เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com
จอร์ช ออร์เวลล์ นักเขียนนักวิจารณ์ชาวอังกฤษ เขียน อะนิมัล ฟาร์ม ตีพิมพ์มื่อปี 2488 เป็นนิทานเปรียบเทียบเสียดสีการเมืองในรัสเซียเมื่อต้นศตวรรษที่ 20 มีการแปลเป็นไทยถึง 9 สำนวน ตั้งแต่ปี 2502 ถึงปี 2560 ได้กลายเป็นหนังสือคลาสสิกที่ให้บทเรียนแก่สังคมทุกระบอบที่มีผู้นำ “หลงอำนาจ”
เรื่องย่อมีอยู่ว่า ฟาร์มสัตว์แห่งหนึ่งไม่พอใจเจ้าของที่เป็น “คน” ที่ขี้เกียจ เมา ไม่เอาการเอางาน มีแต่ใช้งานสัตว์ ผู้นำหมูจึงรวมตัวกันขับไล่ เมื่อผู้นำหมูตัวแรกตายไปก็ตั้งทายาทเป็นหมูสองตัว แย่งอำนาจกันจึงเหลือแต่ตัวที่ชื่อ “นะโปเลียน”
นะโปเลียนแรกๆ ก็ดูดี แต่นานเข้าก็เริ่มหลงอำนาจ แก้บัญญัติ 7 ประการให้ตอบสนองตนเอง ใช้สื่อเพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารโฆษณาชวนเชื่อครอบงำผู้คนในสังคม จนที่สุดหมูเดินสี่ขาก็เริ่มเดินสองขา เริ่มใส่เสื้อผ้า เริ่มนอนเตียง เริ่มกินเหล้า เริ่มฆ่าสัตว์อื่น ซึ่งผิดกฎ 7 ข้อที่ตั้งกันไว้แต่ต้น
โดยเฉพาะข้อสุดท้ายที่เขียนไว้แต่เดิมว่า “สัตว์ทุกตัวย่อมเท่ากัน” ก็มาเพิ่มว่า “แต่บางตัวเท่ากันมากกว่าอีกบางตัว” "All animals are equal, but some animals are more equal than others" เมื่อหมูทำตัวเหมือน “คน” ในตอนจบพวกมันก็พบว่า ตัวเองไม่ได้ต่างไปจาก “คน” (ที่มันได้ยึดอำนาจมา) นั่นเลย
จอร์ช ออร์เวลเสียดสีคอมมิวนิสม์ และผู้นำรัสเซีย ซึ่งประกาศอิสรภาพจากอำนาจเก่า ประกาศความเท่าเทียมและความยุติธรรม แต่แล้วก็ “ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง”
มีการแปลหนังสือเล่มนี้เป็นภาษาต่างๆ ทั่วโลก นำไปประกอบการศึกษาและหลักสูตรต่างๆ อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในยุคสงครามเย็น การปลุกผีต่อต้านภัยคอมมิวนิสต์ รวมทั้งเผด็จการทุกรูปแบบ ในนามของการส่งเสริมประชาธิปไตย
มีบทเรียนสำคัญเรื่องการใช้อำนาจ เมื่อคนมีอำนาจก็จะใช้อำนาจในทางที่ผิด และยิ่งมีอำนาจมากก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะใช้อำนาจผิดมาก (Absolute power, corrupts absolutely) มีบทเรียนสำคัญอยู่ 3 เรื่อง คือ
1. การเคารพและปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน แม้เดิมจะเป็นอุดมคติของผู้นำในฟาร์ม แต่
เมื่อมีอำนาจ ก็ไม่ได้ทำตามนั้น หมูมีสิทธิมากกว่าและได้รับการปฏิบัติต่อเหนือกว่าสัตว์อื่นๆ ในฟาร์ม ผู้นำสูงสุดอย่างนะโปเลียนปรับกฎระเบียบตามอำเภอใจโดยไม่ได้ปรึกษาสัตว์อื่นๆ ซึ่งนำไปสู่จุดจบในตอนท้ายของนิทานเรื่องนี้
ตามท้องเรื่อง การใช้อำนาจในทางที่ผิดไม่ได้เกิดขึ้นทันที แต่ค่อยๆ เกิดขึ้น การมีอำนาจทำให้คนหลงอำนาจ และมัวเมากับอำนาจ คิดว่าตนเองถูกเสมอ และดีกว่าคนอื่น รับไม่ได้กับคำวิพากษ์วิจารณ์ หรือการตำหนิติเตียน การประท้วงต่อต้าน ในฟาร์มสัตว์ถึงเกิดการตายอย่างมีเงื่อนงำและการฆ่า “อย่างมีเหตุผล” มากมาย (กฎข้อที่ 6 ที่ตนเองแก้ไขอนุญาตให้ทำได้ถ้ามีเหตุผล)
2. การยึดมั่นในความถูกต้องเป็นธรรม และไม่เกรงกลัวต่ออำนาจ พร้อมที่จะยืนยันในสิ่งที่ถูก
และปฏิเสธหรือประณามในสิ่งที่ผิด สัตว์ในฟาร์มไม่ได้ทำในสิ่งที่ตนเชื่อว่าถูกต้อง ไม่กล้าเผชิญกับนะโปเลียน ยอมรับสิ่งที่หัวหน้าหมูพูดและทำไปเสียทั้งหมด แม้ว่าจะอยู่อย่างไม่มีความสุข ไม่มีเสรีภาพ
อย่างสัตว์บางตัวถูกฆ่าอย่างไม่เป็นธรรม แต่ก็ไม่มีใครกล้าพูดกล้าบอกใครเพราะกลัว แม้จะรู้ว่าเป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎระเบียบของฟาร์ม
3. อำนาจทำให้ทำความผิด อำนาจมากที่สุดทำให้ผิดมากที่สุด นะโปเลียนหลงอำนาจ ตัดสินใจ
และสั่งการตามอำเภอใจ ให้สัตว์ต่างๆ ทำงานในฤดูหนาวท่ามกลางความหนาวเย็น โดยไม่ได้สนใจให้อาหารและเวลาพักผ่อนอย่างพอเพียง ไม่ใส่ใจต่อความเดือดร้อนของสัตว์อื่น คิดถึงแต่ตัวเองและพวกพ้อง
นิทานเรื่องฟาร์มสัตว์ทำให้เห็นว่า อำนาจทั้งหลายล้วนมีแนวโน้มที่จะทำให้คนทำผิดได้มากถ้าหากไม่มีกลไกในการตรวจสอบและคานอำนาจนั้น ด้านหนึ่งก็เป็นกลไกทางการสังคมการเมืองในระบบ อีกด้านหนึ่งเป็นกลไกของสังคมพลเมือง ด้านหนึ่งเป็น “สถาบัน” อีกด้านหนึ่งเป็น “ขบวนการ”
สังคมพลเมืองนี้มีความสำคัญมากที่สุด เพราะหากว่าอ่อนแอ และไม่เข้าใจว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของตนเอง แม้ในสังคมประชาธิปไตย ท้ายที่สุดคนที่ได้รับเลือกตั้งก็คิดว่าตนเองมีอำนาจ หรือได้รับมอบอำนาจ (เหมือนประชาชนเซ็นเช็คเปล่าให้) ก็มีแนวโน้มที่จะไป “กรอกตัวเลขตามใจชอบ” ถึงได้มี “เผด็จการรัฐสภา เผด็จการการเมือง” และคอร์รัปชั่นในยุครัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง
สังคมไทย 85 ปี ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง มีรัฐบาลพลเรือนและทหารสับเปลี่ยนการเข้าสู่ “อำนาจ” มานับครั้งไม่ถ้วน มีรัฐธรรมนูญนับ 20 ฉบับ ร่างใหม่ทุกครั้งที่มีรัฐประหาร ไม่ว่าทหารหรือพลเรือน เมื่อเข้าสู่อำนาจก็มีแนวโน้มสถานการณ์อย่างที่เกิดขึ้นใน “Animal Farm”
หนังสือเล่มนี้ให้บทเรียนสำหรับทุกคน ไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ ครอบครัว ชุมชนและสังคมโดยรวม ซึ่งมีแนวโน้มในการใช้อำนาจ สังคมไทยเป็นสังคมอำนาจ จึงมีความรุนแรงมาก เพราะมีการใช้อำนาจมาก การใช้อำนาจผิดเป็นการกดขี่ข่มเหง ปฏิกิริยาโต้ตอบจึงรุนแรงตามแรงกดนั้น
หนังสือเล่มนี้เด็กอ่านได้ ผู้ใหญ่อ่านดี ทำให้เกิดปัญญา ที่มาจากการวิเคราะห์วิจารณ์งานคลาสสิกนี้ เป็นเครื่องมือในการทำความเข้าใจกับสังคมไทย การเมืองไทยได้เป็นอย่างดี
อะนิมัล ฟาร์ม เหมาะอย่างยิ่งที่จะเรียนไม่ใช่เริ่มที่มหาวิทยาลัย ควรเรียนตั้งแต่ชั้นประถม มัธยม ไปจนถึงอุดมศึกษา รวมทั้งโรงเรียนเตรียมทหาร สถาบันการศึกษาทหาร ตำรวจ ข้าราชการทุกหมู่เหล่า