xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

พระเมรุมาศในรัชกาลที่ ๙ นิรมิตแดนสรวงเทิด “จอมกษัตริย์” ร้อยดวงใจส่งพระร่มฉัตรสู่ “สวรรคาลัย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ณ บัดนี้ พระเมรุมาศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรได้เสร็จสมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยภายหลังจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จพระราชดำเนินยก “นพปฎลมหาเศวตฉัตร” ขึ้นประดิษฐานเมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๐

วิจิตร งดงาม ยิ่งใหญ่ตระการและสมพระเกียรติยศแห่งพระเจ้าแผ่นดินตามหลักโบราณราชประเพณีและคติความเชื่อเรื่องพระมหากษัตริย์เป็นสมมติเทพรวมถึงคติความเชื่อเรื่องโลกและจักรวาล ที่กระทำสืบต่อกันมาตั้งสมัยอยุธยาทุกประการ
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จพระราชดำเนินยก “นพปฎลมหาเศวตฉัตร” ขึ้นประดิษฐานเหนือยอดพระเมรุมาศเมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๐


กล่าวคือ พระเมรุมาศเปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุอันเป็นศูนย์กลางของจักรวาลและมีอาคารรายล้อมเสมือนสิ่งต่างๆ ที่รายล้อมจักรวาล เสมือนหนึ่งเป็นการจำลองเขาพระสุเมรุซึ่งตั้งอยู่บนแดนสรวงลงมายังพื้นพิภพ เพื่อเป็นการส่งเสด็จพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งพระองค์นี้สู่สวรรคาลัย

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายคติความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ที่เกี่ยวข้องกับสถานะของพระมหากษัตริย์ว่า “ด้วยคติของพวกพราหมณ์ถือว่า พระเจ้าแผ่นดินเป็นพระอิศวรหรือพระนารายณ์แบ่งภาคลงมาบำรุงโลก เจ้านายซึ่งเป็นพระราชบุตรแลพระราชธิดาก็เป็นเทพบุตรแลเทพธิดา เมื่อสิ้นชาติในโลกนี้แล้ว ย่อมกลับคืนไปสู่สวรรคเทวโลกตามเดิม เพราะเหตุนี้ถือว่าพระเจ้าแผ่นดินแลเจ้านายกลับเป็นเทวดาตั้งแต่เวลาสิ้นพระชนม์ชีพ จึงแต่งพระศพเป็นเทวดาประเพณีที่ใส่โกศตั้งบนฐานแว่นฟ้า แลเรียกที่ถวายพระเพลิงพระศพว่า “เมรุ” ก็น่าจะเนื่องมาแต่คติที่ถือว่าเป็นเทวดานั้นเอง” (สมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ ๒๔๗๐: ๑-๒)

พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ประกอบด้วยอาคารทรงบุษบก จำนวน ๙ องค์ ตั้งอยู่บนฐานชาลารูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ๓ ชั้น มีบันไดทางขึ้น ทั้ง ๔ ทิศ ทิศตะวันตกหันหน้าเข้าพระที่นั่งทรงธรรม ทิศตะวันออกติดตั้งลิฟต์ และทิศเหนือติดตั้งสะพานเกรินสำหรับเชิญพระบรมโกศจากราชรถปืนใหญ่ขึ้นบนพระเมรุมาศ โดยโครงสร้างพระเมรุมาศ ประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังนี้

ลานอุตราวรรต หรือ พื้นรอบฐานพระเมรุมาศ มีสระอโนดาตทั้งสี่ทิศและเขามอจำลอง ภายในสระประดับด้วยประติมากรรมสัตว์หิมพานต์ ได้แก่ ช้าง โค สิงห์ ม้า และสัตว์หิมพานต์ตระกูลต่างๆ


ฐานชาลาชั้นที่ ๑ เป็นชั้นล่างสุด มีฐานสิงห์เป็นรั้วราชวัติ ฉัตร แสดงอาณาเขตพระเมรุมาศ และมีเทวดานั่งคุกเข่าถือบังแทรก ส่วนที่มุมทั้งสี่ของฐานมีประติมากรรมท้าวจตุโลกบาลประทับยืนหันหน้าเข้าสู่บุษบกองค์ประธาน

ฐานชาลาชั้นที่ ๒ มี “หอเปลื้อง” ทรงบุษบกรูปแบบเดียวกันตั้งอยู่ที่มุมทั้งสี่ ใช้สำหรับจัดเก็บพระโกศทองใหญ่และพระโกศไม้จันทน์ รวมถึงอุปกรณ์สำหรับงานพระราชพิธี

ฐานชาลาชั้นที่๓ ฐานบุษบกประธานประดับประติมากรรมเทพชุมนุม จำนวน ๑๓๒ องค์โดยรอบ รองรับด้วยฐานสิงห์ซึ่งประดับประติมากรรมครุฑยุดนาคโดยรอบอีกชั้นหนึ่ง มุมทั้งสี่ของฐานชั้นที่ ๓ นี้ เป็นที่ตั้งของ “ซ่าง” ทรงบุษบกยอดมณฑปชั้นเชิงกลอน ๕ ชั้น ใช้สำหรับพระพิธีธรรม ๔ สำรับ นั่งสวดอภิธรรมสลับกันไปตลอดนับตั้งแต่พระบรมศพประดิษฐานบนพระจิตกาธานจนกระทั่งถวายพระเพลิงพระบรมศพเสร็จ

จุดกึ่งกลางชั้นบนสุด มีบุษบกองค์ประธานตั้งอยู่ เป็นอาคารทรงบุษบกยอดมณฑปชั้นเชิงกลอน ๗ ชั้น ภายในมีพระจิตกาธาน เป็นที่ประดิษฐานพระบรมโกศ ผนังโดยรอบเปิดโล่ง ติดตั้งพระวิสูตร (ม่าน) และฉากบังเพลิงเขียนภาพพระนารายณ์อวตารตอนบน และภาพโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริตอนล่าง ที่ยอดบนสุด ประดิษฐานนพปฎลมหาเศวตฉัตร (ฉัตรขาว ๙ ชั้น)

ดร. พรธรรม ธรรมวิมล ภูมิสถาปนิก สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ผู้ดูแลการวางผังพระเมรุมาศ อธิบายถึงเรื่องแนวคิดการวางผังพระเมรุมาศฯ ว่า การวางผังพระเมรุมาศฯ มีความเชื่อมโยงกับศาสนสถานโบราณสำคัญที่อยู่บริเวณรอบมณฑลพิธีท้องสนามหลวง โดยกำหนดที่ประดิษฐานของบุษบกองค์ประธาน ที่ตั้งของพระจิตกาธาน สำหรับถวายพระเพลิง พระบรมศพฯ จากจุดตัดของเส้นทิศเหนือ-ใต้ ซึ่งลากจากยอดพระศรีรัตนเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กับเส้นทิศตะวันออก-ตะวันตก ที่ลากจากเขตพุทธาวาส วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร

ทั้งนี้ หากมองพระเมรุมาศฯ จากกึ่งกลางของทางเข้าด้านทิศเหนือ (หันหน้าเข้าพระบรมมหาราชวัง) จะสามารถมองเห็นยอดพระศรีรัตนเจดีย์ของวัดพระแก้วซ้อนอยู่ในบุษบกองค์ประธาน นับเป็นความงดงามทางภูมิสถาปัตย์ที่น่าประทับใจยิ่ง

ส่วน นพปฎลมหาเศวตฉัตร ประดับยอดพระเมรุมาศนั้น นางสาวศุภร รัตนพงศ์ รองอธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า ได้นำต้นแบบมาจากพระเมรุมาศ รัชกาลที่ ๖ และพระเมรุมาศ รัชกาลที่ ๘ โดยดำเนินการจัดสร้างตามแบบโบราณราชประเพณีที่ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ ตามความหมายคือ นพ แปลว่าเก้า เศวต แปลว่า ขาว ส่วนฉัตรคือร่มขาวที่กางทั้งหมด ๙ ชั้น

ทั้งนี้ การจัดสร้างนพปฎล มหาเศวตฉัตรครั้งนี้มีความพิเศษคือมีขนาดใหญ่ มีความสูงตั้งแต่ส่วนปลียอดจนถึงยอดสุด ซึ่งลักษณะของการทำฉัตร จัดทำด้วยผ้าเบาทิ้งตัวสีขาวมีขลิบทองรวมสามชั้น โดยนำผ้าสามผืนมาล้อมโครงในการขลิบทองเส้นขลิบของฉัตรชั้นล่าง มีความหนาที่สุด และแขวนประดับด้วยจำปา ๑๔ ช่อห้อยลงมาให้เกิดความสวยงาม

ที่สำคัญที่บริเวณส่วนยอดของฉัตรได้ดำเนินการตามแบบโบราณราชประเพณีคือนพปฎลมหาเศวตฉัตร ต้องมีลักษณะเป็นทรงองค์ระฆังจากนั้นเป็นบัวกลุ่ม คั่นด้วยลูกแก้ว บัวกลุ่มต่อด้วยปลีปลาย เป็นโลหะทองแดง กลึงรับ เพื่อต่อสายล่อฟ้าด้วย อย่างไรก็ตามการจัดสร้างครั้งนี้มีการใช้ตาข่ายพลาสติก ใส่ไว้ในโครงสร้างเพื่อเวลาที่ฉัตรเจอลมแล้วจะไม่ยุบช่วยทำให้การเคลื่อนไหวเป็นธรรมชาติและ ยังสามารถกลับมาอยู่ที่เดิมและไม่เป็นสนิม

อาคารประกอบพระเมรุมาศ
อาคารประกอบพระเมรุมาศเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นชั่วคราวสำหรับพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ โดยอาคารประกอบพระเมรุมาศฯ ก่อสร้างขึ้นตามโบราณราชประเพณีอย่างสง่างาม ประกอบด้วย พระที่นั่งทรงธรรม ศาลาลูกขุน ทับเกษตร ทิม ราชวัติ และพลับพลายก

ทั้งนี้ อาคารและสิ่งปลูกสร้างประกอบถูกออกแบบให้มีรูปลักษณ์ที่สอดคล้องกับองค์พระเมรุมาศ เพื่อเสริมสร้างให้พระเมรุมาศมีความสง่างามตามพระบรมราชอิสริยยศของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

ราวบันไดนาคประดับพระเมรุมาศ
ตามความเชื่อในคติพุทธ พญานาคเปรียบเป็นสัญลักษณ์ของสายน้ำ และเสมือนดั่งสะพานสายรุ้ง เชื่อมโลกมนุษย์กับโลกสวรรค์ โดยภพภูมิของพญานาคคือเทพกึ่งสัตว์ อันเป็นที่มาของประติมากรรมราวบันไดนาคประดับพระเมรุมาศพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งประติมากรรมบันไดนาค ทั้งหมด ๔ แบบ อยู่บนพระเมรุมาศทั้ง ๔ ชั้น โดยบันไดนาคในแต่ละชั้นมีลักษณะแตกต่างกันตามความสำคัญและระดับชั้นบารมีของนาค ซึ่งผู้ออกแบบสื่อให้เห็นถึงการลดละกิเลสสู่ความเป็นเทพในชั้นที่สูงขึ้น

ประติมากรรมท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔
ท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ เป็นเทวดาผู้ป้องกันอันตรายที่จะเกิดแก่มนุษย์โลกไว้ทั้ง ๔ ทิศ เสด็จลงมาจากสวรรค์เพื่อรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสู่สวรรค์ ประติมากรรมท้าวโลกบาลทั้งสี่ตั้งอยู่บนฐานชาลาที่ ๒ บริเวณมุมล้อมรอบองค์พระเมรุมาศ

แปลงนาข้าว เลข ๙
สร้างขึ้นด้านหน้าพระเมรุมาศ สื่อความหมายถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยได้แรงบันดาลใจมาจากวังสวนจิตรลดา หรือพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน อันเป็นสวนในพระราชวังของพระองค์ท่าน สถานที่ทดลองโครงการส่วนพระองค์ที่เกี่ยวกับการเกษตรและเป็นศูนย์วิจัยพัฒนาแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ตามแนวพระราชดำริในเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อคิดค้นแนวทางแก้ปัญหาด้านการเกษตรให้แก่ประชาชน สร้างประโยชน์สุขต่อพสกนิกรชาวไทย

ทั้งนี้ สวนด้านหน้าพระเมรุมาศ ออกแบบคันนาสำหรับปลูกข้าวเป็นรูปเลข ๙ รวมถึงปลูกพืชชนิดอื่นๆ อาทิ หญ้าแฝก ยางนา มะม่วงมหาชนก เป็นต้น ดินที่ใช้เป็นดินผสมทรายสีทองเพื่อให้สวนมีความโดดเด่นมากขึ้น อีกทั้งยังมีการติดตั้งกังหันชัยพัฒนา สิ่งประดิษฐ์ที่ใช้ปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วยวิธีการเติมอากาศ ซึ่งมูลนิธิชัยพัฒนาได้คิดค้นพัฒนาขึ้นตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เพื่อใช้บำบัดน้ำเสียในทั่วทุกภูมิภาคของไทย โดยแปลงนาข้าวด้านหน้าพระเมรุมาศที่จัดสร้างขึ้นในครั้งนี้ถือเป็นแปลงนานอกสถานที่ที่ใหญ่ที่สุดที่เคยสร้างมาเลยทีเดียว

พระจิตกาธาน
พระจิตกาธาน คือ เชิงตะกอน หรือฐานที่ทำขึ้นสำหรับเผาศพ เป็นคำที่ใช้สำหรับพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์ ประกอบด้วยแท่นฐานสำหรับเผาทรงสี่เหลี่ยม ภายในใส่ดินเสมอปากฐานสำหรับวางฟืน ไม้จันทน์ พระจิตกาธาน มักประดับตกแต่งด้วยกระดาษสีและเครื่องสด เช่นดอกไม้ ใบไม้ ใบตอง หยวกกล้วยและผลไม้บางชนิดเป็นต้น สำหรับเป็นเครื่องกันไฟ

ในการถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระจิตกาธานตั้งอยู่บนฐานชาลาชั้นบนสุดภายในบุษบกองค์ประธาน

ฉากบังเพลิง
เป็นเครื่องกั้นทางขึ้นลงพระเมรุมาศในชั้นจิตกาธาน มีลักษณะเป็นฉากพับได้ ติดไว้กับเสาทั้ง ๔ ด้าน บริเวณบันไดขึ้นลงพระเมรุมาศ เพื่อมิให้เห็นการถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ และใช้บังลม ส่วนมากมักเขียนจิตรกรรมประดับตกแต่งด้วยภาพเทวดา

ฉากบังเพลิงในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทั้ง 4 ทิศ ด้านหน้าเป็นภาพพระนารายณ์อวตารในปางต่าง ๆ ๘ ปาง พร้อมสัตว์พาหนะ และกลุ่มเทวดา ด้านล่างเป็นภาพโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในหมวดดิน น้ำ ลม และไฟ

ทิศเหนือ เป็นภาพพระนารายณ์อวตารปางที่ ๒ กูรมาวตาร (อวตารเป็นเต่า) และปางที่ ๑ มัตสยาวตาร (อวตารเป็นปลา) ด้านล่างเป็นภาพโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในหมวดน้ำ ๖ โครงการ ได้แก่ ฝนหลวง ฝายต้นน้ำ อ่างเก็บน้ำเขาเต่า เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และกังหันน้ำชัยพัฒนา

ทิศตะวันออก เป็นภาพพระนารายณ์อวตารปางที่ ๔ นรสิงหาวตาร (อวตารเป็นสิงห์ครึ่งคน) และปางที่ ๓ วราหาวตาร (อวตารเป็นหมูป่า) ด้านล่างเป็นโครงการในหมวดดิน ๖ โครงการ ได้แก่ ดินกรวด ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ ดินเค็ม ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน ดินทราย ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน และโครงการหุบกะพง-ดอนห้วยขุน ดินดานลูกรัง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย ดินพรุ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง และดินเปรี้ยว ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง

ทิศใต้ เป็นภาพพระนารายณ์อวตารปางที่ ๗ รามาวตาร (อวตารเป็นพระราม) และปางที่ ๖ ปรศุรามาวตาร (อวตารเป็นพราหมณ์ผู้ใช้ขวานเป็นอาวุธ ด้านล่างเป็นโครงการในหมวดไฟ ๖ โครงการ ได้แก่ สบู่ดำ ปลูกเพื่อสกัดน้ำมัน สามารถใช้แทนน้ำมันดีเซล โรงงานผลิตไบโอดีเซล ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง เชื้อเพลิงอัดแท่ง แกลบอัดแท่ง โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ก๊าซชีวภาพ โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา พลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ ผลิตกระแสไฟฟ้า ใช้ไฟฟ้าสำหรับอุปกรณ์รับส่งสัญญาณดาวเทียม ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ และกังหันน้ำผลิตไฟฟ้าที่ประตูน้ำคลองลัดโพธิ์

ทิศตะวันตก เป็นภาพพระนารายณ์อวตารปางที่ ๑๐ กัลกยาวตาร (อวตารเป็นมนุษย์ผู้ขี่ม้าขาว) และปางที่ ๘ กฤษณาวตาร (อวตารเป็นพระกฤษณะ) ด้านล่างเป็นโครงการในหมวดลม ๖ โครงการ ได้แก่ กังหันลม โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ บ้านหนองคอไก่ จ.เพชรบุรี เพื่อการผันน้ำจากที่ต่ำชักน้ำขึ้นที่สูง กังหันลม โครงการสถานีพัฒนาเกษตรที่สูงตามพระราชดำริดอยม่อนล้าน จ.เชียงใหม่ กังหันลม โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบวาตภัยแหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราช และมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ปอดของกรุงเทพฯ พระราชดำริพื้นที่บางกระเจ้า อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ

ส่วนด้านหลังของฉากบังเพลิงเขียนภาพพระปรมาภิไธยย่อ ภปร. ประดับตกแต่งด้วยดอกไม้ทิพย์ และดอกดาวเรืองสีเหลือง ซึ่งเป็นสีประจำวันพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

หอเปลื้อง
คือบุษบก ๔ องค์ ที่อยู่วงนอกสุดของพระเมรุมาศ ใช้สำหรับเก็บพระโกศ และอุปกรณ์สำหรับใช้ในงานพระราชพิธี เช่น ฟืน ดอกไม้จันทน์ ขันน้ำ เป็นต้น ใช้สำหรับพระพิธีธรรมนั่งสวดพระอภิธรรม เริ่มสวดตั้งแต่พระบรมศพประดิษฐานบนพระจิตกาธานจนกระทั่งถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้วเสร็จ โดยสวดเวียนกันไปทีละสำรับ

พระพิเนก พระพินาย
เทพทั้ง 2 องค์นั้นอาจไม่เป็นที่คุ้นหูมากนัก หากแต่โดยที่จริงแล้วคือ พระพิฆเนศ ซึ่งตามคติความเชื่อโบราณ พิฆเนศมี ๒ องค์คือ พระพิเนกและพระพินาย ดังบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ที่ว่า “พระพิเนกนั้นเป็นนิลเอก พระพินายนั้นเป็นนิลขัน” ซึ่งอวตารมาอุบัติเป็นเสนาของพระราม เพื่อช่วยทำสงครามปราบทศกัณฐ์

ทั้งนี้ ประติมากรรมพระพิเนกและพระพินายติดตั้งชั้นที่ 2 บริเวณสะพานเกริน ชั้นเดียวกับที่มีประติมากรรมครุฑ

...และในวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๐ นี้พสกนิกรชาวไทยทั้งแผ่นดินจะได้พร้อมใจกันส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย ด้วยน้อมเกล้าฯ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดไม่ได้ เพราะในหลวงรัชกาลที่ ๙ มิได้เป็นเพียงพระเจ้าแผ่นดิน หากแต่ยังทรงเปรียบเสมือน “พ่อ” ของลูกไทยทุกคน ดังเช่นบทพระราชนิพนธ์เรื่องลิลิตนิทราชาคริต ความตอนหนึ่งว่า

“ทวยราษฎร์รักบาทแม้ ยิ่งด้วยบิตุรงค์”


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพ
-คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
-หนังสือเสด็จสู่แดนสรวง
-หนังสือ ๙ สู่สวรรคาลัย


กำลังโหลดความคิดเห็น