xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เรตติ้งไทยพุ่งกระฉูด จัดผังเมืองใหม่อุ้ม “อีอีซี” แล้ว “ประชาชน” ล่ะได้อะไร?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กลุ่มทุนใหญ่น้อยตีปีกกันพรึ่บพรั่บตามมาทันทีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จตามมาตรา 44 ยกเลิกการบังคับใช้ผังเมืองของ 3 จังหวัดในเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี

บวกเข้ากับข่าวดีแบบสุดๆ จากธนาคารโลกที่จัดอันดับความยาก-ง่ายในการทำธุรกิจ หรือ Doing business 2018 ที่ปรากฏว่า ประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 26 จากทั้งหมด 190 ประเทศทั่วโลก เด้งขึ้นถึง 20 อันดับจากปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่อันดับที่ 46 ยกฐานะขึ้นสู่อันดับ 3 ของอาเซียน เป็นรองจากสิงคโปร์ ซึ่งรั้งอยู่ในอันดับ 2 และมาเลเซีย ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 24 โดยมีคะแนนรวม 77.44 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ 72.53 คะแนน

เป็นข่าวดีที่นำความปลื้มปริ่มยิ้มแก้มปริมายัง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี คุมฝ่ายเศรษฐกิจที่ปล้ำผีลุกปลุกผีนั่งให้เศรษฐกิจโงหัวขึ้นให้ได้ “.... นับว่าไม่ธรรมดาจากที่ก่อนหน้านี้ประเทศไทยไม่เคยปรับปรุงมาก่อน ....” นายสมคิด ให้สัมภาษณ์ หลังธนาคารโลกเปิดเผยรายงาน

นับเป็นการพิสูจน์ฝีมือทีมเศรษฐกิจรัฐบาลคสช. อย่างเห็นได้ชัด โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อันดับของไทยดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากอันดับที่ 49 ในปี 2016 เป็นอันดับที่ 46 ในปี 2017 จนก้าวมาอยู่ในอันดับที่ 26 ในปี 2018 ห่างจากมาเลเซียเพียง 2 อันดับ และติดหนึ่งในสิบประเทศที่มีการปรับปรุงเพื่อให้เกิดความสะดวกในการประกอบธุรกิจมากที่สุดในปีที่ผ่านมา

“ ..... รัฐบาลมีความจริงใจที่จะสนับสนุนให้การทำธุรกิจของภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีความสะดวกรวดเร็วและเป็นประโยชน์มากที่สุด เช่น การปลดล็อกความยุ่งยากต่างๆ โดยใช้คำสั่งตาม ม.44 ในเบื้องต้น และจะออกกฎหมายปกติเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงความสำเร็จด้วยความเป็นปลื้มเช่นกัน

นั่นเป็นข่าวดีของกลุ่มนักลงทุนที่กำลังตัดสินใจจะหอบเงินเข้ามายังไทยแลนด์แดนสวรรค์ของนักลงทุนตามที่ธนาคารโลก ประเมินล่าสุด แต่สำหรับประชาชน ชาวบ้านชาวช่องทั่วไปจะได้รับอานิสงส์จากการเข้ามาลงทุนของกลุ่มทุนอย่างที่รัฐบาลโปรยยาหอมหรือไม่นั้น ยังไม่แน่

เพราะความมั่งคั่งที่จะไหลรินจากเบื้องบนสู่เบื้องล่างตามระบบทุนนิยมแบบไหลรินเหมือนการกินน้ำใต้ศอก ที่รัฐบาลและกลุ่มทุนจะพร่ำบอกเมื่อกลุ่มทุนรวยแล้วจะเกิดการผันทรัพยากรไปสู่คนจนนั้น มันได้พิสูจน์ให้เห็นมาแล้วว่าไม่จริง ที่เห็นและเป็นอยู่มีแต่ “รวยกระจุก จนกระจาย” นับตั้งแต่เริ่มต้นพัฒนาพื้นที่อีสเทิร์นซีบอร์ดมาจนถึงอีอีซีในเวลานี้

ด้วยเหตุฉะนี้ การใช้อำนาจใช้คำสั่งตาม มาตรา 44 เพื่อปลดล็อกความยุ่งยากในการลงทุน จึงหาได้รับการแซ่ซ้องสรรเสริญจากประชาชนถ้วนหน้าไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ดังกรณีคำสั่งตามมาตรา 44 ที่จัดผังเมืองใหม่ในเขตอีอีซี 3 จังหวัด เพื่อให้หน่วยงานของรัฐจัดทำแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคใหม่ ก่อเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากชาวบ้านและนักวิชาการถึงปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตซึ่งย่ำแย่อยู่แล้วให้แย่หนักขึ้นไปอีก

ดร. สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการและนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมของภาคตะวันออก จึงซัดเปรี้ยงเข้าให้ในทันที โดย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Somnuck Jongmeewasin’ วิจารณ์การออกคำสั่ง ม.44 ดังกล่าวว่า เป็นการฉวยโอกาสและขาดกาลเทศะอย่างร้ายแรงในการชิงออกกฎหมายผลักดันโครงการขนาดใหญ่ โดยไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมของประชาชน

“.... หัวหน้า คสช. กลับกระทำการสวนทางความรู้สึกของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ โดยเฉพาะคนภาคตะวันออก โดยการออกคำสั่ง คสช. ที่ 47/2560 ผ่านมาตรา 44 ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองในพื้นที่ EEC ทั้ง 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ในทันที … ทั้งหมดระบุไว้ชัดในข้อ 4 วรรค 1 และข้อ 5 ภายใต้คำสั่งอัปยศฉบับนี้ ที่หัวหน้า คสช. หน้ามืดตามัว เห็นผิดเป็นชอบ ไปช่วยผลัก-ช่วยดันให้โครงการในพื้นที่ EEC ผ่านไวๆ โดยไม่ได้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่สนกฎหมายที่มีบังคับใช้อยู่ และขาดซึ่งธรรมาภิบาลในการบริหารราชการแผ่นดิน…

‘ทุกคนอยากทราบใช่ไหมครับ? ทำไมต้องเร่งออก ม.44 ยกเลิกกฎหมายผังเมืองในพื้นที่ EEC? …ก็เพราะว่าในขณะนี้โครงการมาบตาพุดเฟส 3 ที่จะมีการถมทะเล และมีการจัดทำรายงาน EHIA ส่งให้กับ สผ. และ คชก. ไปแล้ว 1 รอบนั้น ในทางกฎหมาย โครงการนี้จะไม่สามารถผ่านการอนุมัติของ สผ. และ คชก. เพราะโครงการนี้ขัดกับกฎหมายผังเมืองของจังหวัดระยอง ทั้งผังเมืองรวมจังหวัดระยองและผังเมืองรวมมาบตาพุด

‘แต่ตอนนี้ ด้วยคำสั่งเผด็จการผ่าน ม.44 ตั้งใจออกมาปลดล็อกให้ยกเว้นการบังคับใช้ผังเมือง ฉะนั้นโครงการมาบตาพุดเฟส 3 ถมทะเล จะได้รับการอนุมัติให้ก่อสร้างได้ นับแต่วันนี้เป็นต้นไป รวมทั้งโครงการอื่นๆ ในอนาคต ในพื้นที่มาบตาพุดและพื้นที่อื่นๆ ทุกๆ มุมของ EEC ด้วย’

เรียกว่า ซัดกันหนักๆ แบบหมัดเดียวเอาอยู่

กลายเป็นประเด็นร้อนที่ นายวิฑูรย์ อยู่ทิม รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รีบออกมาชี้แจงเรื่องการถมทะเลบริเวณมาบตาพุดว่า เป็นการดำเนินการแผนแม่บทที่มีมาตั้งแต่ปี 2532 ซึ่งกำหนดให้มีการถมทะเล 3 ระยะ โดยระยะที่ 1 ทำไปแล้วเมื่อปี 2535 พื้นที่ 1,400 ไร่ ระยะที่ 2 เมื่อปี 2540 พื้นที่ 1,400 ไร่ สำหรับระยะที่ 3 ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ มีพื้นที่ 1,000 ไร่ กนอ. ได้ยืนขอประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA กับสำนักงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (สผ. ) ไปแล้วตั้งแต่ปลายปี 2559 และขณะนี้ อยู่ระหว่างเข้าสู่การพิจารณาของผู้ชำนาญการของ สผ. ครั้งที่ 2

ขณะเดียวกัน นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ สกรศ. ถึงกับหัวร้อน ออกมาชี้แจงแถลงไขแทนพล.อ.ประยุทธ์ ว่า คำสั่งดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อเร่งรัดจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินและแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคใน 3 จังหวัดพื้นที่อีอีซี จาก 1 ปีครึ่ง เหลือ 6 เดือน ทำคู่ขนานไปกับร่างพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คาดว่าภายในเดือนธ.ค.นี้จะออกเป็นกฎหมายได้ โดยรัฐบาลคาดว่าจะสามารถดึงดูดเงินลงทุนเข้ามาได้ถึง 5 แสนล้านบาทใน 5 ปีข้างหน้า

“....ประเด็นสำคัญคือ เรื่องนี้ตอนที่ทำไม่ได้เกี่ยวกับประเด็นสิ่งแวดล้อมเลย ....” นายคณิศ กล่าวทั้งรับประกันว่า อุตสาหกรรมในอีอีซี จะไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมไฮเทค เช่น ซ่อมแซมอากาศยาน ยานยนต์สมัยใหม่ เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ

“เราเชื่อว่าอีอีซีไม่ได้ทำให้สิ่งแวดล้อมเลวลงแน่นอน ที่สำคัญเศรษฐกิจของประเทศจะเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน” เลขาธิการ อีอีซี ยืนยันเช่นนั้น

แต่นักลงทุนตัวจริง นายเอกรัตน์ ทองธวัช ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เคยให้สัมภาษณ์สื่อว่า ได้เสนอขอให้ทางรัฐบาลเร่งดำเนินการแก้ไขปรับปรุงผังเมืองเทศบาลมาบตาพุด “ให้มีความชัดเจนโดยเร็ว” โดยให้เหตุผลว่านักลงทุนทั้งรายเก่าและรายใหม่ไม่สามารถตัดสินใจเดินหน้าลงทุนต่อไปได้ ซึ่งหากไม่มีการขยายพื้นที่สีม่วงหรือเขตอุตสาหกรรมหรือปรับผังเมืองใหม่ ก็จะทำให้การลงทุนจะต้องสะดุดลง

ฟังเสียงจากนักลงทุนแล้ว จะยังเชื่อเลขาฯ อีอีซี ว่าการขยายลงทุนอุตสาหกรรมจะไม่มีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอยู่อีกหรือไม่ เรื่องนี้ สำหรับชาวบ้านในเขตพื้นทีอีสเทิร์นซีบอร์ดหรืออีอีซีในเวลานี้ ต่างมีคำตอบชัดเจนอยู่แล้ว

การลงทุนภาคอุตสาหกรรมในเขตอีสเทิร์นซีบอร์ดในเขตจังหวัดชลบุรีและระยอง ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ได้สร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของผู้คนที่นั่นอย่างใหญ่หลวง และยังเป็นปัญหาเรื้อรังอยู่จนบัดนี้ ทั้งเรื่องมลพิษทางอากาศ น้ำเสีย ขยะอุตสาหกรรม อุบัติภัยจากมลพิษที่รั่วไหลและปล่อยออกมาจากโรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ

ประชาชนในเขตมาบตาพุดและใกล้เคียงมีปัญหาสุขภาพจากมลพิษอุตสาหกรรม มีสถิติจากกระทรวงสาธารณสุข บ่งชี้ถึงอัตราการป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ อัตราการป่วยด้วยโรคมะเร็งสูงกว่าพื้นที่อื่น เด็กพิการและมีโครโมโซมผิดปกติแต่กำเนิดเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่าในรอบ 8 ปี

แม้จะมีปัญหามากมายจนต้องประกาศให้มาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียงเป็นเขตควบคุมมลพิษ แต่ทว่ายังไม่สามารถแก้ไขปัญหาใดๆ ได้ และเสียงเรียกร้องของชาวบ้านที่นั่นในเวลานี้ ก็ขอเพียงให้โรงงานอุตสาหกรรมอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างปลอดภัยและขอมีส่วนร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาเท่านั้น แต่ดูเหมือนรัฐบาลทั้งที่มาจากการเลือกตั้งและรัฐบาลทหาร ไม่ได้เอาใจใส่แก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านอย่างจริงจัง

คำถามที่ดังอึงมี่และวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนักในเวลานี้ก็คือ ขณะที่รัฐบาลกำลังปลื้มปริ่มอยู่กับเรตติ้งการเข้ามาลงทุนง่ายขึ้นของนักลงทุน แล้ว “ประชาชน” ล่ะ จะได้อะไรกับเขาบ้างนอกเสียจาก “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ที่สามารถจับต้องได้อย่างชัดเจนที่สุด

กำลังโหลดความคิดเห็น