"ณ บ้านพระอาทิตย์"
"โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์"
ในที่สุดคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้ลงมติเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 ให้อุทธรณ์คดีการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 เฉพาะ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเพียงคนเดียว และลงมติไม่อุทธรณ์คดีนี้กับนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น
ในบรรดาจำเลยทั้งหมดมีเพียง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เท่านั้นที่ได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ภายหลังจากการเกิดเหตุการใช้ความรุนแรงด้วยระเบิดแก๊สน้ำตาที่ไม่ได้มาตรฐานกับพี่น้องประชาชนจนบาดเจ็บจำนวนมากในช่วงเช้า อีกทั้งในเหตุการณ์ดังกล่าวก็ไม่ได้มีการปฏิบัติจากเบาไปหาหนักตามมาตรฐานสากล
ส่วนจำเลยที่เหลือทั้งหมดต่างอยู่ในตำแหน่งและรับรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ก็ได้ใช้ความรุนแรงกับพี่น้องประชาชนตั้งแต่เช้ามืดจนถึงตอนกลางคืน แม้กระทั่งรัฐสภาเลิกประชุมและกลับบ้านไปหมดแล้ว ก็กลับใช้ระเบิดแก๊สน้ำตายิ่งใส่พี่น้องประชาชนจนเกิดเหตุการณ์เสียชีวิตของน้องโบว์ หรือ น.ส. อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ
น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ (น้องโบว์) ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์การสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นองค์ประธานในงานพระราชทานเพลิงศพ ตรัสชมน้องโบว์กับครอบครัวว่า :
"เป็นเด็กดี ที่ช่วยชาติ ช่วยสถาบันพระมหากษัตริย์"
ความจริงไม่เพียง "น้องโบว์"เท่านั้น แต่ยังมีผู้ที่บาดเจ็บ พิการแขนขาขาด อีกจำนวนมากที่ถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรมในการสลายการชุมนุมในวันนั้น
ในสังคมต่างทราบดีกันอยู่แล้วว่า พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ จำเลยในคดีนี้ซึ่งเป็นน้องชายแท้ๆของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์ของรัฐบาลชุดนี้ สังคมจึงเฝ้าติดตามตลอดว่าจะเกิดความเป็นธรรมในคดีนี้ในช่วงรัฐบาลที่เกิดขึ้นมาจากการรัฐประหารที่มีสายสัมพันธ์กับ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ หรือไม่?
ระหว่าง "เด็กดี ที่ช่วยชาติ ช่วยสถาบันพระมหากษัตริย์" กับ "น้องชายของรองนายกรัฐมนตรี" รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ทหารเสือพระราชินี จะเลือกตัดสินใจอย่างไร?
เพราะเรื่องนี้ถึงอย่างไร พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ไม่สามารถปัดความรับผิดชอบใดๆได้อยู่ดี เพราะ:
1.เป็นผู้ถืออำนาจรัฏฐาธิปัตย์อยู่ในมือ
2. เป็นผู้ใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ส่งสัญญาณโดยใช้คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 93/2557 เพื่อประโยชน์ของคนๆเดียว โดยยกโทษปลดออกจากราชการให้พลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2557
3. เป็นผู้เลือกใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2558 เปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์ประกอบกรรมการสรรหาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติที่ว่างลง 5 ตำแหน่ง โดยให้ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำหน้าที่แทนประธานสภาผู้แทนราษฎร และ ให้รองนายกรัฐมนตรีที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย (แทนผู้นำฝ่ายค้าน) ทำให้การคัดสรรมีสัดส่วนจากอำนาจของฝ่ายรัฐบาล คสช. ได้เพิ่มมากขึ้น
4. สภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งถูกแต่งตั้งมาโดยการคัดสรรในยุค คสช. ได้ลงมติเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 เห็นชอบผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญจำนวน 5 คน เป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้แก่ พลตำรวจเอกวัชรพล ประสารราชกิจ เป็นประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พร้อมด้วยกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจิรตแห่งชาติอีก 4 คน คือ นายวิทยา อาคมพิทักษ์, นางสุวณา สุวรรณจูฑะ, นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร, พลเอกบุณยวัจน์ เครือหงส์
5. วันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2559 ปรากฏเป็นข่าวว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีการประชุมกัน 7 คน จากทั้งหมด 9 คน และ ลงมติ 6 ต่อ 1 เสียง เห็นชอบตามความเห็นของสำนักกฎหมายว่าสามารถถอนฟ้องคดีตามมาตรา 35 ของประมวลวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งระบุว่า โจทก์สามารถยื่นคำร้องขอถอนฟ้องในเวลาใดก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้น มีเพียงนางสุภา ปิยะจิตติ เท่านั้นที่ลงความเห็นไม่เห็นด้วย
โดยเสียง 5 ใน 6 คนที่ลงมติเห็นชอบนั้นก็คือเสียงเดียวกันที่ได้มาจาก คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหม่ที่ผ่านโครงสร้างการคัดสรรและอำนาจของ คสช.ทั้งสิ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปฏิเสธไม่ได้ว่า พลตำรวจเอกวัชรพล ประสาราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ท่านใหม่นี้ ได้รับความไว้วางใจและมีความใกล้ชิดกับครอบครัว 2 พี่น้อง วงษ์สุวรรณ อย่างยิ่ง
พลตำรวจเอกวัชรพล ประสาราชกิจ ได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามคำสั่งของ พลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2551 (รวมถึงช่วงเวลา 7 ตุลาคม พ.ศ. 2551) และในปี พ.ศ. 2552 จึงได้รับรางวัลเลื่อนยศเป็นพลตำรวจเอก และดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
หลังการรัฐประหารเพียงแค่ 2 วัน เท่านั้น วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 พลตำรวจเอกวัชรพล ประสารราชกิจ ก็ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปฏิบัติหน้าที่รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
31 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 พลตำรวจเอกวัชรพล ประสารราชกิจ ดำรงตำแหน่ง เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
16 กันยายน พ.ศ. 2557 พลตำรวจเอกวัชรพล ประสารราชกิจ ได้รับความไว้วางใจให้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณในฐานเป็น รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (รองนายกรัฐมนตรีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ)
ดังนั้นเมื่อได้คนที่ใกล้ชิดกับครอบครัว "วงษ์สุวรรณ" ดังที่กล่าวมาข้างต้น มาเป็นประธาน ป.ป.ช. โดยอาศัยอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ทั้งทางตรงและทางอ้อมดังที่กล่าวมาข้างต้น จะให้รัฐบาลชุดนี้ทำเป็นไม่รู้เรื่องการไม่อุทธรณ์คดีนี้กับ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ โดยอ้างว่าเป็นอำนาจของ ป.ป.ช. คงจะไม่ได้
เพราะพฤติการณ์ก่อนหน้านี้ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ก็ได้มีความพยายามที่จะถอนฟ้องคดีนี้มาอยู่แล้ว จริงหรือไม่?
และการเคยส่งสัญญาณที่ให้ศึกษาการถอนฟ้องนั้น จะให้มั่นใจได้อย่างไรว่าการต่อสู้คดีความนี้จะเป็นการมอบอำนาจให้ทนายความเป็นไปอย่างเอาจริงเอาจังหรือไม่ เพราะแม้ทนายความของพันธมิตรฯซึ่งเป็นผู้รวบรวมพยานหลักฐานมากที่สุดกลับไม่มีโอกาสที่จะเป็นพยานเบิกความขึ้นในชั้นศาลในคดีด้วยเลย จริงหรือไม่?
สิ่งที่สังคมไทยควรตระหนักคือคดีนี้มีมูลจนศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษามาแล้วในคดีหมายเลขดำที่ 1569/2552 ระหว่างนายชิงชัย อุดมเจริญกิจ (ผู้ที่แขนขวาขาดจากการสลายการชุมนุม) กับพวกรวม 250 คน ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องที่ 1 และสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องที่ 2 โดยศาลพิพากษาความตอนท้ายเอาไว้ว่า:
"ส่วนที่ผู้ถูกฟ้องอ้างว่า ที่ต้องสลายการชุมนุมเพราะผู้ชุมนุมมีการปลุกระดมให้ผู้ชุมนุมเข้าไปทำร้ายสมาชิกรัฐสภา ที่อยู่ในอาคารรัฐสภาและปลุกระดมให้บุกไปที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลเพื่อทำลายทรัพย์สินของทางราชการนั้น ศาลเห็นว่า ในวันดังกล่าวผู้ชุมนุมมีจำนวนหลายหมื่นคน หากถูกยุยงปลุกระดมให้ทำลายสถานที่ราชการ หรือเข้าจับตัวสมาชิกรัฐสภาจริง ลำพังกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2,500 นาย ก็ไม่อาจต้านทานมวลชนนับหมื่นได้ การอ้างดังกล่าวเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อให้เหมาะสมกับเหตุในการสลายการชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยรูปแบบขั้นตอนตามแผนกรกฏ/48 จึงไม่อาจรับฟังได้
และที่อ้างว่าผู้ชุมนุมกระทำการละเมิดต่อกฎหมาย ต่อสู้ขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่โดยใช้กำลังและอาวุธ ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องใช้มาตรการหนักกับผู้ชุมนุมเห็นว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจในการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมที่กระทำผิกกฎหมายได้อยู่แล้ว ส่วนปฏิบัติการเพื่อหยุดยั้งการกระทำผิดอันอ้างว่าละเมิดต่อกฎหมายนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบและแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด จะลัดขั้นตอนโดยใช้มาตรการที่รุนแรงไม่ได้ ประกอบกับกทม.ได้มีหนังสือแจ้งยืนยันว่า ไม่เคยได้รับการประสานขอรถดับเพลิงก่อนเกิดเหตุ แต่พึ่งมาขอตอนเย็นวันเกิดเหตุปรากฎตามรายงานของคณะกรรมการสิทธิฯ แสดงให้เห็นถึงการไม่ปฏิบัติตามแผนที่วางไว้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยจงใจข้ออ้างในส่วนนี้จึงไม่อาจรับฟังได้เช่นกัน
ส่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักนายกรัฐมนตรีจะต้องรับผิดในผลเพียงไรนั้น ศาลเห็นว่า เมื่อศาลวินิจฉัยแล้วว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้กระทำละเมิดต่อผู้ชุมนุม รวมทั้งผู้ฟ้องคดีทั้ง 250 คนแล้ว และข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นายสมชาย นายกรัฐมนตรี ขณะนั้นได้รับทราบจากสมาชิกรัฐสภา ที่ลุกขึ้นคัดค้านการแถลงนโยบายของนายสมชายว่าด้านนอกสภามีการสลายการชุมนุม ประชาชนบาดเจ็บแต่นายสมชาย ก็กลับไม่ได้ใส่ใจ แม้จะมีการปิดประชุมสภาเมื่อเวลา 11.30 น. ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงใช้กำลังและอาวุธในการสลายการชุมนุมอีก
นายสมชาย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.ในขณะนั้นก็ได้รับทราบข่าวสารการชุมนุม ซึ่งบุคคลทั้ง 3 มีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและเป็นผู้บริหารประเทศกลับไม่ได้สนใจใยดี หรือสั่งห้ามการกระทำอันเป็นการละเมิดต่อกฎหมายแต่อย่างไร สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ป.ป.ช.สอบสวนและมีความเห็นว่า การละเว้นการปฏิบัติหน้าของบุคคลที่ 3 เป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏฺบิติหน้าที่ ที่มิชอบด้วยกฎหมายเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และคณะกรรมการสิทธิฯ มีความเห็นว่า บุคคลทั้ง 3 กระทำผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ ฆ่า และ ตามประมวลกฎหมายอาญา และละเมิดสิทธิมนุษยชน
ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานนายรัฐมนตรี ในฐานะผู้ถูกฟ้องต้องรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดของบุคคลทั้ง 3 ที่สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติการเพื่อสลายการชุมตามขั้นตอนแผนกรกฏ/48 แต่เป็นการกระทำเกินกว่าเหตุอันเป็นการกระทำละเมิดตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประกอบมาตรา 8 มาตรา 10 ของพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539"
การต่อสู้คดีความนี้จึงมีช่องว่างที่จะอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ถ้ามีความตั้งใจและเอาจริงเอาจัง แต่กลับปรากฏว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติชุดนี้ กลับลงมติตัดตอนให้อุทธรณ์เฉพาะ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ทั้งๆที่ ทั้งนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ, และ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ศาลฎีการแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ไม่ได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ และเสียงคำวินิจฉัยส่วนตนของผู้พิพากษา 1 เสียงที่เห็นว่าจำเลยทั้ง 3 ที่เหลือก็มีความผิดด้วยนั้นก็มีน้ำหนักเสียด้วย เพราะมีเนื้อหาสอดคล้องกับมติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติชุดเดิม
สังคมไทยจะประดิษฐ์วาทกรรมสวยหรูว่าจะปราบโกงเท่าไหร่ก็ไม่มีใครเชื่อ ถ้ายังมีการล้มกระดานกระบวนยุติธรรมเพื่อประโยชน์ของพวกพ้อง
บางคดีผู้บังคับบัญชาในสายอำนาจทางการเมืองต้องรับโทษถ้าไม่ใช่พวกตนเอง
บางคนปล่อยให้หลบหนีศาลได้ถ้าจะเป็นหุ้นส่วนในอำนาจทางการเมืองของพวกตัวเอง
บางคดีโยนให้เป็นเรื่องผู้ใต้บังคับบัญชาให้กลายเป็นเหยื่อเพียงลำพังอย่างอำมหิตเพื่อตัดตอนไม่ให้ได้ลงโทษผู้กระทำความผิดตัวจริงที่เป็นพรรคพวกของตนเอง
ความน่าห่วงไม่เพียงจะเกิดขึ้นกับเรื่องความอยุติธรรมในกระทำความผิดในอดีตเท่านั้น แต่การยึดองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญทั้งหมดให้ไม่สามารถตรวจสอบได้จริง ปิดกั้นการชุมนุม ควบคู่ไปกับอภิมหาโครงการที่กำลังจะงาบกันอยู่จำนวนมากนั้น ขืนปล่อยให้กระบวนการอยุติธรรมเป็นเช่นนี้ต่อไปโดยไม่แก้ไขใดๆ เหิมเกริมย่ามใจกันแบบนี้ประเทศไทยจะต้องเกิดวิกฤติขึ้นอีกอย่างแน่นอน
ถ้าเป็นเช่นนั้น จะน่าเสียดายยิ่งกว่าถ้า คสช. หรือ "คณะรักษาความสงบแห่งชาติ" เข้าสู่อำนาจแล้วทำรัฐประหารเสียของ กลายเป็น "คณะสมบัติผลัดกันชม" เท่านั้น จริงหรือไม่ !!!?