xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อผู้นำเผด็จการ เต้นรำกับงู

เผยแพร่:   โดย: อ.สุดาทิพย์ จารุจินดา อินทร


นับเป็นข่าวใหญ่ส่งท้ายปีที่สยดสยอง และน่าจะนำความสะใจมาสู่ประชาชนชาวเยเมน ที่ได้ทนทุกข์ทรมานภายใต้ระบอบการปกครองที่สูบเลือดเนื้อจากประชาชนเป็นเวลาถึง 33 ปี สร้างความยากจนข้นแค้น แม้จะเป็นประเทศที่ค้นพบน้ำมัน, ไม่ต้องนำเข้าน้ำมันก็ตาม

เป็นจุดจบของเผด็จการซาเลห์ (อาลี อับดุลลาห์ ซาเลห์) ที่โหดเหี้ยมคล้ายกับจุดจบของโมม่า กัดดาฟีแห่งลิเบีย โดยเขากำลังนั่งอยู่ในรถกันกระสุนเพื่อหลบออกจากเมืองหลวงซานา พร้อมขบวนทหารคู่กายของเขา แต่รถเขาถูกยิงอย่างหนักด้วยขีปนาวุธจากฝ่ายกบฏฮูตี แล้วล้อมขบวนของเขา ได้ลากตัวเขาออกมาแล้วยิงกระหน่ำอย่างคั่งแค้น จนเขาเสียชีวิตพร้อมผู้ช่วยคู่กาย

เขาเคยกล่าวเสมอว่า เขากำลังเต้นรำอยู่กับงูพิษร้ายกลางทะเลทรายแห่งตะวันออกกลาง และวันนี้เขาก็ต้องตายเพราะงูร้ายนั่นเอง

เขาเริ่มจากเป็นทหารระดับล่างแห่งกองทัพประเทศเยเมนเหนือ ซึ่งต่อมาได้มีการรวมเยเมนเหนือกับเยเมนใต้ และเขาได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศเยเมน

เขาได้เลือกข้างสหรัฐฯ ในการปราบปรามกลุ่มติดอาวุธภายใน (ซึ่งต่อมาเป็นกลุ่มเชื่อมโยงกับอัลกออิดะห์คือ AQAP AL Qaeda in the Arab Peninsular) แต่ความช่วยเหลือทางการทหาร และการเงินกลับไปตกอยู่ในมือของซาเลห์และครอบครัว รวมทั้งคนใกล้ชิดในรัฐบาล ยิ่งทำให้การก่อการร้ายขยายตัวตลอดเวลา

ขณะเดียวกัน อดีต ส.ส.ในสภาจากเผ่าฮูตีก็ได้ตั้งกลุ่มจรยุทธ์ติดอาวุธ และอาศัยความไม่พอใจของประชาชนต่อตระกูลซาเลห์ จนกลุ่มฮูตีกลายเป็นกบฏกลุ่มใหญ่ โดยได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มเฮสบอลเลาะห์จากเลบานอน (ซึ่งก็เป็นกลุ่มที่ร่วมมือกับอิหร่าน)

เมื่อปี 2011 (7 ปีมาแล้ว) ได้เกิดการเคลื่อนไหวใหญ่ ทั้งในตูนิเซีย, อียิปต์ เรื่อยไปในแอฟริกาเหนือ และตะวันออกกลาง เรียกว่า ปรากฏการณ์ Arab Spring ที่ประชาชนรวมตัวกันโค่นผู้นำเผด็จการ ที่มาจากการเลือกตั้งสกปรก และมีกองกำลังกองทัพที่เอาไว้กดขี่ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นนายเบน อาลีที่เป็นประธานาธิบดีของตูนิเซียถึง 30 ปี รวมทั้งนายฮอสนี มูบารัค-ประธานาธิบดีตลอดการของอียิปต์ รวมทั้งนายพันกัดดาฟีที่ถูกสังหารอย่างสยดสยอง

นายซาเลห์สู้กับประชาชนช่วง Arab Spring โดยกลุ่มต่อต้านเขาจะมีหลากหลาย ต่อมาฝ่ายกบฏฮูตีกลายเป็นกลุ่มหลักที่สู้กับเขา จนสามารถเข้ายึดบางส่วนของเมืองหลวงได้ และขยายไปพยายามที่จะยึดเมืองใหญ่ทางตอนใต้คือเมือง Aden ที่เป็นเมืองท่าสำคัญทางผ่านของน้ำมันจากอ่าวเปอร์เซียออกสู่โลก

กว่าเขาจะยอมลงจากตำแหน่ง ก็มีการต่อรองอย่างหนักที่จะไม่ให้รัฐบาลใหม่มายึดทรัพย์ (ที่ปล้นมาจากประชาชน) รวมทั้งลูกๆ ที่มีตำแหน่งอยู่ในกองทัพ

รองประธานาธิบดีฮาดี (Hadi) ได้เข้ามามีตำแหน่งแทนซาเลห์ ขณะที่มกุฎราชกุมารองค์ใหม่แห่งซาอุฯ ได้รวบรวมบรรดาพันธมิตรอ่าวเปอร์เซีย เช่น บาห์เรนสนับสนุนประธานาธิบดีฮูตีเพื่อสู้กับกบฏฮูตี และถือเป็นสงครามตัวแทนระหว่างฮาดี (มาจากซุนนี) และกลุ่มฮูตี (ฝ่ายชีอะห์)

อดีตประธานาธิบดีซาเลห์กลับมาจากต่างประเทศมาร่วมกับกลุ่มฮูตีเพื่อสู้กับอดีตรองประธานาธิบดีฮาดี

และเพียง 2-3 วันก่อนถูกสังหาร เขาได้หันพลิกกลับมาอยู่ข้างซาอุฯ และพยายามฝ่าวงล้อมของกบฏฮูตี เพื่อไปเชื่อมกับรองประธานาธิบดีฮาดี

สรุปว่า การกลับไปกลับมาของซาเลห์ เหมือนกับการเต้นรำกับงูร้าย ประกอบกับการเป็นเผด็จการที่ไม่ยอมปล่อยมือจากอำนาจ เพราะได้ทำความเลวร้ายเอาไว้มาก นำมาสู่จุดจบสยองในปลายปีนี้

ปลายปีนี้มี 2 เผด็จการที่ต้องลงจากอำนาจ คนแรกคือ โรเบิร์ต มูกาเบแห่งซิมบับเว หลังอยู่ในอำนาจถึง 37 ปี สร้างความยากจนข้นค้นให้แก่ประชาชน และแปลงโฉมจากประเทศอู่ข้าวอู่น้ำกลายเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดของแอฟริกา

คนที่สองคือ เผด็จการซาเลห์ซึ่งแม้จะเป็นประเทศที่ค้นพบน้ำมัน แต่ประชาชนยากจนที่สุดในตะวันออกกลาง และขณะนี้เกิดสงครามกลางเมืองเต็มรูปแบบ โดยเด็กๆ ต้องตายจำนวนมาก พร้อมการขาดแคลนอาหารและยาอย่างสาหัส เพราะแนวร่วมพันธมิตรซาอุฯ ได้ปิดล้อมห้ามการเข้าออกทั้งเสบียงและอาวุธ จนเกิดโรคอหิวาต์ระบาดหนัก

สงครามกลางเมืองเยเมนยังดำเนินไปอย่างเข้มข้น ประชาชนต้องอพยพหนีภัยสงครามออกไปนอกประเทศจำนวนมาก ยังไม่มีความหวังว่าจะหาจุดลงตัวทางอำนาจได้ ระหว่างฝ่ายฮูตีและฝ่ายฮาดี (ตัวแทนฝ่ายซาอุฯ)

แต่อย่างน้อยเผด็จการโหดซาเลห์ก็ต้องสังเวยชีวิตตัวเอง จากการเต้นรำกับงูก็ต้องตายเพราะงูนั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น