทางกลับกัน เมื่อได้รับประโยชน์แล้ว บรรดาบริษัทต่างๆ ก็จะมอบผลประโยชน์ในรูปแบบใดแบบหนึ่งแก่ผู้บริหารพรรคเป็นการตอบแทน

ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ตรรกะการตลาดมีอิทธิพลในสนามการเมืองไทยสูงยิ่ง เข้าไปแทรกซึมและเบียดขับตรรกะชุดก่อนๆ อย่าง ตรรกะครอบครัว และตรรกะชุมชน ให้กลายเป็นตรรกะรองลงไป ตรรกะการตลาดได้รับการนำไปผลิตซ้ำเชิงการปฏิบัติจนกลายเป็นบรรทัดฐาน และผนึกเข้าเป็นความเชื่อและค่านิยมเชิงวัฒนธรรมของพรรคการเมืองเดิมจำนวนมาก ทั้งในแง่การแข่งขันเชิงการตลาดในการผลิตนโยบายประชานิยมเชิงรูปธรรม การรณรงค์หาเสียงที่เน้นการโฆษณาและสร้างภาพลักษณ์ และการแสวงหาและสะสมทรัพยากร

แม้ว่าพรรคไทยรักไทยที่เริ่มนำตรรกะการตลาดมาใช้เป็นพรรคแรกถูกยุบไปแล้ว แต่ความสืบเนื่องของตรรกะการตลาดกลับดำรงอยู่อย่างแข็งแกร่ง แกนนำเดิมของพรรคไทยรักไทยร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาใหม่โดยใช้ตรรกะชุดเดิม และเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคพลังประชาชน จนมากลายเป็นพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน

การรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ ทำให้พรรคการเมืองต้องยุติบทบาทการเมืองที่เป็นทางการลงชั่วคราว สนามการเมืองถูกครอบงำและควบคุมด้วยคณะรัฐประหารเป็นเวลาสี่ปีเศษ แต่พรรคการเมืองต่างๆก็ยังคงสภาพความเป็นพรรคการเมืองอยู่ โดยมิได้ถูกยุบไปแต่อย่างใด และยังคงดำเนินกิจกรรมทางการเมืองแบบไม่เป็นทางการภายใต้ขอบเขตที่จำกัด อย่างไรก็ตามคณะรัฐประหารมิอาจปฏิเสธตรรกะประชาธิปไตยอันเป็นตรรกะหลักในการบริหารปกครองของนานาประเทศทั่วโลกได้ จึงจำเป็นต้องมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญในพ.ศ.๒๕๖๐ และกำหนดให้มีการเลือกตั้งในปลายปี ๒๕๖๑

สนามการเมืองของการเลือกตั้งเป็นสนามการแสดงบทบาทของพรรคการเมือง และเป็นเวทีเชิงปฏิบัติการณ์ของตรรกะที่ครอบงำพรรคการเมืองแต่ละพรรค สามตรรกะหลักอันได้แก่ ตรรกะครอบครัว ตรรกะชุมชน และตรรกะการตลาด ยังคงเป็นตรรกะที่มีการแข่งขันกันอยู่ในสนามการเมือง แต่ก็มีสัญญาณบางอย่างที่อาจมีการรื้อฟื้น “ตรรกะอำนาจรัฐ” เข้ามาจัดตั้งพรรคการเมืองดังที่เคยเกิดขึ้นในอดีต แต่บทเรียนที่ผู้สนใจการเมืองสามารถสรุปได้คือ การใช้ตรรกะอำนาจรัฐเป็นหลักในการดำเนินงานของพรรคการเมือง เป็นตรรกะที่พ้นยุคสมัยและไม่สอดคล้องกับบริบททางสังคมการเมืองของปัจจุบันและอนาคต หากชนชั้นนำทางอำนาจหรือบรรดาผู้เกาะกระแสอำนาจในปัจจุบันคิดจะใช้ตรรกะแบบนี้ทำงานทางการเมือง ก็แสดงว่ากลุ่มบุคคลเหล่านั้นมิได้ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทยให้ลึกซึ้งเพียงพอ และในท้ายที่สุดชะตากรรมที่ไม่น่าพึงปรารถนาก็จะเกิดขึ้นกับพวกเขา

ที่น่าเสียดายคือ จวบจนถึงบัดนี้ยังไม่เห็นร่องรอยของกลุ่มทางสังคมที่ทรงพลังและได้รับการยอมรับนับถือจากสาธารณะจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่โดยนำ “ตรรกะประชาธิปไตย” และ “ตรรกะคุณธรรม” เป็นแกนกลางในการจัดตั้งและการดำเนินงานของพรรค หากมีบ้างก็เป็นเพียงกลุ่มคนเล็กๆจำนวนหนึ่งที่พยายามจัดตั้งพรรคการเมืองโดยใช้ตรรกะทั้งสอง แต่ยากที่จะขยายตรรกะทั้งสองให้กลายเป็นตรรกะหลักของพรรคการเมืองไทยได้ในระยะเวลาสั้นๆ

การวิวัฒนาการของพรรคการเมืองยังคงดำเนินต่อไปตามการเปลี่ยนแปลงบริบทของสังคมการเมือง บทเรียนทางประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย บอกให้เราทราบว่า หากพรรคการเมืองของสังคมใดยังไม่ถูกชี้นำทางความคิดและดำเนินการเชิงปฏิบัติด้วยตรรกะประชาธิปไตยและตรรกะคุณธรรม หรืออีกนัยหนึ่งคือ การที่สังคมยังไม่สามารถสถาปนาตรรกะประชาธิปไตยและตรรกะคุณธรรมให้กลายเป็นสถาบันหลักของสังคมได้ การเมืองของประเทศนั้นก็จะมีความผันผวนและไร้เสถียรภาพสูง และมีโอกาสเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงขึ้นมาเป็นระยะ




กำลังโหลดความคิดเห็น