xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

มาแล้ว! “แผน มท.จัดการมูลฝอย”ฉบับใหม่ กำหนดสเปก“เอกชน”เก็บ/ขนขยะทั่วประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เมื่อเร็วๆนี้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ลงนามในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจัดการมูลฝอย พ.ศ. 2560 เพื่อให้สอดคล้องพ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย ของบ้านเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ตามที่รมว.มหาดไทย ได้ออกประกาศไว้ และกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม และยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการจัดการสิ่งปฏิกูล และขยะมูลฝอย พ.ศ. ...(ที่อยู่ในขั้นตอนกฤษฎีกา) ซึ่งกำลังจะประกาศต่อเนื่องกัน 

หลักการของประกาศฉบับนี้คือ “การบริหารจัดเก็บ ขน กำจัด ขยะมูลฝอยแบบใหม่”ทั่วประเทศ เพื่อบังคับ และกำกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 2 พ.ย.เป็นต้นไป มี“ปลัดกระทรวงมหาดไทย”รักษาการมีอำนาจตีความ วินิจฉัยปัญหา

ประกาศฉบับนี้ มีอยู่ 4 หมวด 25 ข้อ รวมถึงบทเฉพาะกาล โดยมีหลักการตั้งแต่ข้อ 4-25 ประกอบด้วย

“หมวด 1”ว่าด้วย บททั่วไป ข้อ 4 กับข้อ 5 ว่าด้วย อำนาจหน้าที่ “ราชการส่วนท้องถิ่น”สามารถจัดให้มีระบบจัดการและกำจัดมูลฝอยที่มีประสิทธิภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีหน้าที่รณรงค์สร้างความรับรู้ ความเข้าใจ และจิตสำนึก ให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการลดปริมาณ และคัดแยกมูลฝอย เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ มีความตระหนักรู้ และรับผิดชอบในการจัดการมูลฝอย ณ แหล่งกำเนิดมูลฝอย รวมตลอดทั้งเปิดเผยข้อมูลและรายงาน ผลการดำเนินงานให้ประชาชนทราบ

“หมวด 2” ข้อ 6-12 ว่าด้วย “การเก็บ ขน และกำจัดมูลฝอย”มีหลักการ เริ่มตั้งแต่ ให้ราชการส่วนท้องถิ่นจัดให้มีภาชนะรองรับมูลฝอยไว้ในที่สาธารณะและ สถานสาธารณะให้เพียงพอ และเหมาะสมกับประเภท เช่น มูลฝอยทั่วไปและมูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชน โดยต้องจัดให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่เอกชนที่เปิดให้ประชาชน เข้าไปได้จัดให้มีภาชนะรองรับมูลฝอยตามวรรคหนึ่ง

กำหนดให้มี “สีเฉพาะ”แยกประเภท ประกอบด้วย (1) สีน้ำเงิน สำหรับมูลฝอยทั่วไป (2) สีเขียว สำหรับมูลฝอยอินทรีย์ (3) สีเหลือง สำหรับมูลฝอยนำกลับมาใช้ใหม่ (4) สีส้ม สำหรับมูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชน เพื่อความปลอดภัยอาจจัดภาชนะรองรับมูลฝอยให้มีลักษณะโปร่งใสก็ได้

“ยังให้มีประกาศกำหนดวัน เวลา สถานที่ และเส้นทางการเก็บและ ขนมูลฝอยให้ผู้ก่อให้เกิดมูลฝอยทราบล่วงหน้าเป็นเวลาพอสมควร ในกรณีมีเหตุผลความจำเป็นทำให้ไม่สามารถเก็บและขนมูลฝอยได้ ให้แจ้งผู้ก่อให้เกิดมูลฝอยทราบล่วงหน้าโดยวิธีหนึ่งวิธีใดภายในเวลาอันสมควร”

“ถังขยะ”จะต้องบรรจุไว้ในอุปกรณ์หรือยานพาหนะซึ่งกันน้ำและปิดอย่างมิดชิด รวมทั้งจัดการป้องกันไม่ให้มูลฝอย น้ำ หรือสิ่งอื่นอันเกิดจากมูลฝอยตกหล่นรั่วไหลออกจากอุปกรณ์หรือ ยานพาหนะนั้น และต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว โดยระมัดระวังไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการจราจร สุขภาพ อนามัย หรือคุณภาพชีวิตของประชาชน

สำหรับ “การกำจัดมูลฝอย”ให้คัดแยกมูลฝอยที่จัดเก็บได้ออกเป็น “มูลฝอยที่ย่อยสลายง่าย” “มูลฝอยที่ย่อยสลายยาก” และ “มูลฝอยที่ไม่ย่อยสลาย” ก่อนนำไปกำจัดตามความเหมาะสมกับลักษณะทางกายภาพและคุณสมบัติของมูลฝอยนั้น หรือสอดคล้องกับสภาพ ภูมิสังคม และระมัดระวังให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ชุมชน และสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด และ ในการดำเนินการให้ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชน และชุมชนมีส่วนร่วมและสามารถพึ่งพาตนเองในการกำจัดมูลฝอย ณ แหล่งกำเนิด
 
ใน“การกำจัดมูลฝอย”นี้ ให้ดำเนินการตามวิธีการหนึ่งหรือหลายวิธี ดังนี้ (1) การฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาล (2) การหมักทำปุ๋ยหรือก๊าซชีวภาพ (3) การกำจัดด้วยพลังงานความร้อน (4) การแปรสภาพเป็นเชื้อเพลิงหรือพลังงาน (5) วิธีอื่นตามที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด หรือคณะกรรมการจังหวัดให้คำแนะนำ ตามที่เห็นสมควร

"หมวด 3" ข้อ 13-21 ว่าด้วย “การมอบหมายให้เก็บ ขน หรือกำจัดมูลฝอย”หมวดนี้ให้ความสำคัญกับ “ผู้เก็บ ขน หรือกำจัดมูลฝอย” เช่น ราชการส่วนท้องถิ่น อาจร่วมกับหน่วยงานของรัฐ หรือราชการส่วนท้องถิ่นอื่น ในการดำเนินการเก็บ ขน หรือกำจัดมูลฝอย หรือกรณีราชการส่วนท้องถิ่นมอบหมายหน่วยงานของรัฐหรือราชการส่วนท้องถิ่นอื่นจะเป็นประโยชน์ แก่ประชาชนในท้องถิ่นมากกว่าการที่ราชการส่วนท้องถิ่นจะดำเนินการเอง และอาจมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐหรือราชการส่วนท้องถิ่นอื่น ในการดำเนินการเก็บ ขน หรือกำจัดมูลฝอย “โดยอนุโลม”หรือจะให้คณะกรรมการจังหวัด หรือคณะกรรมการกลาง แนะนำและกำกับ ในการรวมกลุ่ม ก็ได้

กรณีราชการส่วนท้องถิ่น “ไม่อาจดำเนินการได้”หรือ “กรณีมีดำเนินการข้ามเขตจังหวัด”ให้ขอคำแนะนำของคณะกรรมการจังหวัด หรือคณะกรรมการกลาง เท่านั้น

ไฮไลต์ ของประกาศฉบับนี้ คือ อาจมอบหมายให้ “ภาคเอกชน”เข้ามาดำเนินการหรือร่วมดำเนินการ หากจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนในท้องถิ่นมากกว่าการที่ราชการส่วนท้องถิ่นจะดำเนินการเอง โดยให้คำนึงถึง

“(1) ประสิทธิภาพและความคุ้มค่าในการดำเนินกิจการและการใช้ทรัพยากรของราชการส่วนท้องถิ่น (2) การยึดถือวินัยการเงินการคลัง (3) ประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจจากการดำเนินการ (4) ความโปร่งใสในกระบวนการตัดสินใจที่เกี่ยวข้อง (5) การจัดสรรความเสี่ยงที่เหมาะสมกับการดำเนินการระหว่างราชการส่วนท้องถิ่นกับเอกชน (6) สิทธิและประโยชน์ของผู้รับบริการและผู้ให้บริการ และ (7) การส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรมระหว่างเอกชนที่ประสงค์จะร่วมกับราชการ ส่วนท้องถิ่น”โดยดำเนินการตาม “กฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ”

นอกจากนั้น คณะกรรมการจังหวัด หรือคณะกรรมการกลาง จะมีบทบาทอย่างมาก เช่นให้คำแนะนำราชการส่วนท้องถิ่น ในการจัดทำข้อเสนอเพื่อให้ รมว.มหาดไทย หรือผู้ที่รัฐมนตรีมอบหมายให้ความเห็นชอบ
 
กล่าวง่าย ๆ คือ จะมีการกำหนดสเปกของภาคเอกชน เช่น ต้นทุนการดำเนินการในภาพรวมและมูลค่าของการดำเนินการ รวมทั้งสัดส่วนการลงทุน ของราชการส่วนท้องถิ่นและเอกชนต่อมูลค่าของการดำเนินการ ,รูปแบบและระยะเวลาการมอบหมายให้เอกชนดำเนินการหรือร่วมดำเนินการ , ประมาณการผลตอบแทนในด้านต่าง ๆ ซึ่งอย่างน้อยต้องแสดงให้เห็นอัตราผลตอบแทน ทางการเงินและทางเศรษฐศาสตร์ และลักษณะการจัดสรรผลประโยชน์ตอบแทนของการดำเนินการ

รวมไปถึง ผลกระทบ ซึ่งครอบคลุมทั้งผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อมจากการดำเนินการ ตลอดจน วิธีการป้องกัน ลด หรือแก้ไขเยียวยาผลกระทบดังกล่าว ,ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องและแนวทางการบริหารความเสี่ยงของการดำเนินการ ,ความพร้อมของราชการส่วนท้องถิ่นผู้จัดทำข้อเสนอ ความสอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัด รวมถึงการศึกษาการดำเนินการตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการของราชการส่วนท้องถิ่นผู้จัดทำข้อเสนอ การจัดทำข้อเสนอมิให้ใช้บังคับกับการกำจัดมูลฝอย

การให้ภาคเอกชน มาดำเนินการหลังจาก มท.1 เห็นชอบแล้ว ต้องนำกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐมาใช้บังคับโดยอนุโลม และให้ใช้วิธีการ “ประมูล”ก่อน หรืออาจจะ “ไม่ใช้วิธีประมูลก็ได้”โดย มี”ช่องทางพิเศษ”ให้ขอคำแนะนำจากคณะกรรมการจังหวัด หรือคณะกรรมการกลาง ก่อนเสนอ มท.1 เช่นกัน แต่จะมีหลักเกณฑ์ตามที่ มท.1 กำหนด เช่น ความจำเป็นเร่งด่วนจากเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดหมายได้ ,หรือหากใช้วิธีการประมูล จะไม่คุ้มค่า เป็นต้น

เมื่อคัดเลือกได้แล้ว จะต้องมีการทำ “สัญญา”ที่ผ่านการตรวจพิจารณาของ “สำนักงานอัยการสูงสุด”เท่านั้น เพื่อไม่ให้มีปัญหาในเรื่องของข้อพิพาทในอนาคต หากมีการแก้ไขสัญญา

"หมวด 4" ว่าด้วยการ “การดำเนินการ ใช้ และหาประโยชน์”ของขยะมูลฝอย โดยให้ท้องถิ่นรับคำแนะนำจากกรรมการฯ สำหรับ“บทเฉพาะกาล”นั้น กล่าวถึง การจัดการมูลฝอย ที่ได้ดำเนินการก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ และยังดำเนิน กระบวนการไม่แล้วเสร็จ ให้ดำเนินการต่อไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ฯลฯ จนกว่าจะแล้วเสร็จ

ข้อสุดท้าย “ให้ราชการส่วนท้องถิ่น จัดให้มีภาชนะรองรับมูลฝอย คือ ภายใน 3 ปี ถังขยะทั้ง 4 แบบ 4 สี จะต้องนำมาบังคับใช้ให้กับประชาชนทั่วประเทศ”ซึ่งเชื่อว่าเร็วๆนี้ กฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการจัดการสิ่งปฏิกูลและขยะมูลฝอย พ.ศ. ... (ที่อยู่ในขั้นตอนกฤษฎีกา) ซึ่งมีหลักการ “อัตราค่าธรรมเนียม”ให้คิดตามต้นทุนที่แท้จริงในการบริหารจัดการขยะ, ค่าขยะรายเดือน ปรับปรุงให้สอดคล้องกับต้นทุนการจัดการในทุก 6 ปี ,ขยะไม่เกิน 120 กิโลกรัม *ค่าเก็บขน เดือนละ 60-102 บาท * ค่ากำจัด เดือนละ 40-70 บาท”จะได้ประกาศใช้ควบคู่ไปกับประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจัดการมูลฝอย พ.ศ. 2560 ในอนาคต
 
ตามเป้าหมาย เพื่อเดินหน้า “ค่าธรรมเนียมใหม่”และตามหลักการที่ “ใครก่อขยะเป็นภาระของคนนั้น”(ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย) ค่าธรรมเนียมที่ท้องถิ่นได้รับจะกลับมาจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ.


กำลังโหลดความคิดเห็น