ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ชักจะมีกลิ่นทะแม่งๆ เสียแล้ว สำหรับ “โครงการโรงไฟฟ้าขยะ” ที่กำลังเผชิญแรงต่อต้านทุกหย่อมหญ้าอยู่ในเวลานี้ เผลอๆ “พี่รอง คสช.” -พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อาจเป็นปลาใหญ่ตายน้ำตื้น ซ้ำรอยกรณี “ป่ากระทิงแดง” ที่ใส่เกียร์ถอยแทบไม่ทันด้วยจำนนต่อหลักฐาน
หรือไม่งั้นก็อาจจบลงแบบ เรือเหี่ยว เรือเหาะตรวจการณ์ หรือไม้ล้างป่าช้า จีที 200 ที่ไร้ประสิทธิภาพ ผลาญเงินภาษีประชาชนไปฟรีๆ เป็นร้อยเป็นพันล้าน
อย่าลืมว่า โรงไฟฟ้าขยะ เป็นการลงทุนกำจัดขยะในราคาที่แพงที่สุด และต้องอาศัยความรู้ความสามารถอย่างเอกอุในการบริหารจัดการทั้งจัดเก็บ ขนส่งขยะป้อนเข้าโรงไฟฟ้า ทั้งจัดหาเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าที่ทันสมัย และทั้งต้องมีความรู้ควบคุมและกำจัดมลพิษที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นทางยันปลายทาง
ลำพังเทคโนโลยีอย่างเรือเหี่ยวและไม้ล้างป่าช้า ยังถูกหลอกไปไม่รอด แล้วโรงไฟฟ้าขยะที่ซับซ้อนยิ่งกว่าจะมีบทจบแบบไหน ถูกทิ้งร้างเป็นอนุสรณ์แห่งความอัปยศ หรือสร้างมลพิษท่วมเมือง สร้างความขัดแย้งทุกหย่อมหญ้า อย่างนั้นหรือไม่ ?
ที่สำคัญคือ งานนี้มีการใช้อำนาจใน ม.44 ทะลุทะลวงข้อติดขัดทางกฎหมายที่ต้องทำ “รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม” หรือ “อีไอเอ” และก้าวพ้นอำนาจแห่ง “กฎหมายผังเมือง” ซึ่งถือเป็นเรื่องที่กระทบต่อประชาชนโดยตรง จนทำให้เกิดคำถามดังๆ ขึ้นทั้งแผ่นดินว่า ทำเพื่อประชาชนหรือเพื่อกลุ่มทุนพลังงานกันแน่
เพราะโดยสามัญสำนึกแล้ว คงไม่มีชุมชนไหนต้องการให้โรงไฟฟ้าขยะที่มีกลิ่นเหม็นคลุ้งก่อมลพิษไปตั้งอยู่หน้าบ้านโดยที่ไม่ปริปากสักแอะ
วาระแห่งชาติหรือวาระของใคร?
ว่ากันตามสภาพ ไม่มีใครปฏิเสธว่าปัญหาขยะล้นเมืองโดยเฉพาะขยะจากชุมชนเป็นปัญหาโลกแตกสำหรับเมืองไทยที่จัดการได้ยากและเรื้อรังมานาน ด้วยสภาพปัญหาที่เป็นอยู่จึงทำให้มีเสียงขานรับต่อการทำคลอด “แผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศไทย (พ.ศ.2559-2564)” เพราะในหลักการถือเป็นเรื่องที่ดีที่จะต้องมีการบริหารจัดการกับปัญหาขยะของประเทศ
ตามแผนแม่บทนี้มีสาระและหลักใหญ่ใจความสำคัญ ก็คือ การรวบอำนาจรวมศูนย์จัดการขยะและของเสียอันตรายมาไว้ที่กระทรวงมหาดไทย และแปรรูปผลิตพลังงานหรือสร้างโรงไฟฟ้าโดยใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งมีการประเมินว่ามีพื้นที่ที่มีศักยภาพเป็นศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยเพื่อโรงไฟฟ้าขยะมีทั้งหมด 54 กลุ่มพื้นที่ ใน 44 จังหวัด
วาระแห่งชาติว่าด้วยเรื่องขยะนี้ กระทรวงมหาดไทย ยุคมท.1 ชื่อ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ได้เสนอต่อครม.เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2558 ซึ่งนอกจากจะมีเรื่องปรับอัตราค่าบริหารจัดการขยะที่ 220 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือนแล้ว มท.1 ยังเสนอให้รัฐบาลตั้งงบปีละ 3,000 ล้านบาทเพื่อร่วมลงทุนกับเอกชนบริหารจัดการขยะอีกด้วย ถือเป็นงบก้อนแรกนำร่อง
ที่ประชุมครม.ได้อนุมัติตามที่เสนอ และให้กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยในภาพรวมของประเทศ โดยให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นหน่วยงานสนับสนุนการดำเนินการ
ในทางปฏิบัติหมายความว่า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ไฟเขียวให้ มท.1 ลุยเต็มที่ ทั้งให้ผนวกรวมเอาแผนและงบแก้ปัญหาขยะมูลฝอยลักษณะบูรณาการประจำปี 2559 ที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงทรัพยากรฯ จำนวน 384 โครงการ วงเงิน 26,181.99 ล้านบาท เข้ามาไว้ด้วยกัน โดยกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัด จัดทำแผนปฏิบัติการ เสนอกระทรวงทรัพยากรฯ เพื่อพิจารณาอนุมัติก่อนดำเนินการ
ต่อมา เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2559 หลังจาก กระทรวงมหาดไทย ได้จัดประชุมกับท้องถิ่นให้เรื่องแผนการจัดเก็บขยะ ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด มายังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ให้มีการจัดตั้งคณะทำงานด้านการบริหารจัดการขยะมูลฝอย ตามแผน “จังหวัดสะอาด”ในระดับจังหวัด อำเภอ และ อปท. ตามแผน “แม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ.2559-2564) งบประมาณดำเนินการรวม 50,000 ล้านบาท ที่สองกระทรวง คือกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น มหาดไทย และกรมควบคุมมลพิษ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดทำ และย้ำคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. สั่งการมายังผู้ว่าฯ ให้ดำเนินการตามแผน “ประเทศไทยไร้ขยะ ตามแนวทางประชารัฐ ระยะ 1 ปี” ตามหลักการ 3Rs คือ ใช้น้ำน้อย ใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่
จะเห็นว่า วาระแห่งชาติจัดการขยะ มีงบนำร่องก้อนแรก 3 พันล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 2 หมื่นกว่าล้าน และขยับขึ้นเป็น 5 หมื่นล้านจากงบบูรณาการกำจัดขยะสองกระทรวง ขณะที่งบก้อนใหญ่ตามแผนแม่บทบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศในระยะเวลา 6 ปี (พ.ศ.2559-2564) ที่วางไว้มหาศาลถึง 178,600 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณของรัฐ 94,600 ล้านบาท และการลงทุนจากเอกชนอีก 84,000 ล้านบาท งบมหาศาลนี้ทำเอาตาโตไปตามๆ กัน
พร้อมๆ กับการทำคลอดแผนแม่บทหรือเนื้อแท้คือแผนรวมศูนย์กำจัดขยะเพื่อแปรรูปผลิตพลังงานหรือโรงไฟฟ้า ด้านหนึ่งก็มีการทำคลอด พ.ร.บ. รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ซึ่งสาระสำคัญคือ ให้อำนาจมหาดไทยจัดการขยะมูลฝอยของอปท., ออกข้อกำหนดจัดเก็บค่าจัดการขยะมูลฝอยทั้งค่าเก็บค่าขน และอนุญาตให้เอกชนเข้ามาดำเนินการโดยไม่ให้ถือเป็นกิจการร่วมทุนตามพ.ร.บ.ร่วมทุนรัฐ-เอกชนฯ 2556
เป็นการรวมศูนย์อำนาจบริหารจัดการขยะมาไว้ที่มหาดไทย และปลดล็อกความยุ่งยากในการนำขยะชุมชนไปผลิตไฟฟ้า โดยไม่ติด พ.ร.บ.ร่วมทุน จากเดิม อปท.ไม่สามารถเข้าไปร่วมทุนกับเอกชนได้
“บิ๊กป๊อก” ถึงกล่าวภายหลังการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2558 ว่า “.... ขณะนี้ได้ทำพื้นที่กำจัดขยะไว้แล้วทั่วประเทศ 141 แห่ง โดยพื้นที่ที่มีศักยภาพ เพราะมีขยะพอเพียงทำให้โรงไฟฟ้ามี 44 แห่ง ส่วนกรณีไม่พอเพียง แต่อยู่ในรัศมีใกล้กัน 4 กิโลเมตร หากคุ้มที่จะทำก็จะขนมาให้ได้เป็นจุดเดียว โดยปริมาณขยะที่ต้องการสำหรับเป็นโรงเผาเพื่อผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า จะอยู่ประมาณวันละ 500 ตัน หากต่ำกว่านั้นจะไม่คุ้มทุน
“ทั้งนี้ ในขั้นต่อไปจะพิจารณาว่ารัฐจะลงทุนหรือจะให้เอกชนลงทุน หรือจะมีใครร่วมทุน โดยจะต้องศึกษาพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ว่าจะต้องปฏิบัติตามอย่างไร หากต้องการจะดูตัวอย่างก็ได้มีโครงการนำร่องแล้วที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา"
ดูผิวเผินเหมือนจะดีอย่างที่รัฐบาลคสช.พยายามสร้างภาพว่าปัญหาขยะล้นเมืองจะได้รับการแก้ไข แต่คำถามก็คือว่า องค์การปกครองท้องถิ่น (อปท.) ใต้สังกัดมหาดไทย ซึ่งขาดทั้งบุคลากร ขาดทั้งความรู้ความสามารถ จะเป็นหลักในการรวมศูนย์ในการบริหารจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพนี้ได้อย่างไร
บทเรียนและประสบการณ์จากทั่วโลก สรุปกันชัดเจนว่า การจัดการขยะชุมชนโดยโรงงานเผาขยะหรือโรงงานผลิตไฟฟ้าจากขยะ เป็นทางเลือกที่มีค่าใช้จ่ายแพงที่สุด ต้องอาศัยบุคลากรที่มีทักษะสูง ต้องบำรุงรักษาอย่างดี
โปรดอย่าลืมว่าโรงไฟฟ้าขยะ เป็นแหล่งก่อมลพิษซึ่งปล่อยสารพิษที่ก่อให้เกิดมะเร็งต่อคนในชุมชน หาก อปท.ไม่สามารถแล้วก็เท่ากับว่ารัฐบาลได้ออกกฎหมายรองรับการจัดสร้างแหล่งมลพิษก่อมะเร็งประชิดชุมชนทั่วทุกหัวระแหงทั่วประเทศ
น่าสงสัยเป็นอย่างยิ่งว่า ทางเลือกที่แพงที่สุด เสี่ยงที่สุด ก่อมลพิษมากที่สุด ทำไมถึงเป็นทางเลือกหลัก ใช่เพราะมีผลประโยชน์ล่อตาล่อใจ ใช่หรือไม่?
นั่นเป็นการติดกระดุมเม็ดแรกผิดในเชิงนโยบาย แต่คงถูกสำหรับกลุ่มทุนพลังงานที่อยากให้เป็นเช่นนั้น
กลุ่มทุนพลังงานยิ้มหวาน
ใช้ ม.44 ยกเลิกทำ EIA
นางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ซึ่งเกาะติดปัญหาการบริหารจัดการขยะฯ ได้ท้วงติงว่าโรงไฟฟ้าขยะเป็นทางเลือกจัดการที่แพงที่สุด จะนำไปสู่ภาระหนี้ของประเทศและท้องถิ่นเนื่องจากอุปกรณ์และเทคโนโลยีในการควบคุมมลพิษและการปฏิบัติตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อมมีต้นทุนสูงมาก การเผาจะทำให้เกิดขี้เถ้าที่มีสารพิษซึ่งต้องฝังกลบตามหลักวิศว กรรมที่มีต้นทุนสูง ขณะที่ขยะในไทยส่วนใหญ่ไม่มีการคัดแยกขยะเปียกทำให้ประสิทธิภาพในการเผาลดลงหรือไม่คุ้ม
ที่สำคัญรัฐกำลังก่อหนี้สินผูกพันในระยะยาว และเป็นภาระของประชาชนผู้เสียภาษี หากการจัดการขยะภายใต้แผนการดังกล่าวไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาที่แท้จริง รัฐและประชาชนจะต้องมานั่งเสียค่าโง่อีกมหาศาล การใช้งบประมาณในโครงการที่สูงขนาดนี้ ย่อมมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดทุจริตคอรัปชั่นมากขึ้น
เมื่อติดกระดุมเม็ดแรกผิด นำไปสู่การติดกระดุมเม็ดสองที่ผิดพลาดอย่างแรงตามมา นั่นคือ การออกคำสั่งยกเว้นให้โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิงทุกขนาด ไม่ต้องทำ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ( Environmental Impact Assessment - EIA) ทั้งที่ศูนย์รวมขยะเพื่อเป็นเชื้อเพลิงและโรงไฟฟ้าขยะเป็นแหล่งก่อมลพิษ จะต้องทำอีไอเอ เพื่อลดผลกระทบ
การทำอีไอเอ มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในทุกด้านทั้งทรัพยากรธรรมชาติ เศรษฐกิจ สังคมและชุมชน เพื่อหาทางป้องกันแก้ไขให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุดและเป็นแนวทางตัดสินใจว่าสมควรดำเนินโครงการหรือไม่ ไม่ใช่มาออกคำสั่งยกเว้นและใช้อำนาจปิดปากผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้งแตกแยกทุกหย่อมหญ้าอย่างที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้
การใช้อำนาจยกเว้นอีไอเอโรงไฟฟ้าขยะ ต้องย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2555 ที่มีประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติและแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
ในประกาศของกระทรวงฯ ดังกล่าวนั้นได้มีเอกสารท้ายประกาศ 3 ลำดับที่ 18 ระบุเอาไว้เกี่ยวกับกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่มีกำลังผลิตกระแสไฟฟ้าตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ขึ้นไป จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ โดยให้เสนอในขั้นขออนุญาตก่อสร้างเพื่อประกอบกิจการหรือขั้นขออนุญาตประกอบกิจการแล้วแต่กรณี
นั่นหมายความว่าไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าชนิดใดที่ใช้ความร้อนดังที่กล่าวมาข้างต้น ต้องให้มีการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ด้วย โรงไฟฟ้าขยะหลายๆ แห่งจึงหาทางเลี่ยงข้อกำหนดโดยยื่นขอผลิตกระแสไฟฟ้าไม่เกิน 9.9 เมกกะวัตต์
ต่อมา กฎเกณฑ์ข้างต้นถูกลบล้าง เมื่อมีประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วันที่ 19 ส.ค. 2558 เรื่อง กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติและแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2558
ในประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2558 ได้ยกเว้นให้โรงไฟฟ้าที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิงเป็นกรณีพิเศษ แตกต่างจากโรงงานไฟฟ้าความร้อนอื่นๆ ทุกประเภท โดยหากเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งไม่ได้อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 และชั้น 2 ไม่อยู่ในพื่นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพิ่มเติมตามมติของคณะรัฐมนตรี ไม่อยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศตามมติคณะรัฐมนตรี และไม่อยู่พื้นที่ซึ่งมีระดับสารมลพิษทางอากาศสูงเกินกว่าร้อยละ 80 ของค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไป โรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิงดังที่กล่าวมาข้างต้นไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกต่อไป
พูดง่ายๆ ก็คือว่า ถ้าไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ข้างต้น คือ ไม่อยู่ในลุ่มน้ำชั้น 1 ชั้น 2 ไม่อยู่ในพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ไม่อยู่ในป่าอนุรักษ์ ไม่อยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำ ไม่อยู่ในพื้นที่ระดับสารพิษในอากาศสูงเกิน 80% ก็ไม่ต้องทำอีไอเอไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าขยะขนาดกี่เมกะวัตต์ก็ตาม
รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ รู้หรือแกล้งไม่รู้ว่าโรงไฟฟ้าขยะนั้นก่อมลพิษที่อันตรายมากเพียงไหน ถึงให้ยกเว้นทำอีไอเอ
หากไม่รู้ก็ควรจะรู้เอาไว้ว่า ในรายการการศึกษาของศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เผยแพร่ผลศึกษาว่า “กลิ่นของขยะ พบสารอินทรีย์ระเหยง่าย ทั้งหมด 37 ชนิด ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง เช่น เบนซีน สไตรีน ไดคลอโรมีเทน 1,2-ไดคลอโรอีเทน และมีสารที่กดประสาทส่วนกลาง ทำให้ตับอักเสบ เป็นโรคไต และระบบทางเดินหายใจ เช่น สารอะซิโตน โทลูอีน เอทิลเบนซีน”
แล้วก็ควรจะรู้ด้วยว่า โรงไฟฟ้าขยะนั้นก่อปัญหามลพิษมากมายเพียงใด ยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับเตาเผาโรงไฟฟ้าขยะจีเดค ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก้ ที่ลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะชุมชนหาดใหญ่ ขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 6.7 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในตำบลควนลัง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มูลค่าโครงการประมาณ 800 ล้านบาท
โรงไฟฟ้าขยะจีเดค เจอคำสั่งปิดในส่วนเตาเผาโรงไฟฟ้าขยะจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสงลา เมื่อปลายปี 2559 หลังจากกรมควบคุมมลพิษ ได้ตรวจสอบและเก็บตัวอย่างอากาศที่ระบายจากปล่องเตาเผาขยะมูลฝอยไปตรวจวิเคราะห์ เมื่อวันที่ 21-28 พ.ค. 2559 ไปตรวจวิเคราะห์แล้วพบว่า มีปริมาณสารประกอบไดออกซิน, สารแคดเมียม และก๊าซไฮโดรเจนคลอไรด์ เกินเกณฑ์มาตรฐานควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสีย
นั่นหมายความว่า โรงไฟฟ้าขยะจีเดค ปล่อยสาร “ไดออกซิน” สูงเกินค่ามาตรฐานกว่า 50 เท่า ตามการตรวจสอบของกรมควบคุมมลพิษ และนี่หากตรวจสอบสารพิษในเถ้าหนักและเถ้าเบาที่เกิดจากการเผาขยะที่บริษัทเทกองไว้ในพื้นที่โรงงานด้วยจะเจอสารไดออกซินแพร่กระจายไปในสิ่งแวดล้อมและห่วงโซ่อาหารอีกกี่มากน้อย
ขนาดระดับบริษัทลูกเอ็กโก้ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเรื่องพลังงานไฟฟ้าอันดับต้นๆ ของประเทศ ยังมีปัญหาขนาดนี้ เจอมือสมัครเล่นที่จะมาคุมโรงไฟฟ้าขยะอย่าง อปท. และบริษัทที่หวังเข้ามาทำมาหากินแบบจับเสือมือเปล่าจะทำอย่างไร
นางสาวเพ็ญโฉม สะท้อนว่า เหตุที่ตรวจพบสารไดออกซินเกินค่ามาตรฐานมากขนาดนั้น อาจมาจากเทคโนโลยีบำบัดมลพิษทางอากาศไม่มีประสิทธิภาพพอ หรืออาจไม่มีการเปิดระบบบำบัด และประเทศไทยยังไม่มีระบบคัดแยกขยะที่ต้นทางที่ดีพอ ทำให้ขยะที่เข้ากระบวนการไม่เหมาะเมื่อเผาออกมาก็เกิดสารพิษแพร่กระจาย
นี่เป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่า นโยบายที่สนับสนุนให้เกิดโรงไฟฟ้าขยะขึ้นอีกประมาณ 50 แห่งทั่วประเทศ ไม่มีความพร้อม เป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด รวมทั้งควรยกเลิกประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ยกเว้นให้โครงการโรงไฟฟ้าขยะมูลฝอยทุกขนาดกำลังการผลิตไม่ต้องจัดทำ EIA
ถามว่า การยกเว้นอีไอเอเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการลงทุนโรงไฟฟ้าขยะของเอกชน ย่อมหมายหมายความว่า ไม่เห็นชีวิตคนที่ต้องตายผ่อนส่งจากมลพิษอยู่ในสายตา ใช่หรือไม่ ?
เสือเงียบฝันอร่อย ยกเว้น กม.ผังเมืองรวม
พลาดต่ออีกเม็ดที่สาม คือ การลงนามของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาศัยรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติที่ 4/2559 เมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2559 เพื่อยกเว้นการใช้บังคับผังเมืองรวมกับโรงผลิตไฟฟ้า โรงผลิตก๊าซ โรงกำจัดขยะ โรงไฟฟ้าขยะ และโรงงานรีไซเคิลขยะและของเสีย
ความผิดพลาดนี้เกือบจะทำให้มีโรงไฟฟ้าขยะที่ ต.เชียงราก จ.ปทุมธานี ใกล้กับแหล่งน้ำดิบผลิตน้ำประปาสำหรับป้อนให้คนปทุมและคนกรุงเทพฯหลายล้านคน จนกระทั่งการประปาฯ ต้องออกโรงร่วมกับชุมชนคัดค้าน
จุดนี้หากแรงต้านไม่แข็งพอ เชื่อว่า คงผ่านฉลุยไปแล้ว เพราะกลุ่มนายทุนเจ้าของที่ดินที่ที่ขายเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ คือ นักการเมืองใหญ่ที่ชื่อว่านายบรรหาร ศิลปอาชา ส่วนกลุ่มทุนพลังงานที่เตรียมทุ่มทุนสร้างโรงไฟฟ้าขยะ คือ ก๊วนลูกเขยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เรียกว่าเส้นแข็งโป๊ก
โครงการก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะ ต.เชียงรากใหญ่ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี เป็น 1 ใน 6 จังหวัดที่ต้องแก้ไขปัญหาขยะอย่างเร่งด่วนตามระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะมูลฝอย พ.ศ. 2557 โดยแผนแม่บทด้านจัดการขยะของจังหวัด พ.ศ. 2558-2562 มีแนวคิดหลักคือ นำขยะมูลฝอยไปแปรรูปเป็นพลังงานภายในปี 2562
หลังจากมีแผนออกมา กลุ่มเอกชนในนามบริษัท ปทุม คลีน เอนเนอร์จี จำกัด ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ซุปเปอร์ เอิร์ท เอนเนอร์ยี (ปทุมธานี) จำกัด ก็เข้าซื้อที่ดิน รวมประมาณ 145 ไร่ เป็นการซื้อเตรียมไว้ตั้งแต่เดือนส.ค. 2557
จากตรวจสอบสารบัญจดทะเบียน ฉบับที่ 3958 ของสำนักงานที่ดิน อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ระบุว่า เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2558 “นายบรรหาร ศิลปอาชา” อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ได้ขายโฉนดรวม 16 โฉนด ให้กับ “บริษัท ซุปเปอร์ เอิร์ธ เอนเนอร์ยี่ จำกัด” (SUPER EARTH)
ในสารบัญจดทะเบียน ฉบับที่ 3958 ยังระบุว่ามีชื่อนายสิโรจน์ วงศ์สิโรจน์กุล เจ้าของ บริษัทสี่แสงการโยธา (1979) จำกัด หุ้นส่วนในบริษัท คอสติกไทย จำกัด (ชื่อเดิมบริษัท สหศรีชัยเคมิคอลส์ จำกัด) ประกอบธุรกิจขายเคมีภัณฑ์ ของนายบรรหาร ศิลปอาชา เข้ามาเกี่ยวข้องกับการซื้อขายโฉนดรวม 16 โฉนดนี้ด้วย
พื้นที่ตรงจุดนี้ มีข้อความของนายพงศธร สัจจชลพันธ์ ผู้ว่าฯ ปทุม ที่เขียนถึงกลุ่มสิงห์ดำ พูดถึงกรณีถูกกล่าวว่าไปเกี่ยวข้องกับการไปดูงานโรงไฟฟ้าขยะที่ญี่ปุ่น ซึ่งหนึ่งในนั้นมี “แจ๊ด ปืนจิ๋ว” พล.ต.อ.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง อดีต ผบช.น. เดินทางไปด้วย
โดยข้อความที่หลุดออกมามีใจความตอนหนึ่งระบุว่า “ในบรรดาบริษัทที่สนใจเข้ามาลงทุนมีอยู่บริษัทหนึ่งสนใจที่ดินที่ ต.เชียงรากใหญ่ ซึ่งเคยเป็นของ “นักการเมืองใหญ่ท่านหนึ่ง” ตรงนี้ที่ “คุณคำรณวิทย์” เป็นคนกลางเสนอขายที่ดินให้สร้างโรงงาน เขาต้องการลดการต่อต้าน ก็เลยออกเงินผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ไปเห็นกับตา ว่าโรงงานที่นำขยะมาทำพลังงานไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด .... คุณคำรณวิทย์ไปด้วย ผมสันนิษฐานว่าเขาต้องการใช้ภาวะผู้นำโน้มน้าวพูดให้คนปทุมกลุ่มต่างๆ เข้าใจ ไม่ต่อต้าน และช่วยทำความเข้าใจกลุ่มที่ยังไม่ทราบเรื่องระบบกำจัดขยะระบบปิด เพราะเขาต้องการให้โรงงานสร้างได้ (น่าจะเกี่ยวกับการขายที่ดิน)”
ใช่หรือไม่ว่า คำสั่งปลดล็อกเรื่องผังเมือง ที่ออกมาในเดือนม.ค. 2559 ทำให้การจัดซื้อที่ดินดังกล่าวล่วงหน้าเพื่อเตรียมสร้างโรงไฟฟ้าขยะพื้นที่ ต.เชียงรากใหญ่ ไม่มีปัญหา ทั้งที่มติครม.เมื่อปี 2522 และ 2531 กำหนดให้เชียงรากเป็นพื้นที่เขตอนุรักษ์น้ำดิบเพื่อการประปา ห้ามตั้งโรงงานอุตสาหกรรมที่มีน้ำทิ้งประกอบด้วยสารพิษประเภทโลหะหนักและปล่อยน้ำทิ้งเกินกว่าวันละ 50 ลูกบาศก์เมตร
กระทั่งมีเสียงค้านทั่วสารทิศรวมทั้งการประปานครหลวง ซึ่งนายชัยวัฒน์ วรพิบูลย์พงศ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ กปน.ขึ้นเวทีออกโรงค้านเองเลยว่า การก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะที่เชียงราก จะส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำดิบ คุณภาพน้ำดิบประปาเสื่อมโทรม ระบบไม่สามารถกำจัดสารโลหะหนักและเชื้อก่อโรคทนทานบางชนิดได้ สารพิษและเชื้อโรคอาจตกค้างในน้ำประปา และเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคอันตรายสู่ผู้ใช้น้ำประปากว่า 12 ล้านคน และส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากน้ำประปาที่ผลิตได้ร้อยละ 70 เข้าสู่กระบวนการผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร
ผลจากการคัดค้านทำให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ออกประกาศเรื่องการจัดหาไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed-in-Tariff (FiT) พ.ศ. 2559 เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2559 กำหนดหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟจากโรงไฟฟ้าขยะว่าที่ตั้งของโครงการจะต้องไม่ขัดกับพื้นที่อนุรักษ์ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เขตอนุรักษ์แหล่งน้ำดิบเพื่อการประปา หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
ทำเอาต้องเบรกกันตัวโก่ง และฝันค้างกันไปเป็นทิวแถว ไม่แต่ก๊วนมือชงในมหาดไทยรวมทั้งบิ๊กทหารและบิ๊กตำรวจน้อยใหญ่ แต่กระเทือนไปถึงเอกชนที่เตรียมลงทุนอย่างซุปเปอร์บล๊อกด้วย
ตามแผนลงทุนในกิจการโรงไฟฟ้าขยะของกลุ่ม SUPER เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.2558 “คณะกรรมการบริษัท ซุปเปอร์บล๊อก จำกัด (มหาชน)” หรือ SUPER ได้อนุมัติการตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่ของบริษัท 6 บริษัท เพื่อรองรับการขยายธุรกิจใหม่ของบริษัท โดยได้ดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทย่อย 6 บริษัท
การแตกบริษัทลูกเพื่อรองรับธุรกิจใหม่สะท้อนว่า SUPER เชื่อมั่นในการลุยธุรกิจโรงไฟฟ้าขยะอย่างเต็มเหนี่ยว ด้วยว่าผู้บริหารสูงสุดของซุปเปอร์บล็อก เป็นน้องชายของลูกเขยของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ จริงหรือไม่ ?
คำถามตามมาคือ ผู้บริหารสูงสุดของ ซุปเปอร์ เอิร์ธ เอนเนอร์จี เองนั้น มีฐานะเป็นกรรมการสำนักงานที่ปรึกษากฎหมายมีชัยไทยแลนด์ (ซึ่งลูกเขยของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เคยนั่งเป็นกรรมการ) ด้วย จริงหรือไม่?
นอกจากนี้ ซุปเปอร์ เอิร์ธ เอนเนอร์จี ก็เป็นบริษัทลูกที่จัดตั้งและถือหุ้นโดยบริษัท ซุปเปอร์บล็อก จำกัด (มหาชน) ซึ่งนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เองก็เคยนั่งเป็นกรรมการในบริษัทดังกล่าวด้วย ใช่หรือไม่?
หาก มท.1 ยังไม่ลืมคำกล่าวปาฐกถา เปิดหลักสูตรท้องถิ่น สุจริต โปร่งใส ณ สถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานีเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ความตอนหนึ่งว่า “... รัฐบาลชุดนี้อาจจะไม่เก่ง แต่ยืนยันว่าไม่โกง...” ก็ต้องไม่ทำให้ประชาชนคนไทยเคลือบแคลงสงสัยนับเนื่องมาตั้งแต่เรือเหาะ-เรือเหี่ยว ไม้ล้างป่าช้า กระทิงแดงเช่าป่า จนมาถึงขุมทรัพย์แสนล้านโรงไฟฟ้าขยะ