ผู้จัดการสุปสัปดาห์ - ถึงที่สุดแล้ว สัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่าง ปตท.กับเซเว่น-อีเลฟเว่น (7-11) ก็เดินมาถึงจุดสิ้นสุด จะดีหน่อยก็ตรงที่บอกกล่าวล่วงหน้าก่อนอำลาจากในวันสิ้นสุดสัญญาอันยาวนาน นี่เป็นวิถีทางแห่งธุรกิจที่ต้องดำเนินไปเช่นนี้
ต้องถือว่าช่วงที่ผ่านมาที่ ปตท. เปิดเกมรุกขยายปั๊มเพื่อชิงส่วนแบ่งทางการตลาดอย่างก้าวร้าว จนถึงวันนี้ถือได้ว่าปั๊ม ปตท. เป็นแบรนด์ที่ครองใจลูกค้าอันดับหนึ่ง ด้วยมาร์เก็ตแชร์กว่า 40% ทิ้งห่างปั๊มคู่แข่งชนิดไม่เห็นฝุ่น
ดูจากยอดขายน้ำมันของปั๊ม ปตท. ที่โตมากกว่าตลาดรวม ดังที่นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงยอดขายธุรกิจน้ำมันในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 ว่า ปตท. มีส่วนแบ่งตลาด 40.7 - 40.8% คิดเป็นปริมาณการขายรวม 9.8 พันล้านลิตร เพิ่มขึ้น 4.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงกว่าภาพรวมตลาดที่เติบโต 1.5%
กลเม็ดเด็ดในการขยายสาขาของปตท.ที่เลือก 7-11 เป็นพาร์ทเนอร์ให้เข้ามาตั้งสาขาในปั๊มเพื่อต่อจิ๊กซอร์ธุรกิจสามารถดูดเงินจากกระเป๋าลูกค้าอย่างครบครัน กลายเป็นโมเดลธุรกิจที่แข็งแกร่ง เรียกได้ว่า WIN-WIN กันทั้งสองฝ่าย เพราะ 7-11 ประสบความสำเร็จในการขยายสาขาพร้อมกับเก็บเกี่ยวรายได้จากสาขาในปั๊ม ปตท. อย่างงดงาม ขณะที่ ปั๊ม ปตท. ก็เรียกลูกค้าเข้าเติมน้ำมันและใช้บริการอื่นๆ ที่อยู่ในเครือธุรกิจค้าปลีกของ ปตท. และพื้นที่ให้เช่าอย่างเป็นล่ำเป็นสัน
กระทั่งว่า ธุรกิจค้าปลีกและอื่นๆ ที่อยู่ในอาณาจักร ปั๊มน้ำมัน ปตท. ทำกำไรให้กับบริษัท จนเมื่อปีที่แล้ว ปตท. บริษัทแม่ เตรียมแผนแตกไปโต แยกธุรกิจค้าปลีก-น้ำมัน ออกไปตั้งบริษัทลูกเป็น บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (PTTOR) และดันเข้าตลาดหุ้น
โดยกระบวนการแยกธุรกิจค้าปลีกและน้ำมัน ปตท.กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ เสนอเรื่องให้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา เนื่องจาก ปตท.ยังมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจพลังงานแห่งชาติอยู่ด้วย การแบ่งแยกทรัพย์สินออกมาจากรัฐวิสาหกิจเพื่อมาเป็นเอกชนเต็มร้อยจึงต้องรอบคอบไม่ให้ซ้ำรอยกรณีการแยกท่อก๊าซฯ ดังนั้น กระบวนการโอนทรัพย์สินธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก มูลค่าราว 1.2 แสนล้านบาทให้กับ PTTOR จึงล่าช้าจากเป้าหมายเดิมในวันที่ 1 ก.ค. 2560 และอาจทำให้มูลค่าการโอนทรัพย์สินเปลี่ยนแปลงไป
หากศึกษาโมเดลการดำเนินธุรกิจของบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งในไทยและทั่วโลก จะเห็นสัจธรรมอย่างหนึ่งว่าเมื่อพาร์ทเนอร์ที่ร่วมวงธุรกิจในยุคบุกเบิกร่วมแรงร่วมใจบุกตลาดหนุนส่งซึ่งกันและกันจนติดลมบนแล้ว ก็มักจะลงเอยด้วยการแยกทางกันเดิน อย่างเสริมสุข-เป๊ปซี่ หรือเบอร์ลี่ยุคเกอร์ ที่เคยปลุกปั้นมาหลายแบรนด์
แม้แต่ ปตท.เองก็เดินตามแนวทางนี้ก่อนที่จะถึงคิวของ 7-11 ก็เคยมีกรณี “บ้านไร่กาแฟ” คราครั้งนั้น เมื่อปตท. ซื้อกิจการปั๊มเจ็ท ปตท.ก็เลิกสัญญากับ บ้านใร่กาแฟ ในปั๊มเจ็ททุกสาขาซึ่งเป็นพันธมิตรมานาน เนื่องจากปตท.มีแบรนด์ “กาแฟอเมซอน” เข้ามาเสียบแทน จนธุรกิจของบ้านใร่กาแฟ ต้องระเห็จและสะดุดไปนาน
ดังนั้น ทำนายอนาคตได้เลยว่า ถึงแม้ 7-11 จะเป็นพันธมิตรธุรกิจกับ ปตท.มาอย่างยาวนาน เมื่อ ปตท. ซึ่งซื้อปั๊มเจ๊ท และมีร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่ อยู่ในในมือ สุดท้าย ปตท. ก็ต้องเลือกปั้นแบรนด์จิฟฟี่ เขี่ยทิ้ง 7-11 แม้ว่า 7-11 จะเป็นแม่เหล็กดึงดูดลูกค้าเพียงไหนก็ตาม
และเชื่อว่า ด้วยพลังการทำธุรกิจแบบ ปตท. ร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่ ของ ปตท. ต้องเข้ายึดหัวหาดแทน 7-11 ทั้งหมด หลังหมดสัญญาในอีก 6 ปีข้างหน้า และไม่ใช่แค่ปั้มในไทยเท่านั้น แต่แผนของปตท.ในการขยายสาขาของจิฟฟี่ ยังรุกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน CLMV อีกด้วย
ดังที่ นายสรัญ รังคสิริ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาการมอบสิทธิ์ในการจำหน่ายแฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อ “จิฟฟี่” (มาสเตอร์ เฟรนไชส์) ในประเทศลาวทั้งหมด ระหว่าง บริษัท ปตท.บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด (PTTRM) และบริษัท ปตท.(ลาว) จำกัด เปิดเผยว่า ในอนาคต ปตท.มีแผนเปิดร้านสะดวกซื้อ “จิฟฟี่” ในรูปแบบเฟรนไชส์ในประเทศกัมพูชาและฟิลิปปินส์ โดยในปี 2560 บริษัทฯ วางเป้าหมายที่จะเปิดร้านสะดวกซื้อ “จิฟฟี่” ในประเทศลาวเป็น 19 แห่ง โดยมีแผน 5 ปีจะเพิ่มขึ้นเป็น 97 แห่ง หรือ 160 แห่งในอาเซียนจากปัจจุบันที่มีอยู่ในลาว 19 แห่ง กัมพูชา 13 แห่ง และฟิลิปปินส์ 1 แห่ง
แผนปูพรมขยายสาขาร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่ทั้งในไทยและต่างประเทศนี้มีความชัดเจนมาก ฟังจากการแถลงข่าวของ นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปตท.บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด (PTTRM) ผู้บริหารสถานีบริการน้ำมันปตท.-จิฟฟี่ ที่มั่นใจว่าจิฟฟี่จะสามารถเข้าไปแทนร้านสะดวกซื้อเซเว่น-อีเลฟเว่น ในสถานีบริการน้ำมันปตท.ได้หลังหมดสัญญาระหว่างปตท.กับเซเว่น อีเลฟเว่นในอีก 6ปีข้างหน้า
ซึ่งนั่นเป็นจิตเจตนาที่แท้จริงของ ปตท. แม้ว่าในวันหลัง ปตท. บริษัทแม่ และ ซีพีออลล์ จะออกมาพูดจาภาษาดอกไม้ว่าเรายังจะร่วมธุรกิจกันและยังจะขยายสาขาออกไปอีกมากมายก็ตาม
เธอยังบอกว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่ โดยมีแผนตั้งศูนย์กระจายสินค้า (DC) ที่วังน้อยจากเดิมที่เช่าที่ดินทำศูนย์กระจายสินค้าที่ปทุมธานี รวมทั้งหันมาเน้นจำหน่ายอาหารพร้อมปรุงมากขึ้นจากเดิม 30-40% เป็น 70% เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการความรวดเร็ว ทำให้มั่นใจว่าจิฟฟี่จะสามารถเข้าไปแทนร้านสะดวกซื้อเซเว่น-อีเลฟเว่นในสถานีบริการน้ำมันปตท.ได้หลังหมดสัญญา
“ปตท.มีสัญญากับ 7-11 เหลืออยู่อีก 6 ปี โดยทยอยหมดสัญญาไป โดย PTTRM มีความมั่นใจว่าจิฟฟี่สร้างความเข้มแข็งได้ทันเพื่อแทนที่ร้านเซเว่น อีเลฟเว่นที่ปัจจุบันมีอยู่ในปั๊มปตท.ราว 1,100 แห่งทั่วประเทศ ขณะที่ปั๊มปตท.-จิฟฟี่ที่ PTTRM บริหารงานอยู่มี 149 สาขาที่มีร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่”
PTTRM ได้วางงบลงทุน 5 ปีข้างหน้า (2561-2565) อยู่ที่ 1.1 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่ใช้ในการขยายปั๊มน้ำมันปตท.ราว 70% ของงบลงทุน โดยวางเป้าหมายขยายปั๊มน้ำมันปตท.-จิฟฟี่ ปีละ6 สาขา โดยจะเป็นปั๊มน้ำมันขนาดใหญ่ มีพื้นที่ 6-7 ไร่ เพื่อปลดล็อกขนาดพื้นที่ร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่ให้ใหญ่กว่า 279 ตารางเมตร และยังมีรายได้จากการให้เช่าพื้นที่ร้านค้าต่างๆ รวมทั้งมีจุดพักรถเพิ่มขึ้นเพื่อให้บริการลูกค้า
นอกจากนั้น บริษัทฯยังมีนโยบายที่จะปลดล็อกเงื่อนไขสัญญาจากเซเว่น-อีเลฟเว่น ที่ห้ามไม่ให้ขยายปั๊มปตท.-จิฟฟี่ เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่มีอยู่ 149 สาขา นับตั้งแต่ซื้อกิจการ ConocoPhillips ประเทศสหรัฐอเมริกา
จิฟฟี่ เป็นร้านสะดวกซื้อขนาดใหญ่ที่มีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์มากกว่า 5,000 รายการ ตั้งแต่อาหารจานด่วน ขนมขบเคี้ยว เครื่องดี่ม สินค้าเบ็ดเตล็ด ไปจนถึงสินค้าเพื่อสุขภาพและสิ่งของจำเป็นในการเดินทาง จิฟฟี่เผยโฉมครั้งแรกในปี 2536 ในฐานะธุรกิจลูกของปั๊มน้ำมันเจ็ท ที่ดังเปรี้ยงปร้างในสมัยนั้น ด้วยความใหม่สดและสว่างไสว แต่อีก 14 ปีต่อมา พอเข้าสู่ปี 2550 บริษัทแม่ ConocoPhillips ก็ตัดสินใจขายธุรกิจเจ็ทและจิฟฟี่ทิ้ง ซึ่งเข้าทาง ปตท. ที่มีแผนจะสร้างปั๊มขนาดใหญ่ 200 แห่งพอดี
ปัจจุบันสถานีบริการน้ำมัน “ปตท.-จิฟฟี่” มีมาร์จิ้นหลักมาจากร้านกาแฟ “คาเฟ่ อเมซอน” รองลงมาเป็นร้าน “จิฟฟี่” มีสัดส่วน 23% ของผลกำไรรวม โดยปัจจุบันร้าน “จิฟฟี่” ในสถานีบริการน้ำมันปตท. มียอดขายเดือนละประมาณ 2.5 ล้านบาท
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่าจังหวะก้าวของ ปตท. ล้วนแต่สนับสนุนแนวคิดที่ว่า ปตท. จะดึงจิฟฟี่เสียบแทนเซเว่น- อีเลฟเว่น โดยจะเห็นได้ว่าทุกวันนี้ ปตท. เริ่มลงทุน บริหารจัดการ และซื้อมาสเตอร์แฟรนไชส์เองทั้งหมดแล้ว ในธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน หรือ นอน-ออยล์ (Non-oil) ดังตัวอย่างการตัดสัมพันธ์ บ้านใร่กาแฟ เพื่อสร้างแบรนด์ อเมซอน ขึ้นมาเอง กระทั่งบัดนี้ อเมซอนเป็นเชนร้านกาแฟที่มีสาขามากที่สุดในไทยด้วยเครือข่ายกว่า 1,000 - 1,500 สาขา ทั้งในปั๊มปตท.และนอกปั๊มปตท. ซึ่งมากกว่าเชนยักษ์อย่างสตาร์บัคส์ อีกด้วยที่มีสาขาในไทยประมาณ 300 กว่าสาขาเท่านั้นเอง
ทั้งที่เมื่อแรกเริ่มเดิมที ร้านกาแฟ อเมซอน นั้นเกิดมาจากความร่วมมือระหว่าง ปตท. กับ “อโรม่า กรุ๊ป” ที่เป็นพันธมิตรสร้างชื่อ อเมซอน มาด้วยกันไม่ต่ำกว่า 10 ปี ต่อมา ปตท. ไม่ต่อสัญญากับ อโรม่ากรุ๊ป และได้เข้าบริหารจัดการร้านกาแฟอเมซอนเองทั้งหมด
นอกจากนั้น ปตท.ยังเตรียมความพร้อมในส่วนของเชนอาหารในปั๊ม ปตท. ที่จะบุกไปพร้อมๆ กันกับร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่ โดยเชนอาหารที่ปตท.ซื้อแฟรนไชส์มาดำเนินการ เช่น ร้านอาหารฮั่วเซ่งฮง ร้านแด๊ดดี้โด ส่วนสินค้าที่พัฒนาขึ้นมาเอง เช่น ชานมไข่มุกเพิร์ลลี่ที, ร้านกาแฟอเมซอน และร้านก๋วยเตี๋ยวเรือ เป็นต้น
หันมามองเครือซีพี ต้องไม่ลืมว่า เครือซีพี มองเห็นโอกาสธุรกิจในการลงทุนด้านสถานีบริการน้ำมันและธุรกิจต่อเนื่องในปั๊มมาตั้งแต่ปี 2536 หรือสองทศวรรษกว่ามาแล้ว โดยได้เข้าร่วมทุนกับซิโนเปค วิสาหกิจด้านปิโตรเลียมรายใหญ่ของจีน และปตท.โดยสัดส่วนการถือหุ้น ซีพี 35% ปตท. 35% และ ซิโนเปค 30% โดยเปิดปั๊ม "ปิโตรเอเชีย" สัญญลักษณ์ช้างแดง และมีร้านสะดวกซื้อเซเว่น-อีเลฟเว่น เปิดให้บริการลูกค้า
ดร. ทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์ ผู้บริหารสูงสุดสายธุรกิจน้ำมัน เครือเจริญโภคภัณฑ์ เวลานั้น อาสาสานฝันเปิดศักราชใหม่ของธุรกิจปิโตรเคมีในเครือซีพี โดยเชื่อมั่นว่า กำลังของเครือซีพี ซิโนเปค และปตท. เครือซีพี หวังว่าจะเปิดธุรกิจปิโตรเลียมตั้งแต่กลั่นน้ำมันไปจนถึงขายปลีก ไม่เฉพาะแต่ในไทยและจะไปทั่วภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกด้วย
แต่ธุรกิจนี้ของเครือซีพีไม่เป็นไปตามที่มุ่งหวัง เมื่อเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง จึงได้เสนอขายปั๊ม "ปิโตรเอเชีย" ให้กับ ปตท. และในที่สุด บอร์ด ปตท. อนุมัติให้ซื้อปั๊มปิโตรเอเชีย 17 แห่ง ด้วยงบ 200 ล้านบาท ที่เหลือมีทำเลไม่เหมาะสม จากนั้น ที่ประชุม 3 ฝ่าย คือ ปตท. ซีพี และซิโนเปค เห็นชอบให้หยุดดำเนินธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน ปั๊มปิโตรเอเชีย จึงค่อยๆ เลือนหายไปจากความทรงจำเพราะทุกปั๊มเปลี่ยนเป็น ปตท.จนหมด
กระทั่งเมื่อปี 2545 ปตท.กับเครือซีพี จึงสานธุรกิจร่วมกันอีกครั้งโดยปตท.เซ็นสัญญาให้เซเว่น-อีเลฟเว่น เปิดร้านสะดวกซื้อในปั๊มน้ำมัน ปตท. เมื่อเดือนมี.ค. 2545 จนมาถึงปัจจุบัน
ถึงเวลานี้ สำหรับ 7-11 คงไม่ต้องการที่จะต้องเก็บกระเป๋าเพื่อเดินออกจากพื้นที่ปั๊ม ปตท. แน่นอนว่า ด้วยความเป็นเจ้าตลาดน้ำมันของปตท. ผู้บริโภคต้องเข้ามาใช้บริการมาก ลูกค้าก็ต้องมาซื้อของที่เซเว่นฯอยู่แล้ว อีกทั้ง จำนวน 1,400 สาขาในปั๊มนี้ ถือว่าเป็นสัดส่วนประมาณ10% ของเซเว่นฯทั่วประเทศซึ่งแม้จะไม่มากแต่ก็ถือว่าสำคัญ
ภายหลังปรากฏข่าวคราว ปตท. เตรียมทิ้ง 7-11นายสุวิทย์ กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ออกมาเปิดเผยว่า ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ได้ร่วมมือทางธุรกิจกับ ปตท. มาอย่างเหนียวแน่นยาวนานตั้งแต่ปี 2545 รวมแล้วกว่า 15 ปี ด้วยการคัดสรรสินค้าและบริการ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนและสังคมจนเป็นที่ยอมรับของคนไทยทั่วประเทศ ทั้งสององค์กรอยู่ระหว่างการขยายกิจการอย่างต่อเนื่อง ก็จะยังคงรักษาความเป็นพันมิตรที่ดีเพื่อเดินหน้าให้บริการแก่ประชาชนทั่วประเทศไปพร้อมๆ กัน
เช่นเดียวกันกับ ทางเพจ “PTT News” ได้โพสต์ว่า ปตท. ยืนยันยังคงร่วมธุรกิจกับเซเว่นอีเลฟเว่น หลังเป็นพันธมิตรที่ดีกันมายาวนาน โดย นายสุชาติ ระมาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่การตลาดขายปลีก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท. ยืนยันเดินหน้าธุรกิจค้าปลีกในประเทศด้วยการจับมือกับร้านเซเว่นอีเลฟเว่นเปิดให้บริการในสถานีบริการ ปตท. ในฐานะพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความสัมพันธ์อันดีกันมายาวนาน โดยปัจจุบันมีร้านเซเว่นอีเลฟเว่น เปิดให้บริการในสถานีบริการ ปตท. แล้วกว่า 1,400 แห่งทั่วประเทศ และยังคงมีแผนงานที่จะร่วมกันขยายให้มีจำนวนรวมกว่า 1,700 แห่ง ในอีก 4 - 5 ปีนี้
ปัจจุบันร้านเซเว่นอีเลฟเว่น มีทั้งหมด9,788 สาขา (สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2560) โดยซีพีออลล์ ตั้งเป้าหมายที่จะเปิดให้ครบ 13,000 สาขา ภายในปี 2564 ขณะที่ยอดขายรวมในปี 2559 มีรายได้รวมประมาณ 451,939 ล้านบาท ผลกำไรสุทธิที่ 16,677 ล้านบาท นั่นหมายความว่า ถ้าเซเว่นฯ หลุดจากปตท. รายได้ก็ต้องหายไปไม่ต่ำกว่า 10% จากทั้งหมดที่มีอยู่แน่นอน
หันมามองกลยุทธ์การขยายสถานีน้ำมันของปตท. จะมีการพัฒนาเป็นรูปแบบใหม่เพื่อให้เหมาะกับการขยายเครือข่ายในพื้นที่เขตเมือง และถนนสายรองในต่างจังหวัด โดยตั้งเป้าหมายจะมีจำนวนสถานีน้ำมันประมาณ 1,800 แห่ง ภายใน 5 ปี จากสิ้นปี 2559 อยู่ที่ 1,535 แห่ง ส่วนธุรกิจร้านกาแฟอเมซอน ตั้งเป้าครบ 2,700 แห่ง ภายใน 5 ปี นอกจากนี้ ปตท.ยังจะบริหารแบรนด์ค้าปลีก เช่น เท็กซัสชิคเก้น ฮั่วเซ่งฮง ฯลฯ โดยจะขยายในพื้นที่ที่มีศักยภาพ รวมถึงจัดหาแบรนด์ใหม่เข้ามาต่อเนื่อง
ไม่ว่าความชัดเจนในอีกสองสามปีข้างหน้าระหว่างปตท.กับเซเว่น-อีเลฟเว่น จะลงเอยอย่างไรก็ตาม หาก ปตท.ตัดสินใจไม่เอา เซเว่นฯ แล้วในอนาคต คิวต่อไปคงต้องจับตาดู ร้านไก่ทอดเคเอฟซี อีกแบรนด์ ที่เป็นพันธมิตรกับ ปตท. มานาน เมื่อ ปตท. มีแบรนด์ตัวเองแล้วที่ชื่อว่า เท็กซัสชิกเก้น ที่ซื้อมาสเตอร์แฟรนไชส์มาจากอเมริกาเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งช่วงแรกนี้ ปตท.วางแผนขยายสาขาตามศูนย์การค้าก่อนเช่น เซ็นทรัลเวสต์เกต ซีคอนสแควร์ เป็นต้น
เมื่อถึงวันที่เท็กซัสชิคเก้น ยกพลเข้ามาใน ปั๊มปตท. แล้ว เคเอฟซี จะอยู่ได้อย่างไร นั่นเป็นอีกสเตปที่น่าจับตาว่า เคเอฟซี จะมีชะตากรรมเช่นเดียวกันกับ เซเว่น อีเลฟเว่น หรือไม่??