ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - มองจากมุมผู้นำประเทศที่ขึ้นมามีอำนาจจากการทำรัฐประหารถือว่าสุดคุ้มในการได้ไปเยือนทำเนียบขาวคราวนี้ แต่มองในมุมของประชาชนคนไทยแล้วยังน่าสงสัยอยู่ว่าคุ้มหรือไม่ เพราะการกระชับความสัมพันธ์อันหวานชื่นที่ว่านั้นแลกมาด้วยราคาที่ออกจะแพงไปหน่อยมั้ย?
ส่วนมุมของเจ้าบ้านประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ต้องบอกว่าคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม เพราะมีหมูสยามเดินทางไปให้นวดเฟ้นบีบเค้นขายของถึงถิ่น
นอกจากรอยยิ้มหวาน คำพูดคำจาภาษาดอกไม้ พบเพื่อนแท้ จริงใจ สุภาพ นำความภาคภูมิใจมาสู่ท่านผู้นำไทยที่เป็นปลื้มสุดปริ่ม ราวกับอยากกู่ร้องให้ก้องโลกว่ามหาอำนาจสหรัฐฯ ผู้ได้ชื่อว่า “ลิเบอร่านจ๋า” ยอมรับเราแล้วนะ
คำถามมีอยู่ว่า แล้วมีอะไรที่ประเทศชาติและประชาชนคนไทยได้รับกลับมาเป็นชิ้นเป็นอันจากการกระชับความสัมพันธ์กับมหามิตรมหาอำนาจ ในทริป การเดินทางไปเยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระหว่างวันที่ 2 -4 ตุลาคม 2560 บ้าง
เฟ้นหาอยู่เป็นนาน อาจมีเรื่องการเลือกตั้งของไทยที่ท่านผู้นำไปสัญญากับทรัมป์ว่า ปีหน้าจะมีขึ้นแน่ๆ แต่ไม่ได้บอกกำหนดเวลาที่แน่ชัดว่าเมื่อไหร่ เป็นคำสัญญาเหมือนที่ผ่านๆ มาว่า มีแน่ตามโรดแมป ไม่ต้องห่วง แต่ขอดูจังหวะเวลาที่เหมาะสมเสียก่อน ประกาศเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น จะว่าชัดก็ชัด จะว่าไม่ชัดเจนก็ใช่ เพราะคำตอบเรื่องนี้ยังไม่มีอะไรต่างจากเดิม
“ผมก็พูดกับเขาว่าในเรื่องประชาธิปไตยแบบสากลนั้น ก็เป็นไปตามโรดแมปของผม และในปีหน้าเราก็จะประกาศวันเลือกตั้งออกมา โดยไม่มีการเลื่อนอะไรสักอย่าง พอเราประกาศการเลือกตั้งแล้ว ก็ต้องมีกรรมวิธีอีก 150 วันตามกฎหมาย .... เขาก็ไม่ได้ถาม แต่ผมแสดงความเชื่อมั่นให้เขา .....” พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลังออกมาจากทำเนียบขาว
สำหรับฟากฝั่งสหรัฐฯแล้ว การเปิดทำเนียบขาวต้อนรับคณะผู้นำไทยในคราวนี้ ต้องขอบอกเลยว่า ยังกะจัดทัวร์ศูนย์เหรียญ กวักมือเรียกเพื่อนไทยเข้าบ้านเพื่อมารีดอย่างนั้นเลย
ด้วยเหตุดังกล่าวจึงต้องตามไปดูกันว่า ทรัมป์ กับ พล.อ.ประยุทธ์ ใครได้ใครเสียมากกว่ากัน แล้วคนไทยผู้เป็นเจ้าของประเทศได้อะไรกับเขาบ้าง
หนึ่ง ที่แน่ๆ คือ การรุกทางการค้าการลงทุนที่ประสบผลสำเร็จอย่างงดงามตามประสงค์
รอบนี้ สหรัฐฯ จับมือบิ๊กคอร์เปอเรทของไทย อย่าง “เอสซีจี และพีทีที จีซี” เซ็นสัญญาค้าขายและลงทุน แบบได้เนื้อๆ เน้นๆ สมประโยชน์ของสหรัฐฯ ที่ต้องการลดการขาดดุลและเพิ่มการลงทุนจากไทย เป็นการเพิ่มการจ้างงานตามมา
สัญญาแรก นายกลินทร์ สารสิน ผู้บริหาร เอสซีจี ที่เดินทางไปกับคณะนายกฯ คราวนี้ แจกแจงการซื้อถ่านหินจากสหรัฐฯ ว่า ลงนามซื้อขายกันสองฉบับ รวม 155,000 ตัน เพื่อใช้ในการผลิตปูนซีเมนต์ และทดแทนการซื้อถ่านหินจากอินโดนีเซีย ซึ่งถ่านหินจากสหรัฐฯ มีคุณภาพดีและคุ้มค่าต่อการลงทุน คาดว่าจะนำเข้ามาไทย ภายในเดือนเมษายนปี 2561
นี่แค่นำร่องทดลองก่อน หากถ่านหินจากสหรัฐฯ ใช้ได้ดีมีคุณภาพสมคำกล่าวอ้างจริง ก็จะซื้อเพิ่มและกระจายส่งเครือข่ายโรงงานเอสซีจีในต่างประเทศที่มีอยู่ประมาณ 7-8 ประเทศด้วย เช่น เมียนมา กัมพูชา และเวียดนาม
เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่สร้างความยินดีให้กับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แบบสุดๆ เพราะหากยังจำกันได้ ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีแข่งกับนางฮิลลารี คลินตัน ทรัมป์ประกาศชัดว่าต้องการอุ้มกิจการเหมืองถ่านหินที่กำลังประสบภาวะวิกฤตและเหมืองถ่านหินของอเมริกาขนาดใหญ่ประสบภาวะล้มละลาย โดยไม่สนใจเรื่องการลด “ภาวะโลกร้อน” จนนำมาซึ่งเสียงก่นด่าของประชาคมโลกอย่างพร้อมเพรียง
ดังนั้น เมื่อไทยซื้อถ่านหินจากสหรัฐฯ สานต่อสิ่งที่ผู้นำพญาอินทรีเคยหาเสียงไว้ มีหรือที่ทรัมป์จะไม่ดีใจ
อย่างไรก็ดี นอกจาก เอสซีจี แล้ว ยังมี พีทีที จีซี โดยนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ได้ลงนาม MOU ระหว่าง PTTGC America และ JobsOhio เพื่อร่วมพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนรัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา
ทั้งนี้ PTTGC มีแผนลงทุนโครงการปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ ที่รัฐโอไฮโอ สหรัฐฯ เพื่อใช้ก๊าซอีเทนจากก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจากชั้นหินดินดาน (Shale Gas)เป็นวัตถุดิบ มูลค่าเงินลงทุน 5.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะนี้อยู่ระหว่างหาพันธมิตรเพิ่มเติมจากปัจจุบันมีพันธมิตรแล้ว 1 รายคือ บริษัทเทรดดิ้งญี่ปุ่นรายใหญ่ของโลกอย่างมารูเบนี
ปัจจุบัน ไทยมีการลงทุนในสหรัฐฯ อยู่แล้ว 23 บริษัท มูลค่าการลงทุนรวม 5.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีแผนเพิ่มการลงทุนอีกว่า 6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจะสร้างงานในสหรัฐฯ อีกมากกว่า 8,000 ตำแหน่ง และคาดว่าจะลดแรงกดดันจากสหรัฐฯเรื่องการขาดดุลการค้ากับไทยลงไปได้บ้าง
สอง การขายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กองทัพไทย ที่มีสัญญาค้างอยู่ในมือหลังจากถูกดองเอาไว้เพราะเงื่อนไขที่ไม่อาจขายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับคณะรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร แต่เมื่อเปลี่ยนจากรัฐบาลโอบามา มาเป็นรัฐบาลทรัมป์ อุปสรรคปัญหานี้ได้รับการปัดเป่าไปเรียบร้อยโรงเรียนโดนัลด์ ทรัมป์
ความจริงกรณีการซื้อขายอาวุธนั้น จะตำหนิติเตียนแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ก็คงจะไม่ได้ เพราะหากย้อนประวัติศาสตร์ในอดีตก็จะพบว่า อาวุธของกองทัพไทยส่วนใหญ่ก็มาจากสหรัฐฯ แทบทั้งสิ้น และแม้ในปัจจุบันก็ยังคงใช้อยู่ไม่น้อย จะมีก็เพียงในช่วงที่ไม่อาจซื้ออาวุธจากสหรัฐฯ ได้เท่านั้น ที่ไทยจำต้องซื้อจากแหล่งอื่นๆ เช่น จีน รัสเซีย เป็นต้น ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องที่สร้างความหวาดหวั่นให้กับสหรัฐฯ อยู่พอสมควร เพราะนั่นหมายถึงบทบาทของสหรัฐฯ ที่มีต่อไทยมีอันต้องสะดุดลง
ด้วยเหตุดังกล่าว การที่กองทัพบกไทยมีโครงการจะซื้ออาวุธจากสหรัฐฯ ซึ่งเปิดเผยออกมาแล้วว่า โปรเจ็กต์แรกน่าจะเป็น “เฮลิคอปเตอร์โจมตีรุ่นคอบร้า” เพื่อเข้าประจำการทดแทนเครื่องเก่าจำนวน 6 ลำ ก็พอจะกล้อมแกล้มทำความเข้าใจได้
แต่น่าแปลกสักหน่อยก็ตรงที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งดูแลเรื่องยุทโธปกรณ์ของเหล่าทัพ กลับไม่ได้ร่วมเดินทางไปกับคณะนายกฯในคราวนี้ จนเกิดคำถามตามมาสารพัดสารพันว่า มีปัญหาอะไรบางอย่างเกิดขึ้นหรือไม่
หรือว่า “บิ๊กป้อม” มีปัญหาบางประการกลับสหรัฐฯ จากกรณีที่ร่ำลือกันหนาหูว่า ในทริปฮาวายนั้น มี “สายลับจีน” ติดสอยห้อยตามคณะของ “บิ๊กป้อม” ไปด้วยจนสร้างความไม่พอใจให้กับสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก และเรื่องดังกล่าวก็ถูกส่งตรงเข้าในแฟ้มของทำเนียบขาวเป็นที่เรียบร้อย
ด้วยเหตุดังกล่าว ภารกิจนี้ จึงกลายเป็นว่า “พี่รองบูรพาพยัฆค์” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมไปกับคณะ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะความที่เคยรู้เรื่องการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ทั้งเรือเหี่ยว-เรือเหาะ ไม้ล้างป่าช้า จีที 200 หรือรถหุ้มเกราะบุโรทั่งจากยูเครน สมัยที่เป็น ผบ.ทบ. ก็เลยถูกหนีบไปดูงานแทนพี่ใหญ่ พร้อมๆ กับ พล.อ.อุดมเดช สีตะบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม อดีต ผบ.ทบ.ก็อาจเป็นได้
หรือการที่ พล.อ.ประวิตรไม่ไปสหรัฐฯ ทั้งๆ ที่รู้ว่า มีภารกิจเรื่องการจัดซื้ออาวุธรออยู่เบื้องหน้า อาจเป็นเรื่องปกติก็เป็นได้ เพราะทุกครั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่อยู่ “บิ๊กป้อม” ผู้เป็นหมายเลข 2 ก็จะต้องรักษาการเพื่อทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีเพื่อบริหารราชการแผ่นดินแทนเสมอๆ
สำหรับความคืบหน้าในเรื่องการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากสหรัฐฯ นั้น พล.อ.ประวิตร ให้สัมภาษณ์ขยายความเพิ่มเติมว่า เป็นแผนที่มีอยู่ตามแผนงานและงบประมาณ แต่พอรัฐบาลชุดนี้เข้ามาทางสหรัฐฯ ก็ไม่ซื้อขายกับไทย ทำให้ต้องไปซื้อที่อื่นแทน แต่ตอนนี้กลับมาซื้อได้แล้ว ทางการสหรัฐฯ ก็เอาของเดิมออกมาขายให้ เช่น เฮลิคอปเตอร์โจมตี
ขณะกองทัพบก ก็เด้งรับทันทีว่า ขณะนี้กองทัพกำลังจะตั้งคณะกรรมการคัดเลือกแบบเฮลิคอปเตอร์โจมตีเพื่อนำมาทดแทนเครื่องเก่า ซึ่งหมดอายุใช้งานและเตรียมปลดประจำการ จำนวน 6 เครื่อง กำลังเลือกว่าจะซื้อแบบใด จากนั้นจะกำหนดโครงการและวงเงิน เสนอกระทรวงกลาโหม พิจารณา เพื่อส่งต่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ เพียงแต่อาจจะยังไม่เป็นที่ยุติเท่านั้น เนื่องเพราะยังไม่ผ่านคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานยุทโธปกรณ์กองทัพบก (กม.ย.ทบ.) ตามที่ “บิ๊กเจี๊ยบ” พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท” ผู้บัญชาการทหารบกให้สัมภาษณ์
สาม ที่ยังคลุมเครือไม่แน่ว่าบรรลุผลมากน้อยเพียงใด ก็คือ การบีบให้ไทยเปิดตลาดเนื้อหมูและเครื่องในปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดง ซึ่งมีข้อวิตกเพราะสหรัฐฯใ ช้สารเร่งเนื้อแดง ซึ่งทางการไทยขึ้นบัญชีผิดกฎหมาย เปิดเมื่อไหร่เป็นเสียชื่อ “ครัวไทย ครัวโลก” อาจกลายเป็น “ครัวไทย ครัวโรค” ไป
สี่ เรื่องใหญ่อีกหนึ่งคือ สิทธิบัตรยา ซึ่งค้างคาอยู่ในสารบบการพิจารณาของทางการไทยหลายพันตำรับ ซึ่งสองเรื่องหลังร้อนๆ ส่งผลกระทบในวงกว้างนี้ ทางทีมงานกระทรวงพาณิชย์ ต่างปิดข้อมูล ปิดปากเงียบ ไม่มีระแคะระคายกระเส็นกระสายออกมาให้สาธารณชนได้รับรู้แม้แต่น้อยว่าไปตกลงปลงใจอะไรกับสหรัฐฯ กี่มากน้อยแค่ไหน อย่างไร หรือไม่
และ ห้า ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เพราะคราวนี้สหรัฐฯ ได้มัดมือกับไทยในกรณี “เกาหลีเหนือ” ที่สหรัฐฯ กำลังเปิดศึกกับ “คิมน้อย-คิม จอง อึน ” อย่างหน้าดำคร่ำเครียด โดยไทยตกลงให้คำมั่นว่าจะดำเนินการตามพันธกรณีตามมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติอย่างแน่นอน และสนับสนุนให้เกาหลีเหนือเข้าสู่การเจรจา
สื่อนิเคอิ เอเชียน รีวิว ของญี่ปุ่น รายงานว่า “.... ในเวลานี้นอกเหนือจากปัญหาการค้าแล้ว ทำเนียบขาวของทรัมป์ยังมองไทยในฐานะผู้ช่วยด้านเสรีภาพใหม่ประจำภูมิภาคในปัญหาเกาหลีเหนืออีกด้วย”
ขณะที่ วอยซ์ออฟอเมริกา ภาคภาษาไทย ได้ เผยแพร่บทสัมภาษณ์พิเศษ “พล.อ.ประยุทธ์” ระหว่างเดินทางเยือนสหรัฐฯ ด้วยมุมมองในทิศทางในเชิงลบเช่นกันว่า “การพบหารือกันครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงลำดับความสำคัญของนโยบายการต่างประเทศสหรัฐฯ ในยุคประธานาธิบดี ทรัมป์ โดยหันมาเน้นย้ำเรื่องการค้าและผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ของอเมริกัน มากกว่าความเป็นประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในชาติ ซึ่งสหรัฐฯติดต่อสัมพันธ์ด้วย”
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ ผู้นำสหรัฐฯ ได้ส่งนายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ระดับสูงสุด มือขวาทางการทูตของตนเองมาเยือนไทยนับตั้งแต่เกิดรัฐประหาร ทิลเลอร์สันได้กดดันให้ไทยตัดช่องทางการเงินเกาหลีเหนือ แต่รัฐบาลไทยยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ
อย่างไรก็ตาม ในรอบ 7 เดือนแรกของปีนี้ ตัวเลขการนำเข้าสินค้าจากเกาหลีเหนือ ตกลงเกือบ 80% ปีต่อปี ส่วนส่งออกจากไทยไปเกาหลีเหนือ โดยเฉพาะในส่วนของยางและผลิตภัณฑ์ยาง พบว่า ตกลงมากเกือบ 90% เช่นกัน
ดังนั้น เรื่องเกาหลีเหนือทรัมป์ได้แน่ๆ แต่สำหรับ “คนไทย” ก็ต้องถามกลับไปว่า “คุ้มไหม” กับความเสี่ยงที่อาจจะต้องเผชิญแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว
ส่วน “บทสรุป” การพบปะของสองผู้นำคราวนี้ ไม่ว่าใครหน้าใหนจะมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า สหรัฐฯ ไปในทิศทางลบค่อนข้างมาก เพราะถือเป็นผันเปลี่ยนทิศทางใหม่ของประเทศผู้นำแห่งโลกเสรีที่ชูธงเศรษฐกิจการค้านำหน้าประชาธิปไตย ซึ่งนายโดนัลด์ ทรัมป์ หาได้แคร์ไม่
ความช่างมันฉันไม่แคร์ของ “ลุงทรัมป์” ช่างสมใจ “ลุงตู่” ยิ่งนัก ไม่งั้นคงไม่เทหมดหน้าตักจะเอาอะไรไปแลกก็ยอม ขอให้เหยียบทำเนียบขาวในฐานะแขกบ้านแขกเมืองอย่างเป็นทางการ พร้อม “ประทับตรา” รับรองให้กับ “คสช.” ในฐานะผู้นำประเทศเผด็จการทหารที่สหรัฐอเมริกายอมอ่อนข้อให้ก็เป็นพอ