xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เมื่อ “พาที สารสิน” จากไป “TG” ยอมควักกระเป๋า “เพิ่มทุน” จับตาอำนาจใหม่ “จุฬางกูร” ใน “นกแอร์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สถานการณ์ของ “นกแอร์” ที่เข้าขั้นตรีทูตมาต่อเนื่อง ทำท่าว่าจะ “เงยหัวพ้นรันเวย์” ได้แล้ว หลังจาก “พาที สารสิน” จะตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง “ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ)” ไปเมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา เมื่อ “บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน)” ตัดสินใจล้วงกระเป๋าควักเงินราว 380 ล้านบาทเข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนของ “บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด(มหาชน)” ในการประชุมบอร์ดเมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา เพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้น 21.57% เอาไว้

ดังนั้น คงไม่เกินเลยไปนักที่จะสรุปว่า ปัญหาใหญ่ที่มีผลต่อการตัดสินใจควักเงินเพิ่มทุนของการบินไทยอยู่ที่ตัวนายพาทีเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ ความลังเลในการเข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนในนกแอร์ของการบินไทยดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง โดยในการเปิดให้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนระหว่างวันที่ 16-22 พ.ค.60 ที่ผ่านมา การบินไทยตัดสินใจไม่ใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนในสายการบินนกแอร์ที่ได้รับสิทธิ์ในสัดส่วน 1 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ที่ราคาหุ้นละ 2.40 บาทมาแล้ว

ในครั้งนั้น สมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการบริษัทการบินไทย จำกัด(มหาชน) พูดชัดๆ ตรงไปตรงมาว่า การบินไทยไม่ซื้อหุ้นเพิ่มทุนนกแอร์ เพราะไม่เห็นแนวทางการแก้ไขปัญหาได้ชัดเจน และการแก้ไขปัญหาโดยการเพิ่มทุนนั้นเป็นการแก้ไขปัญหาได้ในระยะสั้นเท่านั้น

ที่สำคัญคือ มีรายงานข่าวด้วยว่า บอร์ดการบินไทยเห็นว่า หากมีการเพิ่มทุนเพื่ออุ้มนกแอร์ต่อไปจะต้องมีการเปลี่ยนตัวกรรมการบางคน โดยเฉพาะตัวผู้บริหารคือนายพาที สารสิน ออกจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เพื่อหาผู้บริหารมืออาชีพ เข้ามาบริหารจัดการแทน ซึ่งนายพาทีไม่เคยมีท่าที ยินยอม

และผลจากการตัดสินใจในครั้งนั้นก็ได้ทำให้สัดส่วนผู้ถือหุ้นของการบินไทยในนกแอร์ที่เดิมถือครองอยู่ 39.20% ได้ลดลงมาเหลือเพียงแค่ 21.57%

ขณะที่นายทวีฉัตร จุฬางกูร และนายณัฐพล จุฬางกูร แห่ง “ซัมมิท กรุ๊ป” มีสัดส่วนหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 15.64% และ 13.29% ตามลำดับ รวมกันเท่ากับ 28.93 % กลายเป็นผุ้ถือหุ้นรายใหญ่ แทนการบินไทย

ส่วนนายพาที ซึ่งเดิมถือหุ้น 2.02% ก็ไม่ได้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนตามสิทธิ์ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นลดเหลือ 1.29%

ขณะที่ในภาพรวม นกแอร์แจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่า ขายหุ้นเพิ่มทุนได้ 510,999,882 หุ้น ได้รับเงิน 1,226.40 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องในการบริหารงาน เหลือหุ้นที่ขายไม่ออก 114 ล้านหุ้น คิดเป็นเงิน 270 ล้านบาท ที่ยังขาดอยู่จากเป้าหมายการระดมทุนในครั้งนี้

จากนั้นเรื่องก็เงียบหายไป กระทั่งนกแอร์แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์เรื่องการปลดนายพาทีพ้นจากเก้าอี้ซีอีโอเมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา และมีการแต่งตั้ง “นายปิยะ ยอดมณี” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทให้เข้ามาเป็น “ซีอีโอ” คนใหม่ พร้อมๆ กับข่าวที่ออกมาจากปากของนายพาทีเรื่องที่บอร์ดการบินไทยจะมีการพิจารณาเพิ่มทุนในนกแอร์ในวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งเสมือนเป็นการส่งสัญญาณในทางบวกกว่า การบินไทยยินดีที่จะเติมเงินก้อนใหญ่เข้ามา

“ไม่ได้เป็นการปลดแต่เป็นความสมัครใจที่ตนเป็นคนเสนอให้บอร์ดรับทราบว่าขอเปลี่ยนแปลงและมั่นใจว่า จะเป็นการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาตนดำรงตำแหน่งมากกว่า 14 ปี ทางฝ่ายบริหารจึงเห็นสมควรที่อยากให้ตนไปดูในเรื่องของภาพรวมของบริษัท ขณะเดียวกันนายปิยะ มีความสามารถและเชี่ยวชาญในเรื่องของการบริหารจัดการ การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มั่นใจว่าจะนำพาให้สายการบินนกแอร์มีการดำเนินงานไปในทิศทางที่ดีขึ้นแน่นอน”นายพาทีอธิบาย

การลาออกจากตำแหน่งซีอีโอของนายพาทีถือเป็นเรื่องที่ไม่ได้เหนือจากความคาดหมายเท่าใดนัก เพราะในช่วงที่มีปัญหาทั้งเรื่องสายการบินดีเลย์จนผู้โดยสารตกค้างเป็นจำนวนมาก ปัญหานักบินลาออก ได้เกิดแรงกดดันให้นายพาทีพ้นจากเก้าอี้ตัวนี้มาอย่างต่อเนื่อง เพราะถูกมองว่า บริหารงานผิดพลาดและทำให้เกิดปัญหารุนแรงกับทางบริษัท

อย่างไรก็ดี ก่อนที่การกระชุมบอร์ดการบินไทยจะเริ่มขึ้น นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) ก็ออกมาให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เตือนบริษัทการบินไทย แล้วว่าจะต้องมีผู้รับผิดชอบ หากการบินไทยได้เข้าไปเพิ่มทุนให้แก่นกแอร์ จำกัด (มหาชน) แต่ฐานะการเงินของนกแอร์ก็ยังคงย่ำแย่ ทำให้มีการตีความกันว่า การบินไทยจะไม่ควักเงินอุ้มนกแอร์ ไม่เช่นนั้น คงไม่พูดทำนองนี้ เพราะในความเป็นจริง ต้องบอกว่า หนังสือเตือนจาก สตง.ที่นายสมชัยอ้างถึงไม่ใช่เรื่องใหม่ หากแต่มีมาตั้งแต่ครั้งการเพิ่มทุนครั้งที่แล้ว

แต่ในที่สุดก็ไม่มีอะไรในกอไผ่
นางอุษณีย์ แสงสิงแก้ว รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยรายละเอียดของการตัดสินใจซื้อหุ้นเพิ่มทุนตามสิทธิที่ได้รับการจัดสรรในวงเงินประมาณ 380 ล้านบาทว่า เนื่องจากแผนฟื้นฟูและแนวทางการบริหารจัดการสายการบินนกแอร์มีความชัดเจน คือ ตามแผนระยะ 5 ปี สายการบินนกแอร์จะสามารถทำกำไรได้ในปี 2560

ทั้งนี้ หลังการเพิ่มทุนการบินไทยและกลุ่มจุฬางกูร จะเข้าไปช่วยบริหารงานในนกแอร์ใกล้ชิดขึ้น โดยได้ตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษ เข้ามาช่วยบริหาร ซึ่งจะมีตัวแทนจากการบินไทย เข้ามาดูเรื่องการใช้ทรัพยากรร่วมกัน โดยกลุ่มจุฬางกูรจะส่งผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินเข้ามาช่วยบริหารด้านการเงิน โดยจะมีการประชุมนัดแรก วันที่ 27 ก.ย.นี้

ด้านนายปิยะ ยอดมณี ซีอีโอคนใหม่ กล่าวว่า การเพิ่มทุนในครั้งนี้ คาดว่าจะระดมทุนได้ 1,700 ล้านบาท โดยจะนำไปใช้ในการดำเนินงานเพื่อรองรับการขยายฝูงบินขยายเส้นทางไปประเทศจีน มีการเพิ่มฝูงบินที่สามารถบินไกลได้มากขึ้น ซึ่งการเพิ่มทุนครั้งนี้จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับความสามารถในการดำเนินงาน

โดย บริษัทจะปรับการใช้เครื่องบินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยจะทำการบินไปจีนในช่วงกลางคืน ขณะเดียวกันก็จะปลดเครื่องบินเก่าที่จะหยุดสัญญาเช่าให้เร็วขึ้นก่อนกำหนด นอกจากนี้ จะเพิ่มการยอดขายสินค้าหรืออาหารเครื่องดื่มบนเครื่องบินให้มากขึ้นเพื่อเพิ่ม Yield ให้ดีขึ้น เพราะคาดว่าจะทำให้ผลประกอบการดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยปัจจุบันอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ย (Cabin Factor) อยู่ที่ประมาณ กว่า 80%

โดยหลังจากนี้ บริษัทจะมีการปรับโครงสร้างการทำงาน กำลังคน จัดทัพกันใหม่ เพื่อให้การทำงานมีความคล่องตัวรวดเร็ว เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพิ่มเพิ่มอัตราหมุนเวียนการใช้เครื่องบินให้สูงขึ้น และเพิ่มเส้นทางบิน ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้นกแอร์สามารถแข่งขันได้ดี ซึ่งในวันที่ 30 ก.ย.นี้จะเปิดเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำ จากสนามบินอู่ตะเภา ไปยัง 5 เมืองรองของจีน ได้แก่ หลินยี,นานชาง,ไหโข่ว,ฉางชา,อินชวน ซึ่งจะทำให้นกแอร์มีเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำ ที่ให้บริการจาก สนามบินอู่ตะเภา,ดอนเมือง,ภูเก็ต รวมกันประมาณ 40 เที่ยวบินต่อสัปดาห์

“นกแอร์จะเดินหน้าดำเนินการตามแผนฟื้นฟูของบริษัทที่ได้วางไว้ โดยจะมีการปรับเพิ่มเที่ยวบินเส้นทางต่างประเทศมากขึ้น รวมถึงการขยายเส้นทางบินประจำไปประเทศจีน นอกจากนั้น จะมีการปลดเครื่องบินเก่า และรับเครื่องบินใหม่เข้ามาตามแผน เพื่อให้การใช้เครื่องบินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเราได้รับส่งมอบเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 ลำใหม่ล่าสุด (HS-DBZ) ซึ่งจะบินมาถึงสนามบินดอนเมืองในคืนนี้ (20 ก.ย.) รวมทั้งจะมีการปรับปรุงและพัฒนารูปแบบธุรกิจบางส่วนให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อตอบสนองพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้โดยสารในปัจจุบัน”

สำหรับการจัดการฝูงบินนกแอร์นั้น มีแผนปลดระวางเครื่องบิน 7 ลำ เป็น เครื่องบินโบอิ้ง 737จำนวน 5 ลำ และ ATR จำนวน 2 ลำ โดยมีแผนจัดหาเพิ่มอีก 6 ลำ ภายในปี 2564 โดยจะการเช่า 2 ลำ และซื้อ 6 ลำ

...ก็เป็นอันว่า หลัง “พาที สารสิน” พ้นจาก CEO สถานการณ์ของนกแอร์ก็ดีขึ้นทันตาเห็นในฉับพลัน ส่วนจะยืนระยะได้ยาวนานแค่ไหนก็คงต้องพิสูจน์จากฝีมือของซีอีโอคนใหม่อย่าง “ปิยะ ยอดมณี” ว่าจะพลิกสถานการณ์จากการขาดทุนติดต่อกัน 3 ปีเต็มให้มีกำไรได้อย่างไร รวมทั้งตัวนายพาทีเองที่แม้จะพ้นจากตำแหน่ง แต่ก็ยังคงได้ชื่อว่า “เป็นผู้มากบารมี” ในนกแอร์โดยไม่เสื่อมคลาย


กำลังโหลดความคิดเห็น