xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ตามดู 6 ร่างกม.ท้องถิ่น ก่อน"ปลดล็อก"เลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หลายท้องถิ่นตอนนี้ กำลังอยู่ในช่วง “เตรียมการบรรจุพนักงาน/ข้าราชการส่วนท้องถิ่น”รอบแรก จาก 3 หมื่นกว่าคน ที่ผ่านการสอบคัดเลือก เข้าทำงานในท้องถิ่นที่ตำแหน่งว่าง ประกอบกับงบประมาณปี 2561 ที่ได้รับอุดหนุนจากรัฐบาล และตั้งเป็นบัญญัติ ขององค์การปรกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นั้น ๆ กว่า 2 แสนล้านบาท

ขณะที่ฝ่ายการเมืองบางแห่ง ที่ยังต้องรักษาการ ตามคำสั่งคสช. ที่ 57/2557 และคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 หลายแห่งยุติบทบาท เพราะมีผู้บริหารและสมาชิกท้องถิ่นครบวาระ หรือพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น ผู้บริหาร อบจ. จะหมดวาระไปพร้อมกันทั้งหมดทั่วประเทศ แต่ที่ยังรักษาการ เพราะยังมีคำสั่งคสช. อยู่ ขณะที่ระดับ อบต. มีบางแห่งยังไม่หมดวาระ และยังไม่แน่ชัดว่าจะมีการควบรวมอบต.เป็นเทศบาลหรือไม่

ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่า ปัจจุบันมีตำแหน่งผู้บริหารและสมาชิกอปท. ว่างถึง 8,410 ตำแหน่ง เนื่องจากหมดวาระ และไม่เคยมีการเลือกตั้ง นับจากคสช. เข้าบริหารประเทศในปี 2557 แต่ได้ใช้วิธีการสรรหา และแต่งตั้งแทน

ส่วนรัฐบาลกำลังอยู่ในขั้นเตรียมความพร้อมในการแก้ไขกฎหมาย “ในเชิงโครงสร้าง”เพื่อเตรียมจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น มี“นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย”กระทรวงมหาดไทย กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สำนักงานกฤษฎีกา และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ร่วมเป็นเจ้าภาพ
 
การแก้ไขกฎหมาย 6 ฉบับ ประกอบด้วย พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 , พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 (อบต.) , พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 (อบจ.) , พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ. 2496 , พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการ กทม. พ.ศ. 2528 และพ.ร.บ.บริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542 คือเป้าหมายที่จะต้องแก้ไข หลังจาก สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ยกร่างเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น โดยกระทรวงมหาดไทย จากนั้นจะเสนอเข้าครม. และเข้าสู่สภานิติบัญญัติ (สนช.) ต่อไป

เมื่อกฎหมายทั้ง 6 ฉบับ บังคับใช้แล้ว จึงจะรู้ว่าจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นประเภทใด จากนั้นจึงจะมีการ “ปลดล็อก” เฉพาะท้องถิ่น

ล่าสุด กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น (กสถ.) เสนอไปยังนายวิษณุ ว่า “ถ้าแก้กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นเสร็จเมื่อไร ก็จะบวกเพิ่มไปอีก 45 วัน ที่จะเตรียมการกำหนดเรื่องต่างๆ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นเกิดขึ้น”

วันก่อน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ขีดเส้นไว้ว่า“สัปดาห์หน้า”คณะกรรมการร่างกฎหมาย ของกระทรวงมหาดไทย จะต้องจัดทำ “ร่างกฎหมาย 6 ฉบับ”ให้แล้วเสร็จ ก่อนส่งกลับไปยังครม. กฤษฎีกา และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 

การแก้ไขกฎหมาย 6 ฉบับ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงมหาดไทย สำหรับกฎหมาย อบต., อบจ., เทศบาล, กทม. และเมืองพัทยา นั้น เป็นการแก้ไขที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ 2560 เช่น การให้ผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น จะต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นต้น หรือต้องให้สอดคล้องกัน เช่นเรื่อง “การปรับลดอำนาจของ อบต.”ที่ต้องรอข้อยุติจาก สนช. ก่อน ว่าจะพิจารณากันอย่างไร

คราวนี้มาดู “ร่างกฎหมาย” หลังจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ส่งมาให้กระทรวงมหาดไทยเพื่อสอบถามความเห็นที่ ประกอบด้วย “ร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ...” มีการแก้ไขเพิ่มเติมดังนี้

1. แก้ไขเพิ่มเติมลักษณะของบุคคลซึ่งต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น เช่น บุคคลซึ่งต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ในเรื่องนี้กฤษฎีกาได้แก้ไขมาตรา 34 (4) เป็น อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่

2. แก้ไขเพิ่มเติมลักษณะของบุคคลซึ่งต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น โดยกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 45 ที่ห้ามบุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ มาใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เช่น มาตรา 45 (2) เดิมกำหนดเป็นบุคคลล้มละลาย เพิ่มเป็น บุคคลล้มละลายหรือทุจริต มาตรา 45 (4) ได้เพิ่มว่า อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราว หรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง

นอกจากนี้ ยังมีกรณีเคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการเพราะทุจริตต่อหน้าที่ เคยต้องคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ คนที่เคยถูกยึดทรัพย์ก็ไม่มีสิทธิที่จะมาสมัคร การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดเกี่ยวกับองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐหรือทุจริตตามกฎหมายอาญา ฉ้อโกง ยาเสพติด ความผิดเกี่ยวกับการพนัน การค้ามนุษย์ การฟอกเงินก็จะไม่มีสิทธิเข้ารับสมัคร เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดอันเป็นการกระทำการทุจริตในการเลือกตั้ง รวมถึงคนที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระไม่มีสิทธิที่จะสมัคร ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำผิดตามพ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ว่าจะได้รับโทษหรือไม่ โดยพ้นโทษหรือต้องคำพิพากษามายังไม่ถึง 5 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง หลักการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นในส่วนของ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นฯ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฤษฎีกา ที่ทางกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เห็นสอดคล้องกับที่กฤษฎีการ่างมา โดยยึดตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 97 และมาตรา 98 เป็นตัวตั้ง โดยจะใช้กับการเลือกตั้งท้องถิ่นทุกประเภท

วันก่อน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดี กสถ. บอกว่า ได้ส่งความเห็นต่อการแก้ไขกฎหมาย กลับไปยังกระทรวงมหาดไทยแล้ว มีความเห็นสอดคล้องกับสิ่งที่กฤษฎีการ่างมาในเรื่องคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามที่ให้ใช้เช่นเดียวกับการเลือกตั้ง ส.ส.ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560
 
สำหรับประเด็นที่ สถ.ได้เสนอเพิ่มเติมคือ การปรับลดจำนวนสมาชิกของ อบต. ซึ่งเดิม อบต.มีสมาชิกหมู่บ้านละ 2 คน ทางกรมเสนอให้เหลือหมู่บ้านละ 1 คน ยกเว้น อบต.ใดมีไม่ถึง 6 หมู่บ้าน ก็ให้มีให้ครบ 6 คนเป็นอย่างน้อย

ข้อเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ถอดถอนผู้บริหารและสมาชิกท้องถิ่น จากเดิมที่เป็นอำนาจของ รมว.มหาดไทยนั้น ประเด็นนี้ สถ.ไม่ได้เสนอความเห็นไป โดยให้เป็นไปตามกฎหมายเดิม ซึ่งบางส่วนผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถถอดถอนได้ บางส่วนเป็นอำนาจของ รมว.มหาดไทย

ในส่วนของร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการ กทม. พ.ศ... กำหนดให้สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร สมาชิกสภาเขต และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ลาออกจากตำแหน่งก่อนครบวาระ มีหน้าที่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง (แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 23 และมาตรา 52)

โดยที่ในปัจจุบัน การลาออกจากตำแหน่งของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในระหว่างที่ยังดำรงตำแหน่งไม่ครบวาระ ส่งผลให้รัฐต้องสูญเสียเงินงบประมาณแผ่นดินอันเกิดจากค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการจัดการเลือกตั้งซ่อมเพื่อสรรหาบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่งแทน อันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ จึงสมควรกำหนดให้ผู้ที่ลาออกจากตำแหน่งก่อนครบวาระ มีหน้าที่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อเป็นการยับยั้งการใช้สิทธิลาออกตามอำเภอใจและมิให้รัฐต้องสูญเสียเงินงบประมาณแผ่นดินโดยไม่สมควร

มาตรา 3 ให้เพิ่มความ “ในกรณีพ้นจากตำแหน่งตาม (3) ให้สมาชิกสภากรุงเทพมหานครมีหน้าที่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายการเลือกตั้งตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง” และมาตรา 4 ให้เพิ่มความ “ในกรณีพ้นจากตำแหน่งตาม (3) ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีหน้าที่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายการเลือกตั้งตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง”
                     
  ขณะที่ ร่าง อีก 4 ฉบับ มีหลักการเหตุผลคล้ายกัน คือ ได้ใช้บังคับมาเป็นระยะเวลานาน ทำให้บทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบันและเกิดปัญหาการบังคับใช้กฎหมายในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของสมาชิกสภา อปท. หรือผู้บริหาร อปท.

รวมถึงการสอบสวน และวินิจฉัยกรณีข้อสงสัยเกี่ยวกับสมาชิกสภาพของ อปท. ที่มีความล่าช้า ไม่สามารถป้องกันไม่ให้บุคคลที่ขาดคุณสมบัติกลับเข้ามารับตำแหน่งอีกครั้งหนึ่งได้ ดังนั้น เพื่อให้กระบวนการสอบสวนและวินิจฉัยเมื่อมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการสิ้นสุดการดำรงตำแหน่งของ สมาชิก อปท.และผู้บริหาร อปท.เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น

โดย ร่างกฎหมาย ทั้ง 4 ฉบับ กล่าวถึงการบวนการ เช่น 1. เพิ่มเติมกระบวนการสอบสวนและวินิจฉัยกรณีมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสมาชิกสภาพของสมาชิกสภาฯ ให้ชัดเจนและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 19 วรรคสองและวรรคสาม)

2. เพิ่มกรณีที่สมาชิกสภาพของสมาชิกฯ สิ้นสุดลงพร้อมกันทั้งหมดให้ถือว่าเป็นการยุบสภาฯ (เพิ่มมาตรา 19 วรรคสี่)

3.ยกเลิกคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของบุคคลผู้มีสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งเป็น นายกฯ อปท. กรณีต้องไม่เป็นผู้ที่พ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่น คณะผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น หรือที่ปรึกษาหรือเลขานุการของผู้บริหารท้องถิ่น เพราะเหตุมีส่วนได้เสียไม่ว่างทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาที่กระทำกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่ถึงห้าปีนับถึงวันรับสมัครเลือกตั้ง หรือเคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งถูกให้พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากกระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ เนื่องจากได้นำกรณีดังกล่าวไปกำหนดไว้เป็นเกณฑ์กลางเพื่อใช้กับผู้บริหารท้องถิ่นทุกประเภท ในกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นแล้ว (ยกเลิกมาตรา 48 (เบญ (3) และ (4))

4. แก้ไขเพิ่มเติมวิธีนับอายุของรองนายกฯ อปท. ชัดเจนยิ่งขึ้น (แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 48 นว)

5. แก้ไขเพิ่มเติมการกระทำอันเป็นการต้องห้ามของนายกฯ รองนายกฯ ที่ปรึกษานายกฯ และเลขานุการนายกฯ (การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 48 จตุทศ)

6. แก้ไขเพิ่มกระบวนการสอบสวนและวินิจฉัยกรณีมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสมาชิกภาพของนายกฯ รองนายกฯ ที่ปรึกษานายกฯและเลขานุการนายกฯ ให้มีความชัดเจนและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 48 ปัญจทัศ วรรคสามและมาตรา 48 โสฬส วรรคสาม)

7.เพิ่มบทบัญญัติให้ “ปลัด อปท.”ปฏิบัติหน้าที่ของ “นายกฯ อปท.”เท่าที่จำเป็นในช่วงระยะเวลาระหว่างที่ไม่มีนายกฯ อปท. (เพิ่มมาตรา 48 ปัญจทศ วรรคสี่)

8. แก้ไขเพิ่มเติมกระบวนการสอบสวนและวินิจฉัยในกรณีที่นายกฯ รองนายกฯ ประธานสภาฯ หรือรองประธานสภาฯ ทอดทิ้งหรือละเลยไม่ปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ หรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ หรือประพฤติตนฝ่าฝืนความสงบเรียบร้อย หรือ สวัสดิภาพของประชาชน หรือมีคามประพฤติในทางที่จำนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่ศักดิ์ตำแหน่ง หรือแก่ อปท.หรือแก่ราชการ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 73)

ทั้งหมด คือ 6 ร่างกฎหมาย ซึ่งขณะนี้ กระทรวงมหาดไทย กำลังรอความชัดเจนในขั้นตอนของการแก้กฎหมาย โดยเฉพาะในประเด็นสำคัญเรื่องคุณสมบัติของผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่น
 
มีกระแสข่าวว่า นายวิษณุ เครืองาม ได้ขอให้กระทรวงมหาดไทย จัดทำบัญชีรายชื่อและคุณสมบัติ “ผู้มีสิทธิลงรับสมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่น” หรือ รายชื่อผู้บริหารท้องถิ่นในปัจจุบัน แทนที่จะตรวจสอบเฉพาะเวลาเปิดรับสมัครเท่านั้น

รวมถึงกรณีผู้บริหารท้องถิ่นที่ถูกพักงาน ด้วย มาตรา 44 คำสั่งระงับการปฏิบัติราชการและปฏิบัติหน้าที่ เป็นการชั่วคราว โดยไม่ได้รับค่าตอบแทน หรือสั่งย้ายไปช่วยราชการที่ศาลากลางจังหวัดขณะนี้ ก็ยังไม่มีการคืนตำแหน่ง ซึ่งทั้งหมดต้องรอให้ คสช.เป็น “ผู้คืนตำแหน่ง”

แต่ที่เสร็จแล้วแน่ๆ คือ “บัญชีรายชื่อผู้ที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง”ซึ่ง มหาดไทยเตรียมพร้อมไว้บ้างแล้ว รวมถึงหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งและอำนวยการการเลือกตั้ง จะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทั้งหมด.


กำลังโหลดความคิดเห็น