xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

อวสาน มหาฯลัยไทย ใบปริญญาสำคัญไฉน?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - วิกฤตธุรกิจการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยเดินทางมาถึง “จุดเปลี่ยน” ครั้งสำคัญ หลังจากในช่วงที่ผ่านมาเกิดมหาวิทยาลัยใหม่ๆ ขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่มีเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่อยู่รอด หลายคณะสาขาวิชาทยอยปิดตัว ยอดผู้สมัครเรียนลดน้อยลง ซ้ำร้ายจำนวนผู้สมัครแอดมิชชั่นกลางปี 2560 ยังทำสถิติน้อยที่สุดในรอบ 10 ปี เหลือที่ว่างกว่า 100,000 ที่นั่งกันเลยทีเดียว

ทั้งนี้ สถานการณ์ปัญหาดังกล่าวเกิดจาก “จำนวนเด็กเกิดใหม่น้อยลง” ซึ่งเป็นผลพวงมาตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ปี 2540 “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ส่งผลให้อัตราการเกิดใหม่ในห้วงเวลานั้นน้อยลงและลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีผลมาจากการที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย จำนวนเด็กเกิดในแต่ละปีน้อยลง จาก30 ปีก่อน เด็กเกิดเกิน 1,000,000 คนต่อปี ปัจจุบันเด็กเกิดใหม่ 600,000 - 700,000 คนต่อปีเท่านั้น นอกจากนี้ สาเหตุยังมีมาจากนักเรียนจำนวนหนึ่งตอบรับการเข้าเรียนในมหาวิทยาแล้วในระบบรับตรง โควตา ฯลฯ

และจำนวนนักศึกษาที่ลดลงนั้นหมายถึงรายได้ของมหาวิทยาลัยหดหาย กระทบโดยตรงต่อมหาวิทยาลัยเอกชน บางแห่งปรับตัวไม่ทัน หรือแบกรับภาระขาดทุนไม่ไหวก็จำต้องปิดตัว

ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ ผู้อำนวยการศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) เคยคาดการณ์ไว้ว่า ในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้ามหาวิทยาลัยไทยจำนวน 3 ใน 4 จะไปไม่รอดแน่ อาจจะต้องปิดตัวลง โดยละปีมหาวิทยาลัยไทยมีที่ว่างรับนิสิตนักศึกษาในระดับปริญญาตรีปีละ150,000 คน แต่มีเด็กเข้าเรียนเพียง 80,000 คนเท่านั้น

บทความเรื่อง “มหาวิทยาลัยไทยจะไปไม่รอด ถ้ายังใช้การตลาดนำหน้าการศึกษา” โดย ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ เผยแพร่ทางเว็บไซต์ www.manager.co.th วิเคราะห์เรื่องการอยู่รอดของมหาวิทยาไทยไว้อย่างน่าสนใจ ความว่า

“การใช้การตลาดนำการศึกษาไม่ได้ต่างกับเซลล์แมนกะล่อน ไม่ได้ต่างกับแมงดาเรียกแขกเข้ามาใช้บริการ ไม่ปรับปรุงหลักสูตร เนื้อหา คุณภาพคนสอน ให้มันดีจริง ให้ตรงกับการทำงานจริง ทันสมัย ใช้งานได้จริง ก็จบ ไปไม่รอดแน่นอน ขายของกำมะลอ เหมือน Loman ในอวสานเซลส์แมน ที่เขียนโดย Arthur Miller สุดท้ายก็หมดความน่าเชื่อถือแล้วไปไม่รอดในที่สุด แม้ศักดิ์ศรีก็ไม่มีเหลือ”

กล่าวคือมหาวิทยาลัยที่จะอยู่รอดต้องสร้างตลาดใหม่ออกมาจากตลาดเดิม ด้วยนวัตกรรม ด้วยความรู้ใหม่ ด้วยความแตกต่างและสร้างสรรค์จึงจะมีโอกาสจะอยู่รอด

“การตลาดไม่ใช่วิชาเลวร้าย แต่หากไม่พัฒนาคุณภาพให้ดี ใช้แต่การตลาดขายของขายใบปริญญา อุดมศึกษาไทยจะไปไม่รอด และประเทศไทยก็จะไปไม่รอดด้วยเช่นกัน” ดร. อานนท์วิเคราะห์

ขณะที่ สุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานที่ปรึกษามหาวิทยาลัยสวนดุสิต (มสด.) เปิดเผยถึงแนวโน้มใปในทิศทางเดียวกันว่า มหาวิทยาลัยไทยทยอยปิดตัว ปี 2563 จะเหลือไม่เกิน 120 แห่ง ซึ่งเทรนด์การเลือกเรียนของเด็กในยุคปัจจุบันเกี่ยวข้องกับปัจจัย 4 คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย ขณะที่เศรษฐกิจโลกเป็นตัวกำหนดอาชีพก็มีส่วนสำคัญส่งผลการเรียนตามแฟชั่นลดลง

“มหาวิทยาลัยเองต้องปรับตัว โดยเฉพาะเรื่องหลักสูตรที่จะต้องมีความทันสมัย ทันต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หลายปีที่ผ่านมามีมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นใหม่จำนวนมากกว่า 200 แห่ง ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ปิดไปแล้วจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นมหาวิทยาลัยเอกชน ปัจจุบันเหลือมหาวิทยาลัยอยู่ประมาณ 150 แห่ง

“เคยมีการทำนายว่า ปี 2563 มหาวิทยาลัยจะปิดตัวลงอีก และจะเหลือมหาวิทยาลัยทั้งระบบอยู่ไม่เกิน 120 แห่ง ในจำนวนที่เหลือแต่ละแห่งจะทยอยปิดคณะ/สาขาลงอีกจำนวนมาก อย่างของ มสด. เอง ที่ผ่านมาเปิดสอนทั้งหมด 60 สาขา ปัจจุบันปิดไปแล้วกว่า 36 สาขา ส่วนใหญ่เป็นสาขานิเทศศาสตร์ ครุศาสตร์ เหตุผลเพราะไม่มีคนเลือกเรียน ล้าสมัย อย่าง มสด. สาขาครุศาสตร์ เหลือเฉพาะสาขาปฐมวัย และประถมศึกษา และเน้นสอนในหลักสูตรคู่ขนานมากขึ้น เช่น นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้รอบด้าน เพราะอนาคตการเรียนเพียงศาสตร์เดียวไม่เพียงพอต่อการทำงานในอนาคต”  สุขุม กล่าว

แน่นอนว่า สถานการณ์ดังกล่าวหน่วยงานที่ดูแลในเรื่องนี้คือ “กระทรวงศึกษาธิการ” ก็รับรู้และจับตาอย่างใกล้ชิด ดังที่ ศ.นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง “นโยบายการศึกษาไทย ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล 4.0” เอาไว้ว่า ขณะนี้อุดมศึกษากำลังประสบปัญหาทั้งจากบุคลากรที่ไม่ปรับตัว จำนวนเด็กที่เกิดน้อยลงจนมีบางแห่งต้องปิดตัวลง หรือปิดหลักสูตรไป เช่น มหาวิทยาลัยสวนดุสิตเพิ่งประกาศปิดหลัดสูตรไปแล้วกว่า 60 หลักสูตรเพราะไม่มีคนเรียน ซึ่งหากไม่มีการปรับปรุงหลักสูตรหรือวิธีการสอนใหม่ มหาวิทยาลัยในประเทศมีแนวโน้มที่จะปิดตัวเพิ่มมากขึ้น เหมือนอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาขณะนี้ ที่สถาบันอุดมศึกษาปิดตัวไปแล้ว 500 แห่ง และเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2,000 แห่งในช่วง 10 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยไทยยังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยีการสื่อสารการมีหลักสูตรออนไลน์และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศ ดังนั้นทิศทางการทำงานของสถาบันอุดมศึกษาจึงต้องเน้นการบูรณาการเรียนใหม่ ไม่เน้นเฉพาะสาขาใดสาขาหนึ่ง แต่ต้องเรียนรวมเชื่อมกับคณะอื่นได้ ซึ่งในปีการศึกษา 2561 นี้ กระทรวงศึกษาธิการจะทำงานร่วมกับ 7 มหาวิทยาลัยนำร่องในการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ โดยมีแรงจูงใจเป็นเงินอุดหนุนให้แก่สถาบัน

ทั้งนี้ นอกจากการผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพแล้ว สิ่งที่สถาบันอุดมศึกษาต้องทำคือการพัฒนางานวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้เพื่อมาพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการของประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งได้ถูกบรรจุให้เป็นหน้าที่ของสถาบันในพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ.ที่กำลังร่างอยู่ในขณะนี้

กล่าวสำหรับสถานการณ์ในปัจจุบันของคณะยอดฮิตในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปจากในอดีตไม่น้อย นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยเทรนด์คณะยอดฮิตประจำปี 2561 คือ “คณะสาขาที่มีงานทำ รายได้ดี และมั่นคง” ได้แก่ สาขาด้านอุตสาหกรรมต่าง ๆ วิศวกรรมเคมี วิศวกรรมไฟฟ้า ทันตแพทยศาสตร์ พยาบาล โดยสาขาที่โดดเด่น คือ วิศวกรรมโยธา เพราะรองรับเมกะโปรเจ็กต์ที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน

สอดคล้องกับ นางเกศินี วิฑูรชาติ รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยถึงเทรนด์คณะยอดฮิตในปี 2561 ของ มธ. โดยภาพรวมสาขาบัญชี การเงิน วิศวะฯ มาแรง เพราะเป็นศาสตร์ที่เน้นกระบวนการคิดวิเคราะห์ แยกแยะข้อมูลความเป็นเหตุเป็นผล เป็นศาสตร์ที่สามารถนำมาบูรณาการกับสาขาอื่นได้ เช่น วิศวะหากนำมาบูรณาการเรียนร่วมกับสาขาทางด้านการแพทย์ จะทำให้เกิดนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง วิทยาศาสตร์สุขภาพ เนื่องจากช่วงหลังคนส่วนใหญ่หันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น แต่ยังขาดแคลนบุคลากร

ส่วนอาชีพที่มาแรงประจำปี 2561 ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเผยว่า 10อาชีพโดดเด่น ได้แก่ 1. แพทย์ผิวหนังและศัลยกรรม 2. โปรแกรมเมอร์ นักพัฒนาซอฟท์แวร์ นักวิเคราะห์ข้อมูล 3. นักการตลาดออนไลน์ , เน็ตไอดอล 4. นักการเงิน 5. กราฟิกดีไซน์ , นักวิทยาศาสตร์ด้านอาหาร 6. นักวิทยาศาสตร์ด้านความงาม , อาชีพด้านการท่องเที่ยว 7. ผู้ประกอบการธุรกิจแบบสตาร์ทอัป , ธุรกิจ อี-คอมเมิร์ซ 8. อาชีพในวงการบันเทิง , สถาปนิก 9. ครูสอนพิเศษ และ 10. นักบัญชี

ยากที่จะปฎิเสธว่าในสังคมไทย ใบปริญญาเปรียบเสมือนใบเบิกทางสู่อาชีพการงานที่ดี ทว่า มีบุคคลที่จำนวนไม่น้อยที่ประสบความสำเร็จโดยไม่มีใบปริญญา และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากทั่วโลก อาทิ “มาร์ก เอลเลียต ซักเคอร์เบิร์ก” ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก, “บิล เกตส์” ผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์, “สตีฟ จอบส์” ผู้ก่อตั้งบริษัทแอปเปิ้ล

หรืออย่าง ล่าสุด “เศรษฐี 6 ขวบ” เรื่องราว ไรอัน เด็กชายอายุ 6 ขวบ ซึ่งสามารถทำเงินผ่านการรีวิวของเล่นลง YouTube สร้างรายได้กว่า363 ล้านบาทต่อปี เปิดรายการรีวิวของเล่นชื่อ “Ryan ToysReview” ผ่าน YouTube Channel จนกลายเป็นเศรษฐีตัวน้อยติดหนึ่งในรายชื่อ Channel ที่ทำเงินมากที่สุดบน YouTube โดยการสนับสนุนของพ่อแม่

ดังที่ “แจ็ค หม่า” นักธุรกิจชาวจีนผู้ก่อตั้งและประธานบริหารของกลุ่มอาลีบาบา กล่าวปาฐกถาไว้อย่างน่าสนใจ ตอนหนึ่งความว่า

“ปริญญาตรี โท เอก มันเป็นเพียง แค่ใบเสร็จ ที่บอกว่าคุณจ่ายเงินมากแค่ไหนเพื่อให้เรียนจบ โรงเรียนที่แท้จริงคือสังคมที่เราอยู่ต่างหาก ที่คุณจะพิสูจน์ว่า สิ่งที่คุณเรียนรู้มา สามารถทำให้เกิดความแตกต่างได้หรือไม่”



กำลังโหลดความคิดเห็น