xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สื่อผิดอีก! โพลพระปกเกล้า 15 ปี ชี้คนเชื่อมั่นนายกฯ “ลุงตู่”เป็นรองคนหนีคดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติถึงกับลมออกหู หลังกลับจากการไปร่วมประชุมผู้นำกลุ่มประเทศ BRICS ที่เมืองเซี่ยเหมิน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2560

พอมาถึงทำเนียบรัฐบาลก็ถูกสื่อมวลชนถามความเห็น กรณีผลสำรวจความเชื่อมั่นต่อนายกรัฐมนตรีในรอบ 15 ปี ซึ่งปรากฏว่า นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับความเชื่อมั่นสูงสุด ขณะที่เป็นนายกฯ ในปี 2546 ที่ระดับ 92.9% ส่วน พล.อ.ประยุทธ ได้รับความเชื่อมั่นรองลงมา ที่ระดับ 87.5% ในปี 2558

คำถามที่ยิงเข้าใส่นายกรัฐมนตรี ดังแว่วๆ จับความได้ว่า ผลสำรวจของสถาบันพระปกเกล้าดังกล่าว แสดงว่าประเทศไทยยังก้าวไม่พ้นชื่อของนายทักษิณใช่หรือไม่ และก็มีเสียงตอบกลับมา ด้วยอารมณ์ฉุนเฉียว สรุปใจความได้ว่า มีแต่พวกคุณนั้นแหละที่ไม่ก้าวข้าม ถามกันอยู่ทุกวัน ตั้งคำถามที่เป็นประโยชน์บ้าง สื่อไม่เคยถามเลยว่าไปประชุม BRICS ที่ประเทศจีนมานั้นเหนื่อยหรือไม่

“สื่อไม่เคยสนใจเรื่องพวกนี้เลย สนใจแต่เรื่องการก้าวข้าม หรือไม่ก้าวข้ามอยู่นั่นแหละ พวกคุณนั้นแหละที่ไม่ก้าวข้าม ไม่ใช่ผม”

ที่มาที่ไปของเรื่องที่ทำให้นายกฯ ต้องอารมณ์เสียอีกแล้ว ก็มาจากการแถลงข่าวของสถาบันพระปกเกล้า เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2560 ที่ได้เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับความพึงพอใจต่อการให้บริการสาธารณะและการทำงานของหน่วยงานต่างๆ พ.ศ.2560 เนื่องในโอกาสครบรอบ 19 ปี สถาบันพระปกเกล้าฯ

การสำรวจครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยและพัฒนา ของสถาบันพระปกเกล้าฯ ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยวิธีการสุ่มตัวอย่างความน่าจะเป็นของประชาชนไทยทั่วประเทศ อายุ 18 ปีขึ้นไป รวม 33,420 คน เก็บข้อมูลระหว่าง 24 เมษายน 2560 - 15 พฤษภาคม 2560

ผลการสำรวจที่น่าสนใจ ประเด็นความพึงพอใจต่อนโยบายสาธารณะ พบว่า นโยบายของรัฐบาลชุดนี้ 5 อันดับแรก ที่ประชาชนมีความพึงพอใจรวมมากกว่า ร้อยละ 85 คือ การปกป้องเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ (ร้อยละ 97.2) การจัดการเรื่องเบี้ยยังชีพ (ร้อยละ 92.4) โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (ร้อยละ 92.0) แก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดิน ป่าไม้ ทะเล (ร้อยละ 89.7) การควบคุมราคาสลากกินแบ่งรัฐบาล (ร้อยละ 89.4)

นโยบายของรัฐบาล 5 อันดับแรกที่ประชาชน มีความพึงพอใจรวมน้อยกว่า ร้อยละ 70 คือ แก้ไขปัญหาสินค้าอุปโภคบริโภคราคาแพง (ร้อยละ 43.9) (เป็นนโยบายเดียวที่ ประชาชนพอใจน้อยกว่าร้อยละ 50 ) การดูแลเรื่องราคาพืชผล/ช่วยเหลือ ดูแลเกษตรกร (ร้อยละ 54 ) การสร้างสันติสุขและความปลอดภัยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ร้อยละ 62.1 ) การบริหารจัดการพลังงาน ราคาน้ำมัน แก๊ส (ร้อยละ 65.5) การปรับปรุงวิธีการจัดเก็บภาษี โครงสร้างภาษี (ร้อยละ 68.5 )

ส่วนความสามารถในการแก้ไขปัญหาด้านสังคมของรัฐบาล ประชาชนร้อยละ 59.4 ระบุว่าแก้ไขได้บ้าง ส่วนผู้ที่ระบุว่าแก้ไขได้อย่างมาก มีร้อยละ 22.4 และแก้ไขได้เพียงเล็กน้อยมีร้อยละ 16.3 อีกร้อยละ 1.9 ตอบว่าไม่สามารถแก้ไขได้เลย

ความสามารถในการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้ พบว่า ประชาชน ร้อยละ 57.6 ระบุว่าแก้ไขได้บ้าง และร้อยละ 11.5 ระบุว่าแก้ไขได้เป็นอย่างมาก ส่วนแก้ไขได้เพียงเล็กน้อย มีร้อยละ 25.9 และไม่สามารถแก้ไขได้เลย ร้อยละ 5.0

และส่วนที่กลายเป็นประเด็นบานปลาย ก็คือข้อมูลในส่วนท้าย ที่เป็นสรุปผลการสำรวจ พ.ศ. 2545 – 2560 ซึ่งถูกสื่อนำเสนอเป็นประเด็นนำของการแถลงผลสำรวจครั้งนี้ โดยในประเด็นความเชื่อมั่นต่อตัวนายกรัฐมนตรีนั้น นายกฯ ที่ได้รับความเชื่อมั่นสูงสุดในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา คือ นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับความนิยมถึง 92.9% ในปี 2546 (สำรวจระหว่างวันที่ 20 สิงหาคม-10 กันยายน พ.ศ.2546)

แต่ก็ลดลงมาเหลือ 77.2% ในปี 2549 (สำรวจระหว่างวันที่ 6-20 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2549) ก่อนจะมีการรัฐประหาร

ส่วนนายกฯ ที่ได้รับความเชื่อมั่นสูงสุดในลำดับรองมา คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ 87.5% ในปี 2558 (สำรวจระหว่างวันที่ 1- 22 เมษายน พ.ศ. 2558) ซึ่งเป็นหนึ่งปีหลังรัฐประหาร โดยความนิยมลดลงมาเล็กน้อยใน 2 ปีถัดมาที่ 84.6% (สำรวจระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม - 3 สิงหาคม 2559) และ 84.8% (สำรวจระหว่างวันที่ 24 เมษายน - 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2560)

ทั้งนี้ ตามเอกสารของสถาบันฯ ได้มีคำอธิบายว่า การสำรวจเก็บข้อมูลความเชื่อมั่นนี้ เป็นการสำรวจในแต่ละปี ตามช่วงเวลาต่าง ๆ ระหว่างปี พ.ศ.2545 – 2560 เพื่อสะท้อนความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อ บุคคล องค์กรหรือหน่วยงาน ในปีนั้น ๆ แตกต่างกันออกไปในแต่ละปี โดยมิได้มีการสอบถามในลักษณะการเทียบเคียงหรือเปรียบเทียบกันแต่อย่างใด การสำรวจข้อมูลในแต่ละปีจะจัดเก็บตามช่วงระยะเวลา ซึ่งสะท้อนว่า ประชาชนชาวไทยมีความเชื่อมั่นต่อ บุคคล องค์กรหรือหน่วยงาน ในช่วงเวลานั้น ๆ มากน้อยเพียงไร
เส้นกราฟแสดงความเชื่อมั่นของประชาชนต่อนายกรัฐมนตรีแต่ละคน ช่วงปี 2545-2560 สำรวจโดยสถาบันพระปกเกล้า(สำรวจในปีที่เป็นนายกรัฐมนตรี)
อย่างไรก็ตาม สรุปผลการสำรวจนี้ ถูกนำไปตีความว่า นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีที่ได้รับความนิยมสูงสุดในรอบ 15 ปี โดยนายกฯ ลุงตู่ ที่ประกาศอยู่ทุกวันว่ากำลังปฏิรูปประเทศอย่างขนานใหญ่ ได้รับความนิยมฯ อันดับสองเท่านั้น

เรื่องราวยิ่งบานปลายออกไป หลังมีคนเอาไปตั้งคำถามยัดปากนายกฯ แล้วทำให้นายกฯ อารมณ์เสีย และมีคนเดือดร้อนแทนนายกฯ จวกสถาบันพระปกเกล้าเสียไม่มีชิ้นดี

โดยนายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีตประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ด้านการเมือง ได้ออกมาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระปกเกล้า ให้เป็นหน่วยงานสนับสนุนงานทางกฎหมายและงานทางวิชาการให้แก่รัฐสภาโดยตรงมากกว่าจะทำภารกิจอื่นๆ การที่สถาบันพระปกเกล้าทำโพลในเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อมั่นของ 6 นายกรัฐมนตรี ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ในช่วงระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมาคงทำให้เกิดความฮือฮาเท่านั้น แต่ไม่ใช่ผลสรุปที่แท้จริงที่จะเอาความนิยมของคนในแต่ละยุคและแต่ช่วงเวลามาให้คะแนนเปรียบเทียบกันได้

“การสรุปผลโพลในเรื่องดังกล่าวเป็นประเด็นที่อ่อนไหวต่อความคิดเห็นของประชาชนในปัจจุบันที่มีความแตกแยกเป็นฝักเป็นฝ่ายอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ ขาดเหตุผลที่แท้จริง อันเป็นการตอกย้ำทำให้เกิดการแตกแยกของประชาชนในบ้านเมืองให้เป็นฝักเป็นฝ่ายมากขึ้น”นายเสรีกล่าวตำหนิ

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์น่าจะคลี่คลายลง เมื่อนายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ออกมาชี้แจงเมื่อวันที่ 7 กันยายนว่า จริงๆ แล้วการนำเสนอรายงานดังกล่าวไม่ได้มีการเปรียบเทียบความเชื่อมั่นต่อนายกฯ แต่สื่อมวลชนมีการนำเสนอข้อมูลไม่ครบถ้วน มีการนำผลสำรวจไปเทียบกัน ทั้งที่ในทางปฏิบัติแล้วไม่สามารถนำไปเทียบกันได้ เพราะเป็นผลสำรวจแต่ละปี ไม่ได้ถามเปรียบเทียบกัน และไม่ได้สำรวจแค่ 2 คน มีอดีตนายกฯ คนอื่นด้วย

นอกจากนั้นในรายงานดังกล่าว ก็มีรายละเอียดจำนวนมาก ทั้งความพึงพอใจนโยบายรัฐบาล ความเชื่อมั่นองค์กรต่างๆ ไม่ใช่แค่เรื่องดังกล่าว เพราะเราต้องการสื่อสารความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลว่านโยบายไหนที่ประชาชนพึงพอใจ และนโยบายไหนที่ยังไม่พึงพอใจ เพื่อให้นำข้อมูลนี้ไปปรับปรุงแก้ไข ดังนั้นการที่สื่อมวลชนหยิบยกข้อมูลไปนำเสนอแบบไม่ครบถ้วนก็เป็นความรับผิดชอบของสื่อที่ทำให้เกิดสถาการณ์ดังกล่าวขึ้น

ก็เป็นอันว่า ตำบลกระสุนตกของงานนี้ ก็คือสื่อมวลชนนั่นเอง ที่นำเสนอข้อมูลไม่ครบถ้วน อย่างไรก็ตาม เรื่องราวที่เกิดขึ้นก็ได้สะท้อนปัญหาหลายๆ ไม่ใช่แค่เรื่องการทำงานของสื่อ แต่รวมถึงการควบคุมอารมณ์ของนายกรัฐมนตรี การแสดงบทบาทองครักษ์พิทักษ์ลุงตู่อย่างออกหน้าออกตาของใครบางคน แม้กระทั่งการอธิบายความของทีมงานสถาบันพระปกเกล้าเองด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น