xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

รัก “แม่” ๘๕ พรรษา “มหาราชินี”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“สอนให้ลูก เรียนรู้ สู้ปัญหา
พัฒนา ด้วยตน จนเติบใหญ่
เพราะคนแกร่ง จะก้าว ได้ยาวไกล
เพื่อมาเป็น กำลังไทย ให้แข็งแรง”
 
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานคำขวัญวันแม่แห่งชาติ ปี ๒๕๖๐ เพื่ออัญเชิญลงหนังสือวันแม่แห่งชาติ ปี ๒๕๖๐ ของสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่ปวงชนชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้ โดยเฉพาะ “ผู้เป็นแม่” ที่มีภารกิจอันยิ่งใหญ่ในการเลี้ยงดู “ลูก” ให้เติบโตขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญของชาติ

เนื่องในวโรกาสอันเป็นมหามงคล ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๐ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพใน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ พสกนิกรชาวไทยต่างน้อมรำลึกถึงพระราชกรณียกิจ ตลอดรวมถึงโครงการในพระราชดำริต่างๆ ที่พระราชทานต่อปวงชนชาวไทยในฐานะ “แม่ของแผ่นดิน” นับอเนกอนันต์

ดังที่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ ๑๐ ทรงมีกระแสรับสั่งมายัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และหนึ่งในนั้นก็คือให้น้อมรำลึกนึกถึงสิ่งที่พระองค์พระราชทานสิ่งต่าง ๆ ไว้มากมายให้กับประเทศไทย และขอให้นำแนวทางพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรไปขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดิน

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจมาตลอดพระชนมายุ ตั้งแต่ ๑๗ พระชันษา ในฐานะ “สมเด็จพระราชินี” จนนับได้ ๘๕ พรรษาเป็นที่ประจักษ์ทั้งในหมู่ชาวไทยและชาวต่างประเทศตลอดมา ทรงปฏิบัติบำเพ็ญพระราชกรณียกิจโดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย ด้วยพระปรีชาสามารถ พระวิริยะอุตสาหะ ด้วยขันติธรรม และด้วยพระราชปณิธาน ที่มุ่งมั่นต่อประชาราษฎรซึ่งเปรียบเสมือน “ลูก” และแผ่นดินใต้ร่มโพธิสมภารของพระองค์อย่างแท้จริง

ตลอดเวลาที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ทรงงานมาอย่างยาวนาน ภาพที่เห็นกันชินตาก็คือประทับอยู่ท่ามกลางพสกนิกรและทรงงานโดยไม่ถือพระองค์ มีราษฎรนั่งอยู่รายรอบ สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงแย้มพระสรวล ทรงสนทนาไต่ถามทุกข์สุขของราษฎรอย่างตั้งพระราชหฤทัย และด้วยพระพักตร์ที่แสดงออกถึงความห่วงใยในฐานะ “แม่แห่งแผ่นดิน” ที่มีความห่วงใยต่อลูก

“...ความจริงที่ข้าพเจ้ามีกำลังใจและกำลังกายที่จะปฏิบัติหน้าที่รับใช้บ้านเมือง ก็เนื่องด้วยเหตุนึกถึงคำของพ่อที่สอนมาตั้งแต่เล็ก ๆ และก็เมื่อแต่งงาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ทรงสอนตลอดมาว่า แผ่นดินนี้มีคุณ มีบุญคุณแก่ชีวิตของพวกเรามากมายนัก เพราะฉะนั้นชีวิตที่เกิดมานี้อย่าได้ว่างเปล่า จงตอบแทนให้รู้สึกตัวเสมอว่าเป็นหนี้บุญคุณ...”

“...เรามีความสุขแต่ลำพัง โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของคนอีกหลายคนที่แวดล้อมเราอยู่นั้นไม่ได้ ผู้มีเมตตาจิตหวังประโยชน์ส่วนรวมย่อมรู้จักแบ่งปันความสุขเพื่อผู้อื่น และพร้อมที่จะช่วยบรรเทาความทุกข์ของผู้อื่นตามกำลังและโอกาสเสมอ...”
 
 
นั่นคือ กระแสพระราชดำรัสในมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ถึงสาเหตุที่ต้องทรงงานหนัก

โครงการพระราชดำริต่าง ๆ ที่ทรงริเริ่มและทำมาอย่างต่อเนื่องมีมากถึง ๓,๐๐๐ กว่าโครงการ อาทิ โครงการป่ารักน้ำ, โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่, โครงการศิลปาชีพ, โครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง และฟาร์มตัวอย่าง โครงการจัดตั้งธนาคารอาหารชุมชน เป็นต้น

ทั้งนี้ พระเกียรติคุณแห่งพระราชกรณียกิจอเนกประการ เป็นที่ทราบอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและนอกประเทศทั่วโลก จึงมีหน่วยงานตลอดรวมถึงองค์กรต่างๆ ขอทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเกียรติยศเพื่อสดุดีพระเกียรติคุณเป็นจำนวนมาก

ยกตัวอย่างเช่น องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ(FAO) ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย “เหรียญเซเรส” อันเนื่องมาจากการที่ทรงเป็นผู้มองเห็นการณ์ไกลและทรงพยายามที่จะยกฐานะของสตรีเพื่อที่จะยกระดับเศรษฐกิจกับสวัสดิการทางสังคม ดังความตอนหนึ่งในประกาศสดุดีว่า “โดยที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ แห่งประเทศไทย มีพระราชหฤทัยอันเปี่ยมไปด้วยคุณธรรม พระราชทานพระมหากรุณาอนุเคราะห์เกื้อกูลพสกนิกรชาวไทยทั้งมวลอยู่เสมอมิได้ขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ขัดสนจนยากในท้องถิ่นชนบท ดังเห็นได้จากการที่ทรงทุ่มเทอุทิศทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นกำลังพระวรกายหรือกำลังทรัพย์ โดยไม่ทรงคำนึงถึงพระองค์เองเลยแม้แต่น้อย พระราชทานความร่วมมือแก่องค์การสังคมสงเคราะห์กับองค์การกุศลต่างๆ อันมุ่งที่จะบรรเท่าความเดือดร้อนของประชาชนที่ยากจนทั้งหลาย โดยจัดหาอาหารเลี้ยงดูผู้อดอยากขาดแคลน ตลอดจนแสวงหาที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้ที่มีอันต้องตกระกำลำบาก รวมทั้งบรรดาเด็กกำพร้าที่ไร้ญาติขาดมิตรทั้งหลายทั้งปวง”

หรือ องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาติ(UNESCO) ที่ทูลเกล้าฯ ถวาย เหรียญโบโรพุทโธทองคำ ในงานมรดกสิ่งทอของเอเชีย ซึ่งในคำประกาศสดุดีตอนหนึ่งระบุว่า “พระราชกรณียกิจของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ที่ทรงมีต่องานศิลปหัตถกรรมนั้น นอกจากจะเป็นการฟื้นชีวิตแก่ผู้ยากไร้แล้ว ยังช่วยให้ช่างฝีมือทั้งหลายมีรายได้สม่ำเสมอ ซึ่งหากปราศจากพระมหากรุณาธิคุณของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว งานศิลปหัตถกรรมเหล่านี้ก็คงจะสูญสิ้นไป จึงนับได้ว่า ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทได้ทรงพัฒนางานศิลปาชีพอย่างสมบูรณ์ตรงกับวัตถุประสงค์ขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ที่ได้ดำเนินการมาทั่วโลก คือการส่งเสริมพัฒนาการของประเทศตามแนวทางวัฒนธรรม เป้าหมายที่มีร่วมกันก็คือ การที่จะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มีความสามารถช่วยเหลือตนเองได้ และสามารถพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อคุณประโยชน์แก่มวลชน”

หรือ องค์การกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ(UNICEF) ที่ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย เหรียญรางวัลพิเศษเพื่อสดุดีเฉลิมพระเกียรติ(UNICEF Special Recognition Award) เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๓๕ ซึ่ง Mrs.Karin Sham Poo รองผู้อำนวยการบริหารขององค์การยูนิเซฟ กล่าวในคำสดุดีเฉลิมพระเกียรติตอนหนึ่งว่า “ในช่วงเวลา ๔๒ ปี นับแต่ที่ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระบรมราชินีแห่งราชอาณาจักรไทย เด็กและแม่นับล้านๆ คน ได้รับประโยชน์จากบริการขั้นพื้นฐานต่างๆ อาทิ บริการสาธารณสุข การศึกษาและการส่งเสริมอาชีพ โดยอ่านทางการดำเนินงานของมูลนิธิหรือโครงการทั้งหลายภายใต้พระบรมราชินูปถัมภ์ และรวมทั้งที่เป็นผลมาจากกระแสพระราชเสาวนีย์และพระราชดำริต่างๆ ด้วย”
ฯลฯ

ขณะที่ในเรื่องของการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีมาแต่โบราณกาลในส่วนที่ดีงาม มีเอกลักษณ์ความเป็นไทย ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสนั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ ๙ ก็ทรงเป็นแบบอย่างที่ดี โดยเฉพาะเรื่องการแต่งกาย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือเมื่อคราวที่มีกำหนดการตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ไปทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้ผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบเครื่องแต่งกาย ปรับปรุงแบบเสื้อที่สตรีไทยแต่งกันมาแต่โบราณให้เหมาะสม เพื่อทรงใช้เป็นชุดประจำชาติไทยระหว่างการเสด็จฯ

ผลก็คือ สตรีไทยได้มีชุดประจำชาติที่สง่างามและเหมาะสมไว้ใช้ในโอกาสต่างๆ มาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งเรียกกันว่า “ชุดไทยพระราชนิยม” มีจำนวน ๘ ชุดด้วยกันคือ ๑.ชุดไทยเรือนต้น ๒.ชุดไทยจิตรลดา ๓.ชุดไทยอมรินทร์ ๔.ชุดไทยบรมพิมาน ๕.ชุดไทยจักรี ๖.ชุดไทยดุสิต ๗.ชุดไทยศิวาลัย และ ๘.ชุดไทยจักรพรรดิ

ที่สำคัญคือ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ยังได้ถ่ายทอดความรักความเมตตาที่มีต่อปวงชนชาวไทยมายังพระราชโอรสและพระราชธิดาทุกพระองค์ ซึ่งแต่ละพระองค์ก็ได้แบ่งเบาพระราชภาระของ “สมเด็จแม่” ในโครงการตามพระราชดำริต่างๆ มาอย่างต่อเนื่องดังเป็นที่ประจักษ์แก่พสกนิกรอย่างหาที่สุดมิได้

ดังบทพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ถวายพระพร เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๑๕ ความว่า...

“... แม่รักชายห่วงชายชายก็รู้ ชายจะสู้สุดชีวาอย่าสงสัย จะทำตัวให้สมแม่วางใจ จะรักไทยกู้ศักดิ์ศรีจักรีวงศ์ จะรักหญิงที่เขาเข้าใจแม่ จะแน่วแน่พุทธศาสน์ถึงพระสงฆ์ การสวดมนต์ไหว้พระจะดำรง จะมั่นคงรักชาวไทยไม่เสื่อมคลาย ...”

และเนื่องในมหามงคลสมัยที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๕ พรรษา พสกนิกรชาวไทยของพระราชทานพระราชโอกาสน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระพรชัยมงคลให้มีพระชนมพรรษายิ่งยืนนาน ทรงพระเกษมสำราญ มีพระพลานามัยแข็งแรงสมบูรณ์ ทรงสถิตเป็นมิ่งขวัญแก่ปวงพสกนิกรชาวไทยสืบไปชั่วกาลนาน

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม.


กำลังโหลดความคิดเห็น