ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ถึงเวลานี้ ไม่รู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ - “ลุงตู่” ผู้นำใจดีมีอารมณ์ขัน เสร็จก๊วนบิ๊กข้าราชการเหลี่ยมจัดหลอกให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 อุ้มกลุ่มบริษัทเอกชนเลี่ยงภาษีส่งออกปิโตรเลียมเหลว แล้วหรือไม่
ถ้าทะเล่อทะล่าจัดไปแล้วตามคำขอก็ได้แต่เอามือทาบอก เวรกรรม(ผู้นำ)ประเทศไทย แต่หากยังไม่ ก็ขอให้ทีมนายกฯ กลับไปพลิกแฟ้ม “บทเรียนค่าโง่เชฟรอนเลี่ยงภาษีน้ำมัน 3,000 ล้าน” มาศึกษา เพื่อหาทางจัดการกับเรื่องที่กำลังแดงโร่ขึ้นมาใหม่นี้ให้ได้ข้อยุติอย่างที่ควรจะเป็น
อย่าให้ต้องมีความน่าอดสูเกิดขึ้นซ้ำซาก และอย่าใช้ชาวบ้านก่นด่าทีคนจนรีดภาษีเลือดซิบ ทีบริษัทใหญ่กลับเปิดช่องให้หลบเลี่ยง เสียชื่อรัฐบาลทหารขวัญใจแม่ยกหมด
กรณี “การเลี่ยงภาษีส่งออกปิโตรเลียมเหลวหรือคอนเดนเสท?” ที่ปูดขึ้นคราวนี้ คล้ายคลึงกับกรณีเชฟรอนที่สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าเคยเปิดโปงมาก่อนหน้า และนำมาขยายผลเปิดแผลโดย น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กรุงเทพฯ ที่เรียกร้องให้นายกฯ จัดการให้ถูกต้อง
สำหรับที่มาที่ไปของเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2553 โดยด่านศุลกากรสงขลา ตรวจพบหลักฐานการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว หรือคอนเดนเสท ของบริษัทผู้รับสัมปทานจากองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) อาจมีความไม่ถูกต้องตามข้อตกลงว่าด้วยธรรมนูญและเรื่องอื่นๆ เกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย ในข้อ 16 เรื่องเกี่ยวกับภาษีศุลกากร (1) (ก) ก็คือหากผู้รับสัมปทานขายปิโตรเลียมให้กับประเทศอื่นนอกราชอาณาจักรไทยและมาเลเซีย ผู้รับสัมปทานต้องจ่ายภาษีขาออก 10% ของมูลค่า แต่ให้ลดอัตราภาษีลงร้อยละ 50 ผลของข้อตกลงดังกล่าว ไทยจึงเก็บอากรขาออก 5% ของมูลค่าปิโตรเลียมที่ขายให้กับประเทศที่ 3
ประเด็นที่เป็นปัญหาขึ้นมาคือ บริษัทผู้รับสัมปทานนำปิโตรเลียมเหลวหรือคอนเดนเสท ไปขายผ่านบริษัทที่สิงคโปร์ ก่อนนำคอนเดนเสทมาขายให้กับบริษัทในเครือ ปตท. จึงตั้งข้อสงสัยว่าเป็นการเลี่ยงภาษี
กรณีที่เกิดขึ้น คือ บริษัท CARIGALI HESS OPERATION COMPANY SDN BHD นำส่วนแบ่งคอนเดนเสทที่ผลิตได้จากแหล่งจักรวาล (Cakerawala) ไปมอบให้ บริษัท HESS นำไปขายให้กับ บริษัท ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) (PTTAR) โดยมีใบรับรองจากองค์ร่วมไทย-มาเลเซีย (MTJA) แนบมากับใบขนสินค้า แจ้งต่อด่านศุลกากรสงขลา ว่าจะนำคอนเดนเสทล็อตนี้ไปขายให้กับ ปตท. อะโรเมติกส์ฯ เจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรสงขลา จึงทำการตรวจปล่อยสินค้า โดยไม่ได้เก็บอากรขาออก เพราะเป็นการขายให้กับบริษัทไทย
ต่อมา ด่านศุลกากรสงขลา เกิดข้อสงสัย จึงขอให้องค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย ส่งหลักฐานสัญญาซื้อ-ขายคอนเดนเสททั้งหมด มาให้เจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรสงขลา ทำการตรวจสอบ จึงพบหลักฐานการซื้อ-ขายคอนเดนเสท หลายล็อต ก่อนที่นำเข้ามาขายให้กับบริษัท ปตท. อะโรเมติกส์ฯ อาจไม่ตรงตามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทย-มาเลเซีย ข้อ 16
โดยพบว่า บริษัท Hess Oil Company of Thailand (JDA) ได้มอบอำนาจให้ บริษัท Hess Global Trading ดำเนินการขายคอนเดนเสทให้กับ บริษัท Kernel Oil Pte Ltd ตั้งอยู่ที่สิงคโปร์ ก่อนที่จะส่งมาขายให้กับบริษัท ปตท. อะโรเมติกส์ฯ โดยมีหลักฐาน TELEX ยืนยันการส่งมอบสินค้าถึง บริษัท Kernel สิงคโปร์ หลังจากคอนเดนเสทถูกสูบออกจากเรือกักเก็บน้ำมัน (FSOA) และถ่ายลงเรือบรรทุกน้ำมันจนครบถ้วนตามสัญญาแล้ว กรรมสิทธิ์ในคอนเดนเสทล็อตนี้เป็นของบริษัท Kernel สิงคโปร์
แต่ยังไม่ทันที่ด่านศุลกากรสงขลา จะเรียกบริษัทรับสัมปทานมาเสียภาษี ปรากฏว่า สำนักกฎหมาย กรมศุลกากร มีความเห็นว่ากรณีการขายคอนเดนเสทออกจากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย อาจมีการโอนกรรมสิทธิ์เปลี่ยนมือกันได้ ส่วนการจัดเก็บอากรขาออกให้พิจารณาจากการขนส่งไปยังประเทศปลายทางเป็นหลัก หากปลายทางส่งเข้าประเทศไทยหรือมาเลเซีย ก็ไม่ต้องเสียอากรขาออก ตามความตกลงฯ ข้อ 16
ขณะที่ด่านศุลกากรสงขลา มีความเห็นว่า แนววินิจฉัยของสำนักกฎหมายเกี่ยวกับการจัดเก็บอากรขาออกให้พิจารณาจากการขนส่งไปยังประเทศปลายทางเป็นหลัก ไม่มีบทบัญญัติใดในกฎหมายศุลกากรรองรับ หลักในการจัดเก็บภาษีโดยทั่วไปจะพิจารณาจากจุดที่มีภาระภาษีเกิดขึ้น (Tax Point) ไม่ได้พิจารณาที่การขนส่งไปยังประเทศปลายทาง
ความเห็นต่างของหน่วยงานภายในกรมศุลฯ ยังไม่ได้ข้อยุติ ต่อมาถึงปี 2557 มีหนังสือร้องเรียนพร้อมหลักฐานส่งถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ขอให้เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ หลังจากดีเอสไอ รับทำคดีนี้เป็นคดีพิเศษร่วมกับพนักงานอัยการ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กระทั่งนำไปสู่การสรุปสำนวนคดีเตรียมแจ้งข้อกล่าวหา
แต่ยังไม่ทันที่ดีเอสไอ จะแจ้งข้อกล่าวหา ปรากฏว่า มีการนำประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ ครั้งที่ 8/2560 ที่มี พล.อ. ประยุทธ์เป็นประธานฯ เพื่อหาข้อยุติและแนวทางแก้ไขปัญหา ที่ประชุมฯ จึงมอบหมายให้ปลัด 3 กระทรวง คือ คลัง, พลังงาน และยุติธรรม กลับไปประชุมร่วมกันอีกครั้ง
ต่อมา กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน จัดประชุมร่วม 3 หน่วยงาน เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2560 โดยมีมติร่วมกัน ให้ดีเอสไอ ชะลอการสอบปากคำคดีความดังกล่าวออกไปก่อนจนกว่าจะได้ข้อยุติ และขอให้กรมศุลกากร พิจารณายืนยันพิธีการจัดเก็บอากรขาออกฯ ให้พิจารณาจากการขนส่งไปยังประเทศปลายทางเป็นหลัก โดยให้ทำเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 1 สัปดาห์
นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ประสานองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย ในการยกร่างหนังสือรายงานประเด็นปัญหาดังกล่าว เพื่อใช้ประกอบการนำเสนอ ขอรับความเห็นชอบให้ใช้มาตรา 44 เพื่อขอยกเว้นพิธีการศุลกากรและสรรพากร
พฤติกรรมของบิ๊กข้าราชการระดับปลัด 3 กระทรวง รวมทั้งอธิบดีกรมเชื้อเพลิงฯ จึงสมควรถูกตั้งข้อสงสัยอย่างยิ่ง
น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กรุงเทพมหานคร และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงานได้ติดตามเรื่องนี้และโพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กหลายครั้งและล่าสุดได้ตั้งข้อสงสัย “การขายคอนเดนเสตให้สิงคโปร์ก่อนย้อนมาขายไทย คือกระบวนการฉ้อราษฎร์บังหลวงใช่หรือไม่” เผยแพร่เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2560 โดยตั้งคำถามว่า การที่ 3 ปลัดกระทรวง ประชุมตีความช่วยพ่อค้าคนกลางสิงคโปร์ไม่ต้องเสียภาษี เกิดจากความไม่รู้หรือความไม่สุจริตกันแน่ ?!?
“บริษัท Hess เคยขายคอนเดนเสตโดยตรงให้ผู้ประกอบการในประเทศไทยคือบริษัท ปตท.อยู่แล้ว โดยไม่มีภาระภาษี แล้วเหตุใดที่ผู้ประกอบการในไทยจึงต้องซื้อผ่านบริษัท Karnel Oil ของสิงคโปร์ ?!?
สิ่งที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ คือ ตามข้อตกลงหากขายคอนเดนเสทตรงมายังไทยจะไม่มีภาษีขาออกเพื่อให้คนไทยและมาเลย์ ได้ใช้ทรัพยากรร่วมกันในราคาปลอดภาษี แต่ถ้าขายไปยังประเทศที่ 3 ต้องมีภาษีส่งออก 5%
“...และเมื่อบริษัท Hess ขายคอนเดนเสตให้บริษัท Karnel Oil ของสิงคโปร์ แม้น้ำมันจะไม่ได้ส่งไปสิงคโปร์ แต่ส่งตรงมาประเทศไทยก็ตาม แต่กรรมสิทธิ์เป็นของ KERNEL OIL แล้วตามสัญญาซื้อขาย ประกอบ CUSTOMER LIFTING TELEX ดังนั้น ตามกระบวนการปกติของการนำเข้าน้ำมันมาประเทศไทย ต้องมีภาษีนำเข้าอีกด้วย.... ”
น.ส.รสนา สงสัยการตีความของที่ประชุม 3 ปลัดกระทรวง จะเปิดโอกาสให้บริษัทนายหน้าจากสิงคโปร์เข้ามากินส่วนต่างกำไร และหลีกเลี่ยงการเสียภาษีส่งออก และภาษีนำเข้าเมื่อนำเข้ามาในประเทศไทย เป็นวิธีการสวมสิทธิน้ำมันเจดีเอเพื่อไม่ต้องเสียภาษีเข้าไทย แต่น้ำมันจะถูกแปลงสัญชาติเป็นน้ำมันจากสิงคโปร์ที่สามารถเอามาฟันกำไรจากคนไทยได้มากขึ้นใช่หรือไม่ และประเทศต้องสูญเสียรายได้จากภาษีขาเข้าและขาออกตลอดไป
“....เมื่อการสอบสวนของ DSI เสร็จสิ้นจนมีการแจ้งข้อกล่าวหากับ 2 บริษัท คือ CPOC และ CHESS แทนที่จะปล่อยให้ DSI ดำเนินการไปตามกระบวนการทางกฎหมาย กลับกลายเป็นว่าผู้บริหารทั้ง 3 กระทรวงพากันออกโรงมาประชุมตีความ และเข้ามาแทรกแซงการดำเนินคดีของ DSI ด้วยการขอให้ชะลอการสอบปากคำบริษัทที่หนีภาษี และถึงกับจะขอให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจมาตรา 44 มายกเว้นการเก็บภาษีในกรณีนี้
“.... ในการประชุมเมื่อวันที่ 3 ก.ค.2560 มีการระบุว่าจะใช้เวลา 1 สัปดาห์ ที่จะให้ความเห็นต่อ DSI เพื่อประกอบการพิจารณาของ DSI แต่เวลาล่วงเลยมากว่า 3 เดือนแล้วก็ยังไม่มีข้อยุติ คงจะหวังรอให้นายกฯ หลงกลใช้มาตรา 44 มาช่วยบริษัทเอกชนที่หนีภาษี ใช่หรือไม่ ... การที่รองอธิบดีดีเอสไอ ปล่อยให้มีการแทรกแซง และรั้งรอมานานเช่นนี้ ย่อมทำให้สังคมอาจจะมีข้อสงสัยและกังวล เพราะเดิมพันผลประโยชน์เรื่องนี้มีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท อาจจะเกิดการเจรจาให้เป็นมวยล้มได้หรือไม่?
น.ส.รสนา ยังเรียกร้องให้นายกฯ สั่งการให้ดีเอสไอดำเนินคดีต่อโดยเร่งด่วน เพราะมูลค่าภาษีที่มีการหลีกเลี่ยงในเวลาหลายปีที่ผ่านมา รวมกับโทษปรับ 4 เท่าของมูลค่าน้ำมันที่มีการเลี่ยงภาษีตามกฎหมายศุลกากร ซึ่งมีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท และควรตั้งคณะกรรมการอิสระ ขึ้นมาสอบสวนข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้
เมื่อเรื่องปูดขึ้นมา ทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ชี้แจงว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างตีความข้อกฎหมายของกรมศุลกากร
“ลุงตู่” จะยอมแบกหม้อก้นดำเพื่อผลประโยชน์ของบริษัทเอกชน หรือรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน โปรดติดตามกันต่อไป