xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ถึงคิว ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดนรีเซ็ต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ วันที่ 28 กันยายน 2560 รับหลักการวาระแรก ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เป็นยุคแห่งการไล่รื้อองค์กรอิสระอย่างแท้จริง หลังจากที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ที่ว่าด้วยองค์กรอิสระหลายแห่งซึ่งผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติออกมา ล่วนแต่ให้กรรมการในองค์กรอิสระที่ดำรงตำแหน่งอยู่เดิมพ้นจากตำแหน่งทันที พ.ร.ป.ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ทั้งสิ้น

ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.

พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.)

พ.ร.ป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งแม้จะไม่ได้ระบุให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(คตง.)ที่ดำรงตำแหน่งอยู่เดิมพ้นจากตำแหน่ง แต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ก็ได้มีการรีเซ็ต คตง.ชุดเดิมไว้ล่วงหน้าแล้ว

ที่รอดพ้นจากจาการเซ็ตซีโร่ก็มีเพียงผู้ตรวจการแผ่นดินเท่านั้น

ล่าสุด มาถึงคิวของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ที่ประชุม สนช.มีมติเอกฉันท์ 198 คะแนนรับหลักการแห่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญในวาระที่ 1 ตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เสนอ พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 22 คน กำหนดเวลาการทำงานให้แล้วเสร็จภายใน 50 วัน ก่อนส่งกลับมาให้ที่ประชุม สนช.ลงมติต่อไป

ร่าง พ.ร.ป.ฉบับนี้มีทั้งหมด 81 มาตรา มีสาระสำคัญ คือ มาตรา 8 กำหนดให้มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 9 คน แบ่งเป็น

1. ผู้พิพากษาในศาลฎีกาที่ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกามาแล้ว ไม่น้อยกว่า 3 ปี ซึ่งได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจำนวน 3 คน

2. ตุลาการศาลปกครองสูงสุดซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าตุลาการศาลปกครองสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดจำนวน 2 คน

3.ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้ดำรงตำแหน่ง หรือเคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และยังมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์ จำนวน 1 คน

4.ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ หรือรัฐประศาสนศาสตร์ซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และยังมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์ จำนวน 1 คน และ

5.ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้รับหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า หรือตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอัยการสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี จำนวน 2 คน

นอกจากนี้ ยังมีมาตรา 38 กำหนดให้ศาลมีอำนาจรักษาความสงบเรียบร้อยของการพิจารณาคดีหรือในกรณีมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ศาลอาจมีคำสั่งให้บุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลใดกระทำการหรืองดเว้นกระทำการเพื่อให้การพิจารณาคดีดำเนินไปโดยสงบเรียบร้อยและรวดเร็ว นอกจากนี้ การวิจารณ์คำวินิจฉัยคดีที่กระทำโดยสุจริตและไม่ได้ใช้ถ้อยคำหรือมีความหมายหยาบคาย เสียดสี หรืออาฆาตมาดร้ายไม่มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล

รวมทั้ง มาตรา 39 บัญญัติว่า ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งหรือระเบียบตามมาตรา 38 ให้ถือเป็นการละเมิดอำนาจศาลและให้ศาลมีอำนาจดังต่อไปนี้ 1. ตักเตือน 2. ไล่ออกจากบริเวณศาล 3. ลงโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนการดำรงตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน มาตรา 76 กำหนดให้ประธานและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับและมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ได้อธิบายว่า เรื่องความคงอยู่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน ทาง กรธ.ได้กำหนดเป็นมาตรฐานเดียวกันกับทุกองค์กร คือ การให้ดำรงตำแหน่งต่อไปได้เฉพาะบุคคลที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น จะมีเพียงเฉพาะกรณีของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เท่านั้นที่ กรธ.บัญญัติให้แตกต่างออกไปด้วยการให้พ้นจากตำแหน่งทั้งหมด ทั้งนี้ เพื่อให้ กสม.มีกระบวนการสรรหาให้สอดคล้องกับนานาชาติ อย่างไรก็ตาม หากในชั้นคณะกรรมาธิการของ สนช.จะมีการแก้ไขหรือมีความเห็นอย่างไรก็เป็นอำนาจหน้าที่ของ สนช.

หากพิจารณาคุณสมบัติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ปัจจุบัน 9 คน แล้วก็จะพบว่ามีคุณสมบัติตามร่าง พ.ร.ป.ฉบับใหม่เพียงคนเดียวเท่านั้น

ไล่เลียงไปตามแต่ละกลุ่ม เริ่มจากกลุ่มแรก ตุลาการที่มาจากผู้พิพากษาในศาลฎีกา ได้แก่ นายนุรักษ์ มาประณีตนายชัช ชลวร บุญส่ง กุลบุปผา จะพบว่า นายนุรักษ์ และนายบุญส่ง มีตำแหน่งสูงสุด ก่อนเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คือ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ไม่ถึงผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา จึงขาดคุณสมบัติอย่างแน่นอน

ส่วนนายชัช ชลวร แม้เคยเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา แต่เมื่อรวมระยะเวลาที่ดำรงทั้งสองตำแหน่งเป็นเวลา 2 ปีเศษ ไม่ถึง 3 ปี ตามที่ร่าง พ.ร.ป.ใหม่กำหนด

กลุ่มที่ 2 ตุลาการที่มจากที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดจำนวน 2 คน คือ นายวรวิทย์ กังศศิเทียม และนายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี นั้น สำหรับนายอุดมศักดิ์ เป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุดไม่ถึง 5 ปีตามที่กำหนด จะต้องพ้นจากตำแหน่งแน่นอน ส่วนนายวรวิทย์ ดำรงตำแหน่งตุลาการในศาลปกครองสูงสุดมาแล้วเกิน 5 ปี มีคุณสมบัติครบตามที่กำหนด จึงน่าจะได้ดำรงตำแหน่งต่อไป

กลุ่มผู้ทรงคุณสาขานิติศาสตร์ ปัจจุบันมี 2 คน คือ นายจรัญ ภักดีธนากุล และ นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ โดยนายจรัญนั้น ได้เป็น“ศาสตราจารย์พิเศษ” ซึ่งไม่สามารถเทียบเคียง“ศาสตราจารย์”ได้ ตามที่ศาลรัฐธรรมเคยวินิจฉัยเมื่อปี 2541 กรณีของศาสตราจารย์พิเศษ อุกฤษ มงคลนาวิน นายจรัญจึงขาดคุณสมบัติ

ส่วนนายทวีเกียรติ ได้เป็นศาสตราจารย์ เมื่อปี 2554 และได้รับเลือกเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2556 จึงเป็นศาสตราจารย์ไม่ถึง 5 ปี ตามที่กำหนด จึงต้องพ้นจากตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

ขณะที่ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ ปัจจุบันมี 2 คน คือ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และ นายปัญญา อุดชาชน ทั้งสองคน เป็นศาสตราจารย์ไม่ถึง 5 ปี ก่อนได้รับเลือกเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นจึงขาดคุณสมบัติ และต้องพ้นจากตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

สรุปได้ว่า หลังจาก พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ หากไม่มีการแก้ไขจากร่างที่ สนช.รับหลักการไว้แล้ว ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันทั้ง 9 คน จะมีเพียงนายวรวิทย์ กังศศิเทียม เท่านั้น ที่มีโอกาสรอดพ้นจากการโดนรีเซ็ต


กำลังโหลดความคิดเห็น