xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

แอร์พอร์ตลิงก์วุ่นๆ ทุจริต แออัด ขาดทุนยับ!!??

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - คงไม่เกินเลยไปนักหากจะบอกว่า การบริหารธุรกิจสไตล์รถไฟไทยยังไม่พัฒนาไปถึงไหน ไม่ว่าจะเป็นรางเดี่ยว รางคู่หรือว่าไฮสปรีดเทรน แต่ที่ดูย่ำแย่ที่สุดเห็นจะไม่มีขบวนไหนเกิน “แอร์พอร์ตลิงก์” ที่อื้อฉาวด้วยข่าวคราวทุจริตตลอดศก ทั้งยังบริหารได้เละเทะระดับตำนาน ขนาดที่ว่าผู้โดยสารแออัดยัดเยียดจวนเจียนจะเหยียบเท้ากันยืน แต่ผลประกอบการยังขาดทุนยับเยินแบบเหลือเชื่อ แต่ก็นั่นแหละคือสไตล์ ร.ฟ.ท.ของแท้ ไม่ว่าองค์กรตัวแม่หรือบริษัทลูก

หากจะอัพเดทเรื่องทุจริตที่อยู่คู่แอร์พอร์ตลิงก์นับแต่ก่อกำเนิดจนบัดนี้ ล่าสุดที่เพิ่งเกิดขึ้น คือ การร้องเรียนกรณี บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ บริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กระทำการทุจริตการจัดซื้อผ้าเบรกของรถไฟฟ้าจำนวน 1,200 ชุด และหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ซึ่งผู้ร้องเรียน คือ นายอารัมย์ รมยานนท์ ได้ทำหนังสือไปยังศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2560 ที่ผ่านมา และขณะนี้ ศอตช.ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ดำเนินการตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่

ข้อร้องเรียนจัดซื้อผ้าเบรกคราวนี้ก็คือ มีการลงวันที่ย้อนหลังในเอกสารจัดซื้อ เป็นการหลีกเลี่ยงไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการพ.ร.บ.จัดซื้อฯ 2560 และการสืบราคาจากบริษัทตัวแทนเพื่อตั้งเป็นราคากลาง เจตนาเอื้อประโยชน์ให้บริษัทใดบริษัทหนึ่ง

รายละเอียดเอกสารร้องเรียน ระบุปัญหากรณีการกำหนดราคากลางว่า เริ่มต้นรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ติดตั้งระบบห้ามล้อและผ้าเบรก ที่เป็นผลิตภัณฑ์ของ Knoor Bremse AG. (คนอร์) จากประเทศเยอรมนี (ผู้แทนจำหน่ายในประเทศไทย คือ บจ.วิสุทธิ์เกษม (ประเทศไทย) โดยคนอร์ได้ว่าจ้างให้ Federal-Mogul Friction Products GmbH (OEM) ยี่ห้อ Ferodo ประเทศเยอรมนี เป็นผู้ผลิตให้ได้ตามเสปกของคนอร์ (เจ้าของลิขสิทธิ์) ซึ่งมี U4S Co.,Ltd. (ยูโฟร์เอส) เป็นผู้แทนจำหน่ายในประเทศไทย และที่ผ่านมา แอร์พอร์ตลิงก์ได้เคยจัดซื้อจาก บจ.ยูโฟร์เอสมาใช้งานครั้งหนึ่ง ซึ่งการประมูลครั้งนี้ ได้ขอทราบราคาจาก บจ.วิสุทธิ์เกษม เพียงบริษัทเดียว แต่มีการออกหนังสือเชิญประมูลวิธีพิเศษ 2 บริษัท คือ บจ.วิสุทธิ์เกษม และยูโฟร์เอส

ดังนั้น จึงมีข้อพิรุธว่า เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ บจ. ยูโฟร์เอส ทราบราคาประเมินล่วงหน้าของ บจ.วิสุทธิ์เกษม และเสนอราคาได้ต่ำกว่า เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกัน ใช่หรือไม่ มีอะไรมาจูงใจให้คณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างต้องทำเรื่องที่สุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายเช่นนั้น

แต่ที่พิสดารยิ่งกว่า ก็คือ ยังมีการประกาศราคากลางย้อนหลังจากที่ประกาศTOR และออกหนังสือเชิญเข้ายื่นราคาแล้ว โดยผู้ร้องเรียนค้นพบว่า คณะกรรมการฯ ได้ออกเอกสารจัดซื้อ ผ้าเบรก (Brake Pad) ของรถไฟฟ้าจำนวน 1,200 ชุด โดยวิธีพิเศษ เอกสาร เลขที่ รฟท.พ./600153 ลงวันที่ 22 ส.ค.2560 ก่อน พ.ร.บ.จัดซื้อฯ 2560 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 23 ส.ค.2560 เพียงวันเดียว เร่งรีบน่าผิดสังเกตยิ่งนัก

และในวันเดียวกัน (22 ส.ค. 2560) ได้ออกหนังสือเชิญ บจ.วิสุทธิ์เกษม และยูโฟร์เอส ให้ยื่นข้อเสนอด้านเทคนิคและราคา และในวันที่ 22 ส.ค.2560 คณะกรรมการกำหนดราคากลาง ได้ทำหนังสือขออนุมัติราคากลาง โดยได้รับอนุมัติจากรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มสายงานปฏิบัติการและซ่อมบำรุง ในวันที่ 14 ก.ย. 2560 หลังประกาศเชิญชวนไปแล้ว

นี่ใช่ถือเป็นการกระทำย้อนหลัง เพื่อหลีกเลี่ยงปฏิบัติตามพ.ร.บ.จัดซื้อฯ 2560 อย่างชัดเจน หรือไม่

ข้อร้องเรียนข้างต้น เป็นกรณีส่อทุจริตล่าสุดที่ปูดออกมาในรายการจัดซื้อผ้าเบรกของแอร์พอร์ตลิงก์ ขณะที่ก่อนหน้าไม่นานก็มีรายการตรวจสอบการทุจริตจัดซื้อจัดจ้างของแอร์พอร์ตลิงก์ เป็นบัญชีหางว่าวจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)

ที่ผ่านมา สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำหนังสือถึงกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้าร.ฟ.ท. ไม่น้อยกว่า 4 เรื่อง ได้แก่ หนังสือ สตง. ลงวันที่ 27 ก.ค.2560 กรณีการจัดซื้ออะไหล่สำหรับซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า (Overation Spare Part) ชุดปรับอากาศ (HVAC) จำนวน 2 รายการกับบริษัท บี.กริม เทรดดิ้ง คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด วงเงิน 24.95 ล้านบาท สัญญาลงวันที่ 28 เม.ย.2560 โดยขอให้จัดส่งเอกสารจัดซื้อที่เกี่ยวข้องทั้งหมด , สำเนาซื้อขาย , สำเนาที่บริษัท บี.กริม ได้รับแต่งตั้งเป็นตัวแทนเพียงผู้เดียว ระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดเมื่อใด

หนังสือ สตง. ลงวันที่ 13 ก.ย.2560 กรณีการประมูลจ้างจัดหาและติดตั้งประตูกั้นชานชาลาแบบสูงครึ่งบาน (half height) ที่ 7 สถานี ด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) ซึ่งอาจมีการพิจารณาไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของเอกสารประกวดราคาข้อ 2.10 ซึ่งเป็นการกำหนดคุณสมบัติของผู้เสนอราคาจะต้องแสดงหนังสือรับรองว่าสามารถดำเนินการ ออกแบบ ติดตั้ง และทดสอบระบบประตูกั้นชานชาลาแบบสูงครึ่งบานให้เป็นไปตามเกณฑ์ค่าความปลอดภัยที่ระดับ SIL3 ตามมาตรฐานสากลที่ยอมรับทั่วไป โดย สตง. ขอให้ทบทวนขั้นตอนการคัดเลือกคุณสมบัติของผู้เสนอราคาให้เป็นไปตามข้อกำหนด

หนังสือ สตง.ลงวันที่ 25 ต.ค.2560 ตรวจสอบกรณีจัดซื้อรถปฏิบัติการซ่อมบำรุงสมรรถนะสูง (Rail&Road Vehicle) สำหรับใช้เคลื่อนที่บนรางและบนถนน จำนวน 1 ชุดด้วยด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) โดยขอให้ส่งเอกสาร เหตุผลความจำเป็น วัตถุประสงค์ ราคากลาง , ผลการประมูล , การจัดซื้อก่อนหน้านี้มีหรือไม่ อย่างไร และรถปฏิบัติการซ่อมบำรุงสมรรถนะสูง ที่อยู่ระหว่างใช้งานมีกี่คัน และหลักฐานในการนำรถที่จัดซื้อครั้งนี้ใช้ในภารกิจการซ่อมบำรุงรางรถไฟฟ้าอย่างไร

อีกทั้งยังมีหนังสือ สตง. ลงวันที่ 18 ต.ค.2560 ขอให้ตรวจสอบระบบรักษาความปลอดภัยประจำสถานี สืบเนื่องจากกรณีเหตุการณ์ผู้โดยสารหญิงตกชานชาลาได้รับบาดเจ็บที่สถานีพญาไท เมื่อวันที่ 29 มี.ค.2560

นอกจากนี้ การจัดซื้อปฏิบัติการซ่อมบำรุงสมรรถนะสูง เมื่อวันที่ 5 ม.ค.2560 อาจะเข้าข่ายทุจริต โดยใช้นิติกรรมอำพรางทางเอกสาร เนื่องจากข้อเท็จจริงแล้ว รถแบบดังกล่าว คือ ยี่ห้อ Mercedec Benz UNIMOG แต่ TOR ไม่ระบุยี่ห้อ และเปลี่ยนชื่อรถปฏิบัติการซ่อมบำรุงสมรรถนะสูง เพื่อหลีกเลี่ยงการสอบราคากลางจากเบนซ์

ที่สำคัญแอร์พอร์ตลิงก์ ไม่มีความจำเป็นต้องใช้รถดังกล่าว เพราะเป็นรถล้อยางที่ออกแบบใช้สำหรับพื้นราบ รถไฟพื้นราบที่มีคันทางที่ล้อยางจะสามารถขึ้นลงจากด้านไหนก็ได้ หลังปฏิบัติภารกิจเสร็จสิ้นนำรถลงได้ทันที ขณะที่ความเร็วรถ หากบนพื้นราบสูงสุดที่ 80กม./ชม. กรณีวิ่งบนรางไปข้างหน้า ความเร็วสูงสุด 45 กม./ชม. วิ่งถอยหลังจะเหลือ 25 กม./ชม. การสั่งซื้อมาใช้งานกับรถไฟฟ้า ที่เป็นรางลอยฟ้า ทำให้ขึ้นลงได้จุดเดียว คือ โรงซ่อมศูนย์วิจัย การวิ่งใช้ความเร็วได้ต่ำ จึงต้องเผื่อเวลากลับด้วย ทำให้ใช้งานด้านซ่อมบำรุงได้น้อย

ยังมีเรื่องการกำหนดสเป็กใช้น้ำมันดีเซล EURO 6 ซึ่ง ปตท. ไม่มีจำหน่ายในปัจจุบัน หากใช้ EURO 5 เครื่องยนต์จะเสียหาย และไม่สามารถเรียกเคลมประกันได้ เพราะเป็นความผิดของผู้ใช้ เรื่องนี้อาจเป็นการใช้งบประมาณที่ไม่ถูกต้องหรือไม่

ฉะนี้แล้ว อย่าได้แปลกใจที่แอร์พอร์ตลิงก์ จะมีปัญหาหนักหนาสาหัสมาโดยตลอด ทั้งด้านการบริการ ซึ่งมีปัญหานับแต่ขบวนรถไม่เพียงพอต่อผู้ใช้บริการ ไม่ตรงเวลา สถานีเข้าถึงยาก ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก ในด้านการซ่อมบำรุง ยิ่งเป็นปัญหาใหญ่ทั้งระบบรางและขบวนรถที่ออกอาการน่าเป็นห่วงจนมีเสียงท้วงติงมาจากผู้เชี่ยวชาญที่เฝ้าติดตามตรวจสอบมาเป็นระยะๆ แต่ทุกอย่างก็ดูเหมือนจะวนๆ แบบย่ำอยู่ที่เดิม

ทุกวันนี้แอร์พอร์ตลิงก์ มีผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้นเฉลี่ยบางวันสูงถึง 6 หมื่นคนต่อวันและเคยสูงสุดอยู่ที่ 8.5 หมื่นคนต่อวัน จากจำนวนผู้โดยสารจากชานเมืองตะวันออกนิยมใช้บริการมากขึ้นแม้จะมีการปรับรถด่วนเอ็กซ์เพรสวิ่งช่วยบริการในส่วนของซิตี้ไลน์แล้วก็ตามแต่ยังไม่เพียงพอต่อการให้บริการ ที่น่าอัศจรรย์ใจอย่างยิ่งก็คือ จำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นมากขนาดนี้ แต่องค์กรก็ยังประสบปัญหาขาดทุนประมาณ 300 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่นายพิชิต อัคราทิตย์ อดีตรมช.คมนาคม เปิดเผยตอนที่ไปตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. เมื่อเดือน เม.ย. 2560

ขณะที่ปัจจุบันรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์วิ่งให้บริการ 9 ขบวน แต่ใช้งานเพียง 7 ขบวน ส่วนอีก 2 ขบวนรอการซ่อมใหญ่ การเดินรถจะเข้าสถานีทุก 10 นาที หากวันใดเกิดอุบัติเหตุก็ย่ำแย่รอกันทั้งนานทั้งแน่น

ปัญหาผู้โดยสารแออัดยัดทะนานที่เกิดขึ้น ทางบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ได้เปิดประมูลจัดหารถไฟฟ้าใหม่อีก 7 ขบวน ขบวนละ 4 ตู้ วงเงินรวม 4,855 ล้านบาท ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) แต่สุดท้ายต้องล้มประมูลไปตามระเบียบเพราะถูกครหาล็อกสเปก เพื่อเอื้อประโยชน์เอกชนบางราย เข้าอีหรอบเดิมๆ

ตอนนี้ กำลังมีการตั้งเรื่องจะเปิดประมูลกันใหม่ แต่ยังไม่รู้ว่าบอร์ด ร.ฟ.ท. เอาแบบไหน จะซื้อรถขบวนใหม่ตามแผนเดิม หรือจะปรับปรุงขบวนรถตู้สัมภาระเพิ่มพื้นที่รองรับผู้โดยสาร หรือจะรอเอกชนผู้ลงทุนรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบินตามแผนอีอีซีตัดสินใจซื้อขบวนรถในอนาคตไปเลยหรือไม่เพราะเป็นเส้นทางเดียวกัน

ถึงแม้โอกาสธุรกิจจะมาแล้ว จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นมากมายเกือบเท่าตัวแล้ว ทั้งยังมีเมกะโปรเจกต์อีอีซีมาจ่อรออยู่แล้ว แต่แอร์พอร์ตลิงก์ก็ยังอยู่ในวังวนแปรโอกาสเป็นวิกฤต และส่อทุจริตกันเป็นนิจศีลตามสไตล์รถไฟไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น