xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ฮาร์พูน” ซื้อกันแบบมันๆ แต่ “ลุงป้อม” ทำเป็น “มึนๆ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ยืนยันเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า กำหนดการไปสหรัฐอเมริกาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คือเดือนต.ค.นี้ อย่างแน่นอน และออเดอร์พิเศษที่ติดไม้ติดมือไปคราวนี้ก็คือ การสั่งซื้อ “อาวุธปล่อยนำวิถี” หรือเรียกสั้นๆ ว่าขีปนาวุธ “ฮาร์พูน บล็อก ทูว์” ตัวเลขวงเงินจัดหาตามเอกสารของกองทัพเรือไทย 872 ล้านบาท ผูกพันงบ 3 ปี (2559-2560) ไม่นับ “แบล็คฮอร์ค” 4 ลำ ที่อยู่ในแผนแล้วเช่นกัน

ไม่ต้องมาปฏิเสธหรือทำคลุมๆ เครือๆ ไม่รู้ ไม่ทราบ ไม่แน่ชัด อย่างที่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แสดงท่าทีก่อนหน้านี้ให้สาธารณชนเคลือบแคลงสงสัยให้เสียเวลาเปล่า “ยังไม่มีการจัดซื้ออาวุธตามที่มีรายงานข่าว ยืนยันว่าฮาร์พูนของเดิมมีการใช้งานอยู่นานแล้ว” ความจริงแล้วลูกผู้ชายชาติทหาร กล้าซื้อก็ต้องกล้ารับไปเลยว่า เมื่อรัฐบาลทหารเป็นใหญ่ ก็ต้องรีบจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์กันรัวๆ อย่างนี้แหละ ไม่ซื้อตอนนี้จะให้รอไปซื้อตอนไหน?

ออเดอร์ขีปนาวุธรอบนี้ “บิ๊กตู่” ยืนยันว่าซื้อตามโครงการเดิมเพื่อติดตั้งบนเรือฟรีเกตที่กำลังทยอยต่อและก็ต้องติดตั้งระบบอาวุธยุทโธปกรณ์ด้วย เป็นการซื้อตามระบบของกองทัพเรืออยู่แล้ว ถ้ามีเรือแล้วไม่มีอาวุธแล้วจะต่อเรือกันไปทำไม

“ผมไม่ได้หมายความเราจะต้องไปรบกับใคร ไม่ได้มุ่งหวังว่าจะซื้ออาวุธเพื่อไปรบ เราซื้อไว้เพื่อคุ้มครองทรัพยากรทางบก ทางทะเลของเรา .... ส่วนงบประมาณที่สูงขึ้น เพราะว่าที่ผ่านมาไม่ได้มีการจัดซื้อ ทุก ๆ รัฐบาลที่ผ่านมาก็ไม่ค่อยให้ความสนใจ ทำให้เกิดความชำรุด ผุพังใช้ไม่ได้ ทำให้ต้องเสียงบประมาณในการซ่อมแซมจำนวนมาก จึงทำอะไรไม่ได้สักอย่าง เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องจัดหามาบ้างเท่าที่จำเป็นและทำได้ ก็ยอมรับว่าในยามปกติ อย่างเช่น รถถังก็ใช้อะไรไม่ได้ แต่พวกอากาศยานเราก็นำมาใช้ในการช่วยเหลือป้องกันภัยพิบัติต่าง ๆ ในการดูแลประชาชน ส่วนหนึ่งเราก็มีไว้เพื่อป้องกันตัวเอง ต้องมีการฝึกร่วม รบร่วมกับประเทศต่าง ๆ แต่ถ้าเรามียุทโธปกรณ์ที่สัปปะรังเค ไปฝึกกับคนอื่นเขาจะตามเขาทันหรือไม่ ขอให้คิดแบบนี้บ้าง” พล.อ.ประยุทธ์ ร่ายยาว

ข่าวปูดซื้อขีปนาวุธของราชนาวีไทยครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจาก นายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เดินทางมาเยือนประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2560 ในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ โดยเป็นการเยือนประเทศไทยครั้งแรกในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นตัวแทนของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในการแสดงความอาลัยต่อการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และเข้าเยี่ยมคาราวะนายกรัฐมนตรีของไทย พร้อมหารือกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เรื่องสถานการณ์ในภูมิภาคโดยเฉพาะการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ รวมทั้งการเตรียมการเยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการของพล.อ.ประยุทธ์ ตามคำเชิญของประธานาธิบดีสหรัฐฯ

ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ แถลงเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2560 ว่า เห็นชอบในแผนการขายขีปนาวุธ ฮาร์พูน บล็อก ทูว์ รุ่น มูลค่า 24.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือตกประมาณ 828 ล้านบาท ตามที่รัฐบาลไทยร้องขอ

แถลงการณ์ ระบุว่า รัฐบาลไทยได้ยื่นความจำนง ขอซื้อขีปนาวุธดังกล่าวจำนวน 5 ลูก และขีปนาวุธซ้อมยิง ฮาร์พูน บล็อค ทูว์ 1 ลูก รวมถึงอุปกรณ์บรรจุ อะไหล่ การซ่อมบำรุง และเครื่องมือที่ใช้ในการตรวจสอบ รวมถึงคู่มือ เอกสารทางเทคนิค การฝึกฝนบุคลากร และอุปกรณ์สำหรับฝึกซ้อม โดยรัฐบาลสหรัฐฯ และตัวแทนจากบริษัทคู่สัญญา จะเป็นผู้ให้บริการด้านวิศวกรรม ความช่วยเหลือเชิงเทคนิค การขนส่ง และการสนับสนุนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการด้วย

ข้อเสนอขายครั้งนี้ จะเอื้อประโยชน์ให้กับการดำเนินนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของสหรัฐฯ โดยจะเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ระหว่างทั้งสองประเทศให้แข็งแกร่งขึ้น และจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านความมั่นคงแก่พันธมิตรที่สำคัญ และเพิ่มขีดความสามารถทางด้านการป้องกันเส้นทางเดินเรือที่สำคัญ โดยกองทัพเรือของไทย มีแผนจะนำขีปนาวุธไปติดตั้งบนเรือฟริเกต DW3000 ซึ่งจะมีส่วนช่วยเพิ่มศักยภาพในการปกป้องแนวเขตทางทะเลที่สำคัญ ทั้งนี้ รัฐบาลไทยเคยซื้อขีปนาวุธฮาร์พูน มาแล้ว

ในแถลงการณ์ ยังระบุว่า การเสนอขายอาวุธครั้งนี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อสมดุลทางการทหารในภูมิภาค โดย บริษัทโบอิง เป็นคู่สัญญาภาคเอกชน จากเมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี ซึ่งหากการซื้อขายเป็นไปตามแผน สหรัฐฯจะส่งเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯและตัวแทนของบริษัทคู่สัญญา มายังประเทศไทยเพื่อประเมินงานด้านเทคนิค ให้การสนับสนุนและดูแลทั่วไปเป็นระยะเวลาประมาณ 5 ปี โดยการยื่นขอคำรับรองจากรัฐสภา ถือเป็นขั้นตอนที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายสหรัฐฯ และไม่ถือเป็นข้อสรุปของการซื้อขาย

ต่อมา พล.ร.อ. จุมพล ลุมพิกานนท์ โฆษกกองทัพเรือ แถลงเมื่อวันที่ 13 ส.ค. ที่ผ่านมาว่า การจัดซื้ออาวุธปล่อยนำวิถีฮาร์พูนบล็อกทู เป็นการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ตามโครงการต่อเรือฟริเกตตั้งแต่ปี 2557 ที่ไทยลงนามข้อตกลงกับประเทศเกาหลีใต้ในการต่อเรือหลวงท่าจีน โดยจะมีแพ็กเกจต่อระบบเรือ ระบบเครื่องจักร เครื่องยนต์ ระบบการรบ และอาวุธต่างๆ

“การซื้อฮาร์พูนเราเคยจัดซื้อมาตั้งนานแล้ว เอามาใช้ในเรือหลวงรัตนโกสินทร์ เรือหลวงสุโขทัย ซึ่งมีมาตลอด ชุดนี้เป็นชุดที่ 3 ต่อไปก็จะมีชุดที่ 4 เอามาติดตั้งเพิ่มในเรือหลวงตรัง ผมขอย้ำว่าการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ กองทัพเรือมีความโปร่งใสและเป็นไปตามวงรอบ เรียกง่ายๆ ว่าจัดซื้อเป็นแพ็กเกจในการจัดหาตามช่วงเวลาเท่านั้นเอง” โฆษกกองทัพเรือ กล่าว

เอกสารเผยแพร่ของกองทัพเรือไทย ระบุว่า การการจัดหาฮาร์พูน บล็อก ทูว์ อยู่ในโครงการเสริมสร้างกองทัพแบบผูกพันข้ามปีงบประมาณ ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 โดยมีความมุ่งหมายเพื่อเป็นอมภัณฑ์ (ระเบิดและเครื่องกระสุน) สำหรับเรือฟริเกตสมรรถนะสูงลำใหม่ ซึ่งจะเข้าประจำการในปีงบประมาณ 2561

ทั้งนี้ อมภัณฑ์ดังกล่าวมีเทคโนโลยีและคุณค่าทางยุทธการสูง จำเป็นต้องจัดหาโดยวิธี FMS (Foreign Military Sales) ผ่านรัฐบาลสหรัฐฯ จัดหาตามโครงการเสริมสร้างกองทัพแบบผูกพันข้ามปีงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2560 (ผูกพันงบประมาณ 3 ปี ระหว่างปีงบประมาณ 2560-2562) โดยการจัดหาโดยวิธี FMS ในครั้งนี้ มีวงเงินรวมทั้งสิ้น 872,587,800 บาท หรือประมาณ 24,931,080 ดอลลาร์สหรัฐฯ

แผนการจัดหาแบ่งออกเป็น 1.ผูกพันงบประมาณปี 2559-2561 จัดหาลูกจริง 2 ลูก หัวฝึก 1 หัว ซึ่งจัดหาแล้ว 2.ผูกพันงบประมาณปี 2560-2562 จัดหาลูกจริง 7 ลูก ลูกฝึก 1 ลูก (ตัวลูกพร้อมติดตั้งหัวฝึก) อยู่ระหว่างการจัดหา ซึ่งจำนวนลูกจริงที่ลดจากความต้องการ 7 ลูกเหลือจัดหาได้ 5 ลูกนั้น (ตามการแถลงข่าวของสหรัฐอเมริกา) มาจากการปรับราคาเพิ่มสูงขึ้น

โบอิ้ง ระบุในเอกสารเผยแพร่ว่า ฮาร์พูน บล็อก ทูว์ ใช้ทั้งระบบการนำทิศทางแบบแอคทีฟ เรดาร์ ซึ่งทำให้ขีปนาวุธสามารถหาเป้าหมายด้วยตัวเอง รวมถึงระบบคอมพิวเตอร์ และระบบจับสัญญาณการเคลื่อนที่และหมุนตัว ซึ่งทำงานร่วมกับระบบจีพีเอสในการค้นหาเป้าหมายที่กำลังเคลื่อนที่อยู่ สามาถติดตั้งได้บนฐานยิงทั้งทางบก ทางน้ำ ใต้น้ำ และทางอากาศ อาวุธปล่อยนำวิถีดังกล่าวนี้ ถูกติดตั้งในเรือกว่า 600 ลำ, เรือดำน้ำ 180 ลำ, เครื่องบิน 12 ชนิด และ ยาพาพนะทางบกหลายประเภท

นับเป็นอีกก้าวในการเสริมสร้างสมรรถนะให้กับกองทัพไทยในยุไทยแลนด์ 4.0 จะให้ใช้แต่อาวุธสัปปะรังเคได้อย่างไรกัน?


กำลังโหลดความคิดเห็น