ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - “ยายเนื่อม” ยังคงนอนตายตาไม่หลับ วิญญาณยังคงจับจ้องมองกลุ่มคนบาปโกงเอาที่ดินของยายที่ยกให้วัดเป็นที่ธรณีสงฆ์ไปออกโฉนดสร้าง “สนามกอล์ฟอัลไพน์”
แม้ว่าวันนี้ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และอดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งตกเป็นจำเลยฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบที่ใช้อำนาจขณะดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ไปเพิกถอนคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดิน ที่ให้ยกเลิกโฉนดที่ดินซึ่งจดทะเบียนในนามสนามกอล์ฟอัลไพน์จากการโอนที่ธรณีสงฆ์โดยมิชอบ จะถูกศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤมิชอบกลาง ตัดสินจำคุก เป็นเวลา 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา แล้วก็ตาม
ส่วนจะถือเป็นการลงโทษที่สาสมกับการทำบาปของแก๊งคนโกงที่ธรณีสงฆ์แล้วหรือไม่ นายยงยุทธที่จะมีชีวิตบั้นปลายแบบต้องเดินเข้าเดินออกศาลเฉียดคุกเฉียดตะรางนั่นแหละจะตอบได้ดีที่สุด
แต่ที่น่าเคลือบแคลงตามมาก็คือ ท่าทีของเนติบริกร อย่าง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่รับใช้รัฐบาลมาหลายยุคหลายสมัย และรู้เห็นเรื่องนี้มาไม่น้อย
ท่าทีที่น่าสงสัย พินิจพิจารณาจากคำให้สัมภาษณ์ของนายวิษณุ ที่ว่า ยังไม่ยืนยันเรื่องการเรียกคืนที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ หลังศาลพิพากษาให้ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ธรณีสงฆ์ โดยให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย (มท.) กรมการศาสนา และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ไปพิจารณา ว่า คดีมีอายุความอย่างไร และผู้เกี่ยวข้องยังมีอีกหรือไม่ และจะยกเลิกเพิกถอนได้หรือไม่ด้วย
ฟังดูแล้ว โหวงเหวงพิกลในการเรียกคืนที่ธรณีสงฆ์ผืนงามแห่งนี้ ที่ผ่านการเล่นแร่แปรธาตุหลายตลบจนตกไปอยู่ในมือของ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ในช่วงเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง 2540
อันที่จริงหากนายยงยุทธ รู้จักแยกแยะผิดชอบชั่วดีสักเล็กน้อย ก็คงไม่ต้องเสี่ยงนอนคุกยามแก่ชรา แต่เป็นเพราะว่าความลุแก่อำนาจ ถวายตัวรับใช้การเมืองแบบสุดลิ่มโดยแท้ จึงต้องลงเอยแบบนี้ เพราะเมื่อดูจากการตัดสินของศาลฯ เมื่อวันที่ 29 ส.ค.2560 จะเห็นเลยว่า พฤติการณ์ของนายยงยุทธ นั้นยากจะรอดพ้นความผิดไปได้
ทั้งนี้ คำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ อท.38/2559 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และอดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือทุจริต หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
โดย นายยงยุทธ จำเลย ขณะดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งรักษาราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบในการพิจารณาอุทธรณ์และสั่งเพิกถอนคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดิน โดยมีเจตนาช่วยเหลือ บริษัท อัลไพน์เรียลเอสเตท จำกัด, บริษัท กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด และผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินในเวลาต่อมา ให้ได้รับประโยชน์โดยมิชอบ
ศาลพิเคราะห์ข้อเท็จจริง รับฟังได้ว่า ก่อน นางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา ถึงแก่ความตายได้ทำพินัยกรรมยกที่ดิน 2 แปลงดังกล่าวให้แก่วัดธรรมิการามวรวิหาร ต่อมานางเนื่อมถึงแก่ความตาย มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนามเนื่อม ได้โอนที่ดินดังกล่าวให้แก่มูลนิธิฯ และต่อมามูลนิธิฯ ได้ขายที่ดินนั้นให้กับบริษัท อัลไพน์เรียลเอสเตท จำกัด กับบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์สปอร์ตคลับ จำกัด ในราคา 142 ล้านบาท และในวันเดียวกัน บริษัททั้งสองได้นำที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองกับธนาคารจำนวน 220 ล้านบาท
ต่อมากรมที่ดินก็มีคำสั่งให้อธิบดีกรมที่ดินเพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวตลอดจนรายการจดทะเบียนต่างๆ เนื่องจากเห็นว่าเป็นการโอนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรวม 290 ราย ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว กรมที่ดิน ยืนยันตามคำสั่งเดิม และเสนอเรื่องดังกล่าวต่อกระทรวงมหาดไทย นายยงยุทธ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย พิจารณาแล้วเห็นควรให้เพิกถอนคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดิน
ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า พินัยกรรมของนางเนื่อมระบุชัดเจนว่า นางเนื่อมได้ยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้ง 2 แปลง ให้แก่วัดธรรมิการามวรวิหารเท่านั้น มิได้ยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวให้แก่มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ แต่อย่างใด
ทั้งภายหลังจากนางเนื่อมถึงแก่ความตาย วัดธรรมิการามวรวิหารได้นำที่ดินทั้ง 2 แปลงไปขึ้นทะเบียนที่ดินศาสนสมบัติวัดร้างจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นที่ธรณีสงฆ์ และนำที่ดินทั้ง 2 แปลงให้บุคคลอื่นเช่าทำนา แสดงให้เห็นว่าวัดธรรมิการามวรวิหารได้เข้าครอบครองและรับเอาประโยชน์จากที่ดินทุกแปลงแล้ว ถือได้ว่าที่ดินของนางเนื่อมที่แสดงเจตนาไว้ในพินัยกรรมยกให้แก่วัด ตกเป็นที่ธรณีสงฆ์ทันทีที่นางเนื่อมถึงแก่ความตาย แม้จะยังไม่ได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์เป็นชื่อวัดก็ตาม
อันสอดคล้องกับความเห็นของที่ประชุมใหญ่คณะกรรมการกฤษฎีกา ที่กรมที่ดินนำมาพิจารณาประกอบการทำคำสั่งเพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนที่ดิน คำสั่งอธิบดีกรมที่ดินจึงเป็นคำสั่งที่ถูกต้อง การที่จำเลยพิจารณาอุทธรณ์ และมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดิน โดยจงใจละเลยข้อเท็จจริงต่างๆ ข้างต้น และยังจงใจตีความกฎหมายให้ผิดเพี้ยนไปจากความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2482 ที่ระบุให้กระทรวงถือปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา
ดังนั้น คำสั่งของจำเลย จึงเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยไม่ชอบ ถือเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแก่ผู้อื่น และก่อให้เกิดความเสียหายแก่วัดธรรมิการามวรวิหาร ทั้งยังทำลายศรัทธาของผู้ที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เช่นนางเนื่อม จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้อง พิพากษาจำคุก 2 ปี
ใครที่เกี่ยวข้องกับการโกงที่ธรณีสงฆ์อัลไพน์ มักไม่มีจุดจบที่ดี ไม่ว่าจะเป็นนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ หรือครอบครัวชินวัตร ที่น่าแปลกก็มีแต่ นายเสนาะ เทียนทอง เท่านั้น ที่รอดบ่วงกรรมเพราะคดีขาดอายุความ
ย้อนรอยกลับไปร่วม 40 กว่าปีแล้วที่ที่ดินผืนนี้มีปัญหา โดยเมื่อ 20 พ.ย. 2512 “ยายเนื่อม” ได้บริจาคที่ดิน 924 ไร่ 2 งาน 75 ตร.ว.ที่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานีให้วัดธรรมิการามวรวิหาร ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและสืบทอดพระศาสนาให้ดำรงสืบไป จากนั้นอีก 2 ปียายเนื่อมก็เสียชีวิต ที่ดินดังกล่าวจึงตกเป็นที่ธรณีสงฆ์ดังคำพิพากษาของศาล
แต่ทว่ามูลนิธิฯ กลับมีการนำที่ดินดังกล่าวไปขายให้บริษัท อัลไพน์เรียลเอสเตท จำกัด และบริษัท อัลไพน์กอล์ฟแอนด์ สปอร์ต คลับ จำกัด โดยซื้อขายกันในวันที่ 31 ส.ค. 2533
ที่ต้องขีดเส้นใต้เอาไว้ก็คือ บริษัททั้งสอง มีผู้ถือหุ้นคือ นางอุไรวรรณ เทียนทอง ภริยานายเสนาะ นายวิทยา เทียนทอง และนายชูชีพ หาญสวัสดิ์ โดยขณะนั้น นายเสนาะ ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งกำกับดูแลกรมที่ดิน
และที่เด็ดที่สุดอยู่ตรงที่ หลังที่ธรณีสงฆ์ของยายเนื่อมตกเป็นของ บริษัท อัลไพน์เรียลเอสเตท จำกัด และบริษัท อัลไพน์กอล์ฟแอนด์ สปอร์ต คลับ จำกัด และจัดการแปลงสภาพเป็นสนามกอล์ฟสำเร็จสมใจนึก ในปี พ.ศ.2540 ก็มีการขายต่อให้กับ “คุณหญิงพจมาน” ซึ่งขณะนั้นดำรงสถานะเป็นภริยาที่ถูกต้องตามกฎหมายของ นช.ทักษิณ ชินวัตร ในราคา 500 ล้านบาท
ซื้อและขายทั้งที่รู้อยู่เต็มหัวใจทั้งสองฝ่ายว่า ที่ดินผืนดังกล่าวคือที่ธรณีสงฆ์ที่ยายเนื่อม บริจาคให้วัดธรรมมิการามวรวิหาร และซื้อและขายทั้งๆ ที่รู้อยู่เต็มหัวใจทั้งสองฝ่ายเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
กลายเป็นปัญหาเรื้อรังมาจนกระทั่งอธิบดีกรมที่ดิน มีคำสั่งเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2544 ให้ยกเลิกโฉนดที่แบ่งแยก และเพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนมรดกและการโอนขาย แต่นายยงยุทธ กลับไปออกคำสั่งเพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน นำมาสู่ความผิดถึงขั้นติดคุก 2 ปี ตามคำตัดสินของศาลฯ ดังกล่าวข้างต้น
แม้นายยงยุทธ จะยังมีสิทธิ์สู้ในชั้นอุทธรณ์และฎีกาอีกสองศาล แต่ขอให้รับรู้ไว้เถิดว่าใครที่เกี่ยวข้องกับการโกงที่ธรณีสงฆ์อัลไพน์ มักไม่มีจุดจบที่ดี