xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เบื้องลึก “ดีลป่ากระทิงแดง” สะดุด “ความย่ามใจ” ของ “ระดับบน” จนกล้าทำ “ประชามติเก๊”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - แม้จะมีการ “ตัดจบ” แบบฉับไวไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับเรื่อง “ป่ากระทิงแดง” โดย “บริษัท เคทีดี พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด” ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัทเครื่องดื่มชื่อดังอย่าง “กระทิงแดง” ด้วยการประกาศขอยกเลิกเช่า “พื้นที่สาธารณะประโยชน์บ้านหนองแต้” ต.บ้านดง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น จำนวน 31 ไร่ 2 งาน เพื่อใช้ เป็นที่กักเก็บน้ำสำหรับโรงงานน้ำดื่มและเครื่องดื่ม

แต่ก็ใช่ว่าจะทำให้สังคมเลิกตั้งคำถามถึงที่มาที่ไปของ “ดีลกระทิงแดง” ที่ภาครัฐโดยกระทรวงมหาดไทยคิดค่าเช่าถูกแสนถูกเพียงแค่ 1,000 บาทต่อไร่ต่อปีเสียเมื่อไหร่

เพราะยังคงมี “ปริศนา” ที่ยังไม่กระจ่างแจ้งในหลายประเด็น และชวนให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกเป็นกระบุงโกย

โดยปริศนาที่น่าสนใจที่สุดก็คือ ทำไมอยู่ๆ ดีลลับที่ทำกันมาแบบเงียบๆ และถ้าจะว่าไปแล้วก็น่าจะจบลงแบบ “แฮปปี้เอนดิ้ง” ของทุกฝ่าย จึงถูกขุดออกมาจนเป็นเรื่องราวใหญ่โต และกระทบต่อภาพลักษณ์ของ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จนแทบเสียผู้เสียคนเลยทีเดียว

แน่นอน เบื้องหน้าเบื้องหลังของการเช่าที่ดินสาธารณะผืนนี้ย่อมมีที่มาที่ไป

กล่าวคือ หลังทางบริษัทฯ ตกลงปลงใจที่จะดำเนินการการก่อสร้างโรงงานเพื่อขยายอาณาจักรกระทิงแดง การแสวงหาที่ดินก็เริ่มต้นขึ้น และในที่สุดก็ประสบความสำเร็จเมื่อสามารถรวบรวมที่ดินจากชาวบ้านดง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ซึ่งว่ากันว่า คนที่ดำเนินการเป็น “นักแสดงหญิงชื่อดังในอดีต” ชื่อย่อ “อ.” จากนั้นกระบวนการต่างๆ ก็ดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย พร้อมๆ กับการเสนอขอเช่าพื้นที่ป่าดังกล่าวที่ทำควบคู่กันไปตั้งแต่แรก

และว่ากันว่า งานนี้มีคำสั่งจาก “บน” ลง “ล่าง” ให้อำนวยความสะดวก ส่วนจะ “บนแค่ไหน” ไม่ทราบได้ กระทั่งในที่สุดเรื่องถูกส่งผ่านไปตามลำดับชั้นไปตามขั้นตอนก่อนที่จะย้อนกลับมาอีกครั้ง ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจอะไร เพราะทางจังหวัดขอนแก่นเองก็ยินดีอ้าขานรับเป็นทุนเดิมอยู่แล้วตามแผนพัฒนาจังหวัดขอนแก่น (2557-2560) ซึ่งมีเป้าหมายที่จะผลักดันให้ขอนแก่นเป็นมหานครแห่งอาเซียน

ที่น่าสนใจก็คือ ถ้าหากย้อนกลับไปค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับลงทุนของกลุ่มกระทิงแดงในขอนแก่นก็จะพบว่า มีข่าวในเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2555-2556 โดยระบุชัดเจนว่า ตระกูลอยู่วิทยาของกลุ่มกระทิงแดง ได้ซื้อที่ดินใกล้กับเขื่อนอุบลรัตน์เพื่อตั้งโรงงานเป็นฐานผลิตสินค้าส่ง ออกไปยังภูมิภาคอาเซียน

ส่วนการขอใช้ที่ดินสาธารณะหรือป่าชุมชนนั้นก็ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 ก่อนที่จะประสบความสำเร็จหลัง พล.อ.อนุพงษ์เซ็นชื่ออนุมัติเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน2559

แต่แล้วอยู่ๆ วันดีคืนดีเรื่องที่เซ็นอนุมัติกันไปตั้งแต่เมื่อปี 2559 ก็ปรากฏสู่สายตาสาธารณชนว่า ดำเนินการโดยไม่ชอบ โดยนอกเหนือจากค่าช่าที่ “โคตรถูก” เกินกว่าที่ประชาชนจะยอมรับได้คือไร่ละ 1,000บาทต่อปีแล้ว ยังถูกชาวบ้านออกมาแฉเรื่อง “การทำประชาคมเก๊” อีกต่างหาก โดยในประเด็นหลังคือเรื่องการทำประชาคมเก๊นั้นถือเป็นเรื่องที่กล่าวได้ว่าสำคัญ เพราะแสดงให้เห็นว่าคนทำ “ย่ามใจ” มากถึงมากที่สุด

ดังนั้น จงอย่าแปลกใจว่า ทำไมเอกสารที่ส่งจากข้างล่างขึ้นมาข้างบนจึงไม่มี “เสียงคัดค้าน” ของชาวบ้านที่ดังขรมตามที่ “มท.1” หยิบยกมากล่าวอ้าง กับสังคม กระทั่งความแตก โดยประจักษ์พยานยืนยันชัดจนจากกรณีที่กลุ่มชาวบ้านหนองแต้ต้องพากันไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานที่ สภ.อุบลรัตน์ กรณีถูกนำชื่อไปใช้ในการทำประชาคมทั้งที่ไม่มีส่วนรู้เห็นและไม่ได้เข้าร่วมประชุมทำประชาคมด้วย แต่กลับถูกปลอมลายเซ็นชื่อในเอกสารที่ อบต.บ้านดง เสนอให้จังหวัดส่งไปยัง รมว.มหาดไทย ลงนามออนุมัติ

สมเกียรติ พาคำ หนึ่งในชาวบ้านที่ร่วมคัดค้านมาตลอดยืนยันว่า ไม่เคยทราบเรื่องประชาคมและอยากให้ อบต.บ้านดง หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเอาเอกสารทำประชาคมตัวจริงมากางต่อหน้า มาชี้แจงกัน รวมทั้งเอาคนที่มีชื่อในการประชาคมมาสอบถามว่าเห็นชอบและไม่คัดค้านจริงหรือไม่ เพราะชาวบ้านหลายคนมีชื่อในประชาคมทั้งๆที่ไม่เคยเข้าร่วมหรือเซ็นชื่อใดๆสนับสนุนให้บริษัทกระทิงแดงเช่าและใช้พื้นที่

เช่นเดียวกับ พิสิทธิ์ ผิวสว่าง ชาวบ้านอีกคนหนึ่งที่เปิดเผยว่า ตามเอกสารที่ได้มาพบตัวเองมีชื่ออยู่ในลำดับที่ 81 แต่เป็นชื่อเดิมคือชื่อ วิชิต ผิวสว่าง ทั้งที่เปลี่ยนชื่อมานานเกือบ 30 ปีแล้ว ถ้าทำประชาคมถูกต้อง ชื่อต้องถูกต้องตรงกันกับชื่อที่ใช้ในปัจจุบัน คือ พิสิทธิ์ ผิวสว่าง ดังนั้นเอกสารประชาคมที่ทางราชการมีอยู่จึงเป็นประชาคมปลอม

แหล่งข่าวที่รับรู้เรื่องการขอตั้งโรงงานกระทิงแดงและการขอเช่าพื้นที่ป่าสาธารณะกระซิบเบาๆ แต่หนักแน่นด้วยข้อมูลว่า เหตุที่ความแตกและเหตุที่เอกสารหลุดเป็นเพราะ “ย่ามใจเกินไป” เพราะถือว่าเป็นคำสั่งจากข้างบนลงมา ดังนั้น ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรตามมาในภายหลัง

นอกจากนี้ ถ้าตรวจสอบคำให้สัมภาษณ์ของ จ.ส.อ.อดุลศักดิ์ เล่ห์กัน นายก อบต.บ้านดง ที่ชี้แจงก็จะพบเห็นสิ่งที่ผิดปกติบางประการ เพราะแม้ นายก อบต.บ้านดงจะยืนยันหนักแน่นว่า อบต.มีหลักฐานการทำประชาคมทุกขั้นตอน และไม่มีเสียงคัดค้านจากชาวบ้าน แต่ก็ยอมรับว่า ในการทำประชาคมครั้งแรกทำที่ อบต.บ้านดง มีชาวบ้าน 15 หมู่บ้านมาร่วม ส่วนครั้งที่สองทางจังหวัดส่งเรื่องกลับมาทำใหม่เจาะจงเอาเฉพาะบ้านหนองแต้ หมู่ 5 และหมู่ 6 ซึ่งเป็นหมู่บ้าน ที่อยู่ใกล้พื้นที่ป่าดังกล่าว

ตรงนี้ แสดงให้เห็นชัดว่า มีการขีดวงเพื่อให้การทำประชาคมง่ายขึ้น

ส่วนถามว่า มีการทำประชาคมจริงหรือไม่ ก็ตอบได้แต่เพียงว่า จนป่านนี้นอกจากหน่วยงานราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว ก็ไม่เห็นว่าจะมีชาวบ้านคนไหนออกมายืนยันข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ต่อสายตาของสาธารณชนเลยแม้แต่น้อย

นี่ไม่นับรวมถึงเรื่องที่ชาวบ้านได้ออกมาระบุว่า บริษัทฯ มีการปิด “เส้นทางสาธารณะ” เพื่อใช้เป็นเส้นทางส่วนตัว ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้มีการร้องเรียนมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
กล่าวคือในช่วงปลายปี 2558 ชาวบ้านได้ทราบข่าวว่า ทางบริษัทกระทิงแดงขอเช่าพื้นที่สาธารณะเพื่อใช้เป็นพื้นที่โรงงาน และจะมีการปิดเส้นทางสาธารณะบางส่วนซึ่งจะเริ่มก่อสร้างโรงงานในปี พ.ศ. 2559 ชาวบ้านได้ร้องไปยังสำนักงานที่ดินจังหวัดขอนแก่น เพื่อให้ตรวจสอบ แต่เรื่องก็เงียบหายไป และปรากฏเป็นข่าวอีกครั้งคือมีการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ดังกล่าวกันไปเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ ชาวบ้านได้ทำหนังสือคัดค้านการดำเนินการ และการปิดเส้นทางเดิมผ่านนายอำเภออุบลรัตน์ พร้อมระบุว่า เส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางดั้งเดิมที่ชาวบ้านใช้สัญจรเพื่อทำไร่นา ทำการเกษตรหาเลี้ยงชีพเป็นประจำ ที่ผ่านมานั้นทางบริษัทฯ ดังกล่าวได้กว้านซื้อที่ดินในพื้นที่ใกล้เคียงในลักษณะปิดล้อมพื้นที่ป่าโคกห้วยเม็ก และเป็นการปิดล้อมพื้นที่ทำการเกษตรของเกษตรกรบางราย เพื่อประสงค์จะเช่าพื้นที่ป่าห้วยเม็กประกอบกิจการ และเชื่อมต่อระบบท่อบำบัดน้ำเสีย

ชาวบ้านจึงได้ยื่นหนังสือคัดค้าน แต่ไม่ปรากฏว่ามีการแก้ไขปัญหา และยังพบว่าแผนผังสร้างโรงงานรุกล้ำเข้ามายังพื้นที่ที่สาธารณะ รวมทั้งยังมีการแผ้วถางปรับพื้นที่ป่าบางส่วน โดยสภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านดงได้เสนอแนะต่อผู้นำท้องที่ ผู้บริหาร อปท. ด้วยวาจาหลายครั้งแต่ยังไม่มีแนวทางแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม

ดังนั้น แม้รองผู้ว่าฯ ขอนแก่นยืนยันว่า “จะมีการตั้งคณะกรรมการจากส่วนกลางขึ้นมาตรวจสอบว่าจะผิดหรือไม่ผิด อย่างไร อะไรที่ไม่เป็นไปตามกระบวนการหรือไม่เป็นไปตามระเบียบกฎหมาย” แต่จนกระทั่งถึงวันที่ 21 กันยายนก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ทั้งสิ้น

มีเพียงคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.อนุพงษ์ที่รายงานความคืบหน้าแต่เพียงว่า “ในเรื่องการทำประชาคม ได้ให้ฝ่ายปกครองสอบสวนข้อเท็จจริงที่มีประชาชนมาร้องเรียนแล้ว ถ้ามีการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ และทำให้การพิจารณาไม่เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ ก็จะตั้งกรรมการดำเนินการทางวินัยและอาญา โดยต้องดูว่าคณะกรรมการระดับอำเภอทำมาอย่างไร ทำไมถึงไม่มีเรื่องการคัดค้านของประชาชน ถ้าอธิบายไม่ได้ก็ต้องถามต่อว่าทำไมถึงส่งเรื่องมาที่จังหวัด และคณะกรรมการระดับจังหวัดรู้หรือไม่ ถ้าไม่รู้ก็ต้องย้อนกลับไปถามว่า ทำไมอำเภอไม่บอกมา แต่ถ้าจังหวัดรู้ก็ต้องถามว่าทำไมถึงส่งเรื่องมาให้ ส่วนการตรวจสอบการใช้ทางสาธารณะนั้น ถ้ามีการรุกล้ำก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย โดยให้นายอำเภอไปแจ้งความดำเนินคดี”

ส่วนเรื่องการตรวจสอบการรุกล้ำพื้นที่สาธารณะก็ได้รับทราบจาก นายประทีป กีรติเรขา อธิบดีกรมที่ดิน ซึ่งเป็นหนึ่งคนลงนามอนุญาตให้เช่าป่าเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองปลัด มท.ว่า การตรวจสอบจะเริ่มในวันที่ 3 ต.ค. เพราะต้องแจ้งชาวบ้านบริเวณข้างเคียงให้ทราบก่อน

ด้วยเหตุดังกล่าว สังคมจึงจำต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ไม่เช่นนั้นเรื่องก็อาจจะเงียบหายไปเหมือนเช่นหลายๆ เรื่องที่ผ่านมา


กำลังโหลดความคิดเห็น