ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กรณีกระทรวงการคลังเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอัตราภาษีเครื่องดื่มตามระดับความหวาน รองรับ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 หรือ “ภาษีน้ำหวาน”เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ที่ผ่านมานั้น ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่ง
แน่นอน ทางหนึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการควบคุมเครื่องดื่มปริมาณน้ำตาลสูงทำลายสุขภาพ ครอบคลุมสินค้า 111 รายการ น้ำอัดลม ชาเขียว น้ำผลไม้ เครื่องดื่มชูกำลัง ฯลฯ เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีสุขภาพดีขึ้น
แต่อีกทางหนึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในธุรกิจซึ่งมีมูลค่านับแสนล้านบาทต่อปีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทั้งนี้ กล่าวสำหรับสูตรในการคิดอัตราภาษีความหวานนั้น น.ส.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ผู้อำนวยการสำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อธิบายว่า จะเป็นในลักษณะของ เซิร์ฟวิงไซส์ (Serving Size) คือ วัดค่าน้ำตาลตามหน่วยบริโภค อย่างน้ำหวานเข้มข้น ก็จะคิดหลังจากผสมน้ำตามสัดส่วนที่กำหนดแล้ว เช่น ผสมออกมาเป็น 1 แก้ว 200 มิลลิลิตร มีน้ำตาลอยู่เท่าไร ก็ค่อยคิดภาษีตามอัตราใหม่ที่กรมสรรพสามิตกำหนด
ที่สำคัญคือ อย. มีข้อกำหนดในเรื่องของฉลากโภชนาการด้านหลังของผลิตภัณฑ์แสดงข้อมูลส่วนผสมของเครื่องดื่ม เพื่อให้กรมสรรพสามิตทราบถึงส่วนประกอบทั้งหมดภายในผลิตภัณฑ์นั้นและจัดเก็บภาษีง่ายขึ้น ซึ่งกรมสรรพสามิตได้อ้างอิงตามคำนิยามของ อย. เกี่ยวกับเครื่องดื่มที่จะต้องเสียภาษีน้ำตาล ไม่เพียงเครื่องดื่มที่เป็นน้ำแต่ยังรวมไปถึงเครื่องดื่มผงที่ต้องชงดื่มและเครื่องดื่มที่เป็นหัวเชื้อดังที่กล่าวข้างต้น
โดยการคิดภาษีน้ำตาลจะคิดแบบน้ำตาลทั้งหมดแบบ “โทเทิลซูการ์ (Total Sugar)” คือ น้ำตาลทั้งหมดในเครื่องดื่ม ไม่มีการแยกว่าเป็นน้ำตาลที่เกิดจากวัตถุดิบของเครื่องดื่มหรือปรุงแต่งเพิ่ม เพราะการตรวจสอบทำได้ยากและค่าใช้จ่ายสูงมาก จึงใช้วิธีการคิดน้ำตาลทั้งหมดในเครื่องดื่มแทน
สำหรับน้ำผักผลไม้ จำนวน 111 รายการ ที่ได้รับการยกเว้นการเสียภาษีสรรพสามิต เพื่อช่วยเหลือภาคเกษตรกร ทว่า ต้องมาเสียภาษีน้ำตาลแทนนั้น น.ส.ทิพย์วรรณ อธิบายว่า เครื่องดื่มมากกว่า 50 - 60 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันล้วนมีส่วนผสมของน้ำตาลทั้งสิ้น เช่นเดียวกัน น้ำผักน้ำผลไม้มีการเติมน้ำตาลเพิ่มลงไปอีก อย. จึงเสนอว่าไม่ควรยกเว้นภาษี ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นให้เป็นเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพผู้บริโภคอย่างแท้จริง
เกณฑ์การจัดเก็บภาษีน้ำตาลมีดังนี้ หากผสมน้ำตาลมากกว่า 6 - 10 กรัม และ 10 ต่อ 100 มล. จะเก็บภาษีไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 และ 25 ของราคาขายปลีก ตามลำดับ ในแง่ปฏิบัติของผู้ประกอบการจะต้องเริ่มปรับเปลี่ยนส่วนผสมของน้ำตาลในผลิตภัณฑ์ของตนเองภายในช่วง 2 ปี คือตั้งแต่ 16 ก.ย.2560 - 30 ก.ย.2562 ถ้าหากปรับสูตรได้จะให้สิทธิผู้ประกอบการในการเสียภาษีเท่าเดิม แต่ถ้ารายใดปรับตัวช้ากว่าระยะดังกล่าวจะถูกจัดเก็บภาษีแบบอัตราก้าวหน้าตั้งแต่ 1 ต.ค. 2562 เป็นต้นไป
ทางด้าน ณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง อธิบายแนวทางการจัดเก็บภาษี อธิบายสาระของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ผ่านในงานเสวนาเรื่อง ภาษีความหวานกับการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรม ความว่า โดยปกติเครื่องดื่มมีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตแต่เป็นการจัดเก็บในขาของมูลค่า อยู่ที่ 20 เปอร์เซ็นต์ของราคาหน้าโรงงาน หรือ ราคานำเข้าเพียงขาเดียว แต่การปรับครั้งนี้จะนำในขาปริมาณอย่างปริมาณน้ำตาลเข้ามาคิดด้วย หลักเกณฑ์คือเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ต่อ 100 มล. จะถูกจัดเก็บตามอัตราก้าวหน้าคือยิ่งมีน้ำตาลมากก็ยิ่งเสียภาษีในอัตราที่สูง ส่วนสินค้าที่มีน้ำตาลน้อยกว่าที่กำหนดจะได้รับสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี (Incentive) เป็นการจูงใจให้ผู้ประกอบการหันมาออกสินค้าหรือปรับสูตรกันมากขึ้น โดยจะให้เวลาปรับตัว 2 ปี หากครบระยะเวลาสินค้ายังคงที่ให้ความหวานเกินเกณฑ์ที่กำหนดจะถูกจัดเก็บเพิ่มอัตรามากขึ้นตามระยะเวลาและตามปริมาณของน้ำตาล แต่จะไม่รวมถึงกลุ่มที่ใช้น้ำตาลเทียม เพราะมีเกณฑ์จาก อย.ควบคุมไว้อยู่ และกลุ่มนมที่ยังได้รับการยกเว้น
ทั้งนี้ การเรียกเก็บภาษีน้ำหวานย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการตามมาซึ่งต้นทุนที่สูงขึ้น เท่ากับว่า จะส่งผลต่อราคาเครื่องดื่มที่ปรับราคาเพิ่มขึ้น ซึ่งในประเด็นนี้ทางตัวแทนจาก อย. ชี้แจงว่าผู้ประกอบการหลายรายมีการปรับตัวหลังจากภาครัฐมีการส่งสัญญาณเรื่องภาษีน้ำตามมาก่อนหน้านี้แล้ว มีเข้าหาร่วมหารือและปรับสูตรให้น้ำตาลน้อยรองรับเทรนด์รักสุขภาพ ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้นและไม่ต้องแบกรับภาระด้านราคาของกลุ่มเครื่องดื่มปริมาณน้ำตาลสูง ซึ่งการปรับเป็นสูตรน้ำตาลน้อยผู้ประกอบการสามารถมาขอฉลาก “ทางเลือกเพื่อสุขภาพ (Healthier Choice)” เป็นการการันตีว่าเป็นเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ตลาดเครื่องดื่มในไทยมีมูลค่าปีละไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งการเติบโตของตลาดเครื่องดื่มมาจากเครื่องดื่มที่มีรสหวาน ขณะที่ภาครัฐมีการเพิ่มอัตราภาษีน้ำตาลจาก ปี 2552 คิดร้อยละ 6.9 จากนั้นปี 2557 คิดร้อยละ 8.9 แต่ก็ไม่สามารถตีกรอบสุขภาพแก่ประชาชน พบพฤติกรรมติดทานหวานส่งผลให้ตัวเลขคนไทยเป็นโรคต่างๆ เป็นต้นว่า พบคนเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้น จากปี 2552 ร้อยละ 34.7 ขณะในปี 2557 พบร้อยละ 37.5
การนำเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์มาสร้างกลไกลส่งเสริมสุขภาพดีต่อประชาชน เป็นที่น่าจับตาอย่างยิ่งว่า “ภาษีน้ำหวาน” จะส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยอย่างไร ซึ่งทาง ดร.ชญาดา ภัทราคม อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผยแพร่งานวิจัยความว่า ถ้ามีการปรับขึ้นภาษีเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาล จนทำให้ราคาขายปลีกเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 จะส่งผลให้คนไทยลดการบริโภคน้ำตาลลงเฉลี่ยวันละ 2.122 กรัม กรณีการเก็บภาษีระยะสั้น และลดลงวันละ 2.562 กรัมในระยะยาว หรือลดการบริโภคเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลลงไปประมาณ 55-65 มล. (1 ขวดเล็ก)
สอดคล้องกับ ดร.วิชช์ เกษมทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้แสดงทัศนะการเก็บภาษีน้ำหวานในเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลเกินมาตรฐานและพฤติกรรมผู้บริโภค ความว่าเป็นมาตรการที่ได้ผลมากที่สุดในการแก้ไขปัญหาพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม จะช่วยลดปัญหาโรคอ้วนและโรคเรื้อรังได้ การจัดเก็บภาษี เครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลเกินมาตรฐานนับเป็นสัญญาณที่ดี และควรดำเนินการร่วมไปกับมาตรการอื่นๆ ซึ่งเป็นผลสำเร็จที่หลายประเทศ เช่น อังกฤษ, สหรัฐอเมริกา ฯลฯ
เป็นอีกประเด็นที่ต้องติดตามกันว่าการปรับขึ้น “ภาษีน้ำตาล” การยกเครื่องภาษีเครื่องดื่มตามระดับความหวานจะหนุนให้คนไทยสุขภาพดีได้มากน้อยเพียงใด กลไกนโยบายของรัฐส่วนเสริมที่เข้ามากระตุ้นให้ผู้คนตระหนักในเรื่องสุขภาพมากขึ้นหรือไม่ ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร อีกไม่นานได้รู้กัน