ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ขณะที่ความคืบหน้าประเด็นการผลักดันกฎหมายใหมเรื่อง “โรคต้องห้ามขับรถ” โดยทางกรมการขนส่งทางบกร่วมกับแพทยสภา ยังคงอยู่ระหว่างดำเนินการ อุบัติเหตุอันน่าสลดก็ปรากฏเป็นข่าวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกรณีผู้ขับขี่ที่มีอาการ “ป่วยลมชัก ซิ่งรถชนสยอง”
บทเรียนเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทว่า ผู้ขับขี่ซึ่งมีอาการป่วยกลับไม่เคยเรียนรู้หรือหลีกเลี่ยงการขับรถอันเป็นเหตุให้ผู้อื่นบาดเจ็บและเสียชีวิต ดังเช่น กรณีล่าสุด ชายวัยกลางคนโรคลมชักกำเริบ ขับกระบะพุ่งชนมอเตอร์ไซค์กลางแยกไฟแดงเมืองพัทยา มีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บอีก 15 ราย หรืออีกเหตุสลดที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ กรณีผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งในในภาคอีสาน โรคลมชักกำเริบขับรถพุ่งชนเด็กนักเรียน เสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บกว่า 10 ราย
มิหน้ำซ้ำ กรณีที่เกิดขึ้นล่าสุดกลางเมืองพัทยา นายอัครเดช อุดมรัตน์ อายุ 44 ปี ผู้ต้องหา นอกจากมีอาการป่วยลมชัก เจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้ผลตรวจจากแพทย์พบว่ามีสารเสพติดในร่างกาย โดยมีการสืบหาสาเหตุว่า ผู้ต้องหาป่วยเป็นโรคลมชักแต่มีใบขับขี่ได้อย่างไร ซึ่งเบื้องต้นทราบว่าผู้ต้องหาเพิ่งป่วยเป็นโรคลมชักมาได้ประมาณ 5 ปี ขณะที่สอบใบขับขี่ได้มาก่อนหน้านั้น
ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา กรมการขนส่งทางบกมีความพยายามปรับแก้กฎหมาย เพิ่มโรคต้องห้ามขับรถให้ครอบคลุมโรคที่อาจก่ออุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “โรคลมชัก” อันเป็นสาเหตุของอุบัติอันน่าสลดอยู่บ่อยครั้ง แน่นอนว่า หากผู้ใดมีประวัติลมชักหรือป่วยโรคลมชักไม่ควรขับรถ และทางที่ดีที่สุดควรไปพบแพทย์เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นโดยเฉพาะระหว่างการขับรถ
สำหรับโรคต้องห้ามขับรถปัจจุบันนั้นมีเพียง 5 โรค คือ โรคเท้าช้าง โรคเรื้อน ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต ไม่ติดสุรา และติดยาเสพติด
นายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมขนส่ง เปิดเผยว่า กรมขนส่งทางบกกำลังดำเนินการแก้ไขกฎกระทรวงเพื่อกำหนดโรคที่มีความเสี่ยงเกิดอันตรายในการขับขี่ โดยร่วมหารือแพทยสภาเบื้องต้นได้ข้อสรุปแล้วว่า มีโรคต้องห้ามขับรถทั้งหมด 5 กลุ่มโรค ได้แก่ 1. โรคลมชัก 2. เบาหวานร้ายแรง 3. ความดันโลหิตสูง 4. ผู้ที่เคยผ่าตัดสมองมาก่อน 5. โรคหัวใจ มีภาวะเสี่ยงกล้ามเนื้อหัวใจตาย ประเด็นสำคัญ กลุ่มโรคเหล่านี้จะมีการกำหนดรายละเอียดด้วยว่าเป็นขนาดไหน เช่น เบาหวานร้ายแรงแค่ไหน ความดันเท่าไร รายละเอียดเหล่านี้ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และคาดว่าจะได้ข้อสรุปมีผลบังคับใช้ประมาณต้นปี 2561
ทั้งนี้ การทำใบขับขี่ตามกฎหมายต้องมีใบรับรองแพทย์ เพื่อยืนยันว่าผู้ขอทำใบขับขี่มีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์ แต่การกำหนดโรคต้องห้ามขับรถยังไม่ครอบคลุมโรคที่มีความเสี่ยงในการก่ออุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเด็นปัญหาที่ทางกรมการขอนส่งทางบกออกมายอมรับว่า เรื่องใบรับรองแพทย์ของผู้สอบใบขับขี่ ที่ผ่านมาไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า ใบรับรองแพทย์ที่ผู้ขอนำมายื่นเป็นจริงตามนั้นหรือไม่ เพราะไม่มีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบยืนยัน
กรมการขนส่งทางบก รับทราบปัญหามาโดยตลอดซึ่งตามหลักการการขอใบขับขี่ตามกฎหมายจำเป็นต้องมีใบรับรองแพทย์ เพื่อยืนยันว่าผู้ขอมีสุขภาพร่างกาย ไม่เป็นโรคต้องห้าม จนส่งผลต่อการขับรถโดยเฉพาะอุบัติเหตุบนท้องถนน
ด้าน พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา เปิดเผยว่า โรคต้องห้าม 5 โรค สำหรับการทำใบขับขี่เดิมที่ใช้ในกฎหมายปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมโรคที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ ขณะนี้มีการได้ตั้งกรรมการร่วมศึกษาเสร็จแล้ว กำลังเตรียมเสนอสภาวะต้องห้ามเพิ่มในโรคสำคัญ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เช่น โรคลมชัก ในสภาวะที่ควบคุมอาการไม่ได้ เป็นต้น
และกรณีการออกใบรับรองแพทย์ หากพบว่าไม่ได้ผ่านการตรวจจากแพทย์ ถือว่าทั้งแพทย์และสถานพยาบาลที่ออกใบรับรองแพทย์ มีความผิดตามกฎหมายสถานพยาบาลและวิชาชีพเวชกรรม
นอกเหนือจากกลุ่มโรคข้างต้น กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เคยระบุโรคและปัญหาสุขภาพที่มีผลกระทบต่อสมรรถภาพการขับขี่ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุไว้ 9 โรค ดังนี้
1. โรคที่เกี่ยวกับสายตาต้อหิน ต้อกระจก จอประสาทตาเสื่อม ทำให้ขับรถในเวลากลางคืนแล้วมองไม่ชัด ส่วนคนเป็นต้อหินทำให้มุมสายตาแคบลง มองเห็นภาพส่วนรอบได้ไม่ดี และมองเห็นแสงไฟบอกทาง หรือไฟหน้ารถพร่าได้
2. โรคทางสมองที่ยังเป็นไม่มากมีอาการหลงลืม ขับรถหลงทางในบางครั้ง การตัดสินใจช้าและสมาธิไม่ดี
3. โรคหลอดเลือดสมองทำให้แขนขาไม่มีแรงขับรถ เหยียบคันเร่ง เหยียบเบรกหรือเปลี่ยนเกียร์ บางคนมีอาการเกร็งจนขากระตุกเวลาเหยียบคันเร่งหรือเบรก บางคนประสานงานแขนกับขาไม่ดี หรือสมองสั่งให้แขนขาทำงานไม่ได้ดีเหมือนเดิม ความไวของการตอบสนองต่อเหตุการณ์ต่างๆ ลดลง
4. โรคพาร์กินสัน มีอาการแข็งเกร็ง มือสั่น เท้าสั่น ทำอะไรช้าลง ทำให้ขับรถได้ไม่ดี
5. โรคลมชัก เมื่อมีอาการชักจะเกร็ง และกระตุกไม่รู้สึกตัว
6. โรคไขข้อ ข้อเสื่อม ข้ออักเสบต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อการขับรถ เช่น ข้อเข่าเสื่อม ทำให้เหยียบเบรกได้ไม่เต็มที่ ข้อเท้าอักเสบปวดจากโรคเก๊าต์ ทำให้ขยับลำบาก โรคกระดูกคอเสื่อม ทำให้ปวดคอ เอี้ยวคอดูการจราจรได้ลำบาก หรือมีอาการปวดหลังจากกระดูกหลังเสื่อม ทำให้นั่งขับรถได้ไม่นาน
7. โรคหัวใจ อาจมีอาการแน่นหน้าอก เมื่อขับรถนานๆ เครียดจากรถติด
8. โรคเบาหวาน ทำให้มีอาการ หน้ามืด ใจสั่น สมาธิไม่ดี ตาพร่า ถ้าน้ำตาลในเลือดต่ำลง
9. การกินยาซึ่งบางคนกินยาหลายชนิด บางชนิดมีผลทำให้ง่วงซึม หรือง่วงนอน มึนงง สับสนได้เวลาขับรถ และทำให้การตัดสินใจ สมาธิ และความรวดเร็วในการตอบสนองต่อเหตุการณ์ฉุกเฉินได้ไม่ดีหลังกินยาแล้วควรพักผ่อนหรือวานให้คนข้างๆ ช่วยขับจะมีความปลอดภัยมากกว่า
ทั้งนี้ กรมการขนส่งฯ เตรียมรื้อระบบทำใบขับขี่ใหม่ 31.5 ล้านใบ ทั้งในส่วน “ต่อใบขับขี่” และ “สอบใบขับขี่ครั้งแรก” ส่วนรายละเอียดยังคงต้องติดตามต่อไป