xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

บูรณะ“พระปรางค์” วัดอรุณ ช่างฝีมือไม่ถึง?? ไม่ใช่แค่ดรามา แต่ถามหาความรับผิดชอบจาก “กรมศิลป์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - คงไม่ใช่แค่เรื่อง “ดรามา” ที่จะมองข้ามกันไปได้ง่ายๆ สำหรับผลงานการบูรณะ “พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร” หรือ “วัดแจ้ง” ของกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เพราะไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใด ก็ต้องยอมรับว่า สภาพของพระปรางค์ที่ปรากฏต่อสายตาของสาธารณชนนั้น ผิดแผกแตกต่างไปจากพระปรางค์องค์เก่าที่คนไทยเคยเห็น “มากพอสมควร”

แน่นอน ข้อสังเกตบางเรื่องอย่างเช่นกรณี “ความขาว” ที่ถูกโจมตีว่า “ขาวจั๊วะ” เป็นเรื่องที่สามารถอธิบายได้ แต่ก็ต้องยอมรับเช่นกันว่า “ฝีไม้ลายมือ” ที่ใช้ในการรังสรรค์ของ “ช่าง” ในการบูรณะพระปรางค์ที่คนไทยทั้งประเทศรู้จัก และนักท่องเที่ยวต่างชาติคุ้นเคยในฐานะ “แลนมาร์คแห่งกรุงรัตนโกสินทร์” นั้นสร้าง “ความเคลือบแคลงใจ” อยู่ไม่น้อย

จะไม่ถึงขั้นด้วยฝีมือไม่สามารถเทียบเคียงกับช่างยุคเก่าก่อน หรือไม่ถึงขั้นด้วยความไม่ใส่ใจที่เพียงพอ คำถามเหล่านี้ ดูจะเป็นเรื่องใหญ่ที่ผู้รับผิดชอบจำต้องอธิบายด้วยสังคมให้ได้รับทราบ รวมถึงประเด็นที่พบว่า ทางวัดนำเศษกระเบื้องบางส่วนไปทำเป็นมวลสารในการจัดสร้างวัตถุมงคล โดยใช้ชื่อว่า “พระสมเด็จ วัดอรุณ ที่รฤก 191 ปี เนื้อผงมวลสารกระเบื้องพระปรางค์” ที่บางคนยังค้างคาใจ

ส่วนประเภทที่ “ดรามา” กันเลยเถิดถึงขั้นนำภาพ “ปรางค์ทิศ” ไปเปรียบเทียบกับ “ปรางค์ประธาน” ขยายความกันไปแบบมั่วๆ ซั่วๆ จนถึงขั้นกล่าวได้ว่า จับผิดแบบไม่มีสติ ก็เป็นอุทธาหรณ์ชั้นดีในโลกสังคมออนไลน์

กำเนิดแห่งวัดอรุณฯ
“วัดอรุณราชวราราม” มีชื่อเดิมว่า “วัดมะกอกนอก” ต่อมาเมื่อครั้งที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีพระราชประสงค์จะย้ายราชธานีมาตั้ง ณ กรุงธนบุรีจึงเสด็จกรีธาทัพล่องลงมาทางชลมารคถึงหน้าวัดมะกอกนอกนี้เมื่อเวลารุ่งอรุณพอดี จึงทรงเปลี่ยนชื่อวัดมะกอกนอกเป็น “วัดแจ้ง” เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งนิมิตที่ได้เสด็จมาถึงวัดนี้เมื่อเวลาอรุณรุ่ง

วัดอรุณฯ หรือวัดแจ้งในขณะนั้นถือเป็นวัดประจำวัง เพราะอยู่ในเขตของพระราชวังเดิม จึงไม่มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษา

และที่คนไทยหลายคนอาจยังไม่รู้ก็คือ ในรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าตากสินนั้น วัดแจ้งแห่งนี้ยังเคยเป็นที่ประดิษฐานของ “พระแก้วมรกตและพระบาง” อีกด้วย โดยได้อัญเชิญมายังประเทศไทยเมื่อครั้งที่ไปตีเมืองเวียงจันทน์ในปี พ.ศ.2322 ซึ่งต่อมาพระแก้วมรกตได้ย้ายมาประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมหาราชวัง ส่วนพระบางนั้นสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้โปรดพระราชทานคืนนครเวียงจันทน์

อย่างไรก็ดี วัดอรุณฯ ถือเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๒ เนื่องจากในขณะที่พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งเป็นวังหน้าในรัชกาลที่ 1 นั้น พระองค์ได้ประทับอยู่ที่พระราชวังเดิมแห่งนี้ และได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้เป็นการใหญ่ รวมถึงได้เปลี่ยนชื่อวัดจากวัดแจ้งมาเป็น “วัดอรุณราชธาราม” ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็น “วัดอรุณราชวราราม” ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔

ขณะที่ในส่วนของ “พระปรางค์” ที่เห็นในปัจจุบันนี้ ไม่ใช่พระปรางค์องค์เดิมที่มีมาตั้งแต่แรก พระปรางค์องค์เดิมนั้นสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีความสูงเพียง 8 วา หรือ ประมาณ 16 เมตร เท่านั้น แต่พระปรางค์ที่เห็นกันในปัจจุบันนี้ได้มีการต่อเติมขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๓ เมื่อคราวที่ทรงปฏิสังขรณ์วัดอรุณฯ ใหม่หมดทั้งวัด พระปรางค์องค์ที่บูรณะใหม่นี้มีขนาดความสูงจากฐานถึงยอด 81.85 เมตร ที่น่าทึ่งก็คือ การที่จะสร้างพระปรางค์องค์สูงใหญ่อยู่ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำ และยังคงแข็งแรงมาจนถึงทุกวันนี้ได้นี้แสดงว่าฝีมือของช่างในสมัยนั้นไม่ธรรมดาเลยทีเดียว

ทั้งนี้ องค์พระปรางค์ประกอบด้วย 3 ส่วนหลักๆ คือ ฐาน เรือนธาตุ และเรือนยอด มีสัณฐานดุจเขาพระสุเมรุ ด้วยความกว้างราว 234 เมตร ส่วนตัวเรือนฐานทำการย่อมุมลง และเรือนยอดที่ซ้อนกันเป็นชั้นๆ ขึ้นไป ในแต่ละชั้นมีช่องรูปกินนรและกินรี เชิงบาตรเหนือช่องมีรูปมารแบกกระบี่แบกสลับกัน เหนือขึ้นไปเป็นซุ้มคูหารูปพระพายทรงม้า เหนือขึ้นไปเป็นยอดปรางค์มีรูปครุฑยุดนาคและเทพนมอยู่เหนือซุ้มคูหา ส่วนยอดปรางค์เป็นนภศูลปิดทอง

กลุ่มพระปรางค์ประกอบด้วยของปรางค์ประธานซึ่งมีความสูง 81.85 เมตร และปรางค์ทิศจำนวน 4 ปรางค์ เป็นปรางค์องค์เล็กก่ออิฐถือปูนประดับกระจกเคลือบสีแบบเดียวกับพระปรางค์องค์ใหญ่ ปรางค์ทิศตั้งอยู่มุมทักษิณชั้นล่างของปรางค์องค์ใหญ่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันตกเฉียงเหนือ ตะวันตกเฉียงใต้ ทิศละองค์

เส้นทางแห่งการบูรณะ
สำหรับการบูรณปฏิสังขรณ์นั้น พบว่า ทำอยู่เป็นระยะๆ ยกตัวอย่างเช่นใน บันทึกของกลุ่มอนุรักษ์จิตรกรรมและประติมากรรม สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร ที่รายงานการบูรณะในช่วงเดือนสิงหาคม 2451 สำเร็จ พ.ศ.2452 ซึ่งในครั้งนั้นมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปจากของเดิมหลายจุดด้วยกัน ได้แก่

หนึ่ง-วิหารคดด้านนอกเดิมเป็นเสาเฉลียงรอบ แก้เป็นเฉลียงปลายเต้า

สอง-เก๋งจีนด้านเหนือและใต้ เป็นเฉลียงปลายเต้าด้านตะวันตกเป็นเสาลอย แก้ให้เหมือนเดิม

สาม-ประตูพระปรางค์ เดิมมี 9 ประตู คงไว้ด้านหน้า 3 ด้านหลัง 2 รวม 5 ประตู

สี่- รูปกินนรในซุ้มโค้ง ใต้ฐานเชิงบาตร พระปรางค์เดิมมีกินนร การทำแบบเดิมจะแพงมาก จึงหล่อพิมพ์ปูนซีเมนต์

ห้า-แก้วิหารคด 4 มุม พระระเบียง อัญเชิญพระพุทธรูปปางประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพานขึ้นประดิษฐาน ณ พระมณฑปทิศ รอบพระปรางค์

จากนั้นใน ปี พ.ศ.2525 ได้มีการบูรณะเนื่องจากเนื่องในโอกาสสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี เช่น ฐานพระศรีมหาโพธิ์ สร้างถนน ปฎิสังขรณ์พระวิหาร ซ่อมองค์พระประธานในพระวิหาร พระระเบียงและวิหารคดบางส่วน ปฎิสังขรณ์พระอุโบสถ พระปรางค์ทิศ และการปฎิสังขรณ์พระปรางค์ใหญ่ โครงสร้างยักษ์แบกยังอยู่ในสภาพแข็งแรง ภายในเป็นดินเผาปั้นปูนประดับด้วยถ้วยเคลือบตัดนำมาประดับเป็นลายประดับเช่น เขี้ยว ลิ้น ฟัน เป็นต้น

นอกจากนี้ ในเว็บไซต์กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร ยังได้เปิดเผยข้อมูลการบูรณะใหญ่ และการล้างชำระคราบดำขององค์พระปรางค์ ว่า ปกติจะดำเนินการเป็นวงรอบโดยประมาณ 20-25 ปี ต่อครั้ง เช่น ปี 2549 ใช้งบประมาณ 9,260,000 บาท ปี 2550 ใช้งบประมาณ 2,000,000 บาท ปี 2555 ใช้งบประมาณ 5,000,000 บาท เป็นต้น

บูรณะครั้งล่าสุด ดรามากันสนั่นโลกโซเชียล
สำหรับการบูรณะครั้งล่าสุดนี้เริ่มเมื่อเดือนกันยายน 2556 มาแล้วเสร็จในปี 2560 นี้ ใช้งบประมาณในการดำเนินงานทั้งสิ้น 130 ล้านบาท และนำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งแผ่นดิน

ทั้งนี้ ปฐมเหตุของเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เกิดขึ้นจาก “ต่อตระกูล ยมนาค” ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม อดีตนายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่โพสต์รูปวัดอรุณฯ หลังจากมีการบูรณะ โดยระบุข้อความว่า “บูรณะแบบไหน ถึงมาแปลงโฉม พระปรางค์ วัดอรุณฯ เป็นโทนสีขาว แกะกระเบื้องสี หลากสี จากจานเคลือบสีโบราณล้ำค่าหายออกไปแล้ว ทำแบบนี้ ทำไม? ใครรู้ช่วยตอบด้วย”

จากนั้น โลกโซเชียลก็เด้งรับและวิพากษ์กันไปต่างๆ นานา โดยต่างแสดงความคิดเห็นไปในทำนองเดียวกันคือ รู้สึกเศร้าและเสียใจ พร้อมกับตำหนิกรมศิลปากร กลายเป็น “อุปาทานหมู่” วิพากษ์วิจารณ์กันแซ่ดทั้งแผ่นดิน

ประเด็นเรื่อง “ความขาว” ขององค์พระปรางค์เป็นหัวข้อแรกที่มีการวิพากษ์วิจารณ์มากสุด ตามมาด้วยเรื่อง “กระเบื้องสี” ที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่าหายไป หรือถูกนำไปทำมวลสารของวัตถุมงคล และปิดท้ายด้วยเรื่อง “ฝีมือที่ไม่ถึงขั้น”

เบื้องแรก พระศากยปุตติยวงศ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดอรุณราชวรารามฯ ประธานโครงการบูรณะฯ ออกมาชี้แจงว่า การบูรณะปฏิสังขรณ์พระปรางค์ครั้งนี้ เป็นการบูรณะครั้งใหญ่ในรอบหลาย 10 ปี นับตั้งแต่การบูรณะครั้งใหญ่ที่สุดในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยกรมศิลปากรและวัดอรุณราชวรารามได้ดำเนินงานบูรณะร่วมกันอย่างใกล้ชิด มีการศึกษาค้นคว้าเพื่อออกแบบการบูรณะให้ถูกต้องตามหลักวิชาการและรักษาความเป็นของแท้ดั้งเดิมให้มากที่สุด ทั้งรูปแบบสถาปัตยกรรมและวัสดุ นับเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดในการบูรณะโบราณสถานในยุคนี้ ขณะที่กระเบื้องสีที่นำขึ้นไปประดับบนองค์พระปรางค์ เป็นการซ่อมเปลี่ยนแทนวัสดุเดิมที่ร่วงหล่น ส่วนที่เป็นของดั้งเดิมที่ยังสภาพดีอยู่ ก็คงไว้ดังเดิม

สำหรับรูปถ่ายที่มีผู้นำมาเปรียบเทียบลักษณะก่อนและหลังบูรณะนั้น เป็นการนำภาพปรางค์ทิศมาเปรียบกับปรางค์ประธาน ทำให้ลวดลายและทรวดทรวงแตกต่างกัน ส่วนขององค์ปรางค์ที่เห็นเป็นสีขาวนั้น เกิดจากการทำความสะอาดคราบตะไคร่น้ำ และทาสีน้ำปูน ซึ่งสีดั้งเดิมขององค์พระปรางค์ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ


พร้อมทั้งยืนยันว่า การบูรณะครั้งนี้ ได้มีการศึกษาค้นคว้าก่อนการดำเนินการและบันทึกรายละเอียดระหว่างการทำงานและควบคุมดูแลโดยเจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากรที่มีความรู้ความชำนาญและอยู่ในสายตาของวัดทุกขึ้นตอนตั้งแต่เริ่มดำเนินจนเสร็จสมบูรณ์

ทว่า คำอธิบายของผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณก็ยังมิคลายข้อสงสัยของบรรดาเมนเทอร์ทั้งหลายแต่อย่างใด กระทั่งทำให้กรมศิลปากรต้องออกโรงมาชี้แจงข้อเท็จจริงอีกครั้ง

นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร แจกแจงว่า กรมศิลปากรยินดีน้อมารับทุกคำวิพากษ์วิจารณ์และถือเป็นสิทธิอันชอบธรรมในฐานะที่พระปรางค์ วัดอรุณฯ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ล้ำค่า มีความสำคัญยิ่งและเป็นสมบัติร่วมของคนไทยทั้งชาติ โดยจุดเริ่มต้นของการบูรณะเป็นผลมาจากแผ่นดินทรุดตัวบริเวณด้านหน้าพระปรางค์องค์ประธานเมื่อปี 2544 จึงได้เข้าไปตรวจสอบเรื่องความมั่นคงทางด้านโครงสร้าง ขณะเดียวกันก็ได้ตรวจสอบสภาพขององค์พระปรางค์ในด้านอื่นๆ และพบว่า ชิ้นส่วนปูนปั้นเทวดาทรงม้าในคูหาของพระปรางค์ด้านตะวันออกเฉียงเหนือพระศอหักลงมาก สภาพพระปรางค์เสื่อมโทรม มีตะไคร่น้ำ เชื้อราเกาะจนเป็นสีดำ รวมถึงลวดลายด้านหน้าพระปรางค์ที่ใช้เซรามิกดินเผามาประดับลวดลายและใช้ตัดขอบเป็นรูปทรงต่างๆ ชำรุดแตกร้าว

ทั้งนี้ ในการบูรณะได้มีการบันทึกหลักฐานของงานศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมไว้ทั้งก่อนดำเนินการและระหว่างดำเนินการ เป็นการดำเนินการอย่างละเอียด ใช้งบประมาณ ระยะเวลาและบุคลากรค่อนข้างมาก โดยใช้เครื่องแสกน 3 มิติสำรวจทุกมุมทุกด้าน โดยเฉพาะปรางค์ประธาน ปรางค์ประจำมุมและบุษบกประจำทิศ พร้อมทั้งรวบรวมและคัดลอกลายเซรามิกเอาไว้ทั้งหมดจำนวน 120 ลายก่อนที่จะมีการบูรณะ

เรื่องความขาว กรมศิลปากรยืนยันว่า มีภาพถ่ายที่ชี้ให้เห็นว่า ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ พ.ศ.2403 และสมัยรัชกาลที่ ๕ องค์พระปรางค์เป็นสีขาวโพลน โดยในการบูรณะได้มีการทำความสะอดพื้นผิวตะไคร่ที่ก่อให้เกิดคราบดำแก่องค์พระปรางค์ กะเทาะปูนบริเวณที่ผุเปื่อยหรือเสื่อมสภาพออก ทำความสะอาด แล้วฉาบปูนใหม่เสริมความมั่นคง โดยใช้ “ปูนหมัก” ตามกรรมวิธีโบราณ ซึ่งสีของเนื้อปูนดังกล่าวเป็นสีขาวโดยธรรมชาติ เมื่อบูรณะเสร็จแล้ว ภาพรวมขององค์พระปรางค์จึงเป็นสีขาว

“อะไรที่แตกร้าวก็จำเป็นต้องมีการกะเทาะออกแล้วฉาบเข้าไปใหม่ พวกแตกลายงา โป่งพอง ก็ต้องกะเทาะและฉาบปูนใหม่ รวมถึงมีการจัดทำเซรามิกขึ้นมาใหม่เพื่อเสริมลายเซรามิกที่ชำรุดผุกร่อน โดยนอกจากคัดลอกจากรูปแบบให้คงเดิมแล้ว สีก็จะเป็นต้องมีความใกล้เคียงสีเดิมมากที่สุด ในการบูรณะครั้งนี้ ตัวลายเซรามิกที่เสื่อมสภาพจำเป็นต้องเซาะออกและทำใหม่ประมาณ 40% คิดเป็นเซรามิกมากกว่า 120,000 ชิ้น เพราะฉะนั้นลายเดิมอีก 60% ก็ยังคงอยู่ ส่วนลายใหม่ 40% เป็นผลจากการวิเคราะห์และจัดทำขึ้นมาอย่างละเอียด”อธิบดีกรมศิลปากรอธิบายในทุกขั้นตอน

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่สังคมตั้งคำถามและไม่หายสงสัยก็คือ เศษกระเบื้องหรือเศษปูนปั้นที่พบว่า ทางวัดมีการนำไปทำเป็นพระเครื่องและวัตถุมงคลจริง โดยใช้ชื่อว่า “พระสมเด็จ วัดอรุณ ที่รฤก 191 ปี เนื้อผงมวลสารกระเบื้องพระปรางค์”
การบูรณะในส่วนหัวของยักษ์ก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ กรมศิลปากรตอบเพียงแค่ว่า ส่งมอบให้กับทางวัดอรุณฯ ส่วนทางวัดจะนำไปทำอะไร ไม่สามารถตอบแทนได้

ขณะที่ทาง พระศากยปุตติยวงศ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณฯ ก็ตอบว่า “เศษวัสดุจำพวกเศษกระเบื้องที่ผุพังหรือเศษปูนปั้นจากพระปรางค์ ถูกนำไปเก็บไว้ เพื่อใช้ประโยชน์ในวันข้างหน้า เช่น นำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ดีกว่านำไปทิ้ง”

ในประเด็นนี้ เรื่องจึงยังคงสับสนอลหม่านเหมือนเช่นเดิม

เฉกเช่นเดียวกับเรื่องฝีไม้ลายมือในการบูรณะที่หลายคนวิพากษ์วิจารณ์และใช้คำว่า “ไม่ถึง” ซึ่งก็เป็นเรื่องที่กรมศิลปากรต้องรับผิดชอบและแก้ไขปรับปรุงต่อไป เพราะต้องยอมรับว่า การหาช่างที่เทียบเท่ากับ “ครูช่าง” เมื่อครั้งเก่าก่อนในยุคปัจจุบันนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย

ไม่นับรวมถึงเรื่องความละเอียดในการบูรณะที่พบเจอในหลายจุดด้วยกัน...

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบบางส่วนจากเฟซบุ๊ก Kornkit Disthan


กำลังโหลดความคิดเห็น