ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้ลงมติ 164 ต่อ 1 คะแนนรับหลักการในวาระที่ 1 ของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เสนอตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 จากนั้นได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการจำนวน 30 คน เพื่อพิจารณาในรายละเอียด มีกำหนดเวลาการทำงานให้เสร็จภายใน 50 วันก่อนส่งมาให้ที่ประชุม สนช.พิจารณาลงมติอีกครั้ง
สาระสำคัญของ พ.ร.ป.ฉบับนี้ คือ การกำหนดให้มีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ประกอบด้วยกรรมการ 7 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้ซึ่งได้รับการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหา
ผู้ซึ่งได้รับการสรรหาต้องเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่ประจักษ์ มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดิน กฎหมาย การบัญชี การตรวจสอบภายใน การเงินการคลัง และด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการตรวจเงินแผ่นดินเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี(มาตรา 12)
ทั้งนี้ให้กรรมการตรวจเงินแผ่นดินมีวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปี นับแต่วันซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และดำรงตำแหน่งได้วาระเดียว(มาตรา 21)
นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน 1 คน มาจากการการสรรหาของ คตง. และการลงมติเลือกของวุฒิสภา (มาตรา 40) โดยผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมีระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 6 ปี และดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว (มาตรา 47)
พ.ร.ป.ฉบับนี้ยังได้บัญญัติถึงอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเป็นกรณีพิเศษไว้ในมาตรา 87 ว่า ในกรณีที่ผลการตรวจสอบปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำด้วยประการใดๆ ที่มีผลให้ ส.ส.และ ส.ว.หรือกรรมาธิการ มีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย หรือตรวจสอบพบว่าคณะรัฐมนตรีเป็นผู้กระทำการหรืออนุมัติให้กระทำการ หรือรู้ว่ามีการกระทำดังกล่าวแต่ไม่ได้สั่งยับยั้ง หรือพบว่ามีเจ้าหน้าที่ของหน่วยรับตรวจ จัดทำโครงการ หรืออนุมัติหรือจัดสรรเงินงบประมาณโดยรู้ว่ามีการดำเนินการดังกล่าว ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินแจ้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
ประเด็นที่ถือว่าเป็นไฮไลต์ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยองค์กรอิสระทุกฉบับ น่าจะเป็นบทเฉพาะกาลที่เกี่ยวกับสถานะการดำรงตำแหน่งอยู่ของคณะกรรมการองค์กรอิสระชุดปัจจุบัน
ซึ่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการตรวเงินแผ่นดินฉบับนี้ มีบทเฉพาะกาล มาตรา 107 ว่าด้วยการดำรงอยู่ของ คตง.ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่ พ.ร.ป.นี้มีผลใช้บังคับ
โดยร่างมาตรา 107 บัญญัติว่า ให้ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและกรรมการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนที่ พ.ร.ป.นี้ใช้บังคับ เป็นประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและกรรมการตรวจเงินแผ่นดินตาม พ.ร.ป.นี้ โดยให้นับวาระการดำรงตำแหน่งตาม พ.ร.ป.นี้ตั้งแต่วันที่ได้รับโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
ก็เป็นอันว่า หาก พ.ร.ป.นี้ผ่านออกมาบังคับใช้เป็นกฎหมาย ประธาน คตง.และ คตง.ทุกคนที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่ พ.ร.ป.นี้มีผลใช้บังคับ ก็จะได้เป็นประธาน คตง.และ คตง.ตามกฎหมายใหม่ไปโดยอัตโนมัติ และมีวาระการดำรงตำแหน่งไปอีก 7 ปี ตามกฎหมายฉบับใหม่
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนปัจจุบัน แม้ พ.ร.ป.นี้ จะให้ดำรงตำแหน่งต่อไป แต่ก็ไม่ได้ดำรงตำแหน่งเต็มวาระตาม พ.ร.ป.ใหม่ เหมือนกับ ประธาน คตง.และ คตง.
โดย ร่าง มาตรา 108 บัญญัติไว้ว่า ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนที่ พ.ร.ป.นี้ใช้บังคับ อยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตาม พ.ร.ป.นี้
ให้กรรมการตรวจเงินแผ่นดินดำเนินการสรรหา คัดเลือก และเสนอชื่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินภายใน 60 วันนับแต่วันที่ พ.ร.ป.นี้ใช้บังคับ ในกรณีที่ได้มีการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินอยู่ก่อนวันที่ พ.ร.ป.นี้ใช้บังคับและยังไม่ได้นำความเพื่อกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้ง ให้ยุติการสรรหานั้น และดำเนินการสรรหาใหม่ตาม พ.ร.ป.นี้
ในระหว่างเวลาตามวรรคหนึ่ง ถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของหัวคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ที่จะแต่งตั้งรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนหนึ่งตามที่เห็นสมควรเป็นรักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ให้ความเห็นต่อร่าง พ.ร.ป.นี้ว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ยึดแนวทางของ คตง.ที่ปฏิบัติกันมาก่อนส่วนใหญ่แต่มีการปรับปรุงบางส่วนเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ไขปัญหาในอดีต โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่าง คตง.และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งที่ผ่านมามีลักษณะต่างคนต่างทำงานและไม่ได้มีความชัดเจน
ที่ผ่านมาองค์กรตรวจเงินแผ่นดินมีความแตกต่างจากองค์กรอิสระอื่น กล่าวคือ ในกรณีขององค์กรตรวจเงินแผ่นดินนั้นอำนาจทั้งปวงอยู่ที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ต่างจากองค์กรอิสระอื่นๆ ที่บุคคลที่เข้ามาเป็นคณะกรรมการจะเป็นผู้กำกับ ส่วนเจ้าหน้าที่จะเป็นฝ่ายสนับสนุนเท่านั้น
นายมีชัยบอกว่า ร่าง พ.ร.ป.นี้จะแก้ไขปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง คตง.และผู้ว่าการ โดยกำหนดสาระสำคัญบางประการ เช่น ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินต้องเข้าร่วมชี้แจงกับ คตง.โดยตลอด โดยไม่มีสิทธิลงคะแนนเสียง อีกทั้งยังแยกอำนาจบางส่วนของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินออกมา โดยถ้าเป็นเรื่องการทุจริตจากการใช้งบประมาณผิดระเบียบจะให้สํานักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ไต่สวนเบื้องต้นก่อนส่งให้ ป.ป.ช.ดำเนินการต่อไป เป็นต้น
หลายคนอาจแปลกใจว่า เหตุใด คตง.ชุดที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนที่ พ.ร.ป.ฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้จึงยังได้อยู่ในตำแหน่งต่อไป ไม่โดน “เซตซีโร่” หรือให้พ้นจากตำแหน่งทันที ที่ พ.ร.ป.ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ เหมือนกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) หรือ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) แถมยังให้เริ่มนับวาระการดำรงตำแหน่งใหม่อีกต่างหาก
ที่เป็นเช่นนั้น ก็เพราะว่า คสช.ได้เซตซีโร่ คตง.ไว้ล่วงหน้าแล้ว โดยคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 23/2560 ข้อ 12 ที่ระบุว่า เมื่อมีกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับพ้นจากตำแหน่ง หรือจะพ้นจากตำแหน่งตามวาระภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ ให้ดำเนินการคัดเลือกหรือสรรหาบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งดังกล่าวแทนให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่ตำแหน่งดังกล่าวว่างลง หรือนับแต่วันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับแล้วแต่กรณี
ซึ่งคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินชุดปัจจุบันจะครบวาระในวันที่ 25 กันยายน 2560 อยู่ในกรอบเวลาที่กำหนดไว้ในคำสั่งคือจะพ้นตำแหน่งตามวาระภายใน 180 วัน ต้องดำเนินการสรรหาตามคำสั่งดังกล่าว
และกระบวนการสรรหาก็เสร็จสิ้นจนได้รายชื่อ คตง.ใหม่ 7 คน ที่ผ่านการลงมติเห็นชอบโดย สนช.เมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมาแล้ว ได้แก่
1. นางยุพิน ชลานนท์นิวัฒน์ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เป็น คตง.ด้านการตรวจเงินแผ่นดิน
2. นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ
3. นางอรพิน ผลสุวรรณ์ สบายรูป อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เป็น คตง.ด้านกฎหมาย
4. น.ส.จินดา มหัทธนวัฒน์ ที่ปรึกษากรรมการ ป.ป.ช. เป็น คตง.ด้านบัญชี
5. พล.อ.ชนะทัพ อินทามระ อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก เป็น คตง.ด้านการตรวจสอบภายใน
6. นายวีระยุทธ ปั้นน่วม รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เป็น คตง.ด้านการเงินการคลัง และ
7. นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการกรรมการ ป.ป.ช. เป็น คตง.ด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการตรวจเงินแผ่นดิน
ขั้นตอนขณะนี้ จึงอยู่ระหว่างการนำชื่อทั้ง 7 คน ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงแต่งตั้งเท่านั้น และคาดว่าน่าจะเสร็จสิ้นก่อนที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินฉบับใหม่ ที่ยังรอการพิจารณาของ สนช.ในวาระ 2 และ 3 จะมีผลบังคับใช้