xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ชำแหละ! ร่างกม.จัดระเบียบขรก.ท้องถิ่น เทียบขรก.พลเรือน/วาระปลัด 4 ปี/อำนาจ ก.ถ.ครอบจักรวาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ในวันที่ 24 ก.ย.นี้ คณะกรรมการกลางการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น (กสถ.) จะจัดให้มีการสอบแข่งขัน ภาค ก. และภาค ข. ณ สนามสอบทั่วประเทศ 43 จังหวัด เพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ลงในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งมียอดผู้สมัคร จำนวน 627,975 คน โดย อปท.สามารถรับผู้สมหวังได้ 21,605 ตำแหน่ง ในลงพื้นที่ 7,851 แห่ง

กสถ. แจ้งว่าได้กำหนดการส่งคืนข้อสอบและกระดาษคำตอบให้ “มหาวิทยาลัยบูรพา”สถาบันที่ออกข้อสอบและตรวจคะแนนสอบใน วันที่ 24-25 ก.ย.เพื่อตรวจกระดาษคำตอบ และประมวลผลคะแนนระหว่างวันที่ 25 ก.ย.-31 ต.ค. ก่อนจะประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบภาค ค. หรือ สอบสัมภาษณ์พร้อมวันเวลา สถานที่สอบ ภายในเดือนพ.ย.-ธ.ค.นี้

คนสอบก็ลุ้นกันไปว่าจะสามารถเข้าไปนั่งเป็นข้าราชการ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ที่ตัวเองหวังไว้หรือไม่ ท่ามกลางกระแสข่าวว่า พื้นที่นั้น พื้นที่นี้ มีการทุจริตกันแล้ว ว่าถึงข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในปัจจุบันนี้ยังไม่มีการยกระดับขึ้น เทียบเท่า“ข้าราชการพลเรือน”ตามพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2542”โดยปัจจุบันเป็นไปตามพ.ร.บ.ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 มีชื่อเป็น ข้าราชการท้องถิ่น นำหน้าองค์กรหรือหน่วยงาน ทั้ง “อบจ. เทศบาล อบต. กทม. หรือ พัทยา”ถูกเรียกขานว่า “พนักงานส่วนท้องถิ่น”เป็นส่วนใหญ่ แต่สิทธิ สวัสดิการ ก็เหมือนๆ กับข้าราชการพลเรือน

วันก่อน“กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น”(กถ.) ได้ทำการเผยแพร่ สรุปสาระสำคัญของ “ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ...(ฉบับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น) เพื่อให้ประชาชนบุคคลทั่วไปเสนอแนะความเห็น ตามนัยยะ มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560

โดยมีประเด็นที่กำหนดให้มีการปฏิรูปและหลักการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ดังต่อไปนี้ บททั่วไป

1) การจัดระเบียบข้าราชการส่วนท้องถิ่น ต้องเป็นไปเพื่อผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจท้องถิ่น และสอดคล้องอำนาจหน้าที่ของ อปท. เพื่อประโยชน์แก่ประข้าชนในท้องถิ่นและของรัฐ
 
2) บัญญัติให้ตำแหน่งข้าราชการส่วนท้องถิ่น หมายถึง ข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด ข้าราชการเทศบาล ข้าราชการองค์การบริหารส่วนตำบล ข้าราชการกรุงเทพมหานคร และ ข้าราชการเมืองพัทยา ซึ่งเดิมกำหนดเป็นตำแหน่งพนักงานเทศบาล พนักงานองค์การบริหารส่วนตำบล และ พนักงานเมืองพัทยา

3) บัญญัติให้อำนาจหน้าที่ กถ. ในการออกกฎ ประกาศ และระเบียบที่เกี่ยวข้องกับ สิทธิ สวัสดิการ ประโยชน์ตอบแทนอื่น บำเหน็จ/บำนาญ เครื่องแบบข้าราชการ วับหยุดราชการ ให้แก่ ข้าราชการส่วนท้องถิ่น ลูกจ้างและพนักงานจ้าง

4) บัญญัติให้การจ่ายเงินเดือน ประโยชน์ตอบแทบอื่น และค่าจ้างของข้าราชการส่วน ท้องถิ่น ลูกจ้าง และพนักงานจ้างนั้น ให้ อปท.จ่ายจากเงินรายได้ที่นำมาตราเป็นงบประมาณรายจ่ายโดยจะกำหนดสูงกว่าร้อยละสี่สิบของงบประมาณรายจ่ายของอปท.นั้น ไม่ได้ โดยรายได้ให้คำนวณตามวิธีการงบประมาณชอง อปท. ที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด ยกเว้นเงินอุดหนุนตามภารกิจถ่ายโอนและเงินอุดหนุนที่รัฐจัดสรรเป็นเงินเดือน ค่าจ้างและประโยชน์ตอบแทนอื่น ให้ อปท.

มีการบัญญัติให้ มี คณะกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่น เพียงคณะเดียว เรียกว่า “คณะกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่น (ก.ถ.)”องค์คณะมีลักษณะไตรภาคี จำนวนยี่สิบสี่คน ประกอบด้วย “ผู้แทนส่วนราชการ”จำนวนแปดคน ได้แก่ รมว.มหาดไทย หรือ รมช.มหาดไทย ที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธาน ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงมหาดไทย เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และรองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ซึ่งอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มอบหมายเป็น กรรมการ และเลขานุการ

“ผู้แทน อปท.”จำนวนแปดคน ได้แก่ ผู้แทนผู้บริหาร ท้องถิ่นจำนวนสี่คน คือ นายกอบจ.หนึ่งคน นายกเทศมนตรีหนึ่งคน นายกอบต.หนึ่งคน และนายกหรือผู้บริหารท้องถิ่นรูปแบบอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้งหนึ่งคน ยังมี “ผู้แทนข้าราชการส่วนท้องถิ่น” จำนวนสี่คน คือ ข้าราชการ อบจ.หนึ่งคน ข้าราชการเทศบาลหนึ่งคน ข้าราชการอบต.หนึ่งคน และข้าราชการอปท.รูปแบบอี่นที่มีกฎหมายจัดตั้งหนึ่งคน

“ผู้ทรงคุณวุฒิ”จำนวนแปดคน ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์และมี ผลงานเป็นที่ประจักษ์ในด้านการบริหารงานท้องถิ่น ด้านการศึกษา ด้านการบริหารงานบุคคล ด้านการบริหาร และการจัดการด้านกฎหมาย และด้านการบริหารราชการแผ่นดิน โดยให้มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอย่างน้อย ด้านละหนึ่งคน
 
โดยให้ ก.ถ. มีอำนาจหน้าที่กำหนดทิศทาง นโยบาย ยุทธศาสตร์ ออกกฎ ก.ถ. ประกาศ และ ระเบียบเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลทั้งกระบวบการพัฒนาข้าราชการส่วนท้องถิ่น ดำเนินการสรรหา ข้าราชการส่วนท้องถิ่น โดยการสอบแข่งขัน สอบคัดเลือก และคัดเลือกตำแหน่งประเภทบริหารท้องถิ่น ตำแหน่งประเภทอำนวยการท้องถิ่น และตำแหน่งสายงานบริหารสถานศึกษาเห็นชอบการแต่งตั้งและให้พันจากตำแหน่งของข้าราชการส่วนท้องถิ่น กำกับ ติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล ส่วนท้องถิ่น ตีความและวินิจฉัยปัญหาที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ ให้มีสำนักงาน ก.ถ. ตั้งอยู่ในกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เป็นเจ้าหน้าที่ดำเนินการในหน้าที่ของ ก.ถ. ยังให้มี “คณะอนุกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่นจังหวัด (อ.ก.ถ.จังหวัด)”มีฐานะเป็นคณะอนุกรรมการของ ก.ถ. องค์คณะมีลักษณะไตรภาคี จำนวนสิบแปดคน ประกอบด้วย “ผู้แทนส่วนราชการ”จำนวนหกคน ผู้แทนส่วนราชการในจังหวัดที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศกำหนด จำนวนสี่คน “ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” จำนวนหกคน ได้แก่ “ผู้แทนผู้บริหารท้องถิ่น” จำนวนสามคน “ผู้แทนข้าราชการส่วนท้องถิ่น” สามคน มี“ผู้ทรงคุณวุฒิ” จำนวนหกคน

อนึ่ง กรณีจังหวัดใดมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้งอยู่ในจังหวัดให้เพิ่มผู้แทนตามส่วน มีอำนาจหน้าที่ในท้องถิ่นของตนเองคล้าย ๆ กรรมการชุดใหญ่

ร่างกฎหมายฉบับนี้ ยังกำหนดมี “กระบวนการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นของข้าราชการส่วนท้องถิ่น”ดังนี้

1) การสรรหา การบรรจุและแต่งตั้ง บัญญัติให้ ก.ถ. มีอำนาจหน้าที่จัดสอบแข่งขัน เพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น การสอบคัดเลือกและคัดเลือกตำแหน่งประเภทอำนวยการท้องถิ่น บริหารท้องถิ่น สายงานบริหารสถานศึกษา แต่สำหรับการสอบคัดเลือกเพื่อเปลี่ยนสายงานจากตำแหน่ง ประเภททั่วไปเป็นตำแหน่งประเภทวิชาการเป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข่นเดิม

2) อำนาจการบังคับบัญชา บัญญัติให้ผู้บริหารท้องถิ่นมีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้ง การโอน การรับโอน การสอบสวน การลงโทษทางวินัย และการให้ออกจากราชการ หรือการอื่นใดที่เกี่ยวกับ การบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นของข้าราชการส่วนท้องถิ่น สำหรับการย้าย การเลื่อนระดับ และการเลื่อนขั้น เงินเดือน ให้เป็นอำนาจของผู้บริหารท้องถิ่นและปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังต่อไปนี้

ก. ผู้บริหารท้องถิ่นเป็นผู้มีอำนาจสำหรับข้าราชการส่วนท้องถิ่นสามัญ ตำแหน่งประเภทบริหารท้องถิ่นที่ดำรงตำแหน่งปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ข. ผู้บริหารท้องถิ่น เป็น ผู้มีอำนาจ สำหรับข้าราชการส่วนท้องถิ่นสามัญ ตำแหน่ง ประเภท บริหารท้องถิ่นที่ดำรงตำแหน่ง รองปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตำแหน่ง ประเภทอำนวยการท้อง ถิ่น และตำแหน่งประเภทวิชาการระดับเชี่ยวชาญขึ้นไป ทั้งนี้ ตามที่ปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เสนอ ค. ผู้บริหารท้องถิ่นเป็นผู้มีอำนาจสำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ดำรงตำแหน่ง ผู้บริหารสถานศึกษาหรือตำแหน่งที่มีวิทยฐานะ เชี่ยวชาญขึ้นไป ทั้งนี้ ตามที่ปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเสนอ ง. ปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็น ผู้มีอำนาจ สำหรับข้าราชการส่วนท้องถิ่น ที่ดำรงตำแหน่ง อื่นนอกจากตำแหน่ง ตาม ก. ข. และ ค.
 
ในส่วนของ“วาระการดำรงตำแหน่ง”บัญญัติให้ “ปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น”ปฏิบัติหน้าที่เดียว ติดต่อกันเป็นเวลาครบสี่ปี ให้สับเปลี่ยนหน้าที่โดยการโอนไปปฏิบัติหน้าที่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ส่วน “การโอนระหว่าง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บัญญัติให้ข้าราชการส่วนท้องถิ่น โอน ย้าย สับเปลี่ยน กันได้ บนพื้นฐานของความสมัครใจ และความยินยอมระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เว้นแต่กรณีมีเหตุความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ ก. ถ. อาจดำเนินการแทนโดยยกเว้นหลักความสมัครใจของข้าราชการส่วนท้องถิ่นและความยินยอมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ยังมีประเด็น การกำหนดโครงสร้างและอัตรากำลัง บัญญัติให้ ก.ถ. กำหนดตามความเหมาะสมความรับผิดชอบปริมาณงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ละรูปแบบ และแต่ละขนาด ทั้งนี้สำหรับการกำหนด ตำแหน่ง “พนักงานจ้างตามภารกิจ” ที่มีลักษณะงานเช่น เดียวกับลักษณะงานของข้าราชการส่วนท้องถิ่น จะต้องมีจำนวนไม่เกินร้อยละ 24 ของจำนวนอัตรากำลังของข้าราชการส่วนท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ละแห่ง

มีการกำหนดจรรยาสำหรับข้าราชการส่วนท้องถิ่นเพื่อถือปฏิบัติ มีการกำหนดระเบียบ ขั้นตอน วิธีการ เกี่ยวกับวินัย และ การดำเนิน การทางวินัยของ ข้าราชการส่วนท้องถิ่น และ กำหนดระเบียบ ขั้นตอน วิธี การ กรณีข้าราชการส่วนท้องถิ่นกระทำผิดร่วมกันกับผู้บริหารท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความชัดเจนและถือปฏิบัติให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน

สุดท้ายว่าด้วย“การพิทักษ์ระบบคุณธรรมท้องถิ่น”บัญญัติให้มี คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมท้องถิ่น (ก.พ.ค.ท้องถิ่น) ประกอบด้วย กรรมการจำนวน เจ็ดคน โดยให้รองอธิบดี กถ. ที่อธิบดี กถ.มอบหมายปฏิบัติหน้าที่เป็นเลขานุการ มีวาระการดำรงตำแหน่งหกปี นับแต่วันที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว ทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ ร้องทุกข์ ออกกฎ ก.พ.ค.ท้องถิ่น ประกาศ ระเบียบ หลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการคุ้มครองระบบคุณธรรมให้แก่ข้าราชการส่วนท้องถิ่น ของ อปท.ทุกรูปแบบ ทั้งนี้ให้มีสำนักงาน ก.พ.ค.ท้องถิ่น ตั้งอยู่ในกระทรวงมหาดใทย เป็นเจ้าหน้าที่ดำเนินการในหน้าที่ของ ก.พ.ค.ท้องถิ่น

กฎหมายฉบับนี้ จะต้องเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณา ก่อนจะไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาแก้ไข ก่อนเสนอ ขอความเห็นชอบจาก สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในอนาคตต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น