ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการ ร่างกฎคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ว่าด้วยการเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานก.พ. ไปประกอบการพิจารณา
**ร่าง กฎ ก.ค.ศ. ฉบับดังกล่าว เป็นการดำเนินตาม “ข้อ 7“จากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 16/2560 ที่ให้แก้ไขคำว่า “ขั้นเงินเดือน” ในพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 ทุกแห่ง เป็นคำว่า“เงินเดือน”
ทำให้ต้องมีการปรับปรุงกฎก.ค.ศ. ว่าด้วยการเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยเปลี่ยนจากขั้นเงินเดือน มาเป็นช่วงเงินเดือน เช่นเดียวกับข้าราชการพลเรือน และข้าราชการอื่นๆ ซึ่งเมื่อครม.มีมติเห็นชอบกฎ ก.ค.ศ.ฉบับใหม่นี้แล้วก่อนจะนำไปใช้ ทางสำนักงาน ก.ค.ศ.จะต้องมากำหนดรายละเอียดและแนวปฏิบัติเพื่อแจ้งให้ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษาทราบ
มีสาระสำคัญ คือเป็นการกำหนดให้ยกเลิกกฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยการเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2550 แล้วให้กำหนดวงเงินงบประมาณและการบริหารวงเงินงบฯ
สำหรับการเลื่อนเงินเดือนในแต่ละรอบการประเมินผลการปฏิบัติราชการโดยให้ส่วนราชการเลื่อนเงินเดือนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพในสังกัด ครั้งที่ 1 (1 เม.ย.) และ ครั้งที่ 2 (1 ต.ค.) ภายในวงเงินร้อยละ 3 ของเงินเดือนที่จ่ายให้ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา ณ วันที่ 1 มี.ค. และ 1 ก.ย.ตามลำดับ รวมถึงให้ส่วนราชการบริหารวงเงินในการเลื่อนเงินเดือนในภาพรวมของส่วนราชการหรือเขตพื้นที่การศึกษา
นอกจากนี้ ได้กำหนดการเลื่อนเงินเดือนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาให้เลื่อนตามผลงาน อีกทั้งกำหนดกรอบวงเงินในการเลื่อนเงินเดือนรายบุคคลไม่เกินร้อยละ 6 ของฐานในการคำนวณ และช่วงเงินเดือนสำหรับการเลื่อนเงินเดือนในแต่ละอันดับของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และยกเลิกโควตา 2 ขั้น ร้อยละ 15 ของจำนวนคน และให้ส่วนราชการหรือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเลื่อนเงินเดือนในอัตราร้อยละที่แตกต่างกันตามคะแนนการประเมินผลการปฏิบัติงานโดยจะใช้วิธีการเฉลี่ยให้ข้าราชการแต่ละคนได้รับการเลื่อนเงินเดือนในอัตราที่เท่ากันไม่ได้ อีกทั้งให้ยกเลิกหลักการรอการเลื่อนขั้นเงินเดือนกรณีข้าราชการครูซึ่งถูกฟ้องคดีอาญาที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการ และศาลได้ประทับรับฟ้องไว้แล้วหรือถูกตั้งกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง กำหนดให้ผู้จะได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนต้องมีเวลาปฏิบัติราชการไม่น้อยกว่า 4 เดือนในแต่ละรอบการประเมิน
“รวมถึงให้เลื่อนเงินเดือนให้แก่ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ลาไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศหรือได้รับอนุญาตให้ลาไปฟื้นฟูสมรรถภาพด้านอาชีพให้สั่งเลื่อนเงินเดือนได้ไม่เกินร้อยละ 3 ของฐานเงินเดือนข้าราชการผู้นั้น สำหรับกรณีข้าราชการที่เสียชีวิตในระหว่างรอบการประเมินและปฏิบัติงานไม่น้อยกว่า4 เดือนให้ได้รับการพิจารณาเลื่อนเงินเดือนตามผลการปฏิบัติงาน”
ร่างฉบับนี้ คาดว่า จะบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. ซึ่งเข้าสู่ปีงบประมาณ 2561 เป็นต้นไป
หมายความว่า ครูและบุคลากรทางการศึกษา จะได้รับการปรับเงินเดือนในวันที่ 1 เม.ย. 61 หรือรอบที่ 1 นั่นเอง และตลอดปีงบประมาณจะได้รับการปรับเลื่อนไม่เกิน 6 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในที่นี้จะพิจารณาปรับเลื่อนมากน้อยจากการประเมินผลงานเฉพาะบุคคลด้วย เช่น ผลงานดีมากได้ปรับเลื่อน 5 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น
ที่ผ่านมาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่อยู่ตามโรงเรียนต่างๆ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) หรือที่อยู่ในวิทยาลัยต่างๆ ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ทั่วประเทศ จะได้รับปรับเลื่อนเงินเดือนเป็นขั้น ขณะที่ข้าราชการพลเรือนทั่วประเทศ เช่น สพฐ.หรือ สอศ. ที่อยู่ในส่วนกลาง จะใช้วิธีเลื่อนเป็นเปอร์เซ็นต์ ร่างกฎ ก.ค.ศ.นี้จึงช่วยให้การปรับเลื่อนเงินเดือนเป็นมาตรฐานเดียวกัน
กระทวงศึกษาธิการ ใช้ พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 กำหนดให้เปลี่ยนโครงสร้างบัญชีเงินเดือนของข้าราชการครูฯ เป็นขั้นต่ำขั้นสูง หรือ การเลื่อนเงินเดือนแบบร้อยละ แต่เนื่องจากกฎหมายบางตัวยังไม่รองรับ เช่น มาตรา 73 ของ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 ยังกำหนดให้เลื่อนเป็นขั้นเงินเดือน ก.ค.ศ.จึงจัดทำบัญชีเงินเดือนชั่วคราวในการเลื่อนเงินเดือนใช้มาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับความแตกต่างระหว่าง กฎ ก.ค.ศ.เดิมกับกฎ ก.ค.ศ.ใหม่ที่เพิ่งผ่านครม. คือ การปรับวิธีการเลื่อนเงินเดือนจากขั้นเงินเดือนเป็นแบบร้อยละ โดยแบ่งเป็น 2 รอบการประเมินผลการปฏิบัติงานในแต่ละปีงบประมาณ ดังนี้ รอบแรก 1 เม.ย. รอบที่ สอง 1 ต.ค. และยกเลิกโควตา 2 ขั้น ซึ่งในส่วนนี้เมื่อคำนวณเงินเดือนที่ได้ปรับขึ้นตามระบบใหม่พบว่าไม่มีความแตกต่างกันมากนัก
ส่วนเรื่องที่ให้เลื่อนเงินเดือนตามผลงานนั้น การเลื่อนขั้นเงินเดือนแบบที่ผ่านมาก็พิจารณาผลการปฏิบัติงานอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตามเมื่อ ครม.เห็นชอบในหลักการ ร่างกฎ ก.ค.ศ.ดังกล่าวแล้ว ยังต้องส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบและต้องนำเข้า ครม.อีกครั้ง จากนั้น ก.ค.ศ.จะต้องออกแนวปฏิบัติ ซึ่งหากดำเนินการได้แล้วเสร็จได้ทันก่อนวันที่ 1 ต.ค.นี้ ข้าราชการครูฯก็จะใช้การเลื่อนเงินเดือนตามระบบใหม่
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเคยมีคำถามหลากหลาย ว่า “เงินเดือนครูแบบเปอร์เซ็นต์ “โดยรวมแล้ว “น้อยกว่าแบบขั้นหรือไม่” ตามกระทู้ถาม ในสังคมออนไลน์ แวดวงครูไทย มีการตั้งข้อสังเกตว่า
1. เม็ดเงินในการเลื่อนขั้นทั้งปี คำนวณจากเงินเดือน ณ มีนาคม ของทุกปี ก่อน 1 เม.ย. เช่น เงินเดือนครูทั้งโรงเรียนรวมกันในเดือน มีนาคม รวม 1,000,000 บาท ก็จะได้เม็ดเงินในการเลื่อนขั้น 60,000 บาทต่อปี ห้ามใช้เกินนี้เด็ดขาด!
2. ข้าราชการแต่ละแท่งเงินเดือน (คผช./คศ.1/คศ.2/คศ3/คศ.4/คศ.5) จะมีการกำหนดกรอบเงินเดือนอยู่ 2 ระดับ คือ ระดับบนและระดับล่าง เพื่อเป็นฐานในการคำนวณเลื่อนขั้น เช่น ครูสมชาย เป็นครู คศ. 2 เงินเดือน 20,320 บาท ซึ่งเงินเดือนครูสมชายอยู่ในฐานเงินเดือนระดับล่าง ซึ่งมีเงินเดือนอยู่ระหว่าง 13,160 - 29,330 บาท โดย กพ. ได้กำหนดฐานการคำนวณกลางอยู่ที่ 24,410 บาท
หากปีต่อมา ครูสมชายได้รับการพิจารณาการปฏิบัติงานอยู่ในระดับดี 2.5% ทั้งสองครั้ง การคำนวณการเลื่อนขั้น ก็จะนำ เปอร์เซ็นต์ในการประเมินคูณกับ ฐานการคำนวณ คือ (2.5 x 24,410)/100 = 610 บาท x 2 ครั้ง ครูสมชายจะได้ขั้นทั้งปี 1,220 บาท
3. โรงเรียนที่มี ครูบรรจุใหม่เยอะๆ จะเสียเปรียบ เพราะเม็ดเงินในการเลื่อนขั้นจะน้อย เช่น ครูสมคิด บรรจุใหม่ เงินเดือน 15,050 บาท วิธีการคำนวณเม็ดเงิน คือ 15,050 x .06 = 903 ซึ่งได้เม็ดเงินในการเลื่อนขั้น 903 ต่อคน ต่อปี แต่ถ้าเปรียบเทียบกับขั้นปกติที่เราใช้ในทุกวันนี้ ปูพรม 1.5 ขั้น ครูสมคิดบรรจุใหม่จาก 15,050 บาท ก็จะได้เลื่อนไปที่ 16,190 บาท ซึ่งให้เม็ดเงินไป 1,140 บาท ซึ่งจะมากกว่าแบบเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าลองคิดแบบเปอร์เซ็นต์ ครูสมคิด ได้รับการประเมินในระดับดี 2.5% ทั้งสองครั้ง ครูสมคิดก็จะได้รับเงินเดือนอยู่ที่ (17,980 * 2.5)/100 = 449 บาท x 2 ครั้ง ก็จะได้รับเลื่อนทั้งปี 898 บาท หายไป 242 บาท (17,980 คือ ฐานคำนวณ ปฏิบัติการ ระดับล่าง)
4. โรงเรียนที่มี ครูอาวุโสเยอะๆ จะได้เปรียบ เช่น ครูวันเพ็ญ คศ. 3 เงินเดือน 42,330 บาท มีเม็ดเงินของครูวันเพ็ญ 42,330 x .06 = 2,540 บาท แต่ถ้าเลื่อนแบบขั้น 1.5 ขั้น เงินเดือนครูวันเพ็ญก็จะได้ที่ 44,560 บาท ใช้เงินไป 44,560 - 42,330 = 2,230 เท่านั้น เหลือ 310 บาท เมื่อลองคิดแบบเปอร์เซ็นต์ ผลประเมินครูวันเพ็ญ อยู่ในระดับดี 2.5% (ฐานการคิดชำนาญการพิเศษ ฐานบน 49,330 บาท) วิธีคิด (49,330x2.5)/100 = 1,233 บาท เลื่อน 2 ครั้ง ก็จะได้เลื่อน 2,466 บาท ซึ่งมากกว่าแบบขั้น แถมยังมีเม็ดเงินเหลืออีกด้วย
ข้อมูลที่แชร์ในสังคมออนไลน์ สรุปว่า ข้าราชการเงินเดือนสูงๆ จะได้รับอานิสงส์ไปด้วย ส่วนครูดอย บรรจุใหม่เยอะๆ บอกได้เลย เงินเดือนเลื่อนช้ากว่าแบบขั้นแน่นอน มีการให้หมายเหตุด้วยว่า “ยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างในการเลื่อนขั้น ไม่สามารถยกตัวอย่างให้ละเอียดได้ ณ ที่นี้
คือโดยเฉลี่ยแล้วจะได้รับการขึ้นเงินเดือนน้อยกว่า เพราะถ้าคิดแบบเลขกลมๆ โดยปกติครูจะได้ขึ้นเงินเดือนปีละขั้นครึ่ง เท่ากับ 6% และในแต่ละปีจะมีครูที่ได้ 2 ขั้น (ประมาณ 8%) อยู่ 15% ของครูในโรงเรียน เท่ากับเฉลี่ยโดยรวมในโรงเรียน เท่ากับ เราได้ 6.9% (มาจาก 6 x 1.15) แต่เป็นระบบ % เราจะได้โดยเฉลี่ยแค่ 6.0%เหมือนดังที่กล่าว เงินเดือนครูทั้งโรงเรียนรวมกันในเดือน มีนาคมรวม 1,000,000 บาท ก็จะได้เม็ดเงินในการเลื่อนขั้น 60,000 บาทต่อปี ห้ามใช้เกินนี้เด็ดขาด!!คิดว่ามันไม่ยุติธรรม และที่สำคัญ คือแปลกใจมากที่บอกปรับเงินเดือนครูเป็นเปอร์เซ็นต์ให้เหมือนข้าราชการอื่นๆ แล้วทำไมทหาร ตำรวจยังเป็นขั้นอยู่ ถือว่ามันไม่ยุติธรรมเลยนี้คืออีกมุมหนึ่งที่มีการแชร์ ความเห็นของการปรับระบบขั้น มาเป็นระบบเปอร์เซ็นต์
ขณะที่ “นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์”รมว.ศธ. บอกสั้น ๆว่า “เรื่องนี้เป็นเพียงการปรับวิธีการขึ้นเงินเดือนของข้าราชการครูให้เป็นวิธีเดียวกับข้าราชการพลเรือนอื่น ๆ เท่านั้น เท่าที่ทราบไม่กระทบกับการขึ้นเงินเดือน”