xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เปิดชีวิตต้องสู้ “สราวุธ เบญจกุล” จากเด็กบ้านนอกยากจน สู่เก้าอี้เลขาฯ ศาลยุติธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การเข้ามารับตำแหน่ง “เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมคนใหม่” ของ “สราวุธ เบญจกุล” น่าจับตาไม่แพ้ความระส่ำในแวดวงตุลาการที่กลุ่มผู้พิพากษาออกมาเคลื่อนไหวชงโมเดลใหม่ ก.ต. 4-4-4 เพราะสามารถกล่าวได้ว่า เป็นการผงาดสู่ตำแหน่งใหม่อย่างไม่พลิกโผ

ทั้งนี้ สำหรับ “สราวุธ เบญจกุล” นั้น กล่าวได้ว่า เขาผ่านการเคี่ยวกร่ำในสายงานยุติธรรมมาอย่างยาวนาน สวมหัวโขนด้านตุลาการศาลมาหลายรัฐบาล ล่าสุด เป็นหนึ่งในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำทัพเคลื่อนกระบวนการยุติธรรม 4.0

สัมภาษณ์พิเศษฉบับนี้ ร่วมพูดคุยกับ ว่าที่เลขาฯ ศาลยุติธรรมคนใหม่ ที่จะมาเปิดเผยหลังม่านชีวิตเปิดตัวตนคนยุติธรรม พร้อมจับตาความเปลี่ยนแปลง(ในทิศทางที่ดีขึ้น)ของกระบวนการยุติธรรมไทย รวมทั้งกระบวนทัศน์ต่างๆ ในการขับเคลื่อนองค์กรกฎหมายเพื่อสังคมองค์กรนี้

ปูมหลังก่อนเข้ามารับบทบาทหน้าที่ด้านตุลาการศาล
ตั้งแต่เรียนกฎหมายเราตั้งใจจะมาประกอบอาชีพเป็นผู้พิพากษา เมื่อจบนิติศาสตร์ การเป็นผู้พิพากษาต้องไปสอบเนติบัณฑิต ตอนอายุ 20 จากนั้นไปเรียนต่อสหรัฐฯ ได้ ปริญญาโทมา 2 ใบ กฎหมายเปรียบเทียบ กับ กฎหมายระหว่างประเทศ และกลับมาจากสหรัฐฯ มาทำงานลอว์เฟิร์มระหว่างประเทศ 2 ปี ไปสอบอัยการเสร็จแล้วสอบผู้พิพากษา

จุดสำคัญที่ผมอยากมาประกอบวิชาชีพด้านกฎหมาย เพราะต้องการเห็นความเป็นธรรม ไม่ต้องการให้มีการเอาเปรียบกัน ผมคิดว่ากฎหมายสามารถทำหน้าที่เป็นประโยชน์ได้

ทราบว่าท่านเป็นคนสู้ชีวิต
ผมต้องสู้ชีวิตครับ เป็นเด็กต่างจังหวัดบ้านนอก อยู่ จ.ตรัง ม.ปลาย สอบเทียบ เรียนกฎหมายก็สมัครเรียน ม.รามฯ เรียนภาษาควบคู่ไปด้วย เพราะตั้งเป้าอยากเรียนต่อต่างประเทศ ต้องเตรียมความพร้อม พอผมจบไปแล้วก็สามารถไปเรียนต่อต่างประเทศได้ ผมต้องพยายามเรียนจบให้เร็วที่สุด เพื่อให้ประหยัดค่าใช้จ่ายพ่อแม่ ขณะเรียนก็ทำงานหาเงินไปด้วย ยากครับ ทุกอย่างมันต้องใช้ความพยายาม เพราะว่าการเป็นนักกฎหมายมันต้องอาศัยการอ่าน อ่านเยอะมาก ช่วงที่เรียนกฎหมาย เรียนนิติฯ ต้องอ่านหนังสือวันนึง 15 ชม. ต่อวันถึงจะบรรลุเป้าหมาย ทุกอย่างได้มาด้วยความยากลำบาก

ถามว่าทุกวันนี้ง่ายขึ้นไหม? ก็ง่ายขึ้นนะ แต่มันยากกันคนละแบบปัญหามันมาคนละบริบทกับเรียนหนังสือ ปัญหามันมีไว้แก้ไข ฉะนั้น เมื่อปัญหาเกิดขึ้นเราสามารถใช้ความรู้ในการแก้ปัญหาให้กับประชาชนให้กับสังคมให้กับประเทศได้ คิดว่านี่คือสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่เราได้เรียนมา

ความรับผิดชอบในตำแหน่ง เลขาฯ สำนักงานศาลยุติธรรมคนใหม่
เปิดดูกฎหมายสํานักงานศาลยุติธรรม ในมาตรา 6 กำหนดไว้ว่า มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการของศาลยุติธรรม และส่งเสริมงานตุลาการ และงานวิชาการ หน้าที่ของสำนักงานศาลฯ มีหน้าที่สนับสนุนงานยุติธรรม และอำนวยความยุติธรรมอำนวยความสะดวกให้แก่ศาลยุติธรรม สนับสนุนและอำนวยความสะดวกแก่ศาลยุติธรรม และเสริมสร้างการพิจารณาพิพากษาคดีเป็นไปอย่างรวดเร็ว สะดวกรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ นั่นคืองานหลักของสำนักงานศาลยุติธรรม เป็นเหมือนแม่บ้านรับผิดชอบงาน

เลขาฯ สํานักงานศาลยุติธรรม ขึ้นตรงรายงานผู้บังคับบัญชาขึ้นตรงคือท่านประธานศาลฎีกา มีหน้าที่ควบคุมโดยทั่วไปเพื่อให้สำนักงานศาลฯ เป็นไปตามกฎหมายระเบียบประกาศต่างๆ และเป็นผู้บังคับบัญชาของสำนักงานศาลทั่วประเทศ ภารกิจหลักเลขาฯ ส่งเสริมงานตุลาการ ทำอย่างไรจะทำให้ระบบของศาลมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในศาล ทำให้ปริมาณเสร็จอย่างรวดเร็ว หรือว่าทำให้ศาลมีเทคโนโลยีใหม่ๆ จากต่างประเทศได้หรือไม่ เราจะส่งเสริมอย่างไรบ้าง ระบบอนุญาโตตุลาการ การใช้ดิจิตัลในระบบตุลาการก็เป็นเรื่องสำคัญ งานด้านกฎหมายก็ต้องมีงานวิชาการไปสนับสนุนด้วย ซึ่งเรามีสถาบันวิจัยและพัฒนารพีพัฒนศักดิ์ ในด้านกฎหมายพิจารณากฎหมายว่ามีข้อบกพร่องตรงไหน เหมือนผู้พิพากษาทำหน้าที่ตัดสินคดี

แล้วเรามีสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการที่ต้องพิจารณา คือผู้พิพากษาต้องเรียนรู้ด้วย เข้ามาอบรม 1 ปีเป็นผู้พิพากษา สถาบันพัฒนาข้าราชการตุลาการ เพื่อให้ผู้พิพากษาได้รับการพัฒนาได้รับข้อมูลทางวิชาการมีการฝึกอบรมให้ความรู้ทางกฎหมายที่มันเปลี่ยนแปลงเสมอ ฉะนั้น เวลาเปลี่ยนแปลงตำแหน่งทุกครั้ง จากผู้ช่วยผู้พิพากษาเป็นผู้พิพากษาประจำศาล เป็นผู้พิพากษาศาลชั้นต้น เป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ หัวหน้าคณะศาลฎีกา จนกระทั่งเป็นผู้พิพากษาอาวุโส จะมีการจัดฝึกอบรม แม้กระทั่งมีกฎหมายใหม่เข้ามาก็มีการจัดฝึกอบรม เหล่านี้เป็นหัวใจเลยนะครับเพราะคนที่ตัดสินคดีต้องเป็นคนที่มีความรู้ เพราะฉะนั้นส่วนนี้เป็นหน้าที่ของสำนักงานศาลฯ ในการจัดฝึกอบรม ความรู้ด้านวิชาการให้ผู้พิพากษา และทำอย่างให้ผู้พิพากษา มีความสะดวกรวดเร็วในการพิจารณา มีการพิจารณาที่มีประสิทธิภาพด้วย เราก็ต้องจัดคนให้เพียงพอ สำนักงานศาลฯ มีหน้าที่จัดข้าราชการศาล ผู้พิพากษาจะพิจารณาไม่ได้เลย นั่งหน้าบัลลังก์ถ้าไม่มีคนพิมพ์คำเปิดความพิมพ์คำพิพากษาให้ สำนักงานศาลฯ เป็นเสมือนงานแม่บ้านดูแลทุกอย่าง

วิสัยทัศน์ของท่านต่อการพัฒนาระบบงานยุติธรรมไทย
ความร่วมมือด้านต่างประเทศเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าวันนี้โลกมันไร้พรมแดนแล้ว การสื่อสารไปได้รวดเร็ว กระบวนการต่างๆ แลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นเรื่องจำเป็น และความร่วมมือด้วย การร่วมมือทางการศาลระหว่างประเทศเป็นเรื่องจำเป็น ณ วันนี้เรามีความร่วมมือกับหลายประเทศ ซึ่งทำให้กระบวนการในการส่งหมาย คำฟ้อง คำให้การณ์ต่างๆ มีประสิทธิภาพรวดเร็วมากขึ้น และเรื่องการฝึกอบรม ต้องให้ผู้พิพากษาได้ไปเห็นในต่างประเทศการฝึกอบรม การบังคับใช้กฎหมายในต่างประเทศเขาทำอย่างไรกันบ้างเพื่อให้โลกทัศน์กว้างขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทราบมาว่าท่านถูกโจมตีประเด็นเคยเป็นหน้าห้อง คุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ สมัยเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม
ผมเนี่ยอยู่มาหลายรัฐบาลครับ รัฐบาลประชาธิปัตย์ผมก็อยู่ และผมไม่เคยอยู่หน้าห้องท่านสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ตอนที่ท่านมาเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม ผมอยู่หน้าห้องรัฐมนตรี ผมเป็นเลขาธิการส่งเสริมงานตุลาการ ผมไม่เคยเป็นหน้าห้องท่านสมชาย แต่ผมรู้จักท่านดีในฐานะทำงานร่วมกับท่านช่วงที่ท่านเป็นปลัดกระทรวง

ผมเป็นข้าราชการอาชีพครับ ผมไม่สามารถไปเลือกได้ว่าเราจะทำงานกับใคร ไม่ทำงานกับใคร สิ่งที่ผมเลือกได้คือทำให้กับประชาชนให้กับส่วนร่วม เพราะว่าผมได้เงินเดือนจากภาษีประชาชน เพราะฉะนั้นไม่ว่าใครจะมาพรรคไหนมาจะชอบไม่ชอบผมก็ต้องทำงาน แต่ว่าการทำงานของผมต้องมีจุดยืน ถ้าเขาสั่งให้ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เราก็ไม่ทำอยู่แล้วครับ

ขออนุญาตถามถึงในอีกหนึ่งบทบาทที่ได้รับการคัดเลือกจาก คสช. คือคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม การปฏิรูปมีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง
ขณะนี้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม เพิ่งเริ่มประชุมซึ่งกรอบในการทำงานก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญครับ ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดในมาตร 65 เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ เป็นกรอบในการพิจารณาของคณะกรรมการฯ เป้าหมายมีอะไรบ้าง ทำอย่างไรให้ประเทศมีความยั่งยืน มีธรรมาภิบาล เรามีการทำแผนบูรณาการผลักดันให้เกิดเป้าหมาย มีรัฐธรรมนูญและยุทธศาสตร์ชาติประกอบ ในมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ กำหนดรัฐต้องทำกระบวนการยุติธรรมให้มีการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ ให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยง่าย สะดวก รวดเร็ว และไม่เสียค่าใช้จ่ายที่สูงเกินสมควร

เมื่อมีเป้าหมายชัดเจนตามมาตรา 68 แล้ว สิ่งที่คณะกรรมการปฏิรูปต้องไปดูนั่นคือเราจะทำให้บรรลุเป้าหมายตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ได้หรือไม่ นอกจากนี้ มาตรา 68 ยังพูดถึงการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐ สามารถปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากการแทรกแซงหรือครอบงำใดๆ เหมือนศาลมีอิสระในการพิจารณาคดี ถ้าใครมาแทรกแซงก็จะกระทบความยุติธรรม ประการสุดท้าย มาตรา 68 รัฐพึงจะต้องช่วยเหลือความจำเป็นทางกฎหมายที่เหมาะสม ผู้ยากไร้และผู้ด้อยโอกาสในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งรวมถึงการจัดหาทนายความให้ด้วย

กรอบเบื้องต้น 4 เดือนที่กำหนดไว้ ร่างแรกการดำเนินการต้องมีการประชุมร่วมกัน ช่วงนี้ประชุมทุกสัปดาห์นำข้อมูลมารวมกัน สิ่งที่คณะกรรมการฯ กำลังพิจารณาอยู่ศึกษาสิ่งที่ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เคยดำเนินการศึกษาไว้แล้วมาต่อยอดเพื่อจะได้ไม่เสียเวลา

ปัญหาของกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยคืออะไร
ปัญหากระบวนการยุติธรรมอย่างที่ทุกคนมองเห็นอยู่ เรื่องการเข้าถึงกฎหมาย ประชาชนในประเทศ 60 กว่าล้านคน ทำอย่างไรให้เขามีโอกาสเข้าถึงความยุติธรรมได้โดยสะดวกรวดเร็วและเสียค่าใช้จ่ายไม่สูง และประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมบางเรื่อง ที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องการสอบสวน เช่น เรื่องคดีแพะ ฯลฯ

หรืออย่างเรื่องความล่าช้าซึ่งดีขึ้นนะ อย่างกระบวนการของศาลเอง คดีในปีที่ผ่านมา 2559 มีคดีเข้าสู่ศาลยุติธรรม 1.7 ล้านคดี กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ เสร็จภายใน 1 ปี ฉะนั้น ปัญหาคดีที่ล่าช้าทางศาลเองพยายามปรับกระบวนการให้เร็วมากขึ้น แต่ขณะนี้ไม่ใช่เราพึงพอใจที่จะอยู่อย่างเดิมยังคงพัฒนาต่อไป ที่สำคัญนอกจากกำหนดแต่ละด้านของการปฏิรูปประเทศ มาตรา 258 กำหนดการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ประเด็นนี้สัมพันธ์กับที่ผมกล่าวเมื่อสักครู่ว่ารัฐธรรมนูญกำหนดไว้เองว่าต้องกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการขั้นตอนกระบวนยุติธรรมที่ชัดเจน เพื่อจะให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า เพราะว่าหลักการที่สำคัญปรัชญาบอกว่า ความล่าช้าก็คือการปฏิเสธความยุติธรรม

ฉะนั้น กำหนดระยะเวลาที่สามารถทำได้ก็ทำให้ประชาชนทราบว่าขั้นตอนนี้จะเสร็จเมื่อไหร่เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งขณะนี้เวลาไปติดต่อหน่วยราชการเห็นชัดเจนนะครับว่า เขากำหนดเวลา ไปถ่ายบัตรปราชาชน ทำใบขับขี่ หนังสือเดินทาง มีกำหนดเวลาเสร็จเมื่อไหร่ ฉะนั้น ในส่วนกระบวนการยุติธรรมประชาชนย่อมคาดหวังและผมคิดว่าต้องทำลักษณะทำนองเดียว เราก็ดูอยู่ว่าอะไรที่สามารถปรับปรุงแก้ไขได้

การเข้าถึงบวนการยุติธรรมของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มขาดทุนทรัพย์เป็นอย่างไร
เข้าถึงมากขึ้น ปัจจุบันมีหลายหน่วยให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นสภาทนายความ เนติบัณฑิตยสภา สำนักอัยการสูงสุด แม้กระทั่งศาลเองก็มีหน่วยช่วยเหลือ ไม่มีเงินสามารถจ้างทนายได้ คดีในศาลแรงงานไปพบนิติกรก็สามารถเขียนคำฟ้องได้ ไม่ต้องจ้างทนาย หรือแม้คดีเพื่อผู้บริโภคเรามีทนายเพื่อช่วยเหลือประชาชน เพียงมีหลักฐานมาเล่าให้เจ้าพนักงานฟังว่าต้องการที่ดำเนินคดีอย่างไร นั่นคือส่วนที่รัฐจัดหาให้ทำกระบวนการให้รวดเร็ว เพราะหากประชาชนต้องหาทรัพย์ต้องไปจ้างทนาย การดำเนินการจะใช้เวลายุ่งยากประชาชนจะไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ ประเด็นสำคัญการลดคดีเข้าสู่ศาล เราจะบอกว่าอย่าฟ้องดีกว่าไม่ต้องดำเนินคดีดีกว่า อย่างเช่นคดีผู้บริโภค เราก็มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เพื่อให้เกิดความพึงพอใจทั้งสองฝ่ายให้กระบวนการจบเร็วขึ้น ซึ่งการไกล่เกลี่ยประนีประนอมทำให้กระบวนการจบเร็วขึ้น คดีแพ่งหรือคดีบางเรื่องที่ยอมความได้ เรื่องหมิ่นประมาท คดีจบที่การเจรจาก็เกิดความพึงพอใจทั้งสองฝ่าย ขณะเดียวกันสามารถอยู่ร่วมในสังคมอย่างมีความสุข สิ่งเหล่านี้เป็นนโยบายหนึ่งที่สำคัญที่จะลดคดีเข้าสู่ศาล หรือจะทำให้คดีที่อยู่ในศาลจบไปโดยเร็ว เป็นส่วนสำคัญของการทำหน้าที่ของศาล

เรื่องคดีแพะที่ท่านยกตัวอย่างข้างต้น รวมทั้งคดีอื่นๆ ล้วนสั่นคลอนกระบวนการยุติธรรมกระทบความเชื่อมั่นของประชาชน
ดูภาพรวมทั้งโลกไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย ทุกประเทศมีเช่นเดียวกัน กระบวนการรื้อฟื้นคดี บางกรณีศาลตัดสินลงโทษที่ไม่ได้กระทำผิด ถ้ามีพยานหลักฐานภายหลักก็มารื้อฟื้นคดีก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา ซึ่งเป็นปัญหาหนึ่งในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ต้องปรับปรุงการทำงานของกระบวนการยุติธรรมให้มีความรอบคอบรัดกุม ต้องมาดูว่าจะทำอย่างไร

ผมว่าส่วนหนึ่งที่สำคัญที่เขียนรัฐธรรมนูญเลยคือเรื่องนิติวิทยาศาสตร์ ณ วันนี้เวลาพิสูจน์กันในศาล ถ้าเอาพยานบุคลมาสืบ ก็กลับไปกลับมาพูดจริงบ้างเท็จบ้าง เพราะฉะนั้นศาลก็ต้องมาชั่งน้ำหนักว่าจะเชื่อไม่เชื่ออย่างไร แต่สิ่งหนึ่งทุกวันนี้อย่างกล้องวงจรปิดถ่ายและเห็นชัดเจน จะเห็นได้ว่าตรงนี้ลดการจับผิดคน หรือว่าการลงโทษคนที่ไม่ได้กระทำความผิด หรืออย่างการตรวจดีเอ็นเอ การพิสูจน์ต่างๆ ในทางวิทยาศาสตร์ พิสูจน์เลือดต่างๆ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญทำให้กระบวนการสอบสวนกระบวนการยุติธรรมมีประสิทธิภาพมากขึ้น
 
และที่สำคัญเจ้าหน้าที่ของรัฐในกระบวนการยุติธรรมต้องมีความเป็นอิสระไม่ถูกแทรกแซงไม่ถูกสั่งการ การถูกแทรกแซงและสั่งการจะทำให้ขาดความยุติธรรม ผลจะเปลี่ยนแปลงทันทีถ้ามีคนสามารถสั่งเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมได้ ประเด็นวัฒนธรรมความเป็นอิสระในกระบวนการทำงาน 1 คน 1 เสียง ไม่มีใครสามารถสั่งได้ บางคดีสำคัญๆ องค์คณะบอกผิดยกฟ้อง อธิบดีบอกว่าลงโทษ ท้ายที่สุดอธิบดีฝ่ายเสียงข้างน้อยต้องทำความเห็นแย้ง ถ้าเป็นระบบราชการอื่นมันคงไม่เป็นอย่างนี้ได้เลย เพราะว่าอธิบดีมีอำนาจกว่า แต่ระบบศาลนั้นไม่ใช่ ระบบองค์คณะวันแมนวันโหวตและก็สามารถมีความเห็นอิสระและไม่ถูกครอบงำโดยคนที่มีตำแหน่งสูงกว่า วัฒนธรรมอย่างนี้จำเป็นต้องสร้างในกระบวนการสืบสวนทั้งหมดให้พนักงานสืบสวนมีความอิสระในการทำหน้าที่ ไม่แทรกแซงโดยคนที่มีตำแหน่งสูงกว่า มีอำนาจมากแทรกแทรง เพราะฉะนั้นวัฒนธรรมองค์กรต้องสร้างให้สภาพแวดล้อมในการทำงาน เกิดการทำงานหรือการให้ความเป็นธรรมที่มีประสิทธิภาพ

กรณีความเห็นต่างผู้พิพากษาศาลชั้นต้นรวมตัวเสนอ “โมเดลใหม่ ก.ต. 4-4-4” ได้ข้อยุติหรือยัง
ยังไม่ได้ข้อยุติครับ เรื่องคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) มีการแก้ไขเพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เปลี่ยนแปลงวิธีการที่มาของ ก.ต. เดิม ก.ต. มี 15 คน 2 คน มาจากการเลือกโดยวุฒิสภา แต่ต่อมารัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดให้การเลือก ก.ต. โดยวุฒิสภาเปลี่ยนเป็นแบบการเลือกโดยผู้พิพากษาทั่วประเทศ ฉะนั้น เราต้องแก้กฎหมายตรงนี้ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ก็เลยมีประเด็นตามมาว่า แล้วองค์ประกอบอื่นต้องเปลี่ยนไหม โดยเฉพาะสัดส่วน ณ ตอนนี้ สัดส่วน ก.ต. 6-4-2 ประกอบด้วยศาลฎีกา 6 คน ศาลอุทธรณ์ 4 คน ศาลชั้นต้น 2 คน ฉะนั้น ตรงนี้ก็เป็นประเด็นการเสนอกฎหมายต้องผ่านความเห็นชอบ คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) ต้องพิจารณาประชุมร่วมกับ ก.ต. ซึ่งเป็นองค์กรรวมเรื่องให้คุณให้โทษผู้พิพากษาเป็นองค์กรสูงสุดเป็นหลักประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษา ต้องหารือประชุมร่วมกันว่าควรแก้ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะประเด็นเรื่อง ก.ต. บุคคลภายนอกที่ไม่ใช่ผู้พิพากษามาเลือกทำอย่างไร

สัดส่วน 6-4-2 มีความเหมาะสมอย่างไร เหตุใดคณะผู้พิพากษาฯ จึงออกมาเคลื่อนไหวเสนอสัดส่วน 4-4-4
เดิมก่อนจะมาเป็น 6 - 4 - 2 ก็ใช้แบบ 4 - 4 - 4 มา ศาลฎีกา 4 คน ศาลอุทธรณ์ 4 คน ศาลชั้นต้น 4 คน มาจากการเลือกของผู้พิพากษาทั้งประเทศเคยใช้อยู่ ปี 2543 ต่อมา 18 ส.ค. 2543 เมื่อศาลแยกจากกระทรวงยุติธรรม โครงสร้าง ก.ต. ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 กฎหมายระบุ 4 - 4 - 4 ขณะนั้นมีแนวความคิดว่าแต่ละชั้นศาลควรมีเท่ากัน ต่อมารัฐธรรมนูญปี 2550 มีการแก้ไขโดยปรับโครงสร้างของ ก.ต. จาก 4-4-4 เป็น 6-4-2 โดยเห็นควรว่าผู้ใหญ่ที่อยู่ในศาลฎีกาน่าจะมีจำนวนสัดส่วนที่มากกว่า เพราะว่าเขามองว่า ก.ต. เป็นองค์กรที่มีหน้าที่ให้คุณให้โทษผู้พิพากษา ฉะนั้น ก็ควรจะเอาคนที่มีวุฒิภาวะหรือพูดง่ายๆ เป็นผู้ใหญ่ทำหน้าที่ในส่วนนี้มากกว่าก็เปลี่ยนเป็น 6 - 4 - 2 ซึ่งมี ก.ต . 2 คนจากบุคคลภายนอกที่ สนช.ซึ่งทำหน้าที่เหมือนวุฒิสภาเลือกมา

ถามว่าสัดส่วนไหนดีที่สุด? คนที่จะตอบได้ดีที่สุด คือ คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมเป็นคนรวบรวมข้อมูลทั้งหมด ซึ่งความเห็นก็แตกต่างกัน โดยเฉพาะศาลชั้นต้นเห็นควรว่าจะเป็น 4-4-4 เพราะจำนวนผู้พิพากษาชั้นต้นมีมากกว่า ศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ แต่ละฝ่ายมีเหตุผลด้วยกันทั้งนั้น แต่ขึ้นอยู่กับคนที่มีอำนาจตัดสินใจจะตัดสินใจแบบไหน ถามว่าสัดส่วน 6-4-2 มีปัญหาหรือไม่? ไม่มีปัญหา แต่นั้นคือเหตุผลของคนที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงเป็น 4-4-4 ซึ่งถ้าเราย้อนดูอดีตที่ผ่านมา วิกฤตตุลาการการปรับแก้ ก.ต. เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์นะ

การคัดเลือก ก.ต. มีปัญหาเรื่องการเมืองภายในศาลหรือไม่
ณ วันนี้กฎหมายเขียนไว้ห้ามมีการหาเสียงในการเลือกตั้ง อยู่ใน พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม 2543 แก้พร้อมรัฐธรรมนูญ 2550 ในเรื่องสัดส่วนความเห็นต่างยังไม่ยุติ เพราะขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนแสดงความคิดเห็น ผู้พิพากษาสามารถแสดงความคิดเห็นว่า เห็นด้วย หรือ ไม่เห็นด้วย และข้อเสนอแนะควรเป็นอย่างไร แล้วเมื่อประมวลความคิดเห็นแล้วก็ ท้ายที่สุด ก.บ.ศ. จะทำหน้าที่พิจารณาร่างความคิดเห็นของผู้พิพากษาทั่วประเทศว่ามีความคิดเห็นอย่างไร


กำลังโหลดความคิดเห็น