xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ย้อน3ปี“ขีดความสามารถการแข่งขันไทย” เศรษฐกิจผ่านจุดต่ำสุดในยุคคสช.จริงหรือ??

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - “เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว ต้องเดินหน้าส่งเม็ดเงินลงสู่ท้องถิ่นเพื่อเพิ่มรายได้ กระตุ้นการฟื้นตัวเศรษฐกิจฐานราก”เป็นตอนหนึ่งที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในงานสัมมนาวิชาการ ACMA Business Forum 2017เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา

เขาบอกว่า ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาไทยประสบปัญหาความเชื่อมั่นการลงทุนต่างชาติลดลง และการเมืองไร้เสถียรภาพ จนทำให้เศรษฐกิจถึงจุดต่ำสุด แต่ปัจจุบันหลังการเดินเครื่องปฎิรูปประเทศ ทำให้นักลงทุนไทยและต่างประเทศเชื่อมั่นประเทศไทยมากขึ้น สะท้อนจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ 

และล่าสุดกับ สภาเศรษฐกิจโลก(WEF: World Economic Forum)ประจำปี 2017-2018 (Global Competitiveness Index 2017-2018) ที่ปรับอันดับขีดความสามารถการแข่งขันของไทยขึ้นมา 2 อันดับ มาอยู่อันดับที่ 32 จาก 137 ประเทศทั่วโลกสมาชิกของธนาคารโลก

ดัชนีดังกล่าวประเมินจาก 12 เรื่องหลัก (พิลลาร์) ซึ่งประเทศไทยอันดับดีขึ้น 10 พิลลาร์ เช่น พิลลาร์เศรษฐกิจ (จีดีพีของไทย) ขึ้นมาอยู่อันดับที่ 9 จากอันดับที่ 13 ในปี 2559 จากภาพรวมเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และด้านโครงสร้างพื้นฐานขยับเพิ่มขึ้นมา 6 อันดับ จาก 49 เป็น 43 อย่างไรก็ตาม มีอีก 2 เรื่อง ที่อันดับไม่ได้ถูกปรับขึ้น คือ การศึกษาและการเงิน โดยการเงินอยู่ในอันดับเดิม โดยมองว่าเป็นเพราะสถาบันการเงินไทยแข็งแกร่งอยู่แล้ว

จึงมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยหลังจากนี้จะไม่ทรุดตัวอีกต่อไป และเชื่อเศรษฐกิจไตรมาส 3 จะขยายตัวดีกว่าไตรมาส 2 ที่ขยายตัวได้ 3.7% เนื่องจากการใช้จ่ายภาครัฐสูงขึ้น และการลงทุนในตลาดหุ้นฟื้นตัวดี และสถานะของสถาบันการเงินของไทยยังคงแข็งแกร่ง

รองนายกฯ ยอมรับว่า“เศรษฐกิจยังมีปัญหาหลายด้านที่ต้องเร่งแก้ไข ทั้งการกระจุกตัวของรายได้ ด้านการศึกษา และความเท่าเทียมของคนในสังคม และต้องเร่งพัฒนาด้านดิจิทัล ยกระดับสินค้าและการท่องเที่ยวในชุมชน ดันเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตมากขึ้น ซึ่งได้สั่งการให้รัฐวิสาหกิจแห่ง เร่งลงทุนทุกโครงการลงสู่ท้องถิ่นภายใน 2 เดือนหลังจากนี้”

ตามข้อมูลของ WEF ดำเนินการเปรียบเทียบความสามารถในการแข่งขัน 137 ประเทศทั่วโลก ปรากฏว่า คะแนนเต็ม 7 คะแนน ปีนี้ประเทศไทยได้ 4.72 คะแนน เพิ่มขึ้น 0.1 จากปีที่ผ่านมา ที่ได้ 4.6 คะแนน ทำให้อันดับดัชนีความสามารถในการแข่งขันของไทย ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 32 จากปีที่แล้ว อยู่ในอันดับที่ 34
 
โดยอันดับที่ดีขึ้นมาจากโครงสร้างพื้นฐานของไทย ที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งคุณภาพถนน โครงสร้างระบบราง ท่าเรือ การขนส่งทางอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัดส่วนการเป็นสมาชิกโทรศัพท์มือถือ ไทยขยับขึ้นมาจากอันดับ 55 เมื่อปีที่แล้ว มาอยู่อันดับ 5 , อัตราการเข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษา จากอันดับที่ 84 มาอยู่ที่อันดับ 8 ของโลก รวมถึงมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ GDPไทย ได้รับการจัดอันดับอยู่ที่ 20 ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงมากเช่นกัน

นอกจากนี้ อันดับของประเทศไทยยังได้รับการจัดอันดับดีขึ้นอีกหลายประเด็น ทั้งด้านประสิทธิภาพแรงงาน ด้านสภาพแวดล้อมด้านหน่วยงาน ด้านการศึกษาขั้นสูงและการฝึกอบรม ด้านสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหาภาค และที่สำคัญคือ ด้านนวัตกรรม และด้านความพร้อมเทคโนโลยี ที่ได้รับการจัดอันดับที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปีนี้ด้วย ทำให้ปีนี้ WEFไม่มีคำแนะนำประเทศไทยแบบเฉพาะเจาะจง แต่ให้คำแนะนำทั่วไป คือ การใช้นวัตกรรมควรพัฒนาให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม อันดับความสามารถการแข่งขัน ประเทศไทยยังเป็นอันดับ 3 ในอาเซียน รองจากประเทศสิงคโปร์ ร่วงลงมาจากอันดับ 2 อยู่ที่ 3 และมาเลเซีย ปรับขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 25 จากเดิม 33 ขณะที่อินโดนีเซีย อยู่ที่ 4 แต่ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 36 จาก 41 เมื่อปีที่แล้ว แต่ประเทศเพื่อนบ้านที่มีคะแนนน้อยกว่าประเทศไทยในปีที่ผ่านมา เช่น อินโดนีเซีย บรูไน และ เวียดนาม ปีนี้มีคะแนนดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่า ประเทศเหล่านี้มีความตื่นตัวเรื่องของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเป็นอย่างมาก

ขณะที่ อันดับ 1 ของโลก คือ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตามด้วยสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาภาพรวมการจัดอันดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศจาก WEF IMD และ World Bank มีความสอดคล้องกันไปในแนวทางที่ดีขึ้น โดย IMD ดีขึ้น 1 อันดับจากอันดับที่ 28 เป็น 27 ในปีนี้ World Bank ดีขึ้น 2 จาก 49 เป็น 47 แสดงให้เห็นว่าไทยมีขีดความสามารถการแข่งขันที่ดีขึ้น เศรษฐกิจไทยยังมีความเข้มแข็งเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แต่ไทยยังคงต้องก้าวข้ามความท้าทาย โดยเฉพาะการพัฒนาทุนมนุษย์ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม
 
ย้อนกลับไปดู ผลสำรวจของ WEFสองปีย้อนหลัง ในปี 2016-2017 ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับด้านเศรษฐกิจมหภาคดีขึ้น 14 อันดับ และด้านนวัตกรรมดีขึ้น 3 อันดับ

ผลการสำรวจพบว่า ในปี 2016-2017 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 34 จาก 138 ประเทศ ลดลงจากปีก่อนหน้าที่อยู่ในอันดับที่ 32 จาก 140 ประเทศ ทั้งนี้ หากเมื่อเทียบกับภูมิภาคอาเซียนแล้ว ประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ และยังคงมีความสามารถในการแข่งขันอยู่ในอันดับที่สาม รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย นอกจากนั้นในปี 2016 ประเทศไทยมีคะแนนรวมในการจัดอันดับคงที่เท่ากับปี 2015 คือ 4.64 คะแนน สะท้อนให้เห็นว่าความสามารถในการแข่งขันของประเทศไม่ได้ถดถอยลงแต่อย่างใด เพียงแต่มาตรการต่างๆ ที่ได้ดำเนินการไปแล้วอาจยังไม่ส่งผลในทางปฏิบัติให้เห็นเชิงประจักษ์ได้ในปัจจุบัน

ในปี 2016 ประเทศไทยมีความโดดเด่นในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจมหภาค โดยอยู่อันดับที่ 13 จากเดิมอันดับที่ 27 ในปี 2015 ปรับตัวดีขึ้น 14 อันดับ โดยมีคะแนนเพิ่มขึ้นจาก 5.7 เป็น 6.1 คะแนน ซึ่งตัวชี้วัดที่พัฒนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ การใช้จ่ายภาครัฐ การออมมวลรวมแห่งชาติ และสัดส่วนหนี้ภาครัฐ นอกจากนั้น ด้านนวัตกรรม ก็ได้รับการปรับอันดับดีขึ้น 3 อันดับ โดยอยู่ในอันดับที่ 54 ในปี 2016 จากเดิมอันดับที่ 57 ในปี 2015 ซึ่งเป็นผลจากการที่รัฐบาลส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมมาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับตัวชี้วัดย่อยที่ได้รับการปรับอันดับขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ ความน่าเชื่อถือของตำรวจ ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 61 ในปี 2016 จากเดิมอันดับที่ 112 ในปี 2015 คุณภาพของระบบการศึกษา ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 67 ในปี 2016 จากเดิมอันดับที่ 74 ในปี 2015

นอกจากนี้ ปัจจัยที่เคยเป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจมากที่สุด ได้แก่ ความไม่มั่นคงของรัฐบาล ความไม่มีประสิทธิภาพของระบบราชการ และการทุจริตคอร์รัปชัน ได้มีการปรับตัวดีขึ้น

ตัวเลขปีที่แล้ว สภาพัฒน์ วิเคราะห์ว่าในช่วงต่อไปสภาพการแข่งขันระหว่างประเทศจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการสร้างนวัตกรรมของภาคธุรกิจมากขึ้น จึงควรมุ่งเน้นการส่งเสริมให้ภาคเอกชนเพิ่มการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรม รวมทั้ง พัฒนาบุคลากรให้เป็นมืออาชีพ ในขณะเดียวกันภาครัฐต้องปรับปรุงระบบการศึกษาทุกระดับ ตั้งแต่ระดับประถม มัธยม อาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษา เพื่อสร้างบุคลากรที่มีทักษะ มีความคิดสร้างสรรค์ มีความคิดเชิงวิพากษ์ และมีความเป็นผู้ประกอบการ เพื่อรองรับการพัฒนาในอนาคต รวมทั้งปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบเพื่อให้อำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการในการสร้างธุรกิจใหม่หรือในการฟื้นตัวของธุรกิจเดิม และปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า เช่น คุณภาพบริการท่าเรือ เป็นต้น
                 
   ในการจัดอันดับปี 2015-2016 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 32 ด้วยคะแนน 4.6 ซึ่งใกล้เคียงกับปีที่แล้ว (2014-2015) ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 31 และมีคะแนน 4.7 โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า คะแนนและอันดับดีขึ้นในด้านนวัตกรรมและด้านความพร้อมทางเทคโนโลยี เขยิบสูงขึ้น ในขณะที่ด้านสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาค ถดถอยลงเล็กน้อย ฉุดค่าดัชนี

สัดส่วนมูลค่าการส่งออกต่อค่า GDPที่มีค่าสูงถึงร้อยละ 75.6 ได้รับการจัดอันดับเป็นอันดับที่ 18 จาก 140 ประเทศ (ดีขึ้นจากปีที่แล้ว 4 อันดับ) ส่วนขนาดของตลาดในประเทศนั้น ได้รับคะแนนประเมิน 5 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 7 คะแนน) เป็นอันดับที่ 22 ของโลก และเป็นอันดับที่ 5 ในกลุ่มประเทศ ASEAN+3 รองจากประเทศจีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ ส่วนด้านตลาดต่างประเทศนั้นได้รับการประเมิน 6 คะแนน คิดเป็นอันดับที่ 14 และเป็นอันดับที่ 5 ในกลุ่มประเทศ ASEAN+3 รองจากประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์

ทางด้านระดับการพัฒนาของธุรกิจ นั้นประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่ 35 โดยเป็นที่หนึ่งของประเทศตลาดใหม่ และกำลังพัฒนาในเอเชีย นับว่าเป็นการสะท้อนศักยภาพของประเทศไทยด้านความแข็งแกร่งของภาคธุรกิจได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นปัจจัยทางด้านคุณลักษณะของความได้เปรียบทางการ ซึ่งได้รับ 4.3 คะแนน ก็อยู่ในอันดับที่ดี นอกจากนั้นปัจจัยทางด้านการตลาด นั้น ประเทศไทยได้ คะแนนถึง 4.9 คะแนน เป็นอันดับที่ 29

สำหรับรายงานอุปสรรคในการประกอบธุรกิจของแต่ละประเทศ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการบั่นทอน ขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งปัจจัยลบในปี 2015-2016 ของประเทศไทย 3 อันดับต้น ได้แก่ อันดับ 1 ความไร้เสถียรภาพของรัฐบาล ซึ่งเคยมีคะแนนสูงถึง 21 เหลือเพียง 18.1 คะแนน สะท้อนว่าไทยจัดการปัญหาได้ดีขึ้น อันดับ 2 การคอร์รัปชัน ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จาก 21.4 เหลือเพียง 12.5 คะแนน และอันดับ 3 ระบบราชการไร้ประสิทธิภาพ ลดลงจาก 12.7 เหลือ 12.3 คะแนน แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ถือเป็นส่วนสำคัญในการดึงดูดนักธุรกิจจากต่างชาติให้เข้ามาร่วมลงทุนในไทย 

ขณะที่ นายสมคิด ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (กพข.) ได้มอบหมายให้ สภาพัฒน์เร่งเสนอผลการวิเคราะห์อันดับ WEF(ปี 2017-2018) ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อสั่งการให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องรับไปเร่งรัดดำเนินการและให้รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานให้ สศช. รวบรวมเสนอคณะรัฐมนตรีทุก 3 เดือน

รวมถึงดำเนินการเชิงรุกเพื่อสร้างความเข้าใจกับทุกภาคส่วน เช่น นักลงทุน สื่อมวลชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ สถาบันการจัดอันดับ WEF รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน ทันสมัย และมีแนวทางที่ชัดเจนในการปรับปรุงประเด็นที่จะช่วยยกอันดับความสามารถในการแข่งขัน

ขณะที่ประเทศไทย จะเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับภูมิภาค WEF: ASEAN Summit ปี 2020 โดยสภาพัฒน์ จะพิจารณาศึกษาและคัดเลือกประเด็นการพัฒนาของประเทศไทยประกอบการพิจารณาการเป็นเจ้าภาพดังกล่าว

นอกจากนี้ ในปี 2018 สถาบัน WEF มีแนวโน้มที่จะนำเกณฑ์ชี้วัดใหม่มาใช้ในการวัดและจัดอันดับประเทศ โดยเกณฑ์ชี้วัดใหม่จะให้ความสำคัญกับความสามารถด้านนวัตกรรมของภาคเอกชนมากขึ้น เพื่อรองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่ทางรัฐบาลกำลังผลักดันผ่านแผนงานโครงการต่างๆ

โดยเฉพาะการมุ่งเน้น การเสริมสร้างความสามารถในการสร้างและการใช้นวัตกรรมของประเทศ โดยผลักดันให้ทุกภาคส่วนปรับตัว ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ และมีการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมของตนเองมากขึ้น เพื่อเป็นปัจจัยสนับสนุนให้มีการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
 
ทั้งหมดนี้ เป็นการจัดอันดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทย ที่เกิดขึ้นในรัฐบาลทหาร ยุคคสช.ที่คนในรัฐบาลออกมาตีปี๊บว่า"เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว" ???


กำลังโหลดความคิดเห็น