ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เรื่องคดียิงปืนและพกปืนไปในที่สาธารณะของ “เสกสรรค์ ศุขพิมาย” หรือ “เสก โลโซ” ที่นครศรีธรรมราช กับคดี “ฉี่” ที่ผลตรวจออกมาเป็น “สีม่วง” และเป็นสารเสพติด “กลุ่มเมทแอมเฟตามีน” ไม่ใช่ยานอนหลับอย่างที่กล่าวอ้าง ก็ว่ากันไปตามกระบวนการของกฎหมาย ส่วนเจ้าหน้าที่จะดำเนินการ “เวอร์เกินเหตุ” ในการไปจับกุมก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องวิพากษ์วิจารณ์
แต่เรื่องที่น่าสนใจและหลายคนอาจยังไม่ทราบก็คือ “วัดเขาขุนพนม” ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านเกาะ อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช และเป็นสถานที่ที่ “เสก โลโซ” ยิงปืนขึ้นฟ้าในงานสมโภช 250 ปีพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อกลางดึกคืนวันที่ 29 ธันวาคม 2560นั้น มีความเกี่ยวข้องกับ “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” อย่างไร
เพราะ เสกมาเล่นคอนเสิร์ตที่วัดแห่งนี้ก็เพื่อ “ถวายองค์พ่อตากสิน พระมหากษัตริย์ ผู้กอบกู้ผืนแผ่นดินไทยให้ลูกหลานอยู่เย็นเป็นสุข มีที่ทำกิน ตราบเท่าทุกวันนี้ ยิงสลุตถวายพระองค์ท่านด้วยความจงรักภักดี หลังจากแสดงคอนเสิร์ตเสร็จ ในวาระครบ 250 ปี” ตามข้อความที่ระบุไว้ใน เพจเฟซบุ๊ก “SEK LOSO”
ขณะเดียวกัน ถ้าหากยังจำกันได้ ไม่เพียงแต่ “เสก โลโซ” เท่านั้น ที่เคยมายิงสลุตพระเจ้าตากที่วัดเขาขุนพนม แต่อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยคือ “นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์” ซึ่งเป็น “คนเมืองคอน” พร้อมด้วยภรรยาคือ “นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์” ก็เคยมาทำพิธีที่วัดแห่งนี้
กล่าวคือเมื่อครั้งที่นายสมชายตำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เดินทางมาพร้อมกับนางเยาวภา พร้อมบรรดาเครือญาติตระกูลชินวัตร โดยในครั้งนั้นคณะของชายจืดได้เดินทางมานมัสการศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช ทำพิธีบวงสรวงองค์จตุคามรามเทพที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จากนั้นได้เดินทางไปทำพิธีบวงสรวงสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชภายในวัดเขาขุนพนม อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช ก่อนที่จะเดินทางต่อไปนมัสการพ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์ วัดสวนขัน อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช
ทั้งนี้ พิธีกรรมดังกล่าว มีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการเดินสายบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์สืบชะตาแก้เคล็ดให้กับ นช.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และมีรายงานข่าวด้วยว่า นช.ทักษิณเตรียมจะเดินทางมาร่วมพิธีดังกล่าวด้วยจริง แต่เมื่อมีข่าวรั่วออกไปทำให้ชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชที่ทราบเรื่องต่างแสดงความไม่พอใจกันเป็นจำนวนมาก ประกอบกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ไม่ให้การรับรองความปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำให้ นช.ทักษิณ ไม่กล้าที่จะเดินทางลงไป แต่มอบหมายให้น้องสาวและน้องเขยเป็นผู้ประกอบพิธีแทน โดยเฉพาะพิธีเข้าทรงสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช นช.ทักษิณ จะใช้วิธีโทรศัพท์ทางไกลมาสนทนากับร่างทรงแทนเดินทางไปด้วยตัวเอง
และภายหลังจากพิธีบวงสรวงพระเจ้าตากโดย “พราหมณ์สุเมธ” ซึ่งเป็นพราหมณ์ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดนครศรีธรรมราชแล้วเสร็จ ก็ได้มีตำรวจชั้นประทวนแต่งเครื่องแบบ ใช้อาวุธปืน เอช เค ยิงสลุตขึ้นฟ้า 21 นัดเหมือนกับ “เสก โลโซ” เช่นกัน และไม่เป็นที่แน่ชัดว่า คดีดังกล่าวจบลงอย่างไร
ในครั้งนั้น เจ้าอาวาสวัดเขาขุนพนม เปิดเผยถึงเรื่องการเข้ามาประกอบพิธีบวงสรวงสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ภายในอุโบสถมหาอุดและในบริเวณวัดของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ว่าการประกอบพิธีกรรมถวายความเคารพกับสมเด็จพระเจ้าตากสินใครก็ได้มาประกอบพิธีได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นคณะของนายสมชายเท่านั้น
กล่าวสำหรับ “วัดเขาขุนพนมกับพระเจ้าตาก” นั้น แม้จะไม่ได้มีบันทึกเอาไว้ในพงศาวดารหรือหนังสือประวัติศาสตร์ฉบับใดๆ ก็ตาม แต่ในทาง “ความเชื่อ” ในระดับปุถุชนคนธรรมดา โดยเฉพาะชาวบ้านแล้ว วัดแห่งนี้ได้รับการยอมรับว่า มีความเกี่ยวข้องกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจริงๆ
หนังสือ แหล่งศิลปกรรม อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งจัดทำโดย สำนักศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช เขียนเอาไว้ว่า
“วัดเขาขุนพนมสันนิษฐานว่ามีความสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ของเมืองนครโดยตลอด แต่มีการบันทึกหลักฐานไว้น้อย ในตอนปลายสมัยสมเด็จเจ้ากรุงธนบุรี ตามประวัติศาสตร์บันทึกว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระวิกลจริต สติฟันเฟือน เพราะสำคัญว่าทรงบรรลุโสดาบันทรงบังคับพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ให้กราบไหว้พระองค์เป็นการใหญ่ บ้านเมืองจึงเกิดความวุ่นวาย สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงขึ้นครองราชย์ต่อมา จากเหตุการณ์ตอนนี้ สันนิษฐานและอ้างหลักฐานประกอบต่างกันออกไปว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ถูกสำเร็จโทษตามพงศาวดาร เพราะมีการสับเปลี่ยนโดยเอาตัวพระญาติหรือทหารมีลักษณะคล้ายพระองค์ไปแทน แล้วพาพระองค์ลงเรือหนีไปเมืองนคร แล้วเสด็จที่ประทับที่วัดเขาพนม จนสวรรคต แล้วพระอัฐิของพระองค์นำไปฝั่งไว้ ณ ฮวงซุ้ย ทางด้านเหนือของเมืองนคร แต่บางท่านสันนิษฐานว่า เขาขุนพนมมีโบราณสถานแตกต่างกัน จากวัดอื่น ๆ ถึงขนาดมีป้อมปราการคุ้มกันอย่างแข็งแรง หาได้เป็นเพราะสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จประทับที่นี่ แต่เป็นเพราะในสมัยที่พระยาตรังภูมาภิบาลเป็นเจ้าเมืองนครนั้น ท่านมักจะไปพักตากอากาศที่นั่นบ่อย วัดเขาขุนพนมเป็วัดควรแก่การอนุรักษ์และศึกษาวัดหนึ่ง เพราะวัดนี้ชวนให้เกิดข้อสันนิษฐานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์อยู่ไม่น้อย”
ขณะเดียวกัน “ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย” โดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์กรมหาชน) ยังได้ให้ข้อมูลเอาไว้ด้วยว่า “วัดเขาขุนพนมเป็นวัดเก่าแก่ มีภิกษุจำพรรษามาตั้งแต่ครั้งนครศรีธรรมราชยังเป็นนครรัฐอิสระในคาบสมุทรภาคใต้ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๒๐ วัดตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาขุนพนมซึ่งเป็นเขาที่ไม่สูงมากนัก บริเวณเขาขุนพนมมีประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเล่าว่า เขาขุนพนมเป็นที่ประทับของพระเจ้าตากสินที่หนีการสำเร็จโทษและทรงผนวชที่วัดแห่งนี้จนกระทั่งสวรรคต วัดเขาขุนพนมเคยเป็นวัดร้าง ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้รับการบูรณะใหม่ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ได้มีการบูรณะอุโบสถหลังเก่าซึ่งเป็นโบสถ์มหาอุดม์”
หรือก่อนหน้านี้ ในราวปี 2553 ก็เคยมีข่าวใหญ่เกี่ยวกับวัดเขาขุนพนมปรากฏตามสื่อว่า “เจ้าอาวาสวัดเขาขุนพนมฝันประหลาด 2 คืนติดกัน ว่าได้พบกับพระเจ้าตากสินและขุนทหาร ทรงรับสั่งให้ขุดศาสตราประจำพระองค์ที่ถูกฝังใจกลางถ้ำขึ้นมา นำเรื่องปรึกษากรรมการวัด ตัดสินใจลงมือขุด ก็ได้พบกริชโบราณอย่างน่าอัศจรรย์...”
ทั้งนี้ “หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ได้รายงานว่า กริชดังกล่าวขุดพบที่ “ถ้ำดาดฟ้า” ซึ่งอยู่ห่างจากตัววัดไปราว 200 เมตร โดยถ้ำแห่งนี้เ ป็นถ้ำขนาดใหญ่ต้องไต่โขดหินใกล้หน้าผา และต้องใช้เชือกไต่ลงไป
พระครูปิยคุณาธาร เผยว่า ก่อนจะพบกริชดังกล่าว ได้ฝันเห็นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พร้อมด้วยขุนทหารมากมายในชุดนักรบโบราณ มายืนล้อมตัว ขอร้องให้ขุดกริชโบราณซึ่งเป็นศาสตราประจำพระองค์ ที่ถูกฝังอยู่ในถ้ำดาดฟ้า ขึ้นมาแล้วนำไปเก็บไว้รวมกับกริชอีกอันหนึ่งที่มีผู้พบก่อนหน้านี้แล้ว และเก็บเอาไว้ในพิพิธภัณฑ์ของวัด
“โดยในความฝันพระองค์ทรงรับสั่งให้ใช้จอบขุดลงตรงดินใจกลางถ้ำจำนวน 28 จอบ จะพบกริช ซึ่งกริชทั้งคู่เป็นกริชประจำพระองค์ ที่ถูกฝังอยู่กว่า 200 ปี ขณะพระองค์ท่านเสด็จประทับที่ถ้ำแห่งนี้และช่วยทำบุญถวายให้พระองค์และขุนทหารด้วย หลังจากนั้นมีไฟลุกรายรอบร่างกายของอาตมา”
พระครูปิยคุณาธาร เล่าต่อว่า คืนต่อมาก็ฝันเหมือนเดิมอีก และไม่สามารถที่จะข่มตาหลับลงได้ มีความรู้สึกว่าจีวรร้อนระอุเหมือนถูกเผาตลอดทั้งคืน แม้จะออกจากกุฏิไปสรงน้ำหลายครั้ง ก็ไม่อาจทุเลาความร้อนดังกล่าวได้ รอจนฟ้าสางจึงเล่าความฝันให้พระในวัด และกรรมการวัดทราบ จึงตัดสินใจพากันไปขุดดินที่เป็นดินผสมหินปูนใจกลางถ้ำ เมื่อขุดลึกลงไปได้ 28 จอบ ก็พบกริชดังกล่าวเหมือนในความฝัน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์มาก หลังพบกริช จึงได้ทำพิธีสวดมาติกา บังสุกุล อุทิศส่วนกุศลให้กับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและบรรดาขุนทหารของพระองค์ท่าน
“ปกติไม่เคยเชื่อในเรื่องของไสยศาสตร์และความลี้ลับ ถือได้ว่าเป็นพระรุ่นใหม่รูปหนึ่ง สำเร็จการศึกษารัฐศาสตร์บัณฑิต และผ่านการเรียนในหลักสูตรด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีใหม่ๆ มาหลายสาขา ไม่เคยเชื่อเรื่องลี้ลับเรื่องอาถรรพ์ ก่อนหน้านี้ปฏิบัติหน้าที่ผู้ช่วยเลขานุการพระเทพวินยาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราช ก่อนได้รับการแต่งตั้งมาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดแห่งนี้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องเหลือเชื่อ แม้ว่าวัดแห่งนี้จะมีประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับองค์พระเจ้าตากสินมหาราชมากมาย แต่ไม่เคยคาดฝันว่าจะมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น สำหรับกริชที่พบจะแจ้งให้เจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากรทราบเพื่อมาตรวจสอบ และจะได้เชิญผู้เชี่ยวชาญมาดูเพื่อพิสูจน์ว่ากริชนี้สร้างในสมัยใด มีความเป็นมาอย่างไรกันแน่ แต่จากตัวอักษรที่จารึกบนตัวกริชคาดว่าน่าจะเป็นภาษาลังกา โบราณ” เจ้าอาวาสวัดเขาขุนพนมบอกเล่า
นอกจากนี้ “โรม บุนนาค” ได้เคยเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับวัดเขาขุนพนมกับพระเจ้าตากเอาไว้ในคอลัมน์ “เรื่องเก่าเล่าสนุก” เอาไว้อย่างน่าสนใจ โดยระบุว่า “มีเรื่องเล่าที่น่ากังขาเกี่ยวกับพระเจ้าตากสินอยู่เรื่องหนึ่ง ไม่ตรงกับพงศาวดารซึ่งระบุว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินถูกนำไปประหารด้วยการใส่กระสอบทุบด้วยท่อนจันทน์เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ.๒๓๒๕ ณ ป้อมวิชัยประสิทธิ์ แต่พงศาวดารฉบับชาวบ้านกลับเล่ากันว่า ท่านได้ล่องหนหลบท่อนจันทน์ไปจำศีลภาวนาจนสวรรคตที่วัดเขาขุนพนม อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีหลักฐานยืนยันอย่างน่าเชื่ออยู่ที่วัดนี้
“เมื่อเดินไปถึงเชิงบันได ๒๔๕ ขั้นที่จะขึ้นไปสู่ถ้ำบนเขาที่ว่าพระเจ้าตากสินทรงใช้เป็นที่เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ก็พบแผ่นป้ายที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยติดไว้ มีข้อความว่า ชาวนครศรีธรรมราชเชื่อกันว่า ถ้ำแห่งนี้เคยเป็นที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้เสด็จหนีมาผนวชและประทับ ณ ถ้ำแห่งนี้จนสวรรคต โดยสันนิษฐานจากเพลงกล่อมเด็กที่เรียกกันว่าเพลงร้องเรือ ภายในถ้ำได้มีผู้ขุดพบพระพุทธรูปทองคำ เงิน สัมฤทธิ์ และพระพุทธรูปจำลองเป็นศิลปะสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง ปัจจุบันโบราณวัตถุเหล่านี้แสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์วัดเขาขุนพนม”
เมื่อขึ้นบันไดไปเล็กน้อย ที่ชะง่อนเขาด้านซ้ายมือ จะมีตำหนักพระเจ้าตากสินตั้งอยู่ มีรูปปั้นของพระองค์ประดิษฐานอยู่ภายใน ส่วนภายนอกด้านหลังมีแผ่นหินใหญ่จารึกข้อความไว้ว่า “พระตำหนักสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วัดเขาขุนพนม อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช
“โรม บุนนาค” ยังเล่าด้วยว่า เมื่อขึ้นบันไดต่อไปจนสุด ๒๔๕ ขั้น ก็พบถ้ำที่ว่าเคยประทับ เป็นลานหินกว้างประมาณ ๒๐ ตารางวา เว้าลึกเข้าไปในภูเขา เหมือนเป็นหลังคากำบังแดดและฝน มีการก่อกำแพงเหมือนกำแพงวัง กั้นด้านในเป็นซอกหลืบ มีทางเข้าออกเล็กๆ นัยว่าข้าติดตามครั้งนั้นได้สร้างขึ้นเพื่อทรงใช้เป็นที่ทำสมาธิ และเป็นที่น่าสังเกตว่า จานชามที่ติดฝังประดับไว้ในกำแพงนั้น มีลวดลายสวยงาม เป็นของมีราคาที่ไม่น่าจะเป็นของใช้ของชาวบ้านธรรมดา อีกทั้งพระพุทธรูปทองคำ เงิน และสัมฤทธิ์ที่ขุดได้ในถ้ำนี้ ก็คงไม่ใช่ของที่ชาวบ้านในป่าลึกเช่นนี้จะเอาขึ้นไปไว้
เล่ากันว่า พระเจ้าตกสินทรงฝักใฝ่ในพระศาสนา ทั้งยังทรงเจริญวิปัสสนาปฏิบัติกรรมฐานเป็นประจำ แต่ในระยะหลังมีเรื่องที่ทำให้ทรงเคร่งเครียดอย่างมาก วันหนึ่งรับสั่งให้คนไปตามเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกมาเฝ้า เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกำลังจะนำทัพออกไปตีเมืองเขมรก็สะพายดาบไปด้วย เมื่อเห็นพระเจ้าตากสินอยู่ในชุดนุ่งขาวห่มขาวถือลูกประคำ ประทับอยู่ในห้องกรรมฐาน จึงชะงักอยู่เพียงแค่ประตู พระเจ้าตากรับสั่งว่า “เข้ามาซิทองด้วง เข้ามาทั้งยังงั้นแหละ” เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกก็ทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้ามิบังอาจ” ว่าแล้วก็ปลดดาบวางหน้าประตูคลานเข้าไป พระเจ้าตากเงยพระพักตร์ขึ้นมอง แล้วรับสั่งอย่างจริงจังว่า
“ทองด้วง ข้าจะให้เจ้าเป็นพระเจ้าแผ่นดินแทนข้า”
เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกก็รีบกราบทูลว่า
“ข้าพระพุทธเจ้าไม่เคยแม้แต่จะคิด”
แต่พระเจ้าตากสินก็ยืนยันว่ามีเหตุจำเป็นที่จะต้องเป็นเช่นนั้น
“โรม บุนนาค” บันทึกเอาไว้ในข้อเขียนว่า “ความจำเป็นในเรื่องนี้ก็คือ เมื่อครั้งกรุงแตก พม่าได้กวาดทรัพย์สินในท้องพระคลังไปจนหมด นอกจากพระเจ้าตากสินจะต้องซื้อข้าวจากต่างประเทศมาช่วยราษฎรที่อดอยากแล้ว ยังต้องสร้างกรุงธนบุรีขึ้นด้วย จึงอาศัยเงินกู้จากพ่อค้าเจ้าสัวชาวจีนซึ่งคิดว่าพระเจ้าตากสินเป็นลูกจีน หวังจะมีอิทธิพลเหนือเมืองไทย แต่เมื่อทรงถูกเร่งรัดหนี้และไม่มีทางหามาใช้ได้จึงทรงเครียดหนัก แต่สัญญาเงินกู้ในยุคนั้นก็นิยมระบุกันไว้ว่า ถ้าผู้กู้หรือผู้ให้กู้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเกิดวิกลจริตหรือถึงแก่กรรม หนี้สินมิให้ตกถึงทายาท พระเจ้าตากสินจึงทรงเลือกเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกผู้ที่ทรงไว้พระราชหฤทัยที่สุด เพราะเป็นทั้งเพื่อนสนิทและกรำศึกรอบทิศมาด้วยกัน ทรงเห็นว่าเป็นผู้เข้มแข็งที่จะรักษาบ้านเมืองไว้ได้มากกว่าพระราชโอรสของพระองค์เอง แต่เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกก็ยังมิได้ตอบรับ ขอไปจัดการกับเขมรก่อน”
“เมื่อเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกและเจ้าพระยาสุรสีห์ ๒ พี่น้อง พร้อมด้วยพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนอินทรพิทักษ์ ยกทัพไปตีเมืองเขมรแล้ว พระเจ้าตากสินก็ทรง “ออกอาการ” ต่างๆทางด้านวิปลาส เช่น เรียกประชุมสงฆ์แล้วถามว่าเราบรรลุโสดาบันแล้ว แต่พวกท่านเป็นพระยังไม่บรรลุ พระอย่างท่านจะไหว้เราซึ่งเป็นฆราวาสได้หรือไม่ สงฆ์ที่เกรงกลัวในพระบารมีก็ยอมไหว้ องค์ไหนที่ไม่ยอมก็ให้เอาไปเฆี่ยน แต่ก็เล่ากันว่าพวกที่ถูกเฆี่ยนนั้นล้วนเป็นนักโทษห่มเหลืองกันทั้งนั้น อาการวิปลาสต่างๆของพระเจ้าตาก ทำให้พระยาสรรค์ซึ่งไม่รู้แผน บังคับพระเจ้าตากซึ่งต่อมาทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ให้ลาผนวชแล้วจองจำไว้ แจ้งข่าวให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกรีบกลับมา จนสำเร็จโทษพระเจ้าตากด้วยท่อนจันทน์ แล้วอัญเชิญเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกขึ้นครองราชย์”
“หลังจากนั้นอีก ๔ วัน ก็มีสำเภาลำหนึ่งออกจากกรุงธนบุรี มีคน ๑๐ คนไปขึ้นฝั่งที่เมืองนครศรีธรรมราช แล้วเดินทางต่อด้วยช้างไปยังวัดเขาขุนพนม ในจำนวนนั้นมีหม่อมประยงค์ น้องสาวร่วมสายโลหิตของพระเจ้าตาก พร้อมด้วย นายชิด นายชุบ ผู้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท ขอติดตามไปรับใช้ มีช้างเชือกหนึ่งประจำอยู่ที่เมืองนคร อีกเชือกหนึ่งอยู่ที่วัดเขาขุนพนม เดินทางขนสัมภาระถึงกันตลอดเวลา
ต่อมาอีก ๒ ปี นายชิดกับนายชุบก็เสียชีวิตเพราะไข้ป่า ทำให้ทรงเสียพระราชหฤทัยมาก ให้นำอัฐิของคนทั้งสองบรรจุไว้ในรูปปั้นยักษ์ที่รักษาทวารบนถ้ำ และอีก ๒ ปี พระเจ้าตากสินก็สวรรคตด้วยไข้ป่าเช่นกัน ทรงประทับอยู่ที่เขาขุนพนมเพียง ๔ ปี”
ประเด็นที่น่าสนใจที่ “โรม บุนนาค” เขียนเอาไว้อีกเรื่องหนึ่งก็คือ “เมื่อตอนเจ้าพระยานคร (น้อย) ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นโอรสลับของพระเจ้าตาก เสียชีวิตลง มีการฌาปนกิจศพบนเมรุใหญ่กลางเมือง คนทั้งหลายต่างพากันแปลกใจที่บนเมรุใหญ่นั้นมีโลงศพตั้งเคียงคู่กันอยู่ ๒ โลง อีกโลงที่ตั้งเคียงกับโลงศพเจ้าพระยานคร ไม่มีใครรู้ว่าเป็นศพใคร และมีการนำอัฐิจากโลงนั้นบรรจุไว้ในเจดีย์องค์หนึ่งซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับเจดีย์พระบรมธาตุเมืองนคร ซึ่งชาวบ้านทุกวันนี้เรียกกันว่า “เจดีย์ดำ” มีรูปพระเจ้าตากสินตั้งอยู่หน้าเจดีย์ และมีคนมาจุดธูปบูชากราบไหว้กันไม่ขาด”
และทั้งหมดนั้นคือ “พงศาวดารฉบับชาวบ้าน” ส่วนหลักฐานต่างๆ ซึ่งปรากฏอยู่ที่วัดเขาขุนพนมหรือที่อื่นๆ จะยืนยันความจริงได้แค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละบุคคล