xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เปิดใจ อ.ยักษ์ - วิวัฒน์ ศัลยกำธร รมช.เกษตรแห่งความหวังหรือแค่ “ไม้ประดับ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ท่ามกลางปัญหานานัปการของภาคการเกษตร ราคาข้าว ราคายางพารา หนี้สินเกษตรกร จวบจนวิกฤตน้ำท่วมน้ำแล้ง ซึ่งขมวดปมอยู่ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แทบทั้งสิ้น การหวนกลับรังเก่าของ “อ.ยักษ์ - วิวัฒน์ ศัลยกำธร” หลังตัดสินใจยื่นหนังสือลาออกตั้งแต่ 20 ปีก่อน ผันตัวไปเคลื่อนภาคประชาชน โดยนำวิถีเกษตรทฤษฎีใหม่สู่ชุมชนตั้ง “ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ” กระทั่ง ประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ด้วยการตัดสินใจรับตำแหน่ง “รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์” ใน “ครม.ประยุทธ์ 5” กำลังถูกจับตามองจากทุกองคาพยพที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ เนื่องเพราะ อ.ยักษ์ ปฏิเสธเทียบเชิญจากหลายต่อหลายรัฐบาล
การตกลงปลงใจเข้ารับตำแหน่งใน “ครม.ประยุทธ์ 5” มีนัยยะสำคัญหรือไม่

การกลับมาของผู้ก่อตั้ง “มหาวิทยาลัยคอกหมู” จะช่วยคลี่คลายปัญหาและพัฒนาภาคการเกษตรไปในทิศทาง ใด หรือเป็นแค่ “รัฐมนตรีไม้ประดับ” ของรัฐบาลทหาร ติดตามได้ในสัมภาษณ์พิเศษฉบับนี้

ทำไม่ถึงตัดสินใจเข้ารับตำแหน่ง ใครเป็นผู้ทาบทามและให้เหตุผลว่าอย่างไร
ท่านเลขานายกฯ (พลเอกวิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี) พูดว่า “ท่านนายกฯ (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.) เรียนให้ร่วม ครม.” ผมก็เรียนถามว่าท่านว่าให้ไปทำอะไร? ท่านก็พูดโดยสรุปว่า “มาทำเรื่องที่ถนัด สืบสานงานพระองค์ท่าน และให้มาดูเป็นช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ” ถามว่ามีใครต้องร่วมงานบ้าง ท่านพูดถึงว่าการ ท่านกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ท่านลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นงานเดียวกันกับที่ผมทำอยู่ครับ ขับเคลื่อนศาสตร์พระราชากับภาคประชาชน เพียงแต่เปลี่ยนบทบาทมาทำกับกระทรวงเกษตรฯ เป็นคนละบทบาทกัน ผมก็ขอเวลาท่านคิดทบทวน ท่านบอกว่า “วันเดียวได้ไหม?” เช้าวันรุ่งขึ้นท่านก็โทร.มา

ผมคิดว่าจะเป็นโอกาสที่ดีในการทำงานขับเคลื่อนสืบสานศาสตร์พระราชาเร็วให้ขึ้น มีแบคอัพทั้ง ครม. มีท่านผู้ร่วมงานด้วยที่ดูแล้วทำงานด้วยกันได้สบาย การกลับมารับราชการในกระทรวงเกษตรฯ พูดจริงๆ เหมือนกลับมาบ้าน ดำเนินงานพระราชดำริอยู่ที่กระทรวงเป็นหลัก ก็เลยตอบตกลง

ต้องบอกว่า ผมรู้ล่วงหน้ามานานแล้ว เพราะว่าเคยถูกทาบทามมาหลายรัฐบาล แต่ไม่ได้ตอบรับเพราะว่าเครือข่ายยังไม่แข็งแรง ถ้าผมทิ้งมาแล้วมาแบกภาระใหญ่กว่า แล้วเวลาอยู่กับชาวบ้านน้อยผมเชื่อว่าจะไปไม่รอด แต่ว่าตอนนี้ผมเชื่อว่าเครือข่ายผมแข็งแรงขึ้นมากแล้ว และท่านนายกฯ ตัดสินเลือกผมมาในจังหวะเวลาที่เหมาะพอดี ก่อนหน้านี้ก็ยังไม่พร้อม หลังจากนี้ก็อาจสายไป

ไม่คิดว่าเป็นแค่รัฐมนตรีไม้ประดับให้รัฐบาลชุดใหม่ดูดีหรือ
คุณก็ต้องดูไปว่าเขาเอาผมมาตั้งประดับหรือว่าใช้งาน แต่ผมดูอาการแล้วเข้ามายังไม่ได้หยุดเลย ท่าทางมันจะไม่ได้ตั้งประดับแล้ว ถ้าตั้งประดับ...ผมชอบนะ เพราะผมชอบทำสิ่งเล็กๆ สบายๆ ถ้าตั้งประดับจะเลือกทำเรื่องที่รัก ทำช้าๆ ค่อยๆ ปั้นไป ทำให้ประสบความสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอันเรื่องเดียวพอแล้วเป็นรัฐมนตรี 1 ปี ทำเรื่องเด่นๆ ชัดๆ ให้ชาวบ้านรู้สึกใช่! เขาได้รับประโยชน์จากงานนี้ เท่านี้ก็ตายตาหลับแล้ว แต่ดูฟอร์มแล้วการที่ท่านเลือกผมเข้ามาไม่ใช่แค่เอามาประดับ ดูอาการจะหนักกว่านั้นนะสิ (ยิ้ม)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ มอบหมายให้กำกับดูแลหน่วยงานใดบ้าง
ผมรับผิดชอบ 10 หน่วยงานด้วยกัน คืองานพระราชดำริส่วนใหญ่จะอยู่ที่ต้นทาง ท่านว่าการก็แบ่งต้นทางให้ทั้งหมด จะโยกไปบางส่วนเท่านั้น ซึ่งก็จะมี เรื่องน้ำ 2 หน่วย กรมชลประทาน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เรื่องดิน น้ำดีดินต้องดี มีหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบ 2 หน่วย กรมพัฒนาที่ดิน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เรื่องคน กลุ่มเกษตรกรองค์กรเกษตรกร 2หน่วย กรมส่งเสริมเกษตรกรณ์ กรมการตรวจบัญชีสหกรณ์ หน่วยต่อมา กรมหม่อนไหม ดูตลอดต้นทางจบถึงปลายทาง และองค์กรมหาชน 3 หน่วย สำนักงานพัฒนาวิจัยการเกษตร สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

รวมเป็น 10 หน่วย ว่าการมอบหมายให้ดูแลเป็นหัวหน้าคอยดูแลช่วยเหลืออธิบายในเชิงบุคลากรเชิงปฏิบัติ ทั้งหมดนี้มีงานที่ต้องการสนองพระราชดำริอยู่แล้ว ผมทำงานสนองพระราชดำริมาก่อน แม้ 20 ปีมานี้จะไปขับเคลื่อนงานภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ไปทำร่วมกับมหาวิทยาลัย ร่วมกับมูลนิธิร่วมกับสถาบัน พึ่งตัวเองได้ตามหลักปรัชญาพระองค์ท่าน อย่างที่บอกไปแต่แรก การรับมอบหมายงานนี้เหมือนผมกลับบ้าน สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) รับพระราชดำริมาแล้วประสานหน่วยปฏิบัติ เหล่านี้อยู่ใน กระทรวงเกษตรฯ กรมชลฯ เป็นหลักอยู่แล้ว

ทำอย่างไรถึงจะได้รับความร่วมมือจากข้าราชการในกระทรวง โดยเฉพาะในช่วงสุดท้ายก่อนเลือกตั้งที่มักเกียร์ว่าง และจะจัดการอย่างไรกับการครอบงำของบริษัทยักษ์ทางการเกษตรที่ฝังรากลึกในกระทรวงนี้มาช้านาน
อย่างที่เล่าให้ฟัง กลับมาวันแรกเจอหน้าข้าราชการ เคยตามเสด็จอยู่ด้วยกัน รู้จัก รู้ใจกัน ผมรู้สึกเหมือนกลับเข้าบ้าน หลังออกจากไปตะลอนๆ อยู่กับชาวไร่ชาวนาอยู่บนดอย ทำเป็นตัวอย่างจนประสบความสำเร็จมา 20 ปี พอกลับมาบ้านก็ดีใจ เรื่องการยอมรับไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่อาจมีบ้างคนจะชอบทั้งหมดเป็นไปไม่ได้หรอก ต้องทำความเข้าใจกัน

เรื่องครอบงำอย่าเรียกว่าครอบงำกระทรวงฯ เลยครับ ผมว่ามันไม่ถูกทั้งหมด เรียกว่า “ครอบงำผู้บริหารกระทรวง” เมื่อผู้บริหารเต็มใจให้ครอบงำก็ครอบงำง่าย ถ้าผู้บริหารไม่เต็มใจผมก็ว่ายาก แต่ว่าเราต้องร่วมมือกับทุกส่วนนะ ไม่ใช่มองเขาเป็นลบเสียหมด ยกตัวอย่าง คุณปลูกข้าวแล้วคุณตั้งโรงเลี้ยงโรงสีเองโดยไม่สนใจคนเก่งการตลาดการค้าก็ไม่ได้ กลุ่มโรงสีทำอย่างไรให้โตกว่ากำลังการผลิต 2 เท่า ถ้าจับมือเอกชนแล้วพัฒนาโรงงสีร่วมกัน แล้วมาดูผลลัพธ์เป็นอย่างไร เราจำเป็นต้องร่วมมือกัน เมื่อร่วมมือและรักกันได้ก็ไม่มีการเอาเปรียบ เราอยู่ในโลกของความเป็นจริง การค้าเสรี โลกดิจิทัล เทคโนโลยีมีมากมายหากไม่รู้เท่าทันไม่วางระบบ ถ้ารัฐสร้างภูมิคุ้มกันให้ชาวบ้านไม่ได้จะไปปกป้องเขาได้อย่างไร สังคมไทยต้องสร้างภูมิคุ้มกันโดยด่วน

สัปดาห์แรกที่เข้ามารับตำแหน่งลงพื้นที่น้ำท่วม จ.เพชรบุรี เป็นงานแรกเลยใช่ไหม
ลงพื้นที่ครั้งแรก ในวันเดียวไป 2 งานครับ กรณีปัญหาน้ำท่วม จ.เพชรบุรี เราไปสร้างถนนกั้น สร้างเมืองกั้น คือทุกคนไม่ยอมให้น้ำผ่านตัวเอง กลัวน้ำกันหมด ก็ยิ่งทะลักบ่ารุนแรง ถ้าเร่งระบายไปตั้งแต่ต้นมันก็ทันไม่ท่วมรุนแรง ที่นี้ทำอย่างไรมันผิดไปแล้ว มันก็ต้องเร่งระบายบางส่วน

อย่างที่บอกเรามีไบเบิ้ลที่ดีมาก พระองค์ท่านทรงแนะนำไว้ว่า ไม่ใช่ระบายอย่างเดียวต้องเก็บไว้ให้มากที่สุด ในระบบชลประทานมันเพิ่มยากเพราะใช้เงินเยอะ ทีนี้ ก็ให้ทุกบ้านเก็บน้ำไว้บ้านตัวเองเป็นทางเลือกที่สำคัญ เรียกว่า หลุมขนมครก เช่น บ้านผม 40 ไร่ มีน้ำฝนตกมา 50,000 คิว ผมวางระบบปั้นคันนาใหญ่ๆ เก็บน้ำไว้ในนาเก็บไว้ในคลองขุนหนองกระจายหนองเล็กหนองน้อยเก็บน้ำได้ 80,000 คิว ฝนตกใส่แค่ 50,000 แต่ยังไม่เต็ม ขณะที่เพื่อนบ้านไม่เก็บปล่อยไหลทิ้ง ผมก็ไปผันน้ำกั้นให้ไหลเข้าบ้านตัวเองผมก็มีน้ำ 80,000 คิว ซึ่งน้ำที่จะหลากลงไปท่วมก็จะมาอยู่กับผม ระบบเหล่านี้ต้องไปให้ความรู้และหนุนเสริมชาวบ้าน ปัญหาจะคลี่คลายได้เราต้องไปทำแผนเก็บน้ำพื้นที่นอกชลประทานก่อน ซึ่งเป็นแนวที่พระองค์ท่านพระราชทานมานานแล้ว ผมอยากมีวิศวะกรชลประจำหมู่บ้าน หมู่บ้านละคนแล้วดึงภาคเอกชนเข้าไปช่วยการจัดการน้ำ ซึ่งตอนนี้เรากำลังทำระบบข้อมูล เมื่อระบบสมบูรณ์จะดำเนินการจัดการน้ำได้เร็วขึ้น

คิดว่าทำงานในช่วงเวลาสั้นๆ จะประสบความสำเร็จสักกี่เปอร์เซ็นต์
ผมเห็นว่าระยะสั้น 3 เดือนมันสตาร์ทได้ แต่ตอบไม่ได้เชิงปริมาณ ถ้าเราทำให้คนเข้าใจได้สัก 30 เปอร์เซ็นต์ เบื้องต้นผมคิดว่าเรามีไบเบิ้ลเรามีใบบอกทาง พระองค์ท่านทรงทำให้ดูอยู่แล้ว พระองค์ท่านเป็นแนวทางที่ดี และผมเชื่อว่าคนในกระทรวงนี้ศรัทธาพระเจ้าอยู่หัว เพียงให้เวลาเขาปรับตัวให้เขาเรียนรู้และเราเองต้องทำให้เขาดู ถามว่ากี่เปอร์เซ็นต์ ถ้าวัดแผน 20 ปี ยกตัวอย่างเรื่องการจัดการน้ำในประเทศ ต้องเร่งทำเป็นระบบข้อมูล ภายใน 3 เดือนน่าจะได้ 100 เปอร์เซ็นต์ การสั่งการต้องมีระบบข้อมูลที่ชัดเจนและเห็นชอบร่วมกัน ไม่ใช่ผู้ปฏิบัติกับผู้สั่งแต่ผู้ปฏิบัติดูแล้วไม่รอดแน่ ไม่ใช่ว่าเขาเกียร์ว่าง แต่คุณอะไรคุยกับเขาหรือยัง นี่เป็นประเด็นสำคัญ คำสั่งต้องเคลียร์ต้องชัดเจน อาจจะมีความเห็นแตกต่างกันก็มาหลอมกัน ฉะนั้น ระบบข้อมูลสำคัญที่สุด

ในทัศนะของอาจารย์ยักษ์ อะไรคือปัญหาใหญ่ของภาคเกษตรไทย
ผมมองว่าปัญหาสำคัญสุดเลยคือ ความสามารถในการปรับตัวเข้ากับโลกที่มันเปลี่ยนเร็ว เป็นปัญหาใหญ่ที่ทั้งโลกกำลังเผชิญClimate change adaptation การปรับตัวเข้าสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ฝนตกไม่ตรงฤดูกาลเหมือนอดีตจะทำอย่างไร น้ำที่มาไม่ตรงเวลาจะทำอย่างไร น้ำท่วมแล้วมาน้ำแล้ง หรือเรื่องเมล็ดพันธุ์ที่ว่าวิกฤตเพราะชาวบ้านต้องไปซื้อเขา ผมว่าชาวบ้านต้องพึ่งตัวเองให้ได้ นี่คือสิ่งที่พระองค์ท่านรับสั่งเอาไว้ มันโยงไปในเรื่องระบบการร่วมกลุ่ม ยกตัวอย่าง ในอดีตบ้านไหนเกี่ยวข้าวก็เฮละโลไปเกี่ยว บ้านไหนดำนาก็เฮละโลไปดำนา แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้วถ้าไม่มีเงินใครจะมาช่วยดำนา ระบบลงแขก ร่วมแรงร่วมใจกันมันหายไปหมดแล้ว ระบบสังคมที่เอื้อกันอย่างนี้มันถูกทำลายลงไปหมดแล้ว จะฟื้นกลับมายากมาก แต่ถ้าเราไม่ฟื้นกลับมาก็ตายอยู่กับโลกใบใหม่ไม่ได้

ฉะนั้น เรื่องพลังองค์กรชาวบ้าน สหกรณ์ หรือจะเรียกอะไรไม่สำคัญ การรวมพลังที่พระองค์เรียกว่า “สามัคคีคือพลัง” มันต้องเกิดขึ้นจริงๆ ทั้งหมดนี้อยู่ในปรัชญา ซึ่งจะฟื้นกลับมาไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ต้องสู้ต้องทำ เรื่องหลักต้องให้ความรู้ความเข้าใจทุกคนไม่ใช่เพียงเกษตรกรอย่างเดียว ข้าราชการเองต้องมีความรู้ความเข้าใจ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ที่ท่องกันแล้วจะทำอย่างไรเริ่มต้นอย่างไร

แล้วปัญหาใหญ่ของกระทรวงเกษตรฯ คืออะไร
ผมว่าเราเปลี่ยนผู้บริหารครั้งหนึ่ง ผู้บริหารก็สั่งใหม่ ตรงนี้เองถ้าเรารับรู้เป้าหมายไม่ตรงกันมันไม่มีทางสำเร็จ คนหนึ่งจะเดินซ้าย คนหนึ่งจะเดินขวา คนหนึ่งจะไปข้างหน้า คนหนึ่งจะไปข้างหลัง คนเป็นแสนคนในองค์กร ถ้ารับรู้เป้าหมายมาตรงกัน และยิ่งเปลี่ยนเป้าตลอด ซึ่งเรื่องเดิมยังไม่ชัดเลยเป้าหมายเปลี่ยนอีกแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ว่าการชัดมากเลย “ไม่เอาไม่เปลี่ยนไม่มีนโยบายใหม่” แต่มีนโยบาย 3 ต. ซึ่งจะทำให้ปัญหาใหญ่ขององค์กรได้ถูกแก้ 3 ต. คือ “ต่อ” ของเดิมมีอะไรดีให้มาเร่งต่ออย่าไปรื้อของท่านรัฐมนตรีคนเก่าซึ่งทำไว้ดีอยู่แล้ว อย่าไปเปลี่ยนนโนบายใหม่ อะไรดีแล้วคุยกันทำต่อเลย “เติม” เวลาเปลี่ยนสถานการณ์เปลี่ยนปัญหาภัยแล้งเข้ามาหรือเกิดน้ำท่วม เมื่อสถาการณ์เปลี่ยนเราต้องเติมให้สมบูรณ์ สุดท้าย สถานการณ์เปลี่ยนคนเปลี่ยนเกษียณอายุ “แต่ง” จะปรับแต่งอย่างไรให้เหมาะสม

ถ้าองค์กรเป้าเปลี่ยนตลอด ผู้นำไม่ชัดเจน ต้องการผลประโยชน์ชื่อเสียงเงินทอง องค์กรนั้นไปไม่รอด กระทั่ง ปัญหาคอร์รัปชั่นในองค์กรซึ่งเรื่องใหญ่ที่สุด เรียกว่าหัวไม่กระดิกหางไม่ส่าย ถ้าหัวนี่ดีทั้งองคาพยพก็ไม่ยากครับ แต่ต้องขอเวลาไม่ใช่เดือนเดียวเป็นไม่ไปได้หรอกต้องใช้เวลา ถามว่านานมีแค่ไหน ตอบยาก ถ้า 3 เดือน ไม่มีอะไรเห็นหน้าเห็นหลัง ถ้าเราทำอะไรไม่ได้ สตาร์ทไม่ได้ เราพร้อมจะออก

สนับสนุนพืช GMOs หรือไม่อย่างไร
เราพูดกันมานานแล้วเรื่องนี้ ผมยึดคำสอนของพระองค์ท่านครับ เทคโนโลยีที่เรานำเข้ามาจากต่างประเทศ ถ้าคนไทยรู้จักดี เกษตรกรรู้จักดี ใช้เป็นควบคุมได้พัฒนาได้และถ้าเกิดปัญหาจัดการมันได้ เอามาเลยเพราะมันมีประโยชน์มาก แต่ถ้าใช้ก็ยังไม่ค่อยจะเป็น รู้ก็ไม่ค่อยจะรู้ว่ามันคืออะไรกันแน่ GMOs ดัดแปลงพัฒนาเองก็ทำไม่เป็น ต้องซื้อเขาอย่างเดียว อย่า! ถ้าเป็นแบบนี้อย่างเพิ่ง! ถามว่าวันนี้เกษตรกรรู้เรื่อง GMOs หรือยัง ตอบว่า “ยัง” ฉะนั้น ยังไม่ต้อง!

ปัญหาซ้ำซากเรื่องพืชผลทางการเกษตรจะแก้ไขอย่างไร เช่น ราคาข้าว ราคายางพารา หรือหนี้สินเกษตรกร
ที่จริงมันมีหลักอยู่หลายหลักทีเดียว หนึ่ง ถ้าคุณอยากจะอยู่ในตลาดการแข่งขันเสรีหรืออยากจะมีโซน ต้องมีทางเลือกให้เกษตรกร ไม่ใช่รัฐบอกให้ทำอย่างนี้ก็ทำอย่างนี้ ยาง เราเป็นอันดับหนึ่งในตลาดโลก ถ้าเราจะแข่งกับเขาเราต้องไปดูว่า ต้นทุนขนาดนี้เรายังท้าแข่งได้หรือเปล่า หรือถ้าคนอื่นมาเบียดเราก็จะค่อยๆ ตก ผมคิดว่าทีมท่านลักษ์รู้เรื่องดีกว่าผมเยอะในเรื่องการผลิต บนโลกการแข่งขันมันต้องไปพัฒนาต้นทุน จะลดด้วยปัจจัยใดได้บ้าง เรื่องคุณภาพผลผลิต การแปรรูปก่อนเข้าตลาดโลก

สอง กลับมาทบทวนภูมิปัญหา ชาวสวนยางในอดีตรวยทุกคน เพราะเขาไม่ได้พึงน้ำยางเพียงอย่างเดียว เขาปลูกทุกอย่างไว้ในสวนยางหมด ที่เรียกว่า สวนสมรม หรือ ป่ายาง คือเข้าไปไม่ต้องออกไปไหนเลยมีอยู่มีกินสร้างบ้านได้โดยไม่ต้องใช้เงิน อยู่ได้สบายเป็นปีไม่ต้องใช้เงินเลยก็ได้ นั่นคือวิถีชีวิตชาวสวนยางในอดีต ซึ่งวิถีพอเพียงอย่างนี้จะกลับมา ต่างจากยุคนี้หวังจะได้น้ำยางเพียงอย่างเดียว ชาวบ้านต้องกระจายความเสี่ยงเป็นทางเลือก ปัญหาเรื่องข้าวก็ลักษณะเดียวกัน หรือเรื่องหนี้เกษตรกร ทุกอย่างมีทางออก ระบบผลิตเดิม ขาดทุนทุกปีแปลว่าก่อหนี้บวกไปเรื่อย แต่ระบบผลิตใหม่มันไม่ขาดทุน เราทำตัวอย่างไว้เยอะในเครือข่าย ปรับเอาแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่ของพระองค์ไปใช้ จากเป็นหนี้เป็นสินเดี๋ยวนี้ใช้หนี้หมด แล้วเขามีเงินฝากธนาคาร เก็บสมบัติบนคันนาขายได้

สุดท้าย ทิศทางภาคเกษตรเมืองไทยจะเป็นอย่างไร
หลักมีอยู่ 2 อย่าง พระองค์ท่านเรียกว่า หลักภูมิศาสตร์ เช่น เขตชลประทาน ที่ราบลุ่มปากแม่น้ำ ชายทะเล กับ หลักสังคม เรื่องตัวคนเรื่องทักษะความรู้ความสามารถ ค่านิยม ประเพณี วัฒนธรรม ถ้ามองประกอบกัน ทิศทางภาคการเกษตรมันจะแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 โลกผลิตอะไรก็วางแผนผลิตและป้อนตลาด กลุ่มที่ 2 พยามตามโลกแต่ตามไม่ทันยังปรับตัวร่อแร่ อยู่ในสภาวะพื้นที่ไม่เหมาะสมนอกเขตชลประทาน ซึ่งจะลำบาก และ กลุ่มสุดท้าย อยากมีชีวิตที่อยู่ได้แบบพอเพียง ไม่สนใจที่จะไปแข่งกับใครแต่ อยากรักษาอารยธรรมดั้งเดิมไว้ ซึ่งผมประเมินแนวโน้มโลกกลุ่มนี้จะเยอะ และคนรุ่นใหม่จะหันมาทางนี้เยอะขึ้น เพราะพวกนี้ไม่ต้องการเงิน ต้องการชีวิตที่มีคุณค่ามีความสุข


กำลังโหลดความคิดเห็น