xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“สตรึงมนัม” เขื่อนเขมรแสนล้าน ใครได้ ใครเสียและใครคือไอ้โม่ง?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และสมเด็จฯ ฮุนเซ็น ขณะประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมของทั้งสองประเทศเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ก็ไม่รู้ว่า ทำไมอะไรที่มัน “ฉาวๆ” และ “ชวนให้สงสัย” ทำไมถึงมักไปเกิดบริเวณพื้นที่ภาคตะวันออกของไทยก็ไม่รู้ และคราวนี้มาเกี่ยวข้องกับโครงการสำคัญที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า มีเบื้องหน้าเบื้องหลังที่ไม่ธรรมดา นั่นก็คือ “โครงการสตรึงมนัม” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชา

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวก่อให้เกิดคำถามตามมาในหลายประเด็น ทั้งเรื่องผลประโยชน์ ทั้งเรื่องตัวเลขค่าไฟที่จ่ายสูงกว่าถึงเท่าตัว ทั้งเรื่องตัวเลขเม็ดเงินงบประมาณในการวางท่อส่งน้ำจำนวนมหาศาลที่ต้องใช้ในโครงการนี้ไม่น้อยกว่า 4 หมื่นล้านบาท กระทั่งเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ต้องออกมาสั่งการด้วยตัวเองให้ศึกษาโครงการนี้ให้รอบคอบว่า คุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่

“ต้องพิจารณาดูว่าจำเป็นหรือไม่ ถ้ามองด้านเดียวก็พบว่ายังน้อยอยู่ แต่ถ้าดูถึงเรื่องได้น้ำมาด้วยจะดีหรือไม่ ก็ต้องหารือตรงนี้ หากเอาน้ำมาแล้วมีต้นทุนสูงก็มีผลกระทบกับผู้ใช้ ก็ต้องหาแนวทางที่เหมาะสม” พล.อ.ประยุทธ์กล่าวเมื่อวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา

พร้อมประกาศดังๆ ด้วยว่า...
“ไม่ได้รู้จักใครทั้งสิ้น ไม่ว่าใครจะนั่งหน้าห้องไหน ฉันไม่รู้ เครือญาติ บริษัทไหน ไม่รู้ เพราะฉันไม่รู้จัก ไม่มีส่วนตัว ไปเขียนกันเลอะเทอะไปเรื่อย คนอนุมัติเป็นใคร นายกรัฐมนตรีไม่ใช่หรือ จะนั่งหน้าห้องใครก็ไม่รู้ แต่ถ้านายกรัฐมนตรีไม่อนุมัติก็จบ คณะรัฐมนตรีไม่นำเข้าก็จบ ก็ทำงานกันแบบนี้นะ”

โครงการสตรึงมนัมได้เริ่มสร้างความสับสนให้กับประชาชนว่า แท้ที่จริงแล้ว มีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร เพื่อ “ไฟฟ้า” หรือเพื่อ “น้ำ” ที่จะรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมใน “เขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี)” กันแน่ เพราะตัวเลขค่าไฟที่ไทยซื้อจากกัมพูชานั้น สูงกว่าปกติถึงกว่า 2เท่าคือ 10.15 บาทต่อหน่วย แถมโรงไฟฟ้าที่จะสร้างก็เป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กที่ผลิตไฟได้เพียงแค่ 24 เมกะวัตต์เท่านั้น

ที่สำคัญคือ ได้รับ “การผลักดัน” แบบสุดลิ่มทิ่มประตู โดยไม่มีคำอธิบายถึงความจำเป็นที่เพียงพออีกต่างหาก

กล่าวสำหรับโครงการสตรึงมนัมนั้น ต้องบอกว่า เป็นทั้งโครงการเพื่อการผลิตไฟฟ้าและการผันน้ำจากกัมพูชามายังประเทศไทย จุดเริ่มต้นของโครงการเกิดขึ้นมาหลายปี เนื่องเพราะต้องการแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในภาคตะวันออก โดยยกเหตุผลว่า ปริมาณน้ำที่มีอยู่ตามธรรมชาติของไทยไม่เพียงพอที่จะรองรับทั้งภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม

สตรึงมนัมเป็นแม่น้ำสายสำคัญซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของประเทศกัมพูชาและติดกับชายแดนไทย-กัมพูชามีต้นกำเนิดบริเวณเทือกเขาบรรทัดและเทือกเขาพนมกาวาน เป็นเขตติดต่อกับจังหวัดพระตะบอง-จังหวัดโพธิสัตว์ในประเทศกัมพูชา และด้านจังหวัดตราดประเทศไทยและไหลผ่านจังหวัดพระตะบอง จังหวัดโพธิสัตว์ และจังหวัดเกาะกง ซึ่งมารวมกับแม่น้ำเกาะปอแล้วเรียกว่า “แม่น้ำครางครืน” จากนั้นไหลออกทะเลที่จั งหวัดเกาะกงในบริเวณอ่าวไทยใกล้หมู่บ้าน Krang, Khemork, Phoumin มีความยาวประมาณ90-100 กิโลเมตร

ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์นั่งเป็นประธานได้มีมติเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ได้รับทราบความคืบหน้าโครงการไฟฟ้าพลังน้ำสตรึงมนัม โดยมอบหมายให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) กรมทรัพยากรน้ำ และกรมชลประทาน ประสานกับกระทรวงพลังงาน เพื่อวางแผนในการนำน้ำจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำสตรึงมนัมไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ภาคตะวันออก

ต่อมาในการประชุม กพช. เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2560 ที่ผ่านมา ได้มีมติอนุมัติให้ บริษัท Steung Meteuk Hydropower จำกัด (SMH) เป็นผู้พัฒนา ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำสตรึงมนัม โดยลงนามในเอ็มโอยูร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

เพราะฉะนั้นจะบอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่รับรู้มาตั้งแต่ต้นก็คงจะไม่ได้

ทั้งนี้ สาระสำคัญในเอ็มโอยูกำหนดให้ กฟผ.ทำสัญญารับซื้อไฟฟ้า (PPA) มีระยะเวลา 50 ปี นับจากวันที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ โดยกำหนดรับซื้อค่าไฟ 10.75 บาทต่อหน่วย ส่วนปริมาณน้ำ 300 ล้านลูกบาศก์เมตรนั้น มีความพยายามจะวางแผนให้มีการสร้างท่อส่งน้ำจากโครงการโรงไฟฟ้าสตรึงมนัม ผ่านชายแดนบริเวณจังหวัดตราด มายังอ่างเก็บน้ำประแสร์ จังหวัดระยอง ระยะทาง 200 กม. ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 50,000-70,000 ล้านบาท
แผงผังเส้นทางการผันน้ำของโครงการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำ “สตรึงมนัม” เข้ามายังประเทศไทย
อย่างไรก็ดี สำหรับความคืบหน้าในการดำเนินโครงการนั้น แรกเริ่มเดิมที พล.อ.ประยุทธ์ตั้งใจจะหยิบยกมาพูดคุยกับ “สมเด็จฯ ฮุนเซ็น” บนโต๊ะประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมไทย-กัมพูชาในวันที่ 7 ก.ย.2560 ที่ผ่านมา เพียงแต่หลังเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ทำให้วาระเรื่อง “สตรึงมนัม” ถูกถอดออกไป

“กัมพูชามีน้ำใจ ถ้าเราอยากได้น้ำ กัมพูชาก็ต้องไปลงทุนเพิ่ม ก็มีค่าใช้จ่ายมากขึ้น คราวนี้อยู่ที่ไทยว่ารับได้หรือไม่ ถ้ารับไม่ได้ก็ไปศึกษาก่อน ไม่ใช่จะไปเออออห่อหมกทุกเรื่องไม่ได้ ไม่อยากให้ประเด็นเหล่านี้ที่เป็นประเด็นละเอียดอ่อนมากระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เรื่องอะไรที่เป็นเรื่องที่ต้องหารือก็หารือกันต่อไป ไม่ทำให้เกิดประโยชน์กับคนนู้นคนนี้หรอก เพราะหากนำน้ำมาใช้จริง การลงทุนฝั่งเขามากขึ้น เขาก็มีค่าใช้จ่ายมากขึ้น เป็นเรื่องทางนั้นลงทุนกันไป ไฟฟ้าจะซื้ออย่างไรก็ว่ากันอีกที แต่ถ้าจะเอาน้ำ ต้องไปดูว่าเขาจะทำให้หรือไม่ เรารับได้หรือไม่ และเมื่อน้ำเข้ามาแล้ว ต้องมีระบบส่งน้ำภายในประเทศอีก เราก็ต้องทำของเราอยู่แล้วในขณะนี้ มันไม่ใช่ให้บริษัทไปลงทุนได้ค่าก่อสร้าง”

“มันไม่ใช่ว่าให้บริษัทไปลงทุน ได้ค่าก่อสร้างทางนั้นแล้ว เมื่อน้ำเข้ามาบริษัทจะได้ค่าก่อสร้างยวงนี้อีก ถ้าจะทำต้องเปิดประมูลเป็นท่อนๆ รัฐบาลมีแผนงานอยู่แล้ว เพียงแต่หาน้ำมาเสริมเท่านั้นเอง จะมาจากไหน ถ้ามันไม่ได้ก็ต้องรอฝนเอา โอเค เข้าใจหรือยัง เลิกพูดสักทีเถอะ” นายกรัฐมนตรีอธิบายก่อนเดินทางไปเยือนกัมพูชา

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ออกมาระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้สั่งการให้ทุกหน่วยชะลอโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำสตรึงมนัมไปก่อน เพื่อรอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กลับไปศึกษาการบริหารจัดการน้ำให้เกิดความชัดเจนว่าความต้องการใช้น้ำและแหล่งน้ำในประเทศจะมีเพียงพอต่อความต้องใช้ในระยะยาวหรือไม่ หลังกระทรวงเกษตรฯ ระบุว่า น้ำมีเพียงพอต่อความต้องการใช้ในช่วง 12 ปีนี้ โดยเฉพาะถ้าไม่ดำเนินโครงการนี้ เขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี)จะเอาน้ำจากไหนมาใช้

ส่วนประเด็นการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการนี้ในราคาแพงถึง 10.75 บาทต่อหน่วยนั้น เป็นไปตามระบบที่ศึกษาความเหมาะสมและคำนวนโดย กฟผ. ซึ่งต้องมีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ทำให้ต้นทุนค่าก่อสร้าง ประเมินเบื้องต้น อยู่ที่ประมาณ 9,000-10,000 ล้านบาท โดยทุกๆ 10.75 บาทต่อหน่วย นอกจากจะได้ไฟฟ้า 1 หน่วย บนพื้นฐานต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่ไทยผลิตได้อยู่ที่ 2.60 บาทต่อหน่วย และยังได้น้ำอีก 3 ลูกบาศก์เมตร เฉลี่ยลูกบาศก์เมตรละ 2.80 บาท และน้ำอย่างน้อยปีละ 300 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีข้อผูกผันในการส่งน้ำเป็นเวลา 50 ปี ขณะที่ปริมาณผลิตไฟฟ้าเพียงแค่ 24 เมกะวัตต์ ทั้งๆที่โครงการมีปริมาณน้ำจำนวนมากนั้น เพราะมองว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่มีไม่มาก หากผลิตไฟฟ้ามากขึ้นจะยิ่งส่งผลให้ต้นทุนค่าก่อสร้างสูงขึ้นไปด้วย

สรุปก็คือ ราคาค่าไฟ 10.75 ต่อหน่วยนั้น รวมค่าน้ำเข้าไปด้วย คือแบ่งเป็นค่าไฟฟ้า 1 หน่วย เฉลี่ยที่ 2.60 บาทต่อหน่วย และส่วนที่เหลือจะเป็นค่าน้ำประมาณ 3 หน่วย เฉลี่ยอยู่ที่ 2.80 บาทต่อหน่วย

แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ จริงๆ แล้วไทยไม่ได้ต้องการ “ไฟฟ้า” หากแต่ต้องการ “น้ำ” จำนวน 300 ล้านลูกบาศก์เมตร มาใช้ในพื้นที่อีอีซี ซึ่งก็ต้องบอกว่า เป็นเรื่องซึ่งตลกมากที่รวมทั้งน้ำทั้งไฟเข้าไว้ด้วยกันจนประชาชนเกิดความสับสนว่า ทำไมค่าไฟถึงได้แพงหูฉี่ขนาดนี้

ขณะเดียวกัน ประเด็นสำคัญไม่แพ้กันก็คือ มีความชัดเจนว่า เหตุที่ต้องชะลอโครงการก็เพราะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ท้วงติงและรับประกันอย่างแข็งขันว่าน้ำเพียงพอ ซึ่งทำให้เกิดข้อสงสัยตามมาว่า เกิดอะไรขึ้น และนำมาซึ่งการตั้งคำถามว่า หรือ งานนี้ “บิ๊กนมชง” ไม่ลงรอยกับ “บิ๊กโย่ง” เจ้ากระทรวงพลังงาน

แต่สืบไปสืบมาก็ไม่เห็นร่องรอยความขัดแย้งระหว่างทั้งสองคน

ทว่า มีความเป็นไปได้สูงยิ่งที่จะเป็นการกระทบชิ่งและน่าจะเป็นเอาคืน “เฮียกวง” เสียมากกว่า

“สตรึงมนัม” ก็เลยมีอันต้องชะงักงันเป็นการชั่วคราว ส่วนจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร อีกไม่นานคงรู้กัน




กำลังโหลดความคิดเห็น