xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ถึงคิว ครม.สัญจร"ด้ามขวาน"! ตามดูแผน/โครงการ เพื่อคนใต้7.3ล้านคน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ถึงคิวจังหวัดภาคใต้!! ในวันที่ 27-28 พ.ย.นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. มีกำหนดการลงพื้นที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกสถานที่อย่างเป็นทางการ ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ รวมไปถึงจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
กำหนดการคร่าวๆ ที่คณะรัฐมนตรี ได้วางไว้ เช่น เช้าวันที่ 27 พ.ย. จะเดินตลาดกลางปศุสัตว์ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ต่อด้วยเยี่ยมชมเกษตรอุตสาหกรรมแปรรูป และติดตามงานด้านความมั่นคงและพัฒนา ที่กองพลทหารราบที่ 15 จ.ปัตตานี พร้อมจะพบปะกับผู้นำท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

จากนั้นกลับมาประชุมร่วมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม จังหวัดชายแดนใต้ ที่ บีพี สิมิหลาบีช อ.เมืองฯ จ.สงขลา และวันที่ 28 พ.ย.ช่วงเช้า จะประชุมครม. ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ศรีวิชัย สงขลา และเมื่อประชุมเสร็จจะพบปะกับนักศึกษาด้วย

ทั้งนี้เมื่อ 21 พ.ย. ที่ผ่านมา หน่วยงานราชการ หลายๆหน่วยงาน รวมถึงภาคเอกชนมีการประชุมหารือกัน สรุปประเด็นที่จะนำเสนอ ในวันที่ 28 พ.ย. หลังจากสัปดาห์ก่อนไปฉายภาพต่อที่ประชุมเตรียมการจัดการประชุมคณะรัฐมนตรี ที่ จ.สงขลา และการลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.ปัตตานี ให้ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม รับทราบมาแล้ว
 
เริ่มจาก“สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ”หรือ สภาพัฒน์ ที่คาดว่าจะสรุปภาพรวม (ร่าง) ทิศทางการพัฒนาภาคใต้ ให้เป็นมติ ครม. เหมือนกับภาคอีสาน และภาคกลางที่ผ่านมา จากข้อมูลจะทราบว่าภาคใต้ปัจจุบัน มีประชากร 7.3 ล้านคน (11.1% ของประเทศ) มีพื้นที่ป่า 9.35 ล้านไร่ หรือ 25% ของพื้นที่ภาค ) มีป่าชายเลน 1.28 ล้านไร่ หรือ 3.4% ของพื้นที่ภาค มีที่ดินใช้ประโยชน์ พื้นที่ภาค 37.36 ล้านไร่ พื้นที่ทางการเกษตร 14.77 ล้านไร่ เป็นยางพารา ปาล์มน้ำมัน 88.7% ไม้ผล 88.7% และพื้นที่นา 3.7%

มีกำลังแรงงาน 5.9 ล้านคน หรือ 12.2% ของประเทศ แต่เป็นแรงงาน เมียนมา ลาว กัมพูชา ถึง 21.3% ของแรงงานต่างด้าว ที่เข้ามาทำปศุสัตว์ ก่อสร้างและบริการ

ข้อมูลเดิม ปี 2558 มีสภาพเศรษฐกิจและรายได้(GRP)มูลค่า 1,075,939 ล้านบาท (7.9% ของ GDP) มีรายได้ต่อคนต่อหัว 145,355.5 บาท/คนต่อหัว ต่ำกว่าประเทศ (203,356 บาทต่อหัว)

สาขาเกษตร มีมูลค่า 245,875 ล้านบาท สาขาประมง มูลค่า 38,157 ล้านบาท สาขาอุตสาหกรรม มูลค่า 174,880 ล้านบาท สาขาการค้า มูลค่า 111,720 ล้านบาท สาขาบริการและอื่นๆ มูลค่า 543,464 ล้านบาท
 
สภาพัฒน์ ยังคาดถึงประเด็นท้าทาย ที่จะเกิดขึ้น ประกอบด้วย นักท่องเที่ยวที่กระจุกตัวอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวหมู่เกาะ และชายหาดหลัก เกินขีดความสามารถในการรองรับ (Carrying Capacity)เช่น ภูเก็ต กระบี่ สมุย พะงัน เกาะเต่า พีพี หลีเป๊ะ เป็นต้น แหล่งท่องเที่ยวชายทะเลหลายแห่ง ยังไม่เป็นที่รู้จักของตลาดการท่องเที่ยว ระดับโลก และยังขาดการพัฒนาเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวพื้นที่ตอนในของภาค รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน

พืชเศรษฐกิจ (ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และไม้ผล) ผลิตแบบดั้งเดิม การแปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มน้อย แต่มีงานศึกษาวิจัยที่สามารถนำมาขยายผลใน เชิงพาณิชย์ แม้จุดที่ตั้งของภาคมีความได้เปรียบ สามารถพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่ง เชื่อมโยงการค้าภายในและภายนอกภูมิภาค แต่จากสภาพ ทรัพยากรประมงเสื่อมโทรม ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งและอุทกภัยรุนแรงขึ้น
 
ขณะที่หน่วยงานที่น่าสนใจ เริ่มจาก กระทรวงคมนาคม สรุปว่า ขณะนี้ภาคใต้ มีโครงการหลักใน 4 เขตพื้นที่ ประกอบด้วย 1. โครงการก่อสร้างทางหลวงบริเวณพื้นที่ภาคใต้ ตอนบน รวม 17 โครงการ 2. โครงการก่อสร้างทางหลวงบริเวณพื้นที่ภาคใต้ ตอนกลาง เชื่อมโยงภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย-อันดามัน รวม 45 โครงการ 3. โครงการก่อสร้างทางหลวงบริเวณพื้นที่ภาคใต้ ตอนล่าง รวม 24 โครงการ และ 4. โครงการก่อสร้างทางหลวงบริเวณพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 16 โครงการ รวมทั้งสิ้น 102 โครงการ

ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ/ก่อสร้างแล้วเสร็จ จำนวน 9 โครงการ ระยะทาง 142 กิโลเมตร วงเงิน 5,565ล้านบาท และ แผนงานปี 2562- 2563 จำนวน 8 โครงการ ระยะทาง 118 กิโลเมตร วงเงิน 3,790 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 17 โครงการ ระยะทาง 260 กม. วงเงิน 9,355 ล้านบาท

แผนงาน/โครงการก่อสร้างทางหลวง บริเวณพื้นที่ภาคใต้ตอนกลาง เชื่อมโยงภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย-อันดามัน (สุราษฎร์ธานี พังงา ภูเก็ต กระบี่ นครศรีธรรมราช) รวมทั้งสิ้น 45 โครงการ ระยะทาง 648 กม. วงเงิน 43,140 ล้านบาท อยู่ระหว่างดำเนินการ/ก่อสร้างแล้วเสร็จ จำนวน 29 โครงการ ระยะทาง 377 กิโลเมตร วงเงิน 20,024 ล้านบาท แผนงานปี 2562 - 2563 จำนวน 16 โครงการ ระยะทาง 271 กิโลเมตร วงเงิน 23,100 ล้านบาท

แผนงาน/โครงการก่อสร้างทางหลวง บริเวณพื้นที่ภาคใต้ ตอนล่าง (ตรัง พัทลุง สตูล สงขลา) อยู่ระหว่างดำเนินการ/ก่อสร้างแล้วเสร็จ จำนวน 17โครงการ ระยะทาง 253 กิโลเมตร วงเงิน 4,238 ล้านบาท แผนงานปี 2562- 2563 จำนวน 7 โครงการ ระยะทาง 166 กิโลเมตร วงเงิน 6,394 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 24 โครงการ ระยะทาง 419กม. วงเงิน 10,632 ล้านบาท

แผนงาน/โครงการก่อสร้างทางหลวง บริเวณพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส) รวมทั้งสิ้น 16โครงการ ระยะทาง 165กม. วงเงิน 12,925ล้านบาท อยู่ระหว่างดำเนินการ/ก่อสร้างแล้วเสร็จ จำนวน 5 โครงการ ระยะทาง 43 กิโลเมตร วงเงิน 1,420 ล้านบาท แผนงานปี 2562- 2563 จำนวน 11โครงการ ระยะทาง 122กิโลเมตร วงเงิน 11,505 ล้านบาท

นอกจากนั้น ยังมีแผนการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำ ทั้งถนนเพื่อการท่องเที่ยว ท่าเทียบเรือเพื่อการท่องเที่ยวพัฒนาท่าอากาศยาน มีแผนพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมขนส่งทางน้ำ เพื่อเป็นประตูการค้าการลงทุน แผนพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมขนส่งทางรถไฟ 6 โครงการ

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มี 1.โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ มะพร้าว 2. โครงการระบบสงเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ปาล์มน้ำมัน 3. โครงการระบบสงเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ข้าว 4.โครงการสงเสริมอาชีพด้านปศุสัตว์ (ไก่เบตง, โคเนื้อ, แพะเนื้อ/แพะนม/แกะ) 5. ส่งเสริมการทำประมงต้นแบบ และ 6. โครงการธนาคารโคประชารัฐชายแดนใต้ คาดจะใช้เงินประมาณ 700 ล้านบาท
 
กรมชลประทาน มีแผนปี 2561-2562 เป็นภาคใต้ทั้งหมด 151 โครงการ วงเงินทั้งโครงการ 39,581 ล้านบาท , ภาคใต้อ่าวไทย 101 โครงการ วงเงินทั้งโครงการ 31,783 ล้านบาท , ภาคใต้อันดามัน 25 โครงการ วงเงินทั้งโครงการ 4,266 ล้านบาท ,ชายแดนภาคใต้ 25 โครงการ วงเงินทั้งโครงการ 3,533 ล้านบาททั้งหมด คาดว่าจะดําเนินการแล้วเสร็จ ปี 2569

กระทรวงดีอี แจ้งว่า ขณะนี้ เน็ตประชารัฐ (ฟรี) ภาคใต้ มีทั้งหมด 3,097 จุด ที่น่าตกใจ คือ ขณะนี้ จังหวัดที่มีเน็ตประชารัฐน้อยที่สุด คือ ภูเก็ต ที่ 2 จุด ส่วน “พังงา”มี 61 จุด “ระนอง”มี 35 จุด และสตูล มี 66 จุด แต่ภาพรวมภาคใต้ติดตั้งไปแล้ว 2,942 จุด จาก 3,097 จุด ที่กำลังติดตั้ง โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการสร้างวิทยากรแกนนำจากครู กศน. และภาคีจากทั่วประเทศ เพื่อใช้ความรู้ “เน็ตประชารัฐ”

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะผลักดัน “ร่าง”แผนปฏิบัติการส่งเสริมการท่องเที่ยวเรือสําราญ พ.ศ. 2561-2570 (ระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2561-2562) โดยมีแผนแก้กฎหมายและขั้นตอนต่อเนื่อง โดยมีแผนพัฒนาการท่องเที่ยวภาคใต้อยู่ในร่างดังกล่าว

ขณะที่ข้อเสนอของ “สภาเกษตรภาคใต้และภาคใต้ชายแดน”ซึ่งเป็นตัวแทนภาคประชาชน ยังเน้นการแก้ปัญหา “ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และภาคการประมง”เป็นหลัก
 
ท้ายสุด“หอการค้าภาคใต้”เสนอแผน Big Bang ให้เกิดจากการทุ่มงบประมาณ กระจายตัวของการค้าการลงทุน เชื่อมโยง อนุภูมิภาค(IMT-GT,BIMSTEC, Asean+6, GMS, CLMVT)เช่น โครงสร้างพื้นฐาน เร่งรัดการขยายถนน เป็น 4 ช่องจราจร เส้นทางหมายเลข 4 ถนนเพชรเกษม (จ.ระนอง-จ.ตรัง)ให้แล้วเสร็จทั้งระบบ ภายในปี 2562 สนับสนุนงบประมาณศึกษาโครงการ รถไฟท่องเที่ยวเส้นทาง สุราษฎร์ธานี-ท่านุ่น (จ.พังงา) โครงการท่าเรือครูซ สมุย -กระบี่ เร่งศึกษาออกแบบ รถไฟสายใหม่ชุมพร-ระนอง ,สะพานสตูล -เปอร์ลิส (ตามะลัง ปูยูบูเก็ต-ปูเต๊ะ) เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาใหม่ที่ ที่ภาคประชาชน จ.สตูล จะยื่นหนังสือนายกรัฐมนตรี ไม่ขอแยกจ.สตูล ออกจากกลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากเดิมอยู่ในกลุ่มที่ 18 ตามข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ที่เสนอแนวคิดที่จะยุบ 18 กลุ่มจังหวัด แล้วเปลี่ยนไปเป็น 6 ภาค (ย้ายสตูลไปอยู่ในกลุ่มจังหวัดอันดามัน) โดยที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.น.จ.) เห็นชอบในหลักการไปแล้ว .


กำลังโหลดความคิดเห็น