xs
xsm
sm
md
lg

I Can

เผยแพร่:   โดย: อ.สุดาทิพย์ จารุจินดา อินทร

        นางเซ็ตสึโกะ (นากามูระ) เธอร์โลว์ - นางบีทรีซ ฟิห์น
ชื่อองค์กร I Can เป็นที่กล่าวขวัญถึงอย่างกว้างขวางทั่วโลก เมื่อคณะกรรมการรางวัลโนเบลได้ตัดสินให้เป็นผู้ชนะรางวัลสาขาสันติภาพของปีนี้ แม้องค์กรนี้จะเพิ่งก่อตั้งอย่างเป็นปึกแผ่นเมื่อ 10 ปีมานี้เอง (ก่อตั้ง ค.ศ. 2007)

สำหรับชื่อรางวัลโนเบลนั้น อย่าอ่านออกเสียงว่าโนเบิลนะคะ เพราะผู้ก่อตั้งรางวัลท่านนามสกุลโนเบล (Nobel) ไม่ใช่โนเบิล (Noble)

ท่านอัลเฟรด โนเบล เป็นผู้คิดค้นและทำธุรกิจขายดินระเบิดจนได้เป็นมหาเศรษฐี ในที่สุดก็ตระหนักถึงความโหดร้ายของดินระเบิดที่สามารถทำลายชีวิตมนุษย์ได้อย่างโหดเหี้ยมและกว้างขวาง ยิ่งกว่าการทำร้ายฟาดฟันกันด้วยมีดและดาบ จึงได้มอบทุนเพื่อก่อตั้งรางวัลสันติภาพเมื่อกว่า 100 ปีมาแล้ว เพื่อมอบแก่บุคคล (หรือองค์กร) ที่พยายามคิดค้นหาวิธีนำโลกไปสู่สันติภาพ

เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการรางวัลโนเบลได้พิจารณาจากผู้อยู่ในข่ายเสนอเข้ารับรางวัลทั้งสิ้นกว่า 300 ราย และองค์กร I Can ซึ่งเป็นตัวย่อของ International Campaign to Abolish Nuclear Weapons ก็ได้รับคัดเลือก สำหรับตัวย่อ I Can นี้มีความหมายที่ดีมากว่า-ฉันก็ทำได้-จากคำเต็มคือ องค์กรนานาชาติรณรงค์เพื่อกำจัดอาวุธนิวเคลียร์

องค์กรนี้มีพวกเอ็นจีโอถึงเกือบ 500 องค์กรทั่วโลกที่จับมือกันรณรงค์ผู้คนจากสาขาอาชีพต่างๆ ทั้งแพทย์, สิ่งแวดล้อม, นักธุรกิจก้าวหน้า ฯลฯ นับล้านๆ คนเพื่อขับเคลื่อนทางสังคมครั้งใหญ่ในการผลักดันให้โลกยกเลิกใช้และพัฒนาอาวุธมหาประลัยที่ทำลายล้างโลกที่รุนแรงที่สุด คืออาวุธนิวเคลียร์

หลังก่อตั้งมาแค่ 10 ปี ได้ให้ความรู้แก่ชาวโลกภายใต้การทำงานอย่างหนัก และวิธีการที่ฟันฝ่าอุปสรรคทั้งปวง จนนำมาสู่การเสนอเข้าองค์กรสหประชาชาติเป็นข้อตกลงเลิกผลิตอาวุธนิวเคลียร์ และเกิดขึ้นท่ามกลางความร้อนแรงของการสาดใส่เข้าหากัน ด้วยคารมเชือดเฉือนเร่าร้อนใน 2 เรื่องคือ

1. ระหว่างผู้นำ (อายุ 70 กว่า) ของประเทศที่เศรษฐกิจขนาดใหญ่สุดของโลก และมีแสนยานุภาพที่แข็งแกร่งที่สุดในโลกเช่นกัน กับผู้นำอายุแค่ 30 ปีที่ไร้ประสบการณ์ในการบริหารประเทศ แต่เพิ่งพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์ชนิดร้ายแรงที่สุดคือ ไฮโดรเจน และซ้อมยิงขีปนาวุธพิสัยไกล (ที่พร้อมจะใส่หัวระเบิดเป็นนิวเคลียร์) ไม่เว้นแต่ละวัน

คนแรกคือ นายทรัมป์ผู้ปากเปราะ ที่ใช้คำพูดแต่ละประโยคมีแต่ข่มขู่ยั่วยุว่าจะใช่ “ไฟบรรลัยกัลป์” (Fire and Fury) หรือ “จะทำลายล้างให้ราบเรียบ” (Totally Destroy) หรือ “ขึ้นเหนียวไกพร้อมกระสุนเต็มรังเพลิง” (Locked and Loaded)

คนที่สองคือ นายคิมน้อยแห่งเกาหลีเหนือ ที่เพิ่งขึ้นมาสู่อำนาจก็ต้องแสดงฤทธิ์เดชสร้างอำนาจปราบปรามผู้ไม่ยอมก้มหัวให้ และกระชับอำนาจปราบปรามผู้กระด้างกระเดื่องจึงทดลองและพัฒนาอาวุธร้ายแรงถี่มาก ให้ประชาชนอยู่ในความหวาดกลัว

ความเสี่ยงสูงมากที่จะเกิดการปะทะระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีเหนือ

2. ขณะนี้นายทรัมป์กำลังพยายามจะฉีกทิ้งข้อตกลงให้อิหร่านหยุดพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ (10 ปี) โดยแลกกับการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรที่คณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นได้เคยลงมติไว้ (ซึ่งทำให้อิหร่านสามารถขายน้ำมันออกสู่ตลาดโลกได้ และนำเงินมาซื้อสินค้ามหาศาลจากทั่วโลกขณะนี้)... จะเกิดอะไรขึ้นถ้าอิหร่านหันกลับไป (แอบ) พัฒนานิวเคลียร์อีก จะเป็นแบบเกาหลีเหนือนั่นเอง!

สำหรับนายทรัมป์ เขามีอำนาจกดปุ่มนิวเคลียร์ได้ตลอดเวลา เพราะเขาเป็นคนเดียวที่รู้โค้ดรหัสกดปุ่ม จนขณะนี้มี ส.ส./ส.ว.ทั้ง 2 พรรคพยายามจะร่างกฎหมายเพื่อสร้างกลไกกลั่นกรองอำนาจล้นฟ้าของเขาให้ลดความเสี่ยงลงมาบ้าง

ผู้นำขององค์การ I Can เป็นผู้หญิง 2 คน คนหนึ่งเป็นผู้รอดชีวิตจากระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรกของโลกที่อเมริกาทิ้งลงที่เมืองฮิโรชิมาเมื่อวันที่ 6 สิงหา 1945 เธอชื่อ นางเซ็ตสึโกะ (นากามูระ) เธอร์โลว์ อายุ 85 ปี ได้รณรงค์ตั้งแต่หลังรอดชีวิตมา (ตอนนั้นเป็นนักเรียนวัยรุ่นอายุ 13 ปีที่เสียเพื่อนร่วมชั้นทั้งหมด และทั้งโรงเรียนรวม 300 กว่าคน รวมทั้งสมาชิกในครอบครัวก็ตายเกือบหมด)...เธอได้รณรงค์มาตลอดต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ และเป็นผู้นำการต่อต้านระเบิดอันตรายนี้ในหลายๆ ประเทศที่เธอได้เดินทางไปกล่าวปาฐกถา เล่าถึงสิ่งที่เธอได้เผชิญมาที่ฮิโรชิมา

คนที่สองเป็นนักกฎหมายชาวสวีเดนที่รณรงค์เพื่อให้โลกยุติการใช้อาวุธนิวเคลียร์ เธอชื่อ บีทรีซ ฟิห์น อายุ 36 ปี เธอมุ่งมั่นและมีความสามารถที่จะเชื่อมเครือข่ายองค์กรต่างๆ อย่างกว้างขวาง จนในที่สุดก็สามารถผลักดันจน 122 ประเทศในองค์การยูเอ็นยอมเห็นด้วยในข้อตกลงให้นานาชาติเดินหน้ายุติการใช้และพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

ปรากฏว่ามีอยู่ 9 ประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับข้อมตินี้ได้แก่ 5 ประเทศในคณะมนตรีความมั่นคง (สหรัฐฯ, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, รัสเซีย, จีน) รวมทั้งอีก 4 ประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์เช่นกันคือ อินเดีย, ปากีสถาน, อิสราเอล และเกาหลีเหนือ

ทั้ง 122 ประเทศจะต้องกลับไปให้สภาของตนรับรองข้อมตินี้ เมื่อใดที่มีประเทศรับรองเพียง 50 ประเทศก็จะมีผลบังคับใช้ได้ทันที

จนถึงขณะนี้มีแค่ 3 ประเทศที่สภาได้รับรอง ซึ่งประเทศไทยก็เป็น 1 ใน 3 อีก 2 ประเทศคือ กายอานา และนครรัฐวาติกัน

ข้อมติที่ผ่านยูเอ็นเมื่อกรกฎาคมนี้ เป็นฝีมือการรณรงค์ที่ยากเข็ญ ที่ต้องใช้พลังจากองค์กรเอ็นจีโอหลายร้อยแห่ง รวมทั้งต้องมีไม่เพียงความมุ่งมั่นกัดไม่ปล่อย แต่ต้องมีคนเฉลียวฉลาดที่จะผลักดันจนมติออกมาได้

ก็เป็นฝีมือการนำของผู้หญิงต่างวัย 2 คนนี้จริงๆ

เช่นเดียวกับแฮชแท็ก “ฉันก็โดนด้วย...Me Too” ที่ประสบผลสำเร็จกว้างขวางเกินคาด สร้างผลกระเพื่อมจนเกิดมาตรฐานใหม่ (New Normal) ที่ผู้ชายต้องไม่แสดงอำนาจบาตรใหญ่กับผู้หญิง ทั้งที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาหรือเพื่อนร่วมงาน โดยการลวนลามทางเพศและฝ่ายหญิงต้องอดกลั้นก้มหน้าไม่กล้าเปิดเผยถึงความบ้าอำนาจหรือชั่วช้าของฝ่ายชาย

แน่นอนว่า ด้วยระบบเทคโนโลยีด้านสื่อสังคม (Social Media) สามารถพลิกโฉมการขับเคลื่อนทางสังคมอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน และเปิดทางให้ผู้หญิงได้มีโอกาสแสดงสมรรถนะได้เต็มที่ ในการนำการขับเคลื่อนสังคมในครั้งนี้ เพื่อทำให้โลกของเราเป็นธรรมมากขึ้น และมีความสุขสงบมากขึ้นนั่นเอง

แทนที่จะปล่อยให้ผู้ชายนำแต่ฝ่ายเดียว!
กำลังโหลดความคิดเห็น